xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์ฮั้วพ่อค้าปรับราคาสินค้าสวนทางน้ำมัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้บริโภคซวย พ่อค้าสุมหัวกระทรวงพาณิชย์ขึ้นราคาสินค้า เริ่มจากสภาอุตฯ โวยปล่อยผีเอกชนปรับราคา อ้างหลายรายการตรึงราคามานานแล้ว รับภาระขาดทุนมาก ในที่สุดอาจต้องลดหรือเลิกผลิต ผู้ผลิตน้ำมันพืชฉุนหากรัฐขู่เลิกผลิตและหนีขายต่างประเทศแทนแจงวัตถุดิบขึ้น 80% ล่าสุดรับลูกแล้ว ไฟเขียวนมกล่องขึ้นราคาอีก 1 บาท ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ปรับเป้าจีดีพีเพิ่มเป็น 5.6% เชียร์รัฐบาลสุดลิ่ม อ้างได้รับแรงหนุนจาก 6 มาตรการ 6 เดือน

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงกรณีที่นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.พาณิชย์มีนโยบายที่จะเจรจาผู้ผลิตสินค้าให้ตรึงราคาสินค้าอย่างน้อย 6-8 เดือนว่า เชื่อว่าการตรึงราคาสินค้านั้นคงจะต้องดูเป็นรายการไปตามต้นทุนที่แท้จริงโดยหวังว่ากระทรวงพาณิชย์จะพิจารณาอย่างเป็นธรรมทั้งฝ่ายผู้ผลิตและผู้บริโภค เนื่องจากหากการขอให้ตรึงราคาทั้งที่ผู้ผลิตได้แบกรับภาระขาดทุนมามากแล้วนั้นอาจเป็นการซ้ำเติมให้ขาดทุนมากขึ้นระยะยาวคงไม่เป็นผลดีต่อทั้งผู้ผลิตเองและผู้บริโภคในที่สุด

“ผมยังเชื่อว่าพาณิชย์จะดูตามหลักการที่แท้จริงคือหากการขอปรับขึ้นก็ต้องดูต้นทุนการผลิตแม้ว่าน้ำมันโลกลดแต่ต้องดูว่าโครงสร้างต้นทุนประกอบด้วยอะไรบ้าง บางอย่างวัตถุดิบก็แพงมาก คงต้องดูว่าราคาที่ขอขึ้น เหมาะสมไหมซึ่งหากเขายังรับภาระขาดทุนอยู่ก็ควรจะพิจารณาให้ขึ้นบ้างเพราะที่ผ่านมาได้ขอให้ชะลอการขึ้นมาค่อนข้างมากแล้ว เวลานี้ไม่มีใครอยากขึ้นในภาวะที่แรงซื้อตกต่ำถ้าไม่จำเป็น ซึ่งหากเขารับภาระขาดทุนมากๆ อาจนำไปสู่การลดการผลิตและการเลิกผลิตในที่สุดเพื่อหนีการขาดทุนดังกล่าวก็จะไม่เป็นผลดีต่อใครในระยะยาว” นายสันติ กล่าว

นายเศรษฐสรร เศรษฐการุณ นายกสมาคมผู้ผลิตน้ำมันพืชและรำข้าว กล่าวว่า ต้นทุนสินค้าน้ำมันพืชที่ปรับตัวสูงขึ้นจากวัตถุดิบคือถั่วเหลือง และปาล์มที่ขึ้นกว่า 80% ประกอบกับผลผลิตทั่วโลกลดลงแม้น้ำมันจะลดก็ไม่ได้มีผลช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบดังกล่าวได้ดังนั้นหากรัฐยังใช้วิธีกดราคาเช่นขณะนี้ผู้ผลิตคงไม่สามารถที่จะเดินหน้าผลิตสินค้าออกสู่ตลาดได้อีก

“เพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็น ลาว เวียดนาม กัมพูชา จีน ราคาน้ำมันพืชขนาด 1 ลิตร แพงกว่าที่จำหน่ายในประเทศไทยทั้งสิ้น  หากภาครัฐยังใช้วิธีกดราคาเอาไว้แบบนี้ ผู้ผลิตก็คงผลิตสินค้าป้อนตลาดไม่ไหว  หรือไม่ก็ต้องเลือกส่งออกไปต่างประเทศ และการที่น้ำมันพืชในตลาดมีน้อยยี่ห้อลงก็เพราะผู้ผลิตหลายรายเริ่มสู้ต่อไปไม่ไหวจริง ๆ” นายเศรษฐสรร กล่าว

จับตาผู้ผลิตกดดันพาณิชย์

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงปัญหาเงินเฟ้อว่าจะเพิ่มหรือลดลงนั้นขึ้นอยู่กับราคาสินค้าเป็นหลัก หากสามารถคุมราคาสินค้าไม่ให้ปรับขึ้นได้ ก็จะช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้อีกทาง และถ้ามีคุมราคาสินค้าไม่ได้ปัญหาเงินเฟ้อจะรุนแรงขึ้น ดังนั้นกลไกสำคัญในการควบคุมราคาสินค้าที่รัฐนำมาแก้ปัญหาเช่น โครงการธงฟ้าราคาประหยัด ซึ่งเป็นโครงการเฉพาะกิจแล้ว ยังมีห้างดิสเคาน์สโตร์ยังมีบทบาทสำคัญในการจำหน่ายสินค้าราคาถูก และยังช่วยกดดันซัปพลายเออร์ผู้ผลิตสินค้าไม่ให้ปรับขึ้นราคาสินค้าได้อย่างสะดวกเหมือนในอดีต

ดังนั้นภาระกิจของนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.พาณิชย์ คนใหม่จึงควรดูแลในเรื่องสินค้าราคาถูกเป็นพิเศษ เพราะขณะนี้ได้มีความพยายามจากลุ่มผู้ผลิตและซัพพลายเออร์ที่กดดันให้กระทรวงพาณิชย์ให้มีการอนุมัติปรับขึ้นราคาสินค้ากว่าพันรายการ โดยอ้างต้นทุนการผลิตและการขนส่ง ทั้งที่แนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นต้นทุนสำคัญและแนวโน้มราคาน้ำมันลดลงต่อเนื่อง

ราคาเหล็กเริ่มทรงตัว

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานกลุ่มเหล็กส.อ.ท.กล่าวว่า ราคาเหล็กในประเทศเริ่มทรงตัวและบางรายการได้ปรับลดลงเนื่องจากเป็นไปตามฤดูการที่การก่อสร้างลดต่ำเพราะเป็นฤดูฝนและสอดคล้องกับภาวะราคาตลาดโลกทีทรงตัว ดังนั้นราคาเหล็กจึงเป็นไปตามกลไกตลาดเป็นหลักดังนั้นราคาจะขึ้นลงคงต้องดูหลายปัจจัยซึ่งส่วนของวัตถุดิบยังคงมีทิศทางที่ไม่ได้ลดลงมากนักจึงต้องติดตามอีก 1-2 เดือน

“ที่ผ่านมาผู้ผลิตเหล็กได้ยื่นขอปรับราคาก็ได้ขึ้นไปบ้างแต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมกับต้นทุนที่ยื่นขอไปนัก แต่ท้ายสุดราคาจะขึ้นอยู่กับตลาดเป็นสำคัญการที่รัฐจะขอให้ชะลอการขึ้นราคาช่วงนี้คงไม่ได้เป็นปัญหาอยู่แล้ว”นายพยุงศักดิ์ กล่าว  

ไฟเขียวนมกล่องขึ้นราคาอีก 1 บาท

นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาราคาผลิตภัณฑ์นม ได้เห็นชอบให้มีการปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นมตั้งแต่ 1.14-23.10% จากที่ผู้ผลิตเสนอขอปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 13.64-55.22% ให้แก่ผู้ผลิต 5 ราย จำนวน 4 ยี่ห้อ ได้แก่ โฟโมสต์ หนองโพ เมจิ และดูเม็กซ์ เนื่องจากต้นทุนเพิ่มขึ้นหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้มีการปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบจากกก.ละ 14.50 บาทเป็น 18 บาท โดยจะมีผลทันทีเมื่อได้รับการอนุมัติจาก รมว.พาณิชย์ ซึ่งกรมฯ จะเสนอให้พิจารณาในเร็วๆ นี้

นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ยอมรับว่าต้นทุนการผลิตนมกล่องเพิ่มขึ้นจริง หลังจากที่ครม. ได้อนุมัติให้ปรับราคาน้ำนมดิบขึ้นอีกกก.ละ 3 บาท โดยจากตัวเลขที่กรมการค้าภายในรายงานเข้ามาพบว่า ต้นทุนการผลิตนมบรรจุกล่องขนาด 250 ซีซี มีต้นทุนเพิ่มขึ้นกล่องละ 88 สตางค์ การอนุมัติให้ปรับราคาคงต้องให้ขึ้นตามต้นทุนที่แท้จริง ส่วนจะเป็นราคาเท่าใด คงต้องพิจารณารายละเอียดต่างๆ ก่อน

ส่วนน้ำมันพืช จะเรียกผู้ประกอบการทั้งน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันปาล์ม มาหารือในเร็วๆ นี้ หลังจากที่ได้ขอให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาอนุมัติให้มีการปรับขึ้นราคา โดยได้ขอให้กรมการค้าภายใน ไปรวบรวมข้อมูลทั้งหมด ทั้งข้อมูลด้านต้นทุนวัตถุดิบ ราคาที่จะขอปรับขึ้น จากนั้นจะพิจารณาว่าจะอนุมัติให้ปรับขึ้นราคาหรือไม่ นอกจากนี้ จะเรียกหารือผู้ประกอบการรายอื่นๆ ใน 19 กลุ่มสินค้า ที่ได้ขอปรับราคาเข้ามายังกรมการค้าภายในต่อไป

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ส.อ.ท.กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาราคากระดาษได้ปรับขึ้นไปเฉลี่ย 10% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันค่อนข้างมากแต่ล่าสุดราคาเริ่มทรงตัวแล้วและหากราคาน้ำมันมีการลดลงต่อเนื่องเช่นปัจจุบันก็อาจจะมีผลให้สามารถปรับลดลงได้ในอนาคตอันใกล้นี้

ปรับเป้าจีดีพีเพิ่มเป็น 5.6%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ได้ปรับประมาณการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของปี 2551 ใหม่ โดยปรับเพิ่มขึ้นจากเดิม 5.1% เป็น 5.6% หรือเพิ่มขึ้น 0.5% จากกรอบ 5.0-5.5% เป็น 5.5-6.0% ซึ่งถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 4 ปี ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ที่ 110-120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ค่าเงินบาท 32.5-33.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยแยกเป็นการขยายตัวครึ่งปีแรก 5.8% และในครึ่งปีหลัง 5.4%

ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะยังคงขยายตัวได้ดี เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล จาก 6 มาตรการ 6 เดือน วงเงิน 4.9 หมื่นล้านบาท ที่ช่วยลดปัญหาค่าครองชีพให้กับประชาชน และช่วยลดเงินเฟ้อจากเดิมที่คาดว่าทั้งปีจะอยู่ที่ 7.8% เหลือ 7% และยังได้รับอานิสงค์จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะทรงตัวอยู่ที่ 100-120 เหรียญสหรัฐ ทำให้แรงกดดันต่อต้นทุนสินค้าไม่เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ราคาน้ำมันในประเทศยังลดลงจากมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์

“การที่น้ำมันลดลงลิตรละ 5 บาท ทำให้เงินเฟ้อลดลง 1-1.2% และการที่เงินเฟ้อไม่สูง ทำให้แบงก์ชาติไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ น่าจะไปได้ตรึงถึงสิ้นปี หรือถ้าจะปรับก็น่าจะทำในไตรมาสที่ 4 และควรปรับไม่เกิน 0.25%”นายธนวรรธน์ กล่าว

ส่วนภาคการส่งออก คาดว่าจะเพิ่มจากปีที่แล้ว 18-20% สูงกว่าประมาณการณ์เดิมที่ 13% หลังจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลังมิทิศทางขยายตัวดีขึ้น เพราะปัญหาราคาน้ำมันและซับไพร์มในสหรัฐฯ เริ่มคลี่คลายลง ขณะที่การนำเข้าจะเพิ่มขึ้น 28-30% โดยจะขาดดุลการค้าประมาณ 500-1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 0.2-0.5% ของจีดีพี และจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณ 3,000-4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกินดุล 1-1.5% ของจีดีพี และยังได้รับอานิสงส์จากพืชผลทางการเกษตรที่มีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

นายธนวรรธน์กล่าวว่า แม้ทิศทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะดีขึ้น แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง จากความขัดแย้งทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นได้จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการยุบพรรคร่วมรัฐบาล ที่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ และหากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยไม่ใช่ระบบรัฐสภา จีดีพีจะขยายตัวเหลือ 4.5-5% แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงโดยระบบรัฐสภา จีดีพีจะขยายตัว 5-5.5% หรือถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงการเมือง จีดีพีก็จะเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ 5.5-6%

นอกจากนี้ ยังต้องระวังปัญหาราคาน้ำมัน แม้ว่าจะเริ่มทรงตัวอยู่ในระดับ 110-120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่เมื่อเทียบกับปี 2550 ที่ระดับ 65-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ถือว่าสูงมาก และส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศในปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นกว่าปีก่อน 5-9 บาทต่อลิตร และส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อในที่สุด ขณะเดียวกัน ต้องจับตาดูปัญหาซัมไพร์มในสหรัฐฯ เพราะอาจจะยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น