xs
xsm
sm
md
lg

ยักษ์ค้าของเก่าสองแควจ้องผุดโกดังยาง ยึดสี่แยกอินโดจีน-ป้อนออเดอร์จีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 7 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นำนักธุรกิจจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ดูงานธุรกิจสวนยางพาราจังหวัดชุมพร
พิษณุโลก – เจ้าพ่อค้าของเก่า “วงษ์พาณิชย์”เตรียมขยายไลน์รับซื้อเศษยาง จ้องผุดโกดังเหนือสี่แยกอินโดจีน ยันมีออเดอร์ชัวร์ๆจากจีน หลังจากตระเวนลงใต้คู่กับสำนัก BOI ภาค 7 ที่พานักธุรกิจเหนือล่างเชื่อมพันธมิตรนักธุรกิจอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางพาราใต้ตอนบน ผอ.สกย.สองแคว มั่นใจอนาคตรายได้เมืองพิษณุโลกมาจากสวนยางพารา ก้าวขึ้นเป็นที่ 2 รองจากข้าวเปลือกเท่านั้น

เมื่อเร็วๆนี้ นายพิศาล สิริภัทท์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 7 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นำนักธุรกิจจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง โดยเฉพาะจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์เข้าชมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในธุรกิจสวนยางพาราที่จังหวัดชุมพรและธุรกิจสปา ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จอีกขั้นหนึ่ง เพราะนักธุรกิจในภาคเหนือตอนล่างเริ่มมั่นใจ ในอุตสาหกรรมแปรรูปจากยางพารา มีแนวโน้มที่จะดำเนินธุรกิจใหม่ๆ

นายพงศ์ศักดิ์ พรหมโชติชัย ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์สวนยางจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่บีโอไอ พานักธุรกิจเหนือล่างไปพบปะและพูดคุยกับนักธุรกิจภาคใต้ตอนบน ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการปลูกยางกันมานานในพื้นที่ภาคใต้และตะวันออกกว่าร้อยปี ต้องยอมรับว่า พื้นที่ปลูกยางของพิษณุโลกกำลังเติบโต กรีดน้ำยางได้แล้วไม่กี่พันไร่ โดยมีพื้นที่ปลูกยางพาราแจ้งกับ สกย.พิษณุโลกไว้จำนวน 130,000 ไร่ และยังไม่แจ้งอีกจำนวนมาก และถือว่า มีพื้นที่ปลูกยางพารามากที่สุดในภาคเหนือตอนล่าง คาดว่าในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ยางพาราจะทำรายได้เข้าจังหวัดพิษณุโลกมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากข้าว

หลังจากดูพื้นที่จริงในอุตสาหกรรมผลิตและแปรรูปน้ำยางพารา ถือว่าเป็นโอกาสดี ที่นักธุรกิจภาคเหนือล่างโดยเฉพาะคนพิษณุโลกเปิดรับโอกาสลู่ทางการลงทุนในอนาคต มีแนวทางร่วมลงทุนอย่างไม่ต้องกลัวเสียเปรียบในเชิงการค้า เพราะได้เข้าดูงานหรือสัมผัสขบวนการผลิต ยางแท่ง ยางแผ่นรมควันและน้ำยาง

ทั้งนี้โรงงานผลิตยางแท่งของบริษัท ไทยฮั้วชุมพรยางพารา จำกัด ถือว่า เป็นการแปรรูปยางพาราที่ใช้เทคโนโลยีสูงกว่ายางแผ่นรมควัน สามารถแปรรูปน้ำยางพาราจนสามารถให้ราคาสูง แต่มีโรงงานจำนวนน้อยมากในประเทศไทย ส่วนโรงงานบริษัทชุมพรอุตสาหกรรมจำกัด ซึ่งเป็นโรงงาน แปรรูปยางพาราแผ่น หรือ ยางแผ่นรมควัน ที่รับซื้อยางแผ่นจากชาวสวนยาง ผ่านกระบวนการทำความสะอาด อบและรมควันด้วยความร้อนเพื่อรักษาคุณภาพยาง พร้อมอัดเป็นก้อนเพื่อส่งขายยังต่างประเทศ

ส่วนน้ำยางข้น ของบริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็กซ์ชุมพรจำกัด ที่มีรถตระเวนรับซื้อน้ำยางจากชาวสวนยาง และนำส่งเข้าโรงงานทันที เพื่อผ่านกระบวนการทางเคมี และนำส่งต่อโรงงานอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น โรงงานถุงยางอนามัย ซึ่งโรงงานรับซื้อน้ำยางข้น หากก่อตั้งในภาคเหนือตอนล่าง อาจไม่สามารถกระทำได้ในช่วงนี้ แต่สามารถตั้งโรงงานยางแผ่นรมควัน เป็นอุตสาหกรรมแปรรูปที่ง่ายและสะดวกที่สุด หรืออนาคตจะแปรรูปยางแท่งก็สามารถกระทำได้

นายพิศาล สิริภัทท์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 7 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า การนำนักธุรกิจจังหวัดภาคเหนือตอนล่างมาดูแนวทางการทำโรงงานยางที่ภาคใต้ครั้งนี้ เพื่อให้เห็นของจริง นักธุรกิจสามารถมองไปด้านหน้าได้ เรียกว่า มองเห็นลู่ทางการลงทุนในธุรกิจแปรรูปยางพาราได้ง่ายขึ้น

จากเดิมที่ทราบเพียงข้อมูลข่าวสารเท่านั้น ที่สำคัญยังสามารถเชื่อมต่อพันธมิตร มีโอกาสร่วมลงทุนระหว่างคนใต้กับคนเหนือตอนล่าง จากที่คนในพื้นที่เหนือล่างเชี่ยวชาญเฉพาะพื้นที่ แต่ด้านการผลิตหรือเทคนิคยังมีความรู้น้อย หากได้นักธุรกิจใต้ตอนบนจับมือร่วมลงทุนในธุรกิจแปรรูปยางพาราก็จะเป็นประโยชน์กับจังหวัดพิษณุโลก เพราะทราบดีว่ามีพื้นที่ปลูกยางพาราจำนวนมาก

นายสมไทย วงษ์เจริญ ประธานกรรมการโรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลวงษ์พาณิชย์ กล่าวว่า ตนและฝ่ายต่างประเทศของวงษ์พาณิชย์ฯ และคณะนักธุรกิจในจังหวัดพิษณุโลกได้รับความรู้และมองเห็นลู่ทางในการพัฒนาธุรกิจยางพาราในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ปัจจุบันวงษ์พาณิชย์ ได้ซื้อที่ดินเหนือสี่แยกอินจีน ประมาณ 10 กม.เศษ เพื่อก่อสร้างโกดังสำหรับเก็บสินค้า ค้าขายกับประเทศจีนผ่านขึ้นไปทางเชียงแสน แต่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจค้าของเก่า เพราะทราบดีว่า จีนมีความต้องการสินค้าประเภทยางพารามาก และพูดคุยกันมากในวงการค้าขาย

ในเร็วๆนี้จะมีการประชุมเกี่ยวกับเรื่องยางพาราที่ จีน ณ วันนี้ มีคำสั่งซื้อที่จีน เฉพาะเศษยาง ที่ชาวสวนยางกรีด แต่ไม่รีดเป็นแผ่น ให้ส่งไปแปรรูปที่จีน เนื่องจากเศษยางมีราคาถูกกว่ายางแผนครึ่งต่อครึ่ง

นายสมไทย กล่าวอีกว่า ธุรกิจของวงษ์พาณิชย์เน้นที่ธุรกิจซื้อมาขายไป หากมีออเดอร์สินค้า วงษ์พาณิชย์ก็พร้อมส่งป้อนไปประเทศจีน ซึ่งโกดังแห่งใหม่จะเน้นการส่งเม็ดพลาสติกและสินค้าประเภทยางพารา ซึ่งจีนมีความต้องการมาก ส่วนอนาคตจะตั้งโรงงานรักษาคุณภาพยางแผ่นรมควันหรือไม่นั้น ไม่สามารถบอกได้ เพราะต้องดูความต้องการของตลาดก่อน ไม่ใช่นึกว่า จะสร้างโรงงานใดก็ได้ ความต้องการหรือออเดอร์เป็นหัวใจสำคัญมากกว่าที่จะบอกว่า ควรส่งอะไรไปขายที่ประเทศจีน

ส่วนข้อกังวลสำหรับชาวสวนยางไทย ที่คนในจีนสามารถปลูกยางพาราได้ คงไม่ใช่เพราะมีพื้นที่เหมาะสมปลูกยางเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่เพียงพอต่อความต้องการ แถมยังนำยางไทยเข้าไปผสมกับยางต่างประเทศอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น