xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมัน-การเมืองดึงความเชื่อมั่นวูบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน-ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคก.ค. ตกวูบเป็นเดือนที่สาม หลังน้ำมันแพง การเมืองป่วน พ่นพิษ แถมส่ออาการลากยาวถึงไตรมาสที่สาม ทำให้การบริโภคอาจต้องรอการฟื้นตัวไปถึงปีหน้า แนะรัฐบาลดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้ดี เพื่อให้ภาคส่งออกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมลุยโครงการเมกะโปรเจ๊กต์ ส่วนการขึ้นดอกเบี้ยควรทะยอยปรับขึ้น แทนการขึ้นพรวดเดียว
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์ธุรกิจและเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจประชาชนทั่วประเทศจำนวน 2,240 ราย เกี่ยวกับความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยประจำเดือนมิ.ย. 2551 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สาม โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 70.8 ลดจาก 71.8 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ 71.1 ลดจาก 71.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต 92.0 ลดจาก 92.8 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนมิ.ย.อยู่ที่ระดับ 78.0 ลดลดจากเดือนพ.ค.ที่อยู่ระดับ 78.8 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 70.2 ลดจาก 71.1 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต 78.4 ลดจากระดับ 79.2
สาเหตุที่ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลง เนื่องจากผู้บริโภคยังคงกังวลกับสถานการณ์ราคาน้ำมันยังคงตัวสูงกว่า 40 บาทต่อลิตร ทำให้เกิดปัญหาค่าครองชีพ และความวิตกกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองที่ยังไม่มีสัญญาณดีขึ้น ดังนั้น หากปัญหาน้ำมันและการเมืองไม่คลี่คลาย มีสัญญาณว่าดัชนีความเชื่อมั่นจะปรับตัวลดลงต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 3 และการบริโภคอาจต้องรอฟื้นตัวในปีหน้า
“ผู้ตอบ 98.8% ให้น้ำหนักไปยังราคาน้ำมันที่มีผลต่อค่าครองชีพของพวกเขาสูงขึ้น รวมถึงปัญหาการเมือง ซึ่งมีผู้ตอบ 61.5% กังวลกับปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้น และถือว่าเป็นความกังวลเพิ่มสูงสุดในรอบ 1 ปี และในเดือนก.ค.จะเป็นจุดสำคัญที่คนมองการเมืองว่าออกมารูปแบบไหน หลังจากศาลตัดสินปัญหาการเมืองหลายเรื่อง แต่ศูนย์ฯ ยังมองว่าปัญหาการเมืองไม่มีสัญญาณฟื้นตัว” นายธนวรรธน์กล่าว
นายธนวรรธน์กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหา รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลเรื่องระดับอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อให้ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าในระดับ 34 บาท เพื่อให้ภาคการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยแทนการลงทุนและการใช้จ่ายภายในประเทศ รวมถึงการกระตุ้นโครงการเมกะโปรเจ็กต์ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะเพราะเศรษฐกิจไทยปีนี้พึ่งพาได้แค่สองปัจจัยหลัก คือ การส่งออกและการลงทุนจากรัฐบาลเท่านั้น
ทั้งนี้ ทางศูนย์ฯ จะมีการปรับประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในใหม่ในสิ้นเดือนก.ค. จากที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 5-5.5% และเงินเฟ้อ 7.2-7.8% เพราะขณะนี้มีปัจจัยลบเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยรอบด้าน
สำหรับการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีการประชุมในวันพุธ 16 ก.ค.นี้ แนะว่าหากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ควรเป็นการทยอยปรับขึ้น หรือปรับขึ้นไม่เกินระดับ 0.25% เพื่อเป็นการส่งสัญญาณวินัยทางการคลัง และการปรับขึ้นครั้งต่อไปจะต้องทิ้งระยะหรือปรับขึ้นอีกครั้งประมาณเดือนต.ค. เพื่อให้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งปีไม่เกิน 0.5% เพราะไทยไม่ได้เกิดปัญหาแค่เงินเฟ้อเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาสภาพคล่องเงินในระบบเศรษฐกิจตรึงตัวด้วย
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ไม่ใช่ประเด็นที่ถูกต้อง เพราะเงินเฟ้อสูงขึ้นมาจากปัญหาราคาน้ำมันแพงที่ไม่สามารถแก้ไขได้ แต่รัฐบาลต้องใช้นโยบายผสมผสานในการแก้ไขปัญหา เพราะการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีผลทำให้การใช้จ่ายชะลอตัว ทำให้การอัดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่เกิดประโยชน์ แต่หากจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ควรจะขึ้นแบบไม่มาก
นายดุสิต นนทะนาคร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้กำลังเข้าขั้นวิกฤต ดังนั้น การแก้ไขปัญหารัฐบาลควรให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งอยากแนะนำให้รัฐบาลเร่งเรียกประชุมคณะกรรมการร่วมรัฐบาลและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) เพื่อเข้าไประดมสมองในการแก้ไขปัญหาทั้งเรื่องพลังงาน เงินเฟ้อ และภาคการส่งออก ส่วนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินการออกมาให้ชัดเจน เพื่อให้เอกชนตั้งรับกับสถานการณ์ได้ทัน
กำลังโหลดความคิดเห็น