xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

ล่าตัวผู้ร้ายข้ามแดน

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

                                                            ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

น่าอึดอัดใจอย่างยิ่ง... กับท่าทีของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับการขอให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน กรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ซึ่งเวลานี้ ได้หลบหนีคดีไปพำนักอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ

มีการโยนกัน เกี่ยงกัน ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น อัยการ ตำรวจ กระทรวงการต่างประเทศ หรือสำนักงานศาลยุติธรรม ว่าใครจะเป็นเจ้าภาพตั้งเรื่อง เพื่อเริ่มต้นกระบวนการขอให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศอังกฤษ

เรื่องนี้ ผู้เขียนมีโอกาสได้เรียนรู้จากนักกฎหมายอาวุโส อดีตเอกอัครราชทูตไทย ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล คณะบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ท่านให้ความรู้ว่า กระบวนการขอให้มีการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนนั้น มีขั้นตอนยาวนานพอสมควร โดยพอจะสรุปลำดับขั้นตอนคร่าวๆ พอให้รู้กันเอาไว้ก่อน ดังนี้

1. อัยการสูงสุดทำเรื่องถึงกระทรวงการต่างประเทศของไทย เพื่อให้ทำหนังสือขอให้มีการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปถึงกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ ไม่ว่าจะโดยผ่านทางเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย หรือจะผ่านทางเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

2. การดำเนินการของทางอังกฤษ เขาก็จะส่งเรื่องให้ศาลอังกฤษพิจารณาว่าเข้าหลักเกณฑ์ที่สามารถจะส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนได้หรือไม่ โดยเกณฑ์สำคัญ คือ เป็นผู้ร้ายในคดีอาญาที่มีฐานความผิดสอดคล้องกับกฎหมายของอังกฤษด้วยหรือไม่ ? เป็นคดีการเมืองหรือคดีที่เกี่ยวเนื่องจากการเมืองหรือไม่ ?

3. หากศาลอังกฤษพิจารณาเห็นว่าสมควรส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ก็จะต้องส่งเรื่องไปยัง “สภาสูง” ของอังกฤษ เพื่อพิจารณาว่า จะให้ส่งตัวหรือไม่

4. หากสภาสูงของอังกฤษเห็นชอบให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ก็จะต้องเสนอเรื่องไปยังรัฐบาลอังกฤษ โดยกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการต่างประเทศ จะเป็นผู้พิจารณาในขั้นสุดท้าย หรือถ้าเขาเกรงว่าหากส่งตัวกลับประเทศที่ร้องขอตัวมา อาจจะถูกเกิดผลกระทบทางการเมือง เช่น ถูกเพ่งเล็งว่าเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จนกลายไปเป็นคู่ขัดแย้งกับเขาด้วย รัฐบาลอังกฤษก็อาจจะพิจารณาส่งตัวไปยังประเทศที่สาม คือ ประเทศที่ไม่ใช่ผู้ร้องขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนก็เป็นได้

จะเห็นว่า แค่การดำเนินการ “ในฝ่ายอังกฤษ” ก็มีกระบวนการหลายขั้นตอน แต่ทั้งหมดนั้น จะเริ่มต้นนับหนึ่งก็เมื่อกระบวนการทางฝ่ายไทยเรา เริ่มต้นดำเนินเรื่องเสียที

ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความอยุติธรรม

กรณีคดีของผู้ร้ายทั้ง 2 คน เกี่ยวข้องกับการทุจริตที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่แผ่นดิน ซึ่งผู้เสียหายที่แท้จริงก็คือประชาชนทั้งประเทศ เพราะฉะนั้น ยิ่งล้าช้า ประชาชนส่วนรวมก็ยิ่งไม่ได้รับความเป็นธรรม
จึงเห็นว่า กรณีดังกล่าว รัฐบาลจะต้องเป็นเจ้าภาพเร่งรีบดำเนินการทันที โดยทำหนังสือขอให้มีการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปถึงทางการอังกฤษ จะผ่านเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน หรือผ่านเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยก็แล้วแต่ โดยที่หนังสือดังกล่าว ควรจะต้องมีเนื้อหาสาระเบื้องต้น ประกอบด้วย

1. บุคคลทั้ง 2 ถูกศาลออกหมายจับในคดีใด ฐานความผิดใด ? ได้แก่

ฐานความผิดอาญา คดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาฯ ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และ 157 และความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช. ซึ่งควรจะระบุไปให้หมด และน่าจะระบุไปด้วยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังเป็นจำเลยในคดีอาญาคดีใดอีกบ้าง ซึ่งศาลประทับรับฟ้องแล้ว ในฐานความผิดใด เช่น คดีทุจริตปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์ให้พม่า ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และ 157 เป็นต้น

นอกจากนี้ คุณหญิงพจมาน ยังเป็นจำเลยต้องคำพิพากษาศาลอาญา ในคดีหลบเลี่ยงภาษี มูลค่ากว่า 500 ล้านบาท เป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) (2) และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 91 ต้องโทษจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา อยู่ระหว่างการประกันตัวอุทธรณ์สู้คดี แต่หลบหนี

ในหนังสือที่แจ้งไปยังทางการอังกฤษนั้น ควรจะอธิบายรายละเอียดของการกระทำผิด และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอย่างชัดเจน พร้อมแสดงหลักฐานทางคดีบางส่วนที่แน่นหนา เพื่อให้ทางการอังกฤษเห็นว่า คดีเหล่านี้เป็นคดีอาญา ซึ่งในอังกฤษเองก็มีฐานความผิดในลักษณะเดียวกันนี้ และคดีเหล่านี้มิได้เกิดจากการกลั่นแกล้งทางการเมือง หากแต่เป็นการดำเนินคดีกับบุคคลที่กระทำผิดกฎหมายทั่วไป ซึ่งกฎหมายที่ดำเนินการเอาผิดนั้นได้มีการใช้บังคับอยู่แล้ว ตั้งแต่ตอนที่ผู้ร้ายกระทำผิด และอธิบายให้ชัดแจ้งว่าระบบศาลยุติธรรมของไทยเป็นที่ยอมรับเป็นที่สุด และเป็นอิสระจากการเมือง

2. ควรให้ข้อมูลปูมหลัง อธิบายสถานะและพฤติกรรมแวดล้อมของผู้ร้ายหลบหนีคดีทั้ง 2 คน เป็นเบื้องต้น เช่น เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีพฤติกรรมการใช้อำนาจอย่างไร?

2.1 มีพฤติกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ หรือทำลายความเป็นประชาธิปไตยอย่างไร?

ดำเนินการยุบรวมพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กเข้ามาอยู่ในพรรคของตนเองอย่างไร? มีผลทำลายระบบตรวจสอบตามกระบวนการประชาธิปไตยของรัฐสภาอย่างไร? มีการจ่ายเงินพิเศษนอกเหนือจากเงินให้แก่ ส.ส.เพื่อความสวามิภักดิ์อย่างไร? มีการครอบงำ แทรกแซง และบิดเบือนการทำงานของระบบรัฐสภา ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอย่างไร? ไม่เข้าไปทำหน้าที่ตอบกระทู้ในสภาอย่างไร? มีการครอบงำแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนอย่างไร? รวมถึงเคยเกี่ยวข้องกับการแทรกแซงและพยายามแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมอย่างไร ?

และเมื่อการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 พรรคไทยรักไทยที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นหัวหน้าพรรค ได้ไปว่าจ้างพรรคเล็กให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง มีเจตนาเพื่อให้ตนสามารถเข้ายึดอำนาจปกครองประเทศ อันเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐโดยวิถีทางที่ไม่ได้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เป็นการบิดเบือนประชาธิปไตย กระทั่งถูกคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทย

2.2 มีพฤติกรรมการใช้อำนาจที่ส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบ หรือใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้องอย่างไร?
นอกจากจะมีคดีที่ถูกสอบสวนเรื่องทุจริตในขณะนี้อย่างไรบ้าง ในอดีต เคยมีพฤติกรรมที่ขัดต่อหลักธรรมาภิบาลและกฎหมายเรื่องการแสดงบัญชีทรัพย์สินอย่างไร ? ซุกหุ้นอย่างไร ? เคยใช้อำนาจออก พ.ร.ก.ที่เอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของตนเองอย่างไร? แล้วใช้อำนาจแก้กฎหมายเพื่อให้ตนเองสามารถขายหุ้นให้ต่างชาติได้อย่างไร ? เคยมีพฤติกรรมหลบเลี่ยงภาษีอย่างไร ? กรณีให้บริษัทแอมเพิลริชขายหุ้นชินฯ ให้ลูกชายและลูกสาว ก่อนจะขายต่อ โดยไม่เสียภาษีแก่รัฐ มีลักษณะฉ้อฉลอย่างไร?

2.3 มีพฤติกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไร ?
รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้อย่างไร? กรณีตากใบ ประชาชนผู้บริสุทธิ์ถูกฆ่าตายและเสียชีวิตอย่างทารุณกว่า 78 ศพ ในระหว่างการควบคุมตัวของรัฐเป็นอย่างไร? กรณีการสังหารในมัสยิดกรือเซะ? กรณีการอุ้มฆ่าทนายสมชาย นีละไพจิตร? มีความเกี่ยวข้องกับนโยบายหรือการสั่งการอย่างไร ?

การใช้นโยบายสงครามยาเสพติด ที่มีการสั่งการและมอบหมาย จนเกิดการฆาตกรรมพลเรือนผู้บริสุทธิ์อย่างเป็นระบบ มากกว่า 2,000 ศพ เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
พ.ต.ท.ทักษิณ มีบทบาทอย่างไร ในการกำหนดนโยบายสงครามยาเสพติดและการนำนโยบายไปปฏิบัติ เป็นผลให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตของประชาชนพลเรือนเป็นจำนวนมาก เป็นการประทุษร้ายอย่างเป็นวงกว้าง และการวางแผนโดยการทำบัญชีข้อมูลบุคคลและสั่งลดจำนวนบุคคลในบัญชีข้อมูลบุคคล อันเป็นการกระทำตามนโยบายที่รัฐวางไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน จนเกิดการฆาตกรรมอย่างเป็นระบบในวงกว้าง ซึ่งเข้าข่ายในฐานความผิด “ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” หรือ “Crimes against humanity” ?

เรื่องนี้ ควรจะได้ส่งเอกสารผลการศึกษาของคณะกรรมการอิสระ (คตน.) ชุดที่มี ศ.ดร.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน ไปให้ทางการอังกฤษ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบด้วย

3. ในการร้องขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนดังกล่าว ควรจะต้องพยายามอธิบายให้สหราชอาณาจักรตระหนักถึงความสำคัญในความร่วมมือระหว่าง “ราชอาณาจักรทั้งสอง” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเคารพในอำนาจอธิปไตยระหว่างกัน และการร่วมมือกันในฐานะประชาคมโลก มิให้ผู้กระทำผิด ก่อให้เกิดความเสียหายในประเทศหนึ่ง สามารถหลบหนีความผิดไปอยู่ในประเทศอื่น เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม และเพื่อให้กฎหมายและศาลยุติธรรมเป็นที่เคารพของประชาชนสืบต่อไป

สิ่งเหล่านี้ จะต้องลงมือทำทันที เพื่อให้กระบวนการเริ่มนับหนึ่ง

การบ่ายเบี่ยง เกี่ยงงอน หรือโยนกันไปมาระหว่างหน่วยราชการของไทยด้วยกันเอง มีแต่จะเกิดผลเสียหายต่อประเทศชาติ และน่าจะเข้าข่ายจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือสมยอมร่วมมือไปกับผู้ร้ายหลบหนีอาญาแผ่นดิน

ความยุติธรรมของประเทศชาติต้องมาก่อน การละเว้น หน่วงเหนี่ยว หรือนิ่งเฉย ย่อมจะถูกมองว่าเป็นการทรยศชาติ ทรยศแผ่นดิน!

กำลังโหลดความคิดเห็น