xs
xsm
sm
md
lg

“เฮดจ์ฟันด์”เน้นลงทุน“โภคภัณฑ์”ม้วนเสื่อ คาดลากเอา“เลห์แมน”พลอยลำบากไปด้วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ – ออสแพร แมเนจเมนท์ แอลแอลซี บริษัทบริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ต้องปิดกองทุนหลักของตนลงแล้ว หลังจากมูลค่าร่วงลงไปถึง 27% ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เนื่องจากมูลค่าหลักทรัพย์ด้านพลังงาน เหมืองแร่และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ลดลงอย่างมาก และกลายเป็นเฮดจ์ฟันด์ที่ลงทุนในโภคภัณฑ์ใหญ่ที่สุด ที่ต้องปิดตัวเองลง

การปิดตัวของกองทุนเฮดจ์ฟันด์แห่งนี้ ประกาศออกมาโดย ดไวท์ แอนเดอร์สันซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกองทุน เขาส่งจดหมายถึงนักลงทุนเมื่อวันอังคาร(2) บอกถึงการตัดสินใจดังกล่าว ข่าวนี้ก็ยังเป็นข่าวร้ายสำหรับเลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิ้ง อิงค์ เพราะว่าเข้าไปถือหุ้นราว 20%ของกองทุนดังกล่าวในปี 2005

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการปิดตัวของกองทุนที่ขาดทุนไปถึง 38.59% แล้วในปีนี้ น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงเอาตลาดหุ้นสหรัฐในวันอังคารร่วงลงไปด้วย และตอนนี้ในการค้าทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ ราคาหุ้นของเลห์แมนก็ลดลงแล้วมากกว่า 3% หลังตลาดปิดทำการจริง

“นี่เป็นการเติมเชื้อไฟเข้าไปในตลาดที่เกี่ยวข้องกับพวกสินค้าโภคภัณฑ์” ปีเตอร์ โฮลท์ส กรรมการผู้จัดการของเดลต้า โกลบอล แอดไวเซอร์สในแคลิฟอร์เนียใต้ บอก “แม้แต่เมื่อเช้านี้เมื่อตลาดเปิด ผลิตภัณฑ์บางตัวที่ออสแพรไปลงทุนไว้ก็ถูกทุบราคาร่วงลงมาด้วย”

เวลานี้ทั้งทางออสแพรและเลห์แมนต่างก็ปฏิเสธที่จะพูดถึงสถานการณ์ดังกล่าว

แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับออสแพรกล่าวว่า ณ ต้นเดือนสิงหาคมมา กองทุนออสแพร ฟันด์ ซึ่งเป็นกองทุน “เรือธง” ของกลุ่มบริษัทแห่งนี้ ได้ลงทุนไปในสินทรัพย์ต่างๆ รวม 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เวลานี้ ออสแพร แมเนจเมนท์ ยังคงบริหารเม็ดเงินอีก 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในกองทุนเพื่อการลงทุนอื่นๆ รวมทั้งกองทุนเพื่อการลงทุนพิเศษกองทุนหนึ่ง ซึ่งเป็นกองทุนที่ได้เข้าซื้อกิจการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์และการดำเนินงานต่างๆ ด้านการพาณิชย์ ของ คอนอะกร้า ฟู้ดส์ อิงค์เมื่อต้นปีนี้

ในจดหมายที่ออสแพร แมเนจเมนท์ส่งถึงนักลงทุนชี้แจงว่า ทางกองทุนจะแบ่งสินทรัพย์ราว 40% ของกองทุนให้แก่นักลงทุนในวันที่ 30 กันยายนนี้ และอีก 40%จะมีการแบ่งสรรกันในช่วงสิ้นปี ส่วนที่เหลือ 20% ที่ส่วนใหญ่เป็นพวกที่ไร้สภาพคล่องแล้วจะใช้เวลาสามปีในการคืนเงินให้แก่นักลงทุน

จากข้อมูลที่ออสแพร แมเนจเมนท์ ยื่นต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ กองทุนถือหุ้นในบริษัทอย่างเช่น แอลคัว อิงค์และ อาร์คช์ โคล อิงค์ แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนนักว่ากองทุนแห่งใดของกลุ่มบริษัทนี้ ถือหุ้นบริษัทใดไว้บ้าง

ออสแพร แมเนจเมนท์ยังถือหุ้น 19.5% ของเกรท เซาเธิร์น ซึ่งเป็นบริษัทสวนเกษตรขนาดใหญ่ และยังถือหุ้นอีก 5% ในเอเม็คโก โฮลดิ้งส์, อิลลูก้า รีซอสเซส อิงค์ และ มินเนอรอล ดีโพสิตส์ จำกัด ซึ่งต่างเป็นบริษัทด้านทรัพยากรธรรมชาติและให้บริการด้านการทำเหมือง ที่ตั้งอยู่ในออสเตรเลีย

“ในขั้นตอนนี้ เราไม่มีเหตุผลที่จะคิดว่าจะส่งผลต่อเกรท เซาร์เทิร์นแต่อย่างใด” เดวิด สกิน โฆษกของเกรท เซาเทิร์นกล่าว

ส่วนเอเม็คโก้, อิลลูก้า และมินเนอรัล ดีโพสิตต่างยังไม่ได้แสดงความคิดในกรณีนี้

แอนเดอร์สันกล่าวในจดหมายว่าเขารู้สึกเสียใจในผลที่ออกมามาก

“ไม่เพียงแต่ในฐานะที่เป็นผู้จัดการกองทุน แต่ในฐานะที่เป็นหนึ่งในนักลงทุนรายใหญ่ในออสแพร ฟันด์ แอลพีอีกด้วย และผมก็ได้รับความเสียหายเหมือน ๆกับท่านทั้งหลาย” จดหมายของเขาเขียนไว้เช่นนี้ “หลังจากเก้าปีของความรุ่งโรจน์ในการบริหารเงินทุนของท่านทั้งหลาย ผมเสียใจมากในเหตุที่เกิดขึ้นนี้”

เขากล่าวด้วยว่าการตัดสินใจที่ปิดกองทุนเกิดขึ้น เมื่อมูลค่าของกองทุนตกลงไปอยู่ภายใต้เกณฑ์ที่กำหนดว่า นักลงทุนจะสามารถที่จะขอไถ่ถอนการลงทุนได้ โดยไม่ต้องขึ้นกับระเบียบข้อจำกัดอื่นๆ อีกแล้ว

นี่นับเป็นครั้งที่สองในช่วงสองปีที่ออสแพร แมเนจเมนท์ ซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ต้องประสบกับปัญหาเช่นนี้ ในช่วงต้นปี 2006 การเก็งกำไรราคาทองแดงที่กลายเป็นหายนะ ทำให้มูลค่าของกองทุนลดลงไปราว 20% ก่อนที่จะพวกเขาจะดำเนินการตัดขาดทุนเกือบทั้งหมดออกไปในช่วงสิ้นปี

และในปี 2006 เช่นกัน แอนเดอร์สัน ซึ่งสั่งสมสร้างชื่อเสียงในวงการเฮดจ์ฟันด์ จากการบริหาร บริษัท ทิวเดอร์ อินเวสเมนท์ คอร์ป และ ไทเกอร์ แมเนจเมนท์ แอลแอลซี, ต้องประกาศปิด ออสแพร พอยนท์ ฟันด์ ที่มีมูลค่า 250 ล้านดอลลาร์

ออสแพร แมเนจเมนท์ ฟันด์เป็นเฮดจ์ฟันด์ล่าสุดที่ประสบปัญหา ในปีนี้ อุตสาหกรรมเฮดจ์ฟันด์ที่มีมูลค่าถึงสองล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เกิดความวุ่นวายมาตลอด เมื่อเดือนที่แล้วแดน เบนตัน ก็เพิ่งประกาศว่าจะปิด กองทุนแอนเดอร์ แคปปิตอล ที่เขาเป็นผู้ก่อตั้ง

นักวิเคราะห์หลายรายบอกว่าน่าจะมีเฮดจ์ฟันด์ปิดตัวตามมาอีกมาก เพราะว่ากองทุนส่วนใหญ่มีผลประกอบการเป็นลบในช่วงปีนี้ และน่าจะส่งผลให้เลห์แมน บราเธอร์สต้องรีบเร่งเจรจากับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเกาหลีในเรื่องการเข้าซื้อหุ้น เลห์แมนซึ่งเป็นวาณิชธนกิจใหญ่เป็นอันดับสี่ของสหรัฐฯ กำลังจะต้องระดมทุนโดยด่วน ก่อนที่จะประกาศผลประกอบการไตรมาสล่าสุดภายในเดือนนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น