xs
xsm
sm
md
lg

บีโอไอเร่งกระตุ้นทุนเหนือล่างนำทัพเรียนรู้ธุรกิจยาง-สปาปักษ์ใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิษณุโลก – บีโอไอเตรียมนำนักลงทุนเหนือล่างลงใต้ เปิดหูเปิดตากับ “ธุรกิจยางพารา-สปา” หวังกระตุ้นให้นักธุรกิจท้องถิ่นผุดการลงทุนต่อยอดในพื้นที่ หลังพบมีแต่ทุนใหญ่ส่วนกลางยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนกลุ่มพลังงานทดแทนพุ่งสูง แต่ทุนท้องถิ่นนิ่งสนิท

นายพิศาล สิริภัทท์ ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 7 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เปิดเผยว่า ครึ่งปีนี้ภาวะการลงทุนในภาคเหนือตอนล่างไม่ค่อยสดใสนัก การลงทุนใหม่ๆ ยังน้อยเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ แม้ตัวเลขที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ต้นปี 51 จนถึงเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ 2,600ล้านบาท

ส่วนที่ได้รับการอนุมัติไปแล้วช่วง 7 เดือนของปี 51 มีวงเงิน 1,160 ล้านบาท จากผู้ลงทุนจำนวน 10 ราย แต่เป็นเพราะผู้ประกอบการรายใหญ่จากส่วนกลางเข้ามายื่นขอรับการส่งเสริมแทบทั้งสิ้น เช่น นันยางการ์เมนท์ เกือบ 650 ล้านบาทลงทุนที่ จ.พิจิตร และ จ.นครสวรรค์ และบริษัทที่ขอส่งเสริมใหม่ คือ หย่วนต้า (ประเทศไทย) จำนวน 262 ล้านบาท ลงทุนที่ จ.นครสวรรค์ ที่เหลือเป็นการลงทุนระดับ 20 ล้านบาท

ขณะที่ตลอดทั้งปี 50 พบว่า บีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว 16 ราย คิดเป็นเงินลงทุน 4,188 ล้านบาท โดยโรงงานที่มีวงเงินสูงสุดคือ แม่สอดพลังงานสะอาด ทำธุรกิจปลูกพืช เพื่อใช้สำหรับพลังงานทดแทนจำนวน 2,025 ล้านบาท โรงงานไฟฟ้าไอน้ำพิจิตร 424 ล้านบาท โรงงานกำแพงเพชรเจนเนอเรติ้งแพลนจำกัด 450 ล้านบาท, บี.พี.อาหารสัตว์ 448 ล้านบาทที่จ.พิษณุโลก และอาร์เบอร์ เอเคอร์ส ประเทศไทยจำกัด จ.เพชรบูรณ์ ส่วนที่เหลือเป็นรายเล็กๆ

“ภาพรวมโดยสรุปการลงทุน ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในด้านเกษตรและพลังงานจากส่วนกลางมากกว่า”

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักลงทุนท้องถิ่น บีโอไอ พิษณุโลก เตรียมจัดสัมมนาเคลื่อนที่ ประชุมหารือและเปลี่ยนประสบการณ์ ระหว่าง 28-31 สิงหาคม 51 เพื่อเชื่อมโยงการค้าการลงทุนระหว่างผู้ประกอบการภาคเหนือตอนล่างกับผู้ประกอบการภาคกลางและภาคใต้ตอนบน เพื่อเพิ่มธุรกิจการลงทุนใหม่ๆ ซึ่งเป็นภาคธุรกิจท้องถิ่น โดยจะนำนักธุรกิจภาคเหนือตอนล่างเยี่ยมชมธุรกิจบ้านพักและศูนย์สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุบริษัท โลตัสเวลล์ จำกัด และบริษัท ชีวาศรมอินเตอร์ฯ เฮลท์ รีสอร์ท เพราะที่พื้นที่ภาคเหนือต่างมีศักยภาพในการทำสปา แต่ยังขาดความรู้ใหม่ๆ ในการดำเนินธุรกิจ

จากนั้นกำหนดประชุมหารือกับนักธุรกิจจังหวัดชุมพร เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในธุรกิจสวนยางพารา ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า พื้นที่จังหวัดพิษณุโลก มีพื้นที่ปลูกยางพาราจำนวนมาก แต่มีความรู้ในการการแปรรูปน้ำยางพาราน้อย ฉะนั้นจำเป็นต้องนำนักธุรกิจในพื้นเข้าไปเยี่ยมชมโรงงาน ไทยรับเบอร์ลาเท็กซ์ชุมพร จำกัด โรงงานผลิตยางแท่งของบริษัท ไทยฮั้วชุมพรยางพารา พร้อมกับรับฟังการบรรยายจากผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญ ในเรื่องการพัฒนาธุรกิจยางพาราในภาคใต้
กำลังโหลดความคิดเห็น