xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด"กิตติพงษ์ กิตยารักษ์"วางนโยบายงานยุติธรรม เพื่อประชาชน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ะมีใครรู้มาก่อนหรือไม่ว่า หลังจากกระทรวงยุติธรรม แยกตัวออกจากศาลยุติธรรม มาตั้งแต่ปี 2545 ตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรมนั้น ผู้ที่มาดำรงตำแหน่ง มักเป็นคนนอกหน่วย ที่เข้ามาเป็นใหญ่ เป็นแม่บ้านกระทรวงตราชั่งแห่งนี้ "ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์" ถือเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรมคนแรก ที่มาจากคนใน โดยดร.กิตติพงษ์ รับราชการและเติบโตมาจากกระทรวงยุติธรรมโดยตรง แม้ก่อนขึ้นดำรงตำแหน่งสำคัญนี้ ก็รั้งตำแหน่งรองปลัดกระทรวงยุติธรรมอยู่ก่อนแล้ว

ทีมข่าวอาชญากรรม ผู้จัดการออนไลน์ ได้รับเกียรติจากดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในการให้สัมภาษณ์เปิดใจ เปิดแนวคิด เปิดวิสัยทัศน์ ในการทำงานในฐานะปลัดกระทรวง เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนอย่างไร เชิญติดตามได้

ถาม - ตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม อยู่ในความคาดคิดมาก่อนที่ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งหรือไม่
ดร.กิตติพงษ์ -
ไม่คาดคิดว่าจะเป็นผู้ถูกเสนอชื่อให้เป็นปลัดกระทรวงยุติธรรมในโอกาสนี้ ช่วงที่ปรากฎเป็นข่าวนั้น ในกระทรวงยุติธรรมก็มีคนที่เหมาะสมก็มีหลายท่าน เช่นอาจารย์ธงทอง จันทรางศุ เราทั้งสองคนจึงอยู่ในฐานะที่เป็นคนถูกเลือกมากกกว่าเป็นคนเสนอตัว ฉะนั้นกับอาจารย์ธงทอง ก็คุยกันอย่างใกล้ชิด ไม่ได้มีปัญหาอะไรกันเลย ทุกคนมีความรู้สึกว่าเป็นผู้ที่ถูกการเมืองเลือก ไม่ได้เสนอตัวทั้งคู่ ก็ได้พูดคุยกัน ไม่ว่าใครได้รับเลือก อีกคนก็ยินดีที่จะทำงานร่วมกัน และอยากสร้างความสมานฉันท์ในหน่วยงาน และคนในที่ได้รับเลือกให้มาเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม ส่วนหนึ่งก็ดีอยู่แล้วเพราะเป็นการให้โอกาสคนในทำงาน และหากคนที่อยู่ในกระทรวงมีความสามารถเพียงพอก็น่าจะได้รับโอกาสในการพิจารณา ส่วนถ้าจะมีคนนอกเข้ามาเป็นนั้น ก็น่าจะต้องมีเหตุผลมีความเหมาะสมเป็นพิเศษ ในการที่จะมาบริหารกระทรวงนี้

"ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรียุติธรรมได้ให้โอกาสคนใน ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกระทรวง เมื่อปี 2545 เพราะที่ผ่านมาตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรมจะเป็นคนนอกมาโดยตลอด"

ถาม - คิดว่าเพราะเหตุผลใด จึงทำให้ได้รับเลือกจากรัฐมนตรียุติธรรมและเสนอชื่อให้ครม.แต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม
ดร.กิตติพงษ์ - ผมเองไม่ได้รู้จักท่านเป็นการส่วนตัวมาก่อนเลย เข้าใจว่าข้อที่หนึ่งน่าจะเป็นเพราะผมเป็นคนใน เป็นคนในหน่วยงานก็ได้เปรียบกว่าคนอื่น ได้ร่วมพัฒนาหน่วยงานนี้มาตั้งแต่ต้น ก่อนจะเริ่มก่อตั้งกระทรวงตั้งแต่ ปี 2543 และคงรู้จักคน รู้จักงานที่จะช่วยขับเคลื่อนองค์กรในไปได้ สร้างความสมานฉันท์ สร้างความเป็นเอกภาพให้กับหน่วยงาน ส่วนเหตุผลอื่นๆ ก็คงต้องไปถามท่านรมว.ยุติธรรม

ถาม - นโยบายที่ปลัดยุติธรรมให้ความสำคัญ และต้องการผลักดันให้สำเร็จเป็นสำดับต้นๆ
ดร.กิตติพงษ์ -
ในเบื้องต้นก็ต้องมาพยายามทบทวนถึงบทบาทปลัดกระทรวงยุติธรรมว่า ปลัดกระทรวงยุติธรรมทำหน้าที่อะไร โดยทั่วไปการเป็นหัวหน้าส่วนราชการในหน่วยงานต่างๆ จะมีกรอบภารกิจที่ชัดเจน แต่เป็นปลัดกระทรวงนั้นไม่มีกรอบภารกิจที่ชัดเจนนัก จริงๆแล้วก็เป็นเหมือนข้าราชการประจำที่เป็นเจ้ากระทรวง หรือเบอร์หนึ่งของข้าราชการในกระทรวง โดยมีอธิบดีกรมต่างๆ เป็นแม่ทัพที่จะทำงานตรงนั้นอยู่แล้ว จึงต้องคิดบทบาทปลัดกระทรวงยุติธรรมจะทำอะไร และคิดว่างานอะไรที่กรมหรือกลุ่มภารกิจทำได้ดีอยู่แล้ว ก็คงไม่จำเป็นต้องเข้าไปทำอะไรมากนัก เพียงช่วยสนับสนุนอยู่ แต่ว่าจะมีงานบางอย่างที่เป็นลักษณะเชื่อมโยงระหว่างหลายส่วนราชการ ไม่ได้อยู่ในกลุ่มภารกิจใดภารกิจหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับหน่วยงานภายนอกกระทรวงยุติธรรม รวมทั้งงานยุทธศาสตร์สำคัญบางเรื่องที่จำเป็นต้องบูรณาการเป็นพิเศษ ก็จะเลือกประเด็นเหล่านั้นมาทำ โดยไม่ได้เข้าไปทำทุกเรื่อง จึงต้องกำหนดกรอบตรงนี้ก่อน

"ผมเคยพยายามเปรียบเทียบในวงสนทนากับเพื่อนข้าราชการว่า เคยอ่านหนังสือของคุณบัณฑิต อึ้งรังษี วาทยกรคนไทยที่มีชื่อเสียงมากในระดับโลก และเคยเขียนไว้ในหนังสือหลายฉบับ กล่าวถึงความสำคัญของตำแหน่งวาทยกร ซึ่งเป็นคนกำกับเพลง จริงๆ แล้วเราหรือคนทั่วไปดูแล้วอาจสงสัยว่า จำเป็นต้องมีหรือเปล่า นักดนตรีสามารถเล่นดนตรีได้อยู่แล้ว คนเล่นไวโอลิน แซกโซโฟนก็เล่นได้ โน๊ตเพลงก็มีอยู่แล้ว แต่คุณบัณฑิตมองว่า นักวาทยกรที่ดีจะต้องสามารถดึงศักยภาพที่ดีที่สุดของนักดนตรีออกมาให้ได้ และทำให้นักดนตรีเล่นไปในทิศทางเดียวกัน คล้ายกับบทบาทหน้าที่ของปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่ไม่ได้เป็นคนเล่นเองเสียทุกเรื่อง ส่วนท่านรัฐมนตรีก็คงเป็นเหมือนผู้จัดการโรงละคร หรือนายโรง สุดท้ายก็ต้องไปถามเจ้าของตัวจริงคือประชาชนหรือผู้ฟังว่า อยากฟังเพลงอะไร ท่านก็คงให้แนวทางมา ส่วนผมก็มีหน้าที่ทำให้ดีที่สุด ส่วนว่าเล่นไปแล้วถ้าทำได้ดี ไพเราะ ประชาชนก็พอใจ หน้าที่ก็เป็นอย่างนั้น"

ตรงนี้ก็คิดเยอะเหมือนกันว่าจะทำอะไร ไปแย่งอธิบดีทำทุกเรื่องก็คงไม่ได้ สิ่งแรกเลยที่จะต้องทำ คือ คำว่าทีมยุติธรรม ที่ผมพยายามมากๆ ที่จะให้การทำงานเป็นทีมของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งกระทรวงยุติธรรมมีกรมตั้งใหม่และกรมเก่าหลายกรม ที่ผ่านมาต่างคนต่างทำงานอยู่ กรมที่ตั้งใหม่บางกรม ต้องแบกรับภาระค่อนข้างมากหรือถูกทอดทิ้ง กรมเก่าบางกรมมีศักยภาพที่จะช่วยได้ แต่ก็ยังไม่มีโอกาส เพราะฉะนั้นการบูรณาการงานในเชิงการสร้างความเป็นทีมยุติธรรมจึงเป็นเรื่องแรกที่เป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งไม่ได้เป็นแค่เนื้องานแต่เป็นการสร้างวัฒนธรรมในองค์กร สร้างความสัมพันธ์ที่ดีและรู้จักกระบวนการทำงานร่วมกัน มีการประชุมผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพและนำปัญหาที่เหมาะสมมารับรู้และเรียนรู้ร่วมกัน เรื่องนี้เรื่องใหญ่มาก ซึ่งตอนนี้กำลังทำอยู่ เช่นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานด้านยาเสพติด ให้หน่วยงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ป.ป.ง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกรมราชทัณฑ์มาทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อสามารถทำเรื่องใหญ่ๆ สร้างเครือข่าย ครบวงจรได้เป็นต้น บางส่วนก็เป็นเรื่องง่าย เช่นนิติวิทยาศาสตร์มีปัญหามากเพราะต้องไปเสี่ยงภัยในพื้นที่ ต้องซื้อเสื้อเกราะกันกระสุน แต่มีปัญหาเรื่องงบประมาณ แต่พอทำทีมยุติธรรมจึงทราบว่าดีเอสไอ และป.ป.ส.มีเสื้อเกราะกันกระสุนอยู่ 100 กว่าตัว ซึ่งไม่ได้ใช้ตลอดเวลา จึงยืมมาใช้ได้ ดังนั้นคิดว่าถ้าเรามีความเป็นทีมก็จะสามารถขับเคลื่อนภาพรวมต่างๆ ร่วมกันไปได้

ถาม - จะทำให้บรรลุเป้าหมายหรืออุดมคติในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนอย่างแท้จริง ได้อย่างไร
ดร.กิตติพงษ์ - ส่วนแรก คือสิ่งที่กำลังทำอยู่ ทั้งมียุติธรรมก็มีส่วนช่วย เพราะถึงที่สุดแล้วภารกิจของกระทรวงคือการอำนวยความเป็นธรรม ให้ประชาชนเข้าถึงความเป็นยุติธรรมและมีเสรีภาพ ส่วนที่สองที่พยายามทำ คือ”โครงสร้าง 5 ปี หลังการปฏิรูป” ซึ่งกระทรวงยุติธรรมผ่านการปฏิรูประบบราชการ มาแล้ว 5 ปีตั้งแต่ปี 2545 จึงต้องมีการประเมินว่าสิ่งที่ทำมา มีโครงสร้างหรือปัญหาอะไรที่จะต้องปรับวิธีการทำงาน เช่นเรื่องการพัฒนาบุคลากร มีหลายหน่วยงานที่ทำซ้ำซ้อนกันอยู่ อาจมีแนวคิดว่าจะต้องปรับโครงสร้างในระดับย่อยลงมา เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผมในฐานะคนใน สามารถระดมความคิดและเสนอปรับโครงสร้างในหลายๆ ส่วนที่เป็นปัญหาอยู่ได้พอสมควร

ส่วนที่สามที่เป็นเรื่องใหม่และอยากผลักดันต่อไปเช่น เรื่องยาเสพติด นอกจากเรื่องการบูรณาการป้องกันและปราบปรามเป็นเครือข่ายระหว่างหน่วยงานแล้ว ก็มีเรื่องการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยา ที่ตอนนี้มีอยู่ทั้งหมด 3 ระบบ คือ ระบบสมัครใจ บังคับบำบัด และระบบต้องโทษ ส่วนใหญ่ผู้ติดยาจะสมัครใจรักษาน้อย แต่จะไปอยู่ในระบบบังคับบำบัดเยอะมาก จนงบประมาณรัฐไม่เพียงพอ ส่วนผู้ติดยาในระบบต้องโทษเยอะที่สุด แต่ขณะนี้เราพยายามลดลงเพราะไม่ต้องการให้ผู้ป่วยเป็นอาชญากร ซึ่งต่อไปอาจจะต้องเน้นให้ผู้ป่วยที่ติดยาเสพติดเข้ารักษาในระบบสมัครใจให้มากขึ้น นอกจากนี้ก็มีเรื่องยุติธรรมจังหวัด ยุติธรรมชุมชน ซึ่งเป็นหัวใจของกระทรวงยุติธรรมที่ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมได้ง่ายขึ้น ได้รับบริการด้านความยุติธรรมที่ใกล้ตัวในหมู่บ้านหรือชุมชนของตัวเอง สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือบางเรื่องที่ต้องมีกฎหมายรองรับเช่นยุติธรรมทางเลือก ก็จำเป็นต้องผลักดัน ทั้งหมดเป็นเรื่องที่จะพยายามทำในลำดับต้นๆ

ถาม - ภาพลักษณ์ของดร.กิตติพงษ์ เป็นผู้ที่มีความประนีประนอมสูง ในฐานะข้าราชการประจำ มีจุดยืนในการทำงานร่วมกับฝ่ายการเมืองอย่างไร
ดร.กิตติพงษ์ - ผมเองเป็นข้าราชการประจำก็รับนโยบายของการเมืองที่เป็นการสั่งการที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาก็โชคดีที่ไม่ต้องทำอะไรที่เป็นการฝืนใจ ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย เข้าใจว่าทุกท่านที่มาเป็นรัฐมนตรียุติธรรมทราบดีว่า เราเป็นกระทรวงกฎหมาย ที่ต้องรักษาความเป็นธรรม ฉะนั้นก็คิดความสัมพันธ์ในเชิงที่จะต้องทำให้ผมรู้สึกกดดันไปทำอะไรที่ไม่ถูกต้องนั้นไม่มี

"แต่อย่างไรก็ตาม ถึงผมจะเป็นคนประนีประนอมอย่างไร ก็ต้องมีหลักการ ไม่ทำอะไรที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญที่สุดของข้าราชการประจำ คิดว่าขณะนี้ยังไม่มีเรื่องอะไรที่เป็นปัญหา ที่ทำให้ผมต้องลำบากใจ"

ถาม - จะดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ซึ่งทำคดีสำคัญหลายคดี ให้มีความโปร่งใสอย่างไร
ดร.กิตติพงษ์ -
โดยทั่วไปในโครงสร้างการสั่งคดีอะไรต่างๆ ของหน่วยงานดีเอสไอ ปลัดกระทรวงยุติธรรม คงไม่สามารถเข้าไปสั่งการได้อยู่แล้ว พนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะต้องมีอิสระ มีดุลยพินิจในการดำเนินคดี ซึ่งมีคณะกรรมสอบสวนคดีพิเศษ(กคพ.) เป็นหน่วยงานที่กำกับการใช้ดุลยพินิจของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คดีโดยทั่วไปผมจะไม่เข้าไปสั่งการอยู่แล้ว และไม่ควรจะเข้าไปก้าวก่ายดุลยพินิจของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ อย่างไรก็ตาม คดีที่สาธารณชนให้ความสนใจ ผมอาจจะเรียกมาสอบถาม หรือว่าให้ข้อมูลเพื่อที่ผมจะสามารถชี้แจงข้อมูลและความเป็นมาต่างๆ ได้ ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีคดีอะไรที่ผมรู้สึกว่ามีปัญหา ซึ่งคดีโด่งดังต่างๆ ก็พ้นไปจากดีเอสไอแล้ว มีเพียงบางคดีที่เป็นปัญหาอยู่บ้างเช่น เรื่อง กกต. (คดีร้องเรียน พิมพ์บัตรเลือกตั้ง ) ที่มีปัญหาว่า ดีเอสไอมีอำนาจเข้าไปสอบสวนหรือไม่ซึ่งกกต.มองว่าดีเอสไอไม่มีอำนาจเข้าไปสืบสวนเรื่องพิมพ์บัตรเลือกตั้ง พอเป็นข่าวขึ้นมา ผมก็เรียกอธิบดีดีเอสไอและรองอธิบดีที่เกี่ยวข้องมาพูดคุย โดยผมก็ให้แนวว่าไม่ต้องการให้เกิดปัญหาโต้แย้งกันทางหน้าหนังสือพิมพ์ ให้ท่านไปพบทางเลขาฯ กกต.เพื่อชี้แจง ขอข้อมูลอะไรต่างๆ ซึ่งไม่ได้กระทบดุลพินิจเกี่ยวกับคดี แต่ผมเข้าไปช่วยดูแลเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ในที่สุดคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก็ได้มีการตั้งคณะทำงานชุดหนึ่งขึ้นมาพิจารณา โดยมีนายเรวัต ฉ่ำเฉลิม อดีตอัยการสูงสุดเป็นประธาน

"นั่นคือวิธีการทำงาน ถ้าเราทำเป็นระบบ และก็เอากฎหมายเป็นหลัก และเอาความบริสุทธิ์ใจเป็นที่ตั้ง คิดว่าทุกอย่างก็สามารถแก้ไขไปได้ แม้ว่าจะมีความยากลำบากพอสมควรในขณะนี้ ซึ่งการทำตามกฎหมายบางครั้งก็เป็นที่พอใจหรือไม่พอใจของบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งก็ค่อนข้างลำบากสำหรับเจ้าหน้าที่ ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมทุกคน เชื่อว่า สิ่งที่ดีที่สุด คือยึดหลักความถูกต้อง ตามกฎหมาย ความเป็นธรรม"

ถาม - กระทรวงยุติธรรมมีนโยบายหรือความชัดเจน ต่อการควบคุมดูแลผู้ต้องขังที่เป็นนักการเมือง หรือผู้ต้องขังที่เกี่ยวข้องกับคดีการเมืองอย่างไร
ดร.กิตติพงษ์ -
โดยทั่วไปไม่มีใครได้สิทธิพิเศษ ผู้ต้องขังที่กระทำผิดอาญาก็ต้องได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน ถ้าเป็นเรื่องคดีทางการเมือง ก็มีบรรทัดฐานในอดีตที่เรามีสถานที่เป็นพิเศษในการแยกประเภท ในการดูแลผู้ต้องขังซึ่งเกี่ยวกับคดีทางการเมือง ดังนั้น ถ้าเป็นนักการเมืองที่มาเข้าเรือนจำ ก็ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ ทุกคนก็อยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน

ถาม - เกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่เป็นกำลังปัญหาอยู่ กระทรวงยุติธรรมมีบทบาทอย่างไรบ้าง
ดร.กิตติพงษ์ - กระทรวงยุติธรรมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง เราพยายามทำในเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยส่วนตัวผม มีความสนใจในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมมาโดยตลอด และเข้าร่วมกับ ดร.คณิต ณ นคร ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ก็ได้ร่วมกัน โครงการชื่อว่า"เปิดเวทีความคิดเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

"เพราะมีความเห็นตรงกันว่า ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ความขัดแย้ง ถ้ากระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพ สามารถที่จะเอาผู้ที่กระทำความผิดไม่ว่าเป็นใครมีอำนาจทางการเมืองหรือร่ำรวยมากแค่ไหนก็ตาม กระบวนการยุติธรรมถูกเชื่อโดยสุจริตใจว่าสามารถเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้" ก็อาจจะไม่มีปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งนำมาสู่ปัญหาในปัจจุบัน ซึ่งความขัดแย้งต่างๆ นำมาสู่ภาระซึ่งกระบวนการยุติธรรมหรือองค์กรศาลต้องรับภาระอย่างมาก ซึ่งมองว่า วิกฤติตรงจุดนี้ ทำให้ผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ต้องช่วยกันว่า ทำอย่างไรจะให้กระบวนยุติธรรมมีประสิทธิภาพ ทำอย่างไรให้องค์กรศาลซึ่งเป็นที่พึ่งของเราไม่กระทบจากภาระที่หนักมากๆ จนกระทั่งไม่สามารถพัฒนาไปได้ เพราะขณะนี้เราไปพึ่งท่านมาก อันนั้นก็เป็นสิ่งที่ดีว่าท่านเป็นที่เชื่อถือของทุกฝ่าย แต่การที่มีเรื่องทุกเรื่องไปที่ท่านมากเกินไป โดยโดยไม่ให้ท่านดำรงความเป็นอิสระ ความน่าเชื่อถือ พัฒนาองค์กรอย่างเหมาะสมก็อาจทำให้เกิดปัญหาในอนาคต โครงการนี้จึงเป็นเวทีที่จะมานั่งคุยกันว่า เราจะปฏิรูปองค์กรที่เกี่ยวข้องในระบบยุติธรรมอย่างไรซึ่งเป็นส่วนที่ผมเองและกระทรวงยุติธรรมเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งเรื่องรัฐธรรมนูญไม่ใช่มีเฉพาะมิติทางการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว ดังนั้น ผมจึงอยากจะทำงานในเชิงที่เป็นประโยชน์และตรงกับความเชี่ยวชาญและความถนัด

ประวัติโดยสังเขป
ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ จบการศึกษา นิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยม) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริญญาโทด้านกฎหมายการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (Master of Laws หรือ LL.M.) มหาวิทยาลัยคอร์แนล (Cornell University) สหรัฐอเมริกา (ทุน ก.พ.)
เนติบัณฑิตไทย (นบท.) สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
ปริญญาโทด้านกฎหมาย (Master of Laws หรือ LL.M.) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) สหรัฐอเมริกา (ทุนฟุลไบรท์)
ปริญญาเอกด้านกฎหมาย (Doctor of the Science of Laws หรือ J.S.D.) มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) สหรัฐอเมริกา (ทุนฟุลไบรท์)
ประกาศนียบัตรหลักสูตรการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตย สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 5 สถาบันพระปกเกล้า (ปปร.5)
ประกาศนียบัตรหลักสูตรนักบริหารระดับสูง รุ่น 40 สถาบันข้าราชการพลเรือน (นบส.1)
ประกาศนียบัตรหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) รุ่น 10 วิทยาลัยการยุติธรรม สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาล-ยุติธรรม
ประกาศนียบัตรหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (ว.ป.อ.) รุ่น 49

การทำงาน
รองปลัดกระทรวงยุติธรรม (พ.ศ. 2548- 2551)
อธิบดีกรมคุมประพฤติ (พ.ศ.2544-2548)
ผู้ช่วยปลัดกระทรวงยุติธรรม (พ.ศ. 2543-2544)
ผู้อำนวยสถาบันกฎหมายอาญา สำนักงานอัยการสูงสุด (พ.ศ. 2539-2543)
ผู้ช่วยเลขานุการอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการสูงสุด (พ.ศ. 2537-2539)
เลขานุการสำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย สำนักงานอัยการสูงสุด (พ.ศ.2536-2537)
อนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) (พ.ศ. 2540)
กรรมการ คณะกรรมการนโยบายแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนากฎหมาย (พ.ศ. 2547-2549)
กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) (พ.ศ. 2548-2549)
กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการอิสระเพื่ออำนวยความยุติธรรมและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอยส.) (พ.ศ. 2549)
กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ (พ.ศ. 2549-2551)

ประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
กรรมการบริหารและประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ กองทุนพัชรกิติยาภาเพื่อการศึกษากฎหมาย
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการอัยการ (ก.อ.)
ผู้ประสานงานโครงการพัฒนากฎหมายไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
กรรมการสภาที่ปรึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา
กรรมการสภามหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา
กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล
กรรมการสภาวิทยาลัยอิสลามยะลา
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ องค์กรเพื่อความโปร่งใสประเทศไทย (Transparency Thailand)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ Asia Crime Prevention Foundation (ACPF)
กรรมการบัณฑิตศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ.ก.พ. สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ คณะสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้บรรยาย หลักสูตรเนติบัณฑิต สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และสถาบันฝึกอบรมทางวิชาชีพในกระบวนการยุติธรรมทั้งในและต่างประเทศ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)

วิเชียร เสนหละ - สัมภาษณ์
ทีมข่าวอาชญากรรม - รวบรวม,เรียบเรียง

ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม
ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม
เดินทางไปตรวจราชการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ให้โอวาทเหล่าวิวัฒน์พลเมือง
เดินทางไปตรวจราชการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
กำลังโหลดความคิดเห็น