เสวนาฆ่าตัดตอนยาเสพติดยุค "แม้ว" สุดเถื่อน แฉตัวเลขผู้เสียชีวิตพุ่งกว่า 2,800 ศพ ชี้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดแค่พันศพที่เหลือกว่า 1,800 ศพ ตายด้วยสาเหตุอื่น เตือนในอนาคต "แม้ว" อาจโดนประหาร หากมีการรื้อฟื้นคดี เนื่องจากอายุความ 20 ปี
วันนี้(4 มิ.ย.) ที่เวทีสะพานมัฆวานฯ ในช่วงเสวนาให้ความรู้ประชาชน ได้มีการเชิญวิทยากรร่วมรายการคือ นายวสันต์ พาณิชย์ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ นายประพันธ์ คูณมี อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ดำเนินรายการโดย นางจินดารัตน์ เจริญชัยชนะ ซึ่งหัวข้อในการเสวนาหยิบยกเรื่องปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากนโยบายทำสงครามปราบปรามยาเสพติดในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
นายประพันธ์ กล่าวว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการตรวจสอบของคณะกรรมการในยุครัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ที่มี นายคณิต ณ นคร เป็นประธาน และมี นายจรัญ ภักดีธนากุล เป็นกรรมการ ได้สรุปออกมาว่า มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,800 ศพ โดยแยกเป็นเสียชีวิตจากการเกี่ยวข้องยาเสพติดจำนวนแค่กว่าหนึ่งพันศพเท่านั้น ส่วนที่เหลือกว่า 1,400 ศพ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และแค่ในช่วง 3 เดือนที่มีการประกาศทำสงครามมีคดีฆาตกรรมเพิ่มขึ้นถึง 87.7 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน
นายวสันต์ กล่าวว่า ในช่วงที่มีการเริ่มนโยบายทำสงครามปราบปรามยาเสพติด พ.ต.ท.ทักาณ เรียกประชุมข้าราชการในระดับจังหวัดซึ่งคำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ปลุกเร้าให้ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามอย่างเต็มที่ เช่นผู้ค้ามีทางเลือกอยู่3 ทางคือ ถูกจับกุม ถูกวิสามัญฆาตกรรม และเสียชีวิตสิ้นอายุขัยด้วยสาเหตุต่างๆซึ่งมีนัยสำคัญในการส่งเสริมทำให้เกิดการเสียชีวิต
อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนฯผู้นี้ ยังตั้งข้องสังเกตว่า ในช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ สั่งให้มีการเอ็กซเรย์หาผู้ค้ายากเสพติดทุกหมู่บ้านจะใช้วิธีโหวต ซึ่งจะมีโอกาสทำให้เกิดการกลั่นแกล้งได้ ยกตัวอย่างกรณีมีผู้ถูกล๊อตเตอรี่รางวัลที่ 1 รายหนึ่งถูกวิสามัญฆาตรกรรมพร้อมครอบครัวสร้างความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส หรือกรณีของชาวเขาก็ใช้ทัศนคติเก่าๆเข้าไปปราบปรามจับกุม
นายประพันธ์ กล่าวย้อนอดีตในการปราบปรามยาเสพติดว่า ส่วนใหญ่จะใช้หน่วยงานปราบปรามโดยตรง เช่นสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) ดำเนินการตามขั้นตอนตามกระบวนการยุติธรรม แต่ในยุคของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ มีการใช้นโยบายปราบปรามยาเสพติดมาหาคะแนนเสียง ส่งสัญญาณให้ใช้ความรุนแรง
อดีต สนช.ผู้นี้ย้ำว่า พากเราไมได้รังเกียจการปราบปรามยาเสพติด แต่ต้องดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม มิหนำซ้ำผู้ที่ตกเป็นเหยื่อกลับเป็นแค่รายเล็กรายน้อย
นายวสันต์ กล่าวว่า คดีการฆ่า หรือสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นดังกล่าวมีอายุความ 20 ปี ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการรื้อฟื้นขึ้นมาฟ้องร้องตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งแนะนำให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายฟ้องร้องต่อหน่วยงานยุติธรรมเพื่อเป็นหลักฐานเอาไว้
นายประพันธ์ กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เกิดความกลัวเรื่องนี้มาก เพราะมีโทษถึงประหาร พร้อมทั้งแนะให้มีการตั้งองค์กรพิเศษ เพื่อตรวจสอบ ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดที่กำลังจะกลับมาอีกครั้งในรัฐบาลชุดนี้