xs
xsm
sm
md
lg

ศาลรับอุทธรณ์หมายจับ-รสก.ตัดน้ำไฟ3ก.ย.หยุดงานทั่วประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - สรส. 43 แห่ง กว่า 2 แสนคน มีมตินัดพนักงานรัฐวิสาหกิจหยุดงานทั่วประเทศ ดีเดย์พรุ่งนี้ พร้อมใช้มาตรการตัดน้ำ-ตัดไฟ หน่วยงานรัฐ ตอบโต้รัฐบาลกระหายเลือด ยื่นคำขาด “หมัก” ลาออกสถานเดียว ขณะที่ศาลรับอุทธรณ์ถอนหมายจับ 9 แกนนำพันธมิตรฯ ทนายระบุตำรวจตั้งข้อหาเกินเหตุ "สนธิ" แจงสื่อต่างประเทศ ตำรวจสกัดผู้ร่วมชุมนุม "พัลลภ" เชื่อเหตุระเบิดไม่เกี่ยวพันธมิตรฯ เพราะยึดหลักสันติ อหิงสา "บุญสร้าง" เตรียมนัด ผบ.เหล่าทัพถกสถานการณ์บ้านเมือง "อนุพงษ์" ย้ำ ทบ.เป็นกองทัพของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อัยการสุราษฎร์ธานีแถลงการณ์ไม่ฟังคำสั่งสมัคร หมอยันแก๊สน้ำตาคือมาตรการรุนแรงรองจากใช้กระสุนจริง อาจถึงตาย

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ออกแถลงการณ์คำสุดท้ายร่วมกับสมาชิกสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 43 องค์กร มีความเห็นร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ เพื่อยุติปัญหาที่รัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีได้เป็นผู้สร้างความเสียหายต่อระบอบการปกครองประชาธิปไตย โดยทั้งหมดได้ประกาศหยุดงาน และหยุดกระบวนการผลิตทั้งระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ สำหรับหน่วยงานภาครัฐ เช่น ระบบน้ำ ระบบไฟ ระบบการขนส่ง ในเวลา 09.00 น. ของวันที่ 3 ก.ย.นี้
 
นอกจากนี้ จะมีการหยุดงานของพนักงานรัฐวิสาหกิจ 2 แสนคนทั่วประเทศ เพื่อกดดันให้รัฐบาลลาออก และยุติบทบาททางการเมืองโดยสิ้นเชิง พร้อมทั้งงดให้บริการหน่วยงานของรัฐบาลที่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ที่ผ่านมา

สำหรับหน่วยงานที่คาดว่าจะถูกงดให้บริการนั้น เบื้องต้นจะเน้นไปที่หน่วยงานในสังกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยเฉพาะสถานีตำรวจนครบาลทุกแห่งในกรุงเทพฯ รวมทั้งบ้านพักของนายกรัฐมนตรีด้วย

เลขาธิการ สรส.ยืนยันว่า การปฏิบัติการในครั้งนี้จะไม่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับความเดือดร้อน โดยในส่วนขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) อาจจัดรถโดยสารให้บริการฟรีในจำนวนที่มากขึ้นกว่าเดิม ส่วนของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ยังอยู่ระหว่างการหารือหามาตรการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ให้น้อยที่สุด

สรส.ถือเป็นแกนหลักสำคัญที่เข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา จนกว่าจะได้รับชัยชนะ ซึ่งกำหนดเงื่อนไขชัดเจนให้นายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาลต้องลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรง และความแตกแยกที่เกิดขึ้นทั้งหมด

5 แกนนำให้สิทธิ สรส.ชี้ขาด

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ขึ้นประกาศบนเวทีปราศรัยในทำเนียบรัฐบาลว่า กรณีที่ผู้ปราศรัยบางคนได้ขึ้นมาพูดในทำนองสั่งการให้พนักงานรัฐวิสาหกิจทั้งหมด ตัดน้ำตัดไฟทั่วประเทศนั้นเป็นความคลาดเคลื่อน ไม่ใช่เป็นนโยบายของแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพราะเราไปสั่งเขาไม่ได้

“เป็นความริเริ่มของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ จะทำอะไรก็สุดแท้แต่รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง เพราะว่าไม่ได้ขึ้นกับแกนนำพันธมิตรฯ แต่อย่างใด เขาคิดริเริ่มอะไรก็เป็นเรื่องที่ดีทั้งสิ้น เราต้องเคารพเขา เราไปสั่งเขาไม่ได้ เพราะว่าที่เรามาชุมนุมกันวันนี้ พี่น้องแต่ละคน รวมทั้งแกนนำก็มีความเท่าเทียมกัน เพียงแต่เราแบ่งหน้าที่กันเท่านั้นเอง เพราะถ้าไม่มีแกนนำก็จัดให้มีการชุมนุมไม่ได้

จึงขอประกาศแก้ข่าว ซ้ำอีกทีว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจทั่วประเทศ ซึ่งเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทางแกนนำจะไปสั่งให้ตัดน้ำตัดไฟนั้นไม่จริง เพราะเราไม่มีอำนาจสั่งการ คุณต้องฟังสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจเอง เพราะมีการประชุมกันอยู่แล้ว และมีการสั่งการกันโดยแน่ชัดว่าจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไร จึงขอแก้ข่าวเล็กน้อยครับ” พล.ต.จำลองกล่าว

ศาลรับอุทธรณ์ถอนหมายจับ

วานนี้ เมื่อเวลา 16.00 น. ที่แผนกอุทธรณ์ – ฎีกา ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายณฐพร โตประยูร ทนายความ เดินทางมายื่นอุทธรณ์ ขอให้ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุมัติออกหมายจับ นายสนธิ ลิ้มทองกุล , พล.ต.จำลอง ศรีเมือง , นายพิภพ ธงไชย , นายสมศักดิ์ โกศัยสุข และนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย , นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตร ฯ , นายอมร อมรรัตนานนท์ , นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ และนายเทิดภูมิ ใจดี แนวร่วมพันธมิตร ฯ ผู้ต้องหาที่ 1-9 ที่ศาลอาญามีคำสั่งให้ออกหมายจับ เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ในความผิดฐานเป็นกบฎและอื่นๆ

ตามคำอุทธรณ์ สรุปว่า ตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอเพิกถอนหมายจับของผู้ต้องหาทั้งเก้า เมื่อวันที่ 29 ส.ค.51 โดยเห็นว่าการออกหมายจับเป็นขั้นตอนแรก เพื่อให้ได้ตัวบุคคลมาสอบสวน ที่เป็นเรื่องระหว่างศาลกับพนักงานสอบสวน จึงมีเหตุให้ออกหมายจับได้ ส่วนผู้ต้องหาจะกระทำผิดหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องผ่านกระบวนการสอบสวน สั่งฟ้อง และพิจารณาของศาลนั้น ผู้ร้องไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว โดยระบุว่า คดีนี้เป็นคดีการเมือง และผู้ร้องไม่ได้เป็นอุปสรรคในการสอบสวนที่จะต้องรีบจับกุมตัว

อีกทั้งพนักงานสอบสวนขอหมายทั้งที่ยังไม่หลักฐานพอสมควรว่าแกนนำพันธมิตร ฯ น่าจะทำผิดข้อหากบฏ ที่ตั้งข้อหาเกินจริง ใช้เวลาสอบสวนวันเดียวหลังเกิดเหตุ ระบุการดำเนินการของผู้ร้องทั้งเก้าเป็นการทำประโยชน์เพื่อชาติ และประชาชน ธำรงไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ จึงขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำสั่งศาลชั้นต้น โดยให้ศาลชั้นต้นคณะอื่น ทำการไต่สวน และมีคำสั่งต่อไป และในระหว่างการพิจารณานี้ ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งงดการดำเนินการตามหมายจับไว้ชั่วคราวเพื่อรอฟังคำพิพากษาต่อไป ทั้งนี้ ศาลรับคำร้องไว้และนัดฟังคำสั่งวันที่ 2 ก.ย.นี้ เวลา 14.00 น.

ทนายย้ำไม่ได้ทำผิดข้อหากบฏ

ภายหลัง นายณฐพร กล่าวว่า การออกหมายจับศาลต้องมีการไต่สวนข้อหา ต่างๆ ที่ฝ่ายทนายผู้ต้องหานำมายื่นก่อน เมื่อพบว่าข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวนเกินเหตุ ศาลอาจต้องเพิกถอนหมายจับ และพนักงานสอบสวนต้องไปหาพยานหลักฐานใหม่ ทั้งนี้ ปัจจุบันได้มีข้อบังคับใหม่ของศาลฎีกาว่าด้วยการออกหมายจับ พนักงานสอบสวนต้องมีหลักฐานและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้ต้องหากระทำผิด ปรากฎว่ากรณีนี้ผู้ชุมนุมก่อเหตุวันที่ 26 ส.ค. แต่ขอศาลออกหมายจับวันที่ 27 ส.ค. ซึ่งเห็นว่าพนักงานสอบสวนจะต้องใช้เวลารวบรวมพยานหลักฐานให้ครบถ้วนก่อนออกหมายจับ ซึ่งข้อหากบฏถือว่ารุนแรงเกินไป เห็นว่าหากไม่ผิดข้อหากบฏ ตามมาตรา 113 ข้อหาอื่นก็ไม่ผิด ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 29 , 40 เขียนไว้ชัดว่าการจำกัดสิทธิของบุคคลหนึ่งบุคคลใดจะกระทำไม่ได้ และการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรก็ชุมนุมมานานแล้วโดยยืนยันการชุมนุมโดยสันติวิธี

"สนธิ"แฉ ตร.สกัดประชาชน

นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศชี้แจงเรื่องการชุมนุมที่ทำเนียบฯว่า ได้รับแจ้งจากแหล่งข่าว ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามสกัดกั้นผู้ที่ต้องการเดินทางมาร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯ ไม่ให้มาร่วมสมทบ และมีการใช้วิธีการแบบอันธพาล พร้อมยืนยันว่า เป็นการชุมนุมอย่างสงบ ไม่มีการพกพาอาวุธ เพื่อต้องการแสดงให้สายตาชาวโลกรับทราบว่า การชุมนุมแบบอหิงสา สามารถที่จะชนะได้

ทั้งนี้หากนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ลาออกตามคำเรียกร้องของพันธมิตรฯ ก็ต้องเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ และต้องการให้มีการดำเนินการทุกอย่าง เป็นไปตามกฎหมาย ไม่คอรัปชั่น เป็นประชาธิปไตย เป็นการเมืองแบบใหม่ ที่นักการเมืองไม่มีประโยชน์แอบแฝง

 
ผู้สื่อข่าวถามว่า การชุมนุมครบ 100 วันของพันธมิตรฯ คาดหวังอะไรกับการชุมนุมต่อไป นายสนธิ กล่าวว่า คาดหวังให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมมากยิ่งขึ้น และเข้าใจสถานการณ์วัตถุประสงค์ของการชุมนุม ส่วนการที่รัฐวิสาหกิจเข้าร่วมชุมนุม และออกมาตรการตัดน้ำตัดไฟ เป็นการตัดสินใจของรัฐวิสาหกิจที่จะเข้าร่วมกับพันธมิตรฯเอง

"พัลลภ" เชื่อพันธมิตรฯ ไม่เกี่ยวบึ้ม

พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อดีตที่ปรึกษาผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่า คงตรึงกำลังอยู่อย่างนี้ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะนี้ไม่รู้ว่าจะจบลง อย่างไร เพราะนายกรัฐมนตรีก็ดื้อมากที่ไม่ยอมลาออก การชุมนุมคงเน้นตั้งรับตามที่ พล.ต.จำลอง ระบุที่ต้องการใช้อหิงสาและสันติวิธี แต่ถ้าเป็นผมจะเน้นการรุกมากกว่า ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้เข้าไปดำเนินการอะไร เพราะจำลองยังไม่ถูกจับ และยังดำเนินตามยุทธวิธีอยู่

ส่วนที่พันธมิตรฯถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวพันเหตุระเบิดขึ้นกลางดึก พล.อ.พัลลภ กล่าวว่า พันธมิตรฯจะไปสร้างสถานการณ์ทำไม เราไม่เล่นอย่างนี้ พล.ต.จำลองเขาไม่ทำ เรารู้นิสัย เขาเล่นอย่างอหิงสา

"บุญสร้าง" นัดถก ผบ.เหล่าทัพ

พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.สูงสุด กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.เสนอแนะให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ลาออกจากนายกรัฐมนตรีว่า ไม่ทราบ ไม่เคยได้ยิน อย่างไรก็ตาม ผบ.เหล่าทัพก็มีการพูดคุยกันบ้างเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ แต่ไม่เคยได้ยินว่า ผบ.ทบ.บอกให้นายกรัฐมนตรีลาออก

ส่วนสถานการณ์ขณะนี้ ผบ.เหล่าทัพ จะมีการหารือถึงสถานการณ์หรือไม่นั้น พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า คงไม่ใช่วันนี้ แต่คงต้องดูอีกสัก 1-2 วันนี้ ทหารพูดมากไม่ได้ แต่เตือนไว้เสมอว่าอย่าใช้ความรุนแรง

ด้านพ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่าในการประชุมผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก (นขต.ทบ.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ไม่ได้พูดถึงการดูแลสถานการณ์การชุมนุม แต่ได้บอกกับผู้บังคับหน่วยทุกคนว่า ยังยึดถือแนวทางการทำให้กองทัพบกเป็นกองทัพของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นห่วงต่อภาพพจน์ และ ความเสียหายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ

“ท่าน ผบ.ทบ.ใช้คำว่า หากมีวิธีการใดที่จะทำให้สถานการณ์ ผ่านพ้นไปได้ ทบ.ก็จะสนับสนุน ซึ่งท่านไม่ได้บอกว่าเป็นวิธีการใด แต่ไม่ใช่ในความหมายของการใช้กำลังทหาร หรือ การออกมาปฏิวัติอย่างที่สื่อมวลชนถาม”

ส่ง จม.ถึง "เมียสมัคร"วอนให้ออก

ด้าน นางทิชา ณ นคร ตัวแทนองค์กรผู้หญิงกับการปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า ส.ส. และส.ว.ผู้หญิงควรหาเวลาไปเยี่ยมผู้หญิงในม๊อบพันธมิตรฯและม๊อบ นปก. เพื่อให้มีข้อเสนอเป็นแนวทางแก้ไขต่อรัฐสภา ไม่ใช่นั่งเป็นเพียงไม้ประดับ ทั้งนี้ในส่วนขององค์กรผู้หญิงจะเขียนจดหมายถึงภรรยานายกฯ เพื่อขอให้ช่วยไกล่เกลี่ย ปัญหาอย่าให้ตระกูลสุนทรเวช ต้องถูกบันทึกในประวัติศาสตร์แง่ลบ

นายสุนัย ผาสุก ผู้ประสานงานองค์กรฮิวแมนไรซ์วอช ประเทศไทย กล่าวว่า พันธมิตรฯได้แปรสภาพจากการชุมนุมด้วยสันติวิธีมาเป็นการชุมนุมที่มีความรุนแรง ขาดขันติธรรม แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลให้รัฐบาลใช้เป็นข้ออ้างนำกำลังเข้าปราบปราม ด้วยความรุนแรง ในส่วนการอภิปรายสองสภาเมื่อวานที่ผ่านมา ทำให้บ้านเมืองแตกแยกมากขึ้น

โดยมีตัวแสดงที่สาม คือ นปก.เพิ่มเข้ามาจัดการชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลและขยายตัวไปตามจังหวัดต่างๆ ที่เป็นฐานเสียงรัฐบาล โดย นปก.มีประวัติใช้ความรุนแรง โดยไม่ถูกจับกุมตัวมาดำเนินคดี เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สถานการณ์เปราะบางยิ่งขึ้น หากปล่อยไว้ประเทศไทยจะก้าวสู่วิกฤติร้ายแรง

"หมัก" ประชุมแกนนำ พปช.

สำหรับความเคลื่อนไหวของ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม วานนี้ (1 ก.ย.) เวลา 08.40 น.ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี นายสมัคร ได้รับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงาน ITU TELECOM ASIA 2008 โดยนายกฯได้อยู่ร่วมงานจนถึงเวลา 12.30 น. จากนั้น ได้เดินทาง ออกจากอิมแพ็ค และได้ให้เจ้าหน้าที้ติดตามแจ้งยังผู้สื่อข่าวผ่านทางวิทยุขอส่วนตัว โดยแยกขบวนลงทางด่วนงามวงศ์วาน ขณะที่ผู้สื่อข่าวไปดักรอนายกฯที่สภา และปักหลักเป็นเวลานาน

วันเดียวกันเมื่อเวลา 16.00 น. ที่พรรคพลังประชาชน นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ได้เรียกแกนนำพรรคหารือด่วนถึงสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมือง โดยมีแกนนำเข้าร่วมประชุมอาทิ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรค นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รองหัวหน้าพรรค นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองเลขาธิการพรรค นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ นายบุญลือ ประเสริฐโสภา นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง โดยใช้เวลาหารือ 2 ชม. ก่อนที่นายสมัครจะเดดินทางออกจากพรรคไปในเวลา 18.00 น.

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการหารือว่า แนวทางการใช้พรก.ฉุกเฉินนั้น ยังไม่มีการพูดคุยกันในวันนี้ ซึ่งการจะนำมาใช้เมื่อใดนั้นก็ต้องดูสถานการณ์ก่อน แต่ตอนนี้ยังไม่มีการคิดว่าจะใช้ แต่ในเบื้องต้นนี้จะใช้มาตรการทางกฎหมายก่อน

ส่วนกระแสข่าวจะมีการจัดม็อบชนม็อบนั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า อย่าพูดว่าม็อบชนม็อบ เหราะคนเหล่านี้ก็คนเหมือนกัน ก็ถือเป็นสิทธิเสรีภาพของเขา เพียงแต่รัฐบาลกำชับอย่าทำให้เกิดความไม่เรียบร้อย

เมื่อถามว่า หากนปก.ปะทะพันธมิตรฯ จะเป็นไปได้ไหมทหารจะออกมาปฏิวัติ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และฝ่ายความมั่นคงดูแลอย่างเต็มที่ เพราะเรารู้ดีว่า หากปะทะกันขึ้นก็จะเกิดเหตุรุนแรงได้

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุมได้มีการประเมินผลการประชุมร่วมของ 2 สภาซึ่งนายกฯได้บอกว่าสิ่งที่เป็นประโยชน์ก็จะเก็บเกี่ยวนำมาใช้ ส่วนข้อเรียกร้องให้ลาออกนั้นทางพวกตนเห็นว่าจะต้องดูว่ามาจากใครเป้าหมายอะไรและเรียกร้องด้วยความบริสุทธิ์ใจหรือไม่

“ในฐานะของอดีตแกนนำ นปก.จะไม่มีการจัดม็อบชนม็อบตามที่มีกระแสข่าว หากจะมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มพันธมิตรฯออกมาก็เป็นการดำเนินการของภาคประชาชนไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล และการที่กลุ่มสหภาพรัฐวิสาหกิจประกาศว่าจะตัดน้ำ ตัดไฟ พร้อมกับประกาศหยุดงาน และจะมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯในวันที่ 3 ก.ย.นั้น ตนก็อยากเรียกร้องว่า อยากให้คำนึงถึงจริยธรรม เพราะท่านปฏิบัติหน้าที่ในการให้บริการประชาชน หากหยุดงานเพื่อมาร่วมชุมนุม ตนเห็นว่าประชาชนจะเสียเปรียบและได้รับผลกระทบ ถ้าจะใช้อารยขัดขืน ก็ควรขัดขืนโดยการไม่รับค่าตอบแทนด้วย”

พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า หลังจากพันธมิตรฯยึดทำเนียบฯก็เกิดปัญหาการทำงาน ที่ผ่านมาก็มีการประสานงานกับกลุ่มพันธมิตรฯ ขอเข้าให้ออกจากทำเนียบฯเพื่อจะได้เข้าทำงานแต่พันธมิตรฯไม่ยอมเจรจา

 
พล.ต.ท.วิเชียรโชติกล่าวว่า หากพรรคประชาธิปัตย์กับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯและพวก ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นระบอบที่ผู้ยึดทำเนียบฯในตอนนี้ต้องการ เช่นระบบ30:70 ปกครองโดยกระบองและผ้าคาดศรีษะ พรรคประชาธิปัตย์ก็ไปเสนอในรัฐสภา จะเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับ พล.ต.จำลอง ก็ขอให้เสนอในที่ประชุมรัฐสภา หากเห็นว่ามันจำเป็นในภาวะบ้านเมืองแบบนี้ และขอให้ยกร่างเป็นรัฐธรรมนูญ ทุกฝ่ายจะได้ปฏิบัติตามอย่างถูกต้องโดยไม่มีเงื่อนไข

พล.ต.ท.วิเชียรโชติยังกล่าวถึงเหตุระเบิดกลางดึกคืนวันที่31สค.ป้อมยามสี่แยก วัดมกุฏกษัตริย์ว่า เป็นฝีมือของพลเอกคนเดิมที่ต้องการทำเรื่องแบบนี้ (อ่าน...เสธ.แดง-ทนายแม้วโผล่ดูบึ้ม 'จงรัก'ล้อมคอกมาตรการเข้ม...หน้า 4)

ดึง ส.ส.พปช.ร่วมกับ นปก.

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ตนเป็นรองโฆษกรัฐบาล หากบ้านเมืองเป็นแบบนี้ ตนพร้อมลาออกมาปกป้องประชาธิปไตย หากปล่อยไว้จะพ่ายแพ้ ตนพร้อมชักชวนประชาชนออกมาปกป้องบ้านเมือง ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่าจะโดดเข้าร่วมการชุมนุมกับ นปก.ใช่หรือไม่ นายณัฐวุฒิ อ้างว่า จะเริ่มดำเนินการเมื่อไหร่ขอปรึกษากันก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าจะให้ นปก.ร่วมกับ ส.ส.พรรคพลังประชาชนออกมาร่วมงานกัน นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ตนนั้นคิดว่าจะรวมประชาชนออกมาให้ได้นับแสนคน โดยจะไม่ยกพลไปตีกับใคร

ผู้สื่อข่าวถามว่า การรวมตัวของประชาชนของทั้งสองกลุ่มนั้นมันคือทางออกที่ดีของประเทศแล้วหรือ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ตอนนี้บ้านเมืองแทบไม่มีทางออกเพราะแสงสว่างปลายอุโมงค์ พันธมิตรฯก็ไปปิดเสียหมด ประชาชนต้องช่วยกันผ่าทางตัน

ใช้แก๊สน้ำตาก็ไม่เหมาะสม

นพ.ชัยยศ คุณานุสนธิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน กล่าวว่า แก๊สน้ำตาคือมาตรการรุนแรงที่นำมาใช้ต่อเมื่อต้องระงับเหตุจลาจล การปราบโจรผู้ร้าย ซึ่งรุนแรงรองจากการใช้กระสุนจริงเท่านั้นเอง การใช้แก๊สน้ำตากับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนมีผู้บาดเจ็บถึง 60 กว่าคน จึงไม่มีเหตุสมควร และไม่ควรมาใช้กับคนไทยด้วยกัน เพราะแก๊สน้ำตาคือสารพิษที่ก่ออันตราย

สนามบินตรังผวา จนท.คุมเข้ม

วานนี้ที่ จ.ตรัง หลังจากที่มีกระแสข่าวว่า หากรัฐบาลมีการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มพันธมิตรฯอีกครั้งก็จะมีการปิดล้อมท่าอากาศยานตรังด้วยนั้น ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดตรังได้ออกไปสำรวจบรรยากาศที่ท่าอากาศยานตรังพบว่าเต็มไปด้วยผู้โดยสารทั้งขาเข้าและขาออก รวมทั้งผู้ที่เดินทางมาส่งและรอรับญาติ ที่เดินทางมากับสายการบินนกแอร์ ซึ่งเป็นเที่ยวบินเดียวของ จ.ตรัง นอกจากนั้นยังมีกำลังของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสนามบินตรัง เจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดนจังหวัดตรัง (อส.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 30 นาย ได้มีการตรึงกำลังเพื่อเตรียมความพร้อมรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุดในช่วงนี้

นายไพศาล จินาชาญ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานตรัง กล่าวว่า ทางท่าอากาศยานตรัง ได้เตรียมความพร้อม ในการรักษาความปลอดภัยไว้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความไม่ประมาท อย่างไรก็ตาม หลังจากที่กลุ่มพันธมิตรได้ปิดล้อมท่าอากาศยานภูเก็ต หาดใหญ่ กระบี่ และสุราษฎร์ธานี ในช่วงก่อนหน้านี้นั้น ส่งผลให้ผู้โดยสารหันมาใช้บริการสายการบินตรังกันเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เที่ยวบินในแต่ละวันไม่สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้ทั้งหมด ซึ่งถือเป็นผลพวงที่ได้รับจากสถานการณ์ดังกล่าว ที่ถือว่าเป็นผลดีต่อสายการบินจังหวัดตรัง ที่ก่อนหน้านี้สถานการณ์สายการบินไม่ค่อยจะดีนัก อย่างไรก็ตาม จะต้องติดตามสถานการณ์อีกสักระยะว่าจะมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าน่าจะเริ่มผ่อนคลายไปเรื่อยๆ จนกระทั่งดีขึ้นในเร็วๆ นี้

ผู้อำนวยการท่าอากาศยานตรัง กล่าวด้วยว่า ความเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรจะไม่มีความรุนแรง หากไม่มีการตอบโต้ด้วยภาวการณ์กดดัน และเชื่อว่ากลุ่มพันธมิตรจังหวัดตรังจะไม่มีการปิดล้อมท่าอากาศยานอย่างแน่นอน เพราะปกติในวันหนึ่งๆ จะมีเพียงแค่ 1 เที่ยวบินเท่านั้น จึงมีผู้โดยสารเข้าออกเพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่ถึงแม้จะมีการปิดล้อม ก็คงจะไม่ได้ผลตามที่กลุ่มพันธมิตรตั้งเป้าไว้ เนื่องจากไม่เหมือนกับท่าอากาศยานนานาชาติในจังหวัดอื่นที่มีการบินตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

องค์กรสิทธิฯ วอน "หมัก" ลาออก

ที่ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา วานนี้ (1 ก.ย.) นายสมชาย หอมละออ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน ได้แถลงข้อเสนอทางการเมืองเพื่อร่วม แสวงหาทางออกให้กับสังคมไทยว่า องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของ ความขัดแย้ง เราได้ดำเนินการโดยอิสระ และติดตามสถานการณ์ด้วยกความเป็นห่วง

ขณะนี้สถานการณ์มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น หากไม่หาทางยับยั้งอาจเกิด โศกนาฏกรรมในเวลาอันใกล้ องค์กรสิทธิฯผิดหวังต่อบทบาททางการเมืองในระบบรัฐสภาและรัฐบาลที่ไม่ได้แก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่กลับซ้ำเติมให้ปัญหาเลวร้ายขึ้น จึงขอเรียกร้องให้กลุ่มองค์กรวิชาชีพและคณาจารย์ออกมาแสดงท่าทีเพื่อให้การทำงาน ของรัฐบาลและรัฐสภา เป็นไปตามครรลองโดยระบอบประชาธิปไตย

108 องค์กรจี้หมักหยุดรังแก ปชช.

ด้านเครือข่ายสิ่งแวดล้อม 51 ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาด้านรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่รวมตัวกันประมาณ 108 องค์กรทั่วประเทศ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2532 ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ลงนามโดยนายสุรพล ดวงแข ประธานเครือข่าย เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม โดยมีเนื้อหาระบุว่า สถานการณ์การชุมนุมของพันธมิตรฯที่ผ่านมากว่า 3 เดือน และมีการเคลื่อนขบวนกันเข้าไปในทำเนียบฯ แนวโน้มอาจเกิดเหตุรุนแรงขึ้น โดยเมื่อวันที่ 29 ส.ค.51 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ารื้อเวทีที่ถนนราชดำเนินและมีเหตุให้ปะทะกันบ้าง

การรื้อเวทีดังกล่าวเป็นการใช้จังหวะที่มีคนอยู่บางตาจึงเข้าดำเนินการทำให้ข้าวของเสียหายบางส่วนและตอนกลางคืนได้มีการใช้แก๊สน้ำตาที่หน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล หลายนัด ทำให้ผู้ชุมนุมหลายคนได้รับบาดเจ็บ แต่ได้รับการปฏิเสธจากตำรวจที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การควบคุมภายใต้การดำเนินการของรัฐบาลจะยิ่งเป็นการนำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น ระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาล

เครือข่ายสิ่งแวดล้อม 51 จึงเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการใช้ความรุนแรงทุกกรณี, รัฐบาลจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ถ้าความรุนแรงมาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือใครก็ตาม, ให้แต่ละฝ่ายเคารพเกฎเกณฑ์การชุมนุมอย่างสงบ และสันติ, ให้รัฐบาลยึดหลักการเจรจาเพื่อหาข้อยุติแทนการใช้ความรุนแรงเป็นสำคัญ

อาจารย์-นศ.มอ.หนุนไล่ รบ.ชั่ว

ขณะที่กลุ่มคณะอาจารย์และบุคลากรมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ ร่วมกับกลุ่มมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์รักชาติ ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3 เรียกร้องให้รัฐบาลลาออกเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ โดยระบุว่า ภายใต้สถานการณ์สังคมไทยที่ตกอยู่ในภาวะตึงเครียด ณ ช่วงเวลาปัจจุบัน กลุ่มคณะอาจารย์และบุคลากร มอ. ร่วมกับกลุ่มมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์รักชาติ มีความห่วงใยในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและขอแสดงจุดยืนต่อสถานการณ์ปัจจุบันดังนี้

1.เราขอสนับสนุนการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในลักษณะของสงบสันติและอหิงสา แม้ว่าการอารยะขัดขืนจะทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งได้รับความเดือดร้อนซึ่งเป็นธรรมชาติของการประท้วงที่ปรากฏอยู่ในสากลและรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับ ที่ให้สิทธิเสรีภาพนี้ไว้ 2.ในการเคลื่อนอย่างสงบอหิงสานี้ เราขอให้รัฐบาลหยุดใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบกับกลุ่มผู้ชุมนุม

3.การเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยถือเป็นการแสดงออกในระบอบประชาธิปไตยทางตรงที่รัฐบาลจำเป็นต้องรับฟังข้อเท็จจริงที่ทำให้เกิดปัญหาในบ้านเมืองที่ผ่านมา และ 4.การสั่งสลายผู้ชุมนุมอย่างสงบโดยใช้อำนาจรัฐที่มีอาวุธ ถือเป็นการผลักดันให้เกิดการเผชิญหน้ากับประชาชนมีความคิดเห็นแตกต่างจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดการยั่วยุให้เกิดความรุนแรงที่ผิดหลักกฎหมายและศีลธรรมในขณะนี้โดยทันที

"การที่รัฐบาลดำเนินการใช้ความรุนแรงทั้งการใช้พละกำลังและคำพูดที่ยั่วยุ ปกปิดข้อเท็จจริง ก่อให้เกิดความแตกแยกของประชาชนในวงกว้าง จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกโดยเร็ว เพื่อการคลี่คลายของสถานการณ์"

“อัยการสุราษฎร์ฯ”ไม่ฟัง"สมัคร"

วานนี้ (1 ก.ย.) นายโกวิท ศรีไพโรจน์ อัยการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ตนได้ออกแถลงการณ์ประกาศไม่ยอมรับฟังคำสั่งของรัฐบาลที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี โดยแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวนั้นร่างออกมาจากความรู้สึกจริงๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐบาลที่สั่งทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมากและเห็นว่ารัฐบาลภายใต้การนำของนายสมัคร ขาดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ
 
โดยแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า การใช้กำลังประทุษร้าย สลายการชุมนุมของประชาชนที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากนั้น เป็นการกระทำละเมิดต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ขัดต่อหลักนิติธรรม หลักนิติรัฐ และยังมีทีท่าคุกคามการชุมนุมของประชาชนต่อไป

เมื่อการดำเนินการของรัฐบาล ขัดต่อหลักการพื้นฐานแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 3 วรรคสอง ที่ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม และมาตรา 4 ที่ว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง ดังนั้นรัฐบาลนายสมัคร จึงหมดความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินอีกต่อไป

ในฐานะความเป็นข้าราชการซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชา หากยังต้องรับฟังคำสั่งรัฐบาลนี้อีกต่อไป ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งอันมิชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อหน้าที่ของข้าราชการ หน้าที่ของพนักงานอัยการซึ่งต้องใช้อำนาจหน้าที่เพื่อปกป้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ สำนักงานอัยการจังหวัดสุราษฎร์ธานีจึงขอแถลงการณ์ประกาศไม่ยอมรับฟังคำสั่งของรัฐบาล ซึ่งมีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี อีกต่อไป

อัยการโกวิท กล่าวต่อไปว่า การออกแถลงการณ์ดังกล่าวนั้นเป็นการแสดงอารยะขัดขืนกับรัฐบาลชุดนี้เท่านั้น แต่ขอยืนยันว่าไม่ได้กระด้างกระเดื้องต่อผู้บังคับบัญชาคือสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ตนยังปฎิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด เพียงแต่ไม่ฟังการสั่งการจากรัฐบาลภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช เท่านั้น เพื่อที่จะปกป้องประชาชนผู้บริสุทธิ์

ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นภายหลังได้ออกแถลงการณ์ไม่ปฎิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลนั้น นายโกวิท กล่าวว่า ต้องยอมรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แต่เมื่อกล้าทำก็ต้องกล้าที่จะรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองทำขึ้นมา และยืนยันว่าแถลงการณ์ที่ออกไปนั้นออกมาจากความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริงๆ ที่อึดอัดมาตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา และคิดว่าเมื่อหลังจากนั้นน่าที่จะมีทางออกที่ดีกว่าเป็นอยู่ แต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น รัฐบาลไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้นเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น