xs
xsm
sm
md
lg

ทหารจะอยู่ข้างประชาชน และไม่ใช้ความรุนแรง !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(บทนำ) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ตาม พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ได้เปิดแถลงข่าว ถึงจุดยืน และแนวทางการคลี่คลายสถานการณ์ ความตึงเครียดในบ้านเมือง หลังการหารือกับผู้เกี่ยวข้องเป็นเวลาหลายชั่วโมง พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนไทย และต่างประเทศซักถาม

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้เริ่มการแถลงข่าว โดยยืนยันว่า จะแก้ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยในเขตกรุงเทพฯ โดยยึดถือระบอบประชาธิปไตยเป็นหลัก เป็นกรอบในการดำเนินการตามกฎหมาย นอกจากนั้น จะทำภารกิจ เพื่อไม่ให้ประชาชนได้ปะทะกัน หรือเกิดความสูญเสียเกิดขึ้น โดยใช้หลายมาตรการ

ข้อแรก คือ จะสร้างความเข้าใจให้กับคนในชาติ ตระหนักถึงปัญหาของความขัดแย้งที่ลุกกลามบานปลาย ไปจนถึงการปะทะด้วยกำลัง ซึ่งนำความสูญเสีย และความเสียหายต่อประเทศชาติให้ทุกคนได้เข้าใจ และตระหนักว่า ยังมีหนทางที่จะแก้ปัญหา โดยใช้แนวทางการเจรจาพูดคุย หรือใช้มาตรการอื่นที่เหมาะสม

ส่วนการดำเนินการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในภูมิภาคของประเทศ เพื่อให้มีความเข้าใจว่า การที่จะเคลื่อนย้าย หรือเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ จะทำให้เกิดปัญหายิ่งลุกกลามบานปลายขึ้น ส่วนนี้ ราชการที่เกี่ยวข้องรับจะดำเนินการร่วมกัน ทั้งฝ่ายปกครอง องค์กรเอกชน ทหาร ตำรวจ ในพื้นที่ จะใช้การสร้างความเข้าใจให้มากกว่าการที่จะไปใช้มาตรการสกัดกั้น ซึ่งทำให้เกิดการดื้อดึงและขัดขืนในการที่จะไม่ปฏิบัติ

สำหรับมาตรการดูแล เมื่อมีคนบางกลุ่มเข้ามาในกรุงเทพฯ และจะเกิดการปะทะเกิดขึ้น ที่ประชุมเห็นว่า กำลังที่มีอยู่ตามปกติของสตช. และกองทัพบก คือ กองทัพภาคที่ 1 สามารถจะรักษาสถานการณ์ได้ โดยใช้มาตรการสกัดกั้นไม่ให้ทั้งสองฝ่ายมาปะทะกัน โดยจะไม่ใช้อาวุธ จะปฏิบัติการโดยอาศัยมาตรการด้านการข่าว ซึ่งทุกหน่วยจะดูสถานการณ์ร่วมกัน

นอกจากนี้ คณะกรรมการเห็นร่วมกันว่า จะใช้มาตรการนี้ในทุกสื่อที่จะสร้างความเข้าใจว่า สถานการณ์ขณะนี้คงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้สื่อของรัฐทางใดทางหนึ่งไปดำเนินการว่า จะเกิดกรณีอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงขอความกรุณาสื่อมวลชนว่า ให้สร้างความเข้าใจกับคนในชาติทุกพื้นที่ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ให้เข้าใจถึงแนวทางที่จะใช้การเจรจา หรือการใช้กลไกตามกฎหมายที่จะแก้ปัญหาทางการเมืองในขณะนี้ให้ลุล่วง โดยจะไม่ใช้กำลังเข้าปฏิบัติต่อกัน
********

จากนั้น พล.อ. อนุพงษ์ ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชน ซักถาม
-- กองทัพจะเลือกทางใด ระหว่างการใช้กำลังกับประชาชน กับการให้นายกฯ เสียสละ

ตามกฎหมายของประเทศ ต้องถือว่าหนทางในการฝ่าวิกฤตครั้งนี้ ต้องยึดแนวทางกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลมีความถูกต้องชอบธรรมอยู่ในขณะนี้ กลไกที่จะดำเนินการได้ต้องเป็นกลไกทางรัฐสภา หรือ กลไกพรรคการเมือง ซึ่งสมาชิกวุฒิสภา สามารถใช้ได้ ถ้าทหารต้องออกปฏิบัติการ ทหารจะอยู่ข้างประชาชน และไม่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน ทหาร และตำรวจ จะอยู่กลาง และพยายามไม่ให้คนปะทะกัน อยากให้คนหันไปปะทะกันทางความคิด ด้วยเหตุผล ด้วยหลักกฎหมาย

-- คณะทำงานจะเริ่มเจรจากับสองฝ่ายอย่างไร และเมื่อไร

ขอบเขตการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งจะกำหนดขอบเขตของตัวเองในการไม่ทำเกิดภาวะฉุกเฉินเกิดขึ้น การทำให้คนที่มีความคิดแตกต่างกัน แล้วใช้กำลังเข้าปฏิบัติต่อกันปะทะกัน จนเกิดความสูญเสียถึงชีวิต รวมถึงจะแก้ปัญหาที่อาจลุกลามไปถึงความเสียหายต่อสถานที่ต่างๆ แต่การขัดแย้งทางการเมือง ต้องแก้ไขทางการเมือง ต้องผ่านกลไกทางกฎหมาย และกฎที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด ไม่ว่าสถาบันใด

-- จะทำอย่างไรกับกลุ่มพันธมิตรฯ ที่อยู่ในทำเนียบรัฐบาล เพื่อแก้ไขเป็นรูปธรรม

ขอบเขตการเจรจาน่าจะอยู่ในส่วนที่ทำให้ 2 ฝ่ายไม่ใช้ความรุนแรงเข้าหากัน ส่วนการเจรจาที่จะให้ปัญหาทั้งหมดลุล่วงไป ไม่ว่าตามประสงค์ฝ่ายใด น่าจะพิจารณาทำกันต่อไป ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะทำงานชุดดังกล่าวนี้ ส่วนการเจรจาเพื่อให้ได้บรรลุข้อยุติว่า ฝ่ายใดจะบรรลุวัตถุประสงค์ น่าจะต้องไปอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งการกำหนดกรอบเวลาไม่น่าจะทำได้ สำหรับการกำหนดกรอบเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นหน้าที่ของนายกฯ ออกคำสั่ง หากหมดสถานการณ์ น่าจะยกเลิก

-- การสกัดกั้นกลุ่มต่างๆ เจ้าหน้าที่ไม่ใช้อาวุธ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมมีอาวุธ จะทำอย่างไร

เราหารือว่าต้องปฏิบัติการด้วยโล่ และกระบองเท่านั้น หากนำอาวุธออก ไปรังแต่จะสร้างปัญหามากขึ้น แล้วจะมีผลกระทบใหญ่หลวงต่อประเทศชาติ ดังนั้น ต้องออกปฏิบัติการด้วยโล่ กระบอง และอุปกรณ์อื่นที่จำเป็น เช่น แก๊สน้ำตา หรือรถดับเพลิงเท่านั้น

--กรมประชาสัมพันธ์ อนุญาตให้นักการเมืองเสนอความเห็นผ่านรายการ เป็นการปลุกระดมสร้างความแตกแยกหรือไม่

สื่อสองฝ่ายมีส่วนทำให้สถานการณ์ขยายตัวหรือค่อยพัฒนาไปในลักษณะที่ใช้ความรุนแรง เราได้พิจารณาหลายแง่มุมว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อสื่อ ที่ทำให้คนมีความรับรู้ด้านเดียว บางคนมีความขัดข้องที่ออกมาปฏิบัติ คือ ยิ่งพูดยิ่งมีคนมาต่อต้าน กลายเป็นประเด็น มีมวลชนขึ้นมา ตราบใดที่สื่ออยู่ตรงกลาง สื่อย่อมรู้ดีว่า ตำรวจ ทหาร ย่อมสามารถแก้ไขปัญหาชาติได้ ไม่ปลุกปั่นจนประชาชนทั้งหลาย รับรู้ว่า สื่อนี้เข้าข้างฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง ท่านอยู่ในจุดนั้น ช่วยแก้ไขปัญหาประเทศชาติได้ พร้อมทั้งดูว่า สื่อจะมีบทบาทอย่างไรในการสร้างสรรค์สังคม ไม่ให้คนปะทะกันได้

--จะดำเนินการกับโทรทัศน์ เอ็นบีที และ เอเอสทีวี อย่างไร

คณะทำงาน เห็นว่าอยากให้ดำเนินการกับสื่อ มีเหตุผลเดียว คือ ทำอย่างไรให้สถานการณ์ดีขึ้น หากพูดถึงผลกระทบที่ตามมา การหารือของคณะทำงานระยะสั้น เร็วเกินไปที่จะพูดได้ เนื่องจากผลกระทบจากสาธารณะ แม้จากต่างประเทศในการปิดกั้นสื่อ อย่างน้อยอาจมีผลต่อภาพพจน์ประเทศชาติ หาก ต้องการประเทศชาติฝ่าตรงนี้ไปให้ได้ ใครจะเจรจาได้อย่างไร เป็นคนละเรื่องกับคณะทำงานชุดนี้ ข้าราชการของรัฐของประชาชน ของประเทศชาติที่จะต้องไปอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง เพราะมาตรการนี้ละเอียดอ่อน ถ้าทำไปแล้ว อาจกลายเป็น มุมกลับแล้วมาชุมนุมกันมากขึ้น เพราะหาว่าไปปิดกั้นสื่อ ไปรุกรานต่อกลุ่มดังกล่าว แม้เป็นเรื่องที่ดี ท่านมองว่าสื่อนี้ เป็นพวกของกลุ่มหนึ่ง และสื่ออีกกลุ่มเป็นของอีกกลุ่ม มันเป็นอย่างนั้น และประชาชนหลายส่วนในประเทศ ก็มองอย่างนั้นว่า การสร้างให้ประชาชนรับรู้ด้านเดียว และใช้การปลุกปั่นรุนแรง แม้จะจริงบ้างเท็จบ้าง แต่ไม่ได้ทำให้สังคมเดินไปสู่การพูดคุยกันได้

คณะทำงานได้พูดถึงเรื่องปิดทั้งสองสื่อ แต่เราขอเวลาพิจารณาให้ละเอียด ถ้าสื่อเห็นพ้องว่า เราไม่มีวาระซ่อนเร้น ที่อิงอยู่กับฝ่ายใด และมุ่งหวังการแก้ปัญหาของชาติได้ลุล่วง ปัญหานั้นสองสถานี มีส่วนสำคัญทำให้การดำเนินการเป็นไปยาก หากทุกคนเห็นร่วมกันอย่างนั้นแล้ว ถ้าใช้คำว่าปิดสื่อ ต่างประเทศจะไขว้เขว เอาเป็นว่ามีมาตรการที่เหมาะสมที่จะทำให้สื่อทั้งสองที่สร้างบรรยากาศไม่เอื้อต่อการที่จะมีส่วนทำให้สถานการณ์ดีขึ้น จะใช้มาตรการอะไรแล้วแต่ ผมไม่ใช้คำว่าปิด ส่วนมาตรการที่เหมาะสมจะพูดคุยในวาระต่อจากนี้ไป

--หากเจรจาไม่เป็นผล มีมาตรการอะไรรองรับ หรือจะใช้มาตรการรุนแรงสลายการชุมนุม

กลับไปยืนยันว่า น่าจะเกินเลยภาวะฉุกเฉิน น่าจะเป็นภาวะความขัดแย้งในสังคมของคนที่มีความเห็นต่างกันสองฝ่าย ไม่ใช่เรื่องฉุกเฉิน ทุกคนทราบดีว่า อำนาจฝ่ายบริหารไม่สามารถดำเนินการได้ตามภาวะปกติ มีการใช้กลไกรัฐสภามาแก้ไข ยังแก้ไขไม่ได้ อำนาจตุลาการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง ถ้าคนไทยด้วยกันอยากแก้ไขปัญหานี้ น่าจะดันภาระนี้ไปสู่สภานิติบัญญัติมากกว่า ให้ภาคประชาชน ซึ่งมีความเห็นแตกต่างสิ้นเชิงมาแก้ไขปัญหากัน โดยสองฝ่ายค่อนข้างยาก ที่จะมีจุดร่วมกันที่เหมาะสม ผมคิดว่าสภานิติบัญญัติ ต้องแก้ไขปัญหานี้ เพราะไม่มีหนทางอื่น และไม่มีใครยอมใคร ความขัดแย้ง ต้องใช้กลไกตามกฎหมาย ยืนยันว่ารัฐสภา ควรจะรับผิดชอบประเทศชาติมากกว่านี้

เหตุการณ์เมื่อคืนเกิดขึ้น เพราะปฏิบัติผิด ถ้าเจ้าหน้าที่ทหาร กับตำรวจ จะเข้าไปตามที่ว่าแล้วมันจบ หมดเรื่องไป ก็น่าจะทำ แต่คณะทำงานคิดว่ารังแต่จะสร้างปัญหามากกว่า ซึ่งมีพันธมิตรฯอยู่ทั่วประเทศ ที่สำคัญคือ สหภาพแรงงานดำเนินการ ก็ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศ ทั้งเศรษฐกิจ การลงทุน การท่องเที่ยว แล้วปัญหาก็ไม่จบอีก คณะทำงานพิจารณาว่า แม้สิ่งที่ทำจะถูกหรือไม่ แต่อยู่ในขั้นตอนกฎหมายที่คุ้มครองอยู่ จะอยู่นานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสังคมจะสร้างธรรมเนียมปฏิบัติ เมื่อถึงเวลาหนึ่ง กฎหมายจะตัดสินว่า คุ้มครองได้หรือไม่

ส่วนการใช้กำลังทำร้ายประชาชน ผมบอกตลอดว่า ข้าราชการของรัฐ ไม่ว่าทหาร ตำรวจ ต้องใช้ขันติ ในการแก้ปัญหามากกว่าการใช้กำลัง เรื่องการทำร้ายประชาชนไม่มีอยู่แล้ว การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายต้องไปมือเปล่า ส่วนกฎหมายที่ระบุถึงการสลายการชุมนุมด้วยนั้น คณะทำงานพิจารณาว่า ข้อกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ แต่จะใช้หรือไม่ ต้องดูว่าทำอย่างไร ถ้าแก้ไขได้ ก็น่าจะจบไปหลายวันแล้ว การแก้ไขปัญหาไม่สามารถทำได้ด้วยการใช้หลักนิติศาสตร์อย่างเดียว แต่ถ้าใช้กำลังก็จะเกิดปัญหาขึ้นอีก ปัญหาไม่ยุติ การใช้กำลังที่ผ่านมา ทำให้ตำรวจเป็นจำเลย หากทหารใช้กำลัง ก็จะเป็นจำเลย หากพลั้งพลาด และเกิดกระแสความไม่พอใจ ประเทศชาติก็จะแตกแยกมากไปอีก ส่วนขั้นการสลายชุมนุม เลยขั้นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไป

--การแก้ปัญหาด้านนิติบัญญัติ และตุลาการ ไม่สามารถแก้ไขได้ ฝ่ายบริหาร ควรจะพิจารณาตัวเองหรือไม่

ถ้าถามในลักษณะต่อหน้าสาธารณะในฐานะที่เป็นผู้เข้าไปแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่น่าจะมีความเห็นที่จะตอบได้ ที่สำคัญคือ ไม่ใช่ตัวคณะกรรมการชุดนี้ ต้องถามผู้ใช้อำนาจบริหาร

--จะมีการตัดน้ำ ตัดไฟ ในวันนี้ ทหารจะดำเนินการอย่างไร

เกี่ยวกับสาธารณูปโภค กระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ประชาชนทั้งหมด หากจะแก้ไขปัญหาบ้านเมืองต้องใช้มาตรการที่คิดว่า จะแก้ปัญหาได้ ที่ทุกคนเห็นด้วย ทุกคนได้รับผลกระทบควรยับยั้งชั่งใจ ที่จะไม่ทำ เพราะกระทบไปทั้งหมด ถ้าเราต้องฆ่าหนูตัวเดียว แต่ต้องรื้อหลังคาบ้าน ต้องรื้อหมดทุกอย่าง เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นแนวคิดที่ดีนัก

--ใครจะไปเจรจากับกลุ่มพันธมติร และ นปช.จะเป็นกองทัพบก หรือ คนกลาง

เราก็ไม่มั่นใจว่า ทั้ง 2 ฝ่าย จะมาคุยกับคณะแก้ไขปัญหานี้หรือไม่ แต่เราจะปฏิเสธช่องทางนี้ไม่ได้ แต่พยายามจะสื่อไป แม้จะสื่อด้านเดียว แต่ขอให้สองฝ่ายอย่าใช้มาตรการรุนแรง หรือสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรง เช่น เคลื่อนพลเข้าไปหากัน ส่วนจะทำอย่างไร เราพยายามใช้ช่องทางอยู่

--ทหารเป็นกลไกของรัฐที่ประชาชนคาดหวัง เมื่อวิกฤติที่รัฐสภาไม่สามารถแก้ได้ ในฐานะที่เป็น พล.อ. อนุพงษ์ ไม่ใช่ ผบ.ทบ. จะมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร

คำถามว่า ในฐานะตัวผม ไม่สามารถเป็นอื่นได้ เพราะถามในฐานะที่ผมเป็น ผบ.ทบ. ไม่มี พล.อ. อนุพงษ์ เป็น ส่วนตัว แต่จะอยู่ในฐานะผู้บังคับบัญชากองทัพ จึงมายืนจุดนี้ ดังนั้นวาระส่วนตัวไม่สามารถพูดได้ ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชน ผมขอเรียนถามว่า ถ้าประชาชนมีหนึ่งเดียว กองทัพบก อยู่ได้เลย อยู่เป็นหนึ่งเดียวกับประชาชน เมื่อประชาชนแบ่งเป็นส่วน เป็นฝ่าย กองทัพบกไม่สามารถยืนอยู่ส่วนใดได้เลย กองทัพบกต้องทำอย่างไรให้ทั้งสองส่วนมีทางออกที่ดี และไม่มีความสูญเสียทั้งสองฝ่าย นั่นคือคำตอบ

--ขณะนี้ดูเหมือนรัฐบาลแก้ปัญหาไม่ได้ และโยนเผือกร้อน มาให้กองทัพบกแก้ปัญหา

ไม่มีปัญหา เพราะเราคุยกันแล้วว่า ผม และผบ.ตร. และแม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่งอยู่พื้นที่กรุงเทพจะแก้เรื่องฉุกเฉินตรงนี้ให้ได้ เพื่อไม่ให้คนปะทะกัน และให้คนไทยเห็นว่าน่าจะใช้หนทางอื่น

--การบริหารงานของนายสมัคร 7-8 เดือนที่ผ่านมา ไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้ อยากถามใจ พล.อ.อนุพงษ์ ว่า จะเสนอให้นายสมัคร ลาออก หรือยุบสภา หรือถึงที่สุดทหารต้องออกมาปฏิวัติ

ถ้าพูดได้ และทำได้ ก็คงจะทำ แต่ท่านนายกรัฐมนตรีเรียนว่า มีเหตุผลตามหลักของท่านที่ว่า มีเพียงประชาชนส่วนหนึ่ง ดังนั้นคำตอบของผมคือ เกินกำลังที่ผมจะทำได้ในส่วนนั้น

--การตั้งคณะทำงานนี้ เพื่อมุ่งเน้นเรื่องการเจรจา หากการเจรจาไม่ได้ผล สิ่งที่ทหารจะทำต่อไปคือ อะไร

ในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉิน ใช้หลายทางทั้งการเจรจา การสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ ให้เกิดความเข้าใจ การร้องขอต่อสาธารณะ การทำความเข้าใจกับผู้อยู่ในภูมิภาคไม่ให้เข้ามา และมาตรการสกัดกั้น ไม่ให้คนสองกลุ่มปะทะกัน และต้องทำให้ได้คือ ไม่ให้เกิดการปะทะกันเกิดขึ้น

--กองทัพมีจุดยืนที่จะไม่ใช้ พ.ร.ก. แต่การที่นายกรัฐมนตรีประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทหารตกเป็นเครื่องมือรัฐบาลหรือไม่

เหตุการณ์ที่ผ่านมาเมื่อคืนเป็นสถานการณ์ที่รุนแรง ในส่วนที่จะฉุกเฉินหรือไม่ เป็นหน้าที่ผู้ถืออำนาจรัฐจะเป็นผู้พิจารณา เห็นว่าสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อคืนที่ผ่านมา ผมประสานงานกับ ผบ.ตร. ซึ่ง ผบ.ตร. บอกว่า ถ้าเป็นไปได้ น่าจะจัดกำลังเข้ามาร่วมกัน น่าจะทำให้สถานการณ์สงบลงได้ ผมจึงขออนุญาต เรียนนายกรัฐมนตรี และได้จัดกำลังมาร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อทำให้สถานการณ์คลี่คลาย ผมไม่ถือว่าตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาลหรือไม่ หากมีเหตุการณ์รุนแรงอีก กองทัพและ สตช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะช่วยกันแก้ปัญหาภาวะดังกล่าวให้เกิดความสงบสุข

--การประกาศภาวะฉุกเฉิน จะแก้ปัญหาเรื่องการชุมนุมได้หรือไม่

อย่างน้อยก็ทำให้ทหารเขามาเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลความสงบได้ ข้อกำหนดที่มีเพื่อให้คณะทำงานมีเครื่องมือในการใช้งานได้ แต่เราจะใช้ในความเหมาะสม ดังนั้น เมื่อเราต้องออกมาทำงาน และต้องประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อแก้ปัญหา ก็ไม่น่าจะมีความเสียหายใดๆ

-- จำเป็นต้องประกาศเคอร์ฟิวหรือไม่

ยังไม่มีแนวทางที่จะประกาศเคอร์ฟิว เพราะจะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนอื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกิจการใด ชาวไทย และต่างประเทศ ดังนั้น มาตรการที่ใช้อยู่ ไม่ต้องใช้กฎหมายการห้ามออกนอกเคหะสถาน เพราะเชื่อว่ายังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น