รมว.ยุติธรรม ขุนงานคุ้มครองสิทธิฯ เน้นพัฒนาคนมีจิตวิญญาณงานเกิดประสิทธิภาพ ปัดการออกหมายจับ-หมายเรียกคดีใด “ยุติธรรม” ไม่เกี่ยว พูดเป็นนัยถ้าพวกเดียวกันส่วนใหญ่เป็นหมายเรียก ขณะที่ดีเอสไอลุยสอบคดี จนท.รัฐลุแก่อำนาจ ด้าน “คณิต ณ นคร” มองศาลยังไม่แสดงบทความเป็นเสรีนิยมฯ เท่าที่ควร ชี้ระบบนายประกันซ้ำเติมคนจน
วันนี้ (24 ก.ค.) ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเปิดการสัมมนาโครงการส่งเสริมและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทยว่า กฎหมายกระบวนการยุติธรรมไทยมีเนื้อหาคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แต่ในทางปฏิบัติยังมีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน กระทรวงยุติธรรม มี 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ได้แก่ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะต้องพัฒนาบุคลากรให้มีจิตวิญญาณในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพประชาชน หรือผู้ถูกดำเนินคดี
นอกจากนี้ นายสมพงษ์ กล่าวถึงกรณีการออกหมายจับ ซึ่งถูกมองว่า มีการเลือกปฏิบัติระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายตรงข้ามว่า การออกหมายจับหรือหมายเรียกเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงาน ที่กระทรวงยุติธรรมไม่สามารถเข้าไปก้าวก่าย เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะปฏิบัติกับทุกฝ่ายด้วยความเท่าเทียมไม่มีใครได้สิทธิพิเศษ อย่างไรก็ตาม นายสมพงษ์ได้พูดติดตลกว่า หากเป็นฝ่ายเดียวกันก็จะออกหมายเรียก แต่ถ้าเป็นฝ่ายตรงข้ามจะเชิญมาพบ จะไม่มีการเลือกปฏิบัติระหว่างบุคคลธรรมดา หรืออดีตรัฐมนตรี
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ดีเอสไอพยายามจะยกระดับการดำเนินคดีควบคู่ไปกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับคดีที่นักสิทธิมนุษยชน ถูกฆ่า และถูกทำร้ายร่างกาย รวมทั้งพยายามเข้าไปตรวจสอบคดีเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติตามนโยบายและเกิดผลกระทบต่อประชาชน ทั้งจากการประกาศนโยบายปราบปรามยาเสพติด จนทำให้เกิดคดีฆ่าตัดตอน การแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ ซึ่งเป็นผลให้นายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความหายตัวไป รวมถึงมีการทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาในคดีปล้นปืนจากกองพันทหารพัฒนา โดยหลังจากนี้กฎหมายสอบสวนคดีพิเศษให้อำนาจดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบการกระทำเกินหน้าที่หรือลุแก่อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐและตำรวจ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบและถ่วงดุล
ทางด้านนายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้กล่าวถึงสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมไทยว่า การขออนุมัติหมายค้นและหมายจับ ซึ่งกฎหมายให้ศาลเป็นผู้ตรวจสอบแทนพนักงานสอบสวน แต่ตนมองว่าศาลยังไม่แสดงบทบาทความเป็นเสรีนิยมและความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเท่าที่ควร ที่ผ่านมาศาลอนุมัติหมายค้นยามวิกาลจนทำให้เกิดการยิงถล่มตู้เย็นที่อยุธยา ทั้งที่ไม่พบหลักฐานยาเสพติด ตามหลักกฎหมายในการควบคุมตัว จะกระทำต่อเมื่อมีความจำเป็นหรือผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานและจะกระทำความผิดซ้ำ แต่ระบบของไทย เจ้าหน้าที่จะควบคุมตัวเพื่อให้ผู้ต้องหายื่นขอประกันตัว ทำให้มีอาชีพนายประกันและบริษัทประกันเสรีภาพเข้ามาหากินกับกระบวนการยุติธรรม ผลประโยชน์ที่บริษัทประกันเสรีภาพมีมูลค่ามหาศาล ระบบเช่นนี้ไม่น่าจะถูกต้องเพราะเป็นการซ้ำเติมประชาชนที่ยากจน จึงอยากให้กระทรวงยุติธรรมเข้าไปดูแลแก้ไข
นายคณิต กล่าวอีกว่า การฟ้องคดีในชั้นอัยการก็ยังไม่ถูกต้อง ปกติการบรรยายฟ้อง ต้องบรรยายถึงข้อเท็จจริงในการกระทำความผิด แต่อัยการของเรา บรรยายฟ้องเพียงแค่ให้ครบองค์ประกอบของกฎหมาย จึงมองว่ากฎหมายที่มีอยู่ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ปฏิบัติเบี่ยงเบน รวมถึงกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิมนุษย์ ที่มีปัญหาในทางปฏิบัติบ่อยครั้ง จึงต้องปฏิรูปที่การบังคับใช้กฎหมายและความคิดของคนในกระบวนการยุติธรรม