xs
xsm
sm
md
lg

“หมอชูชัย” อัด “หมัก” จงใจยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ยันร่าง ม.63 ขัด รธน.50

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี
“หมอชูชัย” ยันร่าง กม.จัดระเบียบชุมนุม มาตรา 63 ขัด รธน.50 อัด “สมัคร” ไม่เคยนำพา จงใจยั่วยุให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมือง ชี้นิสัยติดตัวตั้งแต่ 6 ตุลา แก้ไม่หาย เผยนักวิชาการภาคประชาชนเตรียมร่าง กม. รับรองเสรีภาพชุมนุม ประกบ เสนอโดยประชาชน 1 หมื่นชื่อ พร้อมชง คกก.ปฏิรูป กม.ถลก ร่าง กม.จัดระเบียบชุมนุม

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวถึงการที่ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จะเสนอร่างกฎหมายจัดระเบียบชุมนุมที่สาธารณะ สู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อสกัดกั้นการชุมนุมว่า เรื่องนี้อาจขัดหรือแย้งกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และ 2550 เพราะจะทำให้เสรีภาพของคนไทยต้องตกอยู่ในกำมือของผู้มีอำนาจรัฐ ต่อไปหากประชาชนจะชุมนุมประท้วง เปิดโปงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นักเลือกตั้ง ข้าราชการชั่วจะต้องไปขออนุญาตจากคนชั่วเหล่านี้ก่อนจึงจะชุมนุมได้ ขอย้ำว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 ในมาตรา 63 เกิดขึ้นเพื่อรับรองเสรีภาพของบุคคลในการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธ การจำกัดสิทธิ เสรีภาพ จะทำได้เท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพนั้นมิได้ ตามมาตรา 29

“ผมถามง่ายๆ ว่า ถ้าไปขออนุญาต แล้วคนชั่วจะยอมให้มีการชุมนุม เปิดโปงความชั่วของพวกเขาหรือไม่ ดังนั้น ร่างกฎหมายจัดระเบียบการชุมนุมฯ จึงกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของผู้คนอย่างชัดแจ้ง ซึ่งทุกคนรู้อยู่แก่ใจ แต่ดูเหมือนว่านายกรัฐมนตรี และนักเลือกตั้ง จะตั้งใจละเมิดรัฐธรรมนูญ คล้ายกับมีเจตนายั่วยุให้เกิดความรุนแรงขึ้นในบ้านเมือง ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่แก้ไม่หาย และติดตัว นายสมัคร มาตั้งแต่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยไม่นำพาว่าจะเกิดความหายนะต่อสังคมและประเทศชาติเพียงใด”นพ.ชูชัย กล่าว

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้เตรียมคณะวิจัยซึ่งเป็นนักวิชาการภาคประชาชนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อยกร่างกฎหมายรับรองเสรีภาพการชุมนุมตาม มาตรา 63 ไว้แล้ว และจะให้ประชาชนผู้มีสิทธิ 10,000 รายชื่อ ยื่นต่อประธานรัฐสภา และจะมีตัวแทนภาคประชาชน 1 ใน 3 เข้าร่วมเป็นคณะกรรมมาธิการการพิจารณาร่างกฎหมาย ตามมาตรา 163 การที่การเมืองภาคพลเมืองต้องเตรียมร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของรัฐ มักใช้อำนาจจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม โดยอ้างกฎหมายต่างๆ เช่น พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 พ.ร.บ.รักษาความสะอาดเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 พ.ร.บ.ควบคุมการใช้เครื่องเสียง พ.ศ.2543 พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2475

“ข้ออ้างเหล่านี้ทำให้เสรีภาพในการชุมนุมไม่มีผลในการปฏิบัติ และสิ่งที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทำก็อาจใช้อำนาจขัดกับรัฐธรรมนูญ ดังนั้นคณะวิจัยจึงรวบรวมองค์ความรู้จากประเทศต่างๆ ที่ก้าวพ้นเผด็จการในทุกรูปแบบมาศึกษา เพื่อปรับใช้กับประเทศไทย โดยศึกษาถึงแนวความคิดสาระ สำคัญในการชุมนุม เช่น การรับรองสิทธิเสรีภาพขอบเขตสิทธิเสรีภาพ ข้อจำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพ กลไกลในการให้ความคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนในที่สาธารณะ การชุมนุมในสภาวะสงคราม การชุมนุมในสถานการณ์ฉุกเฉิน”นพ.ชูชัย กล่าว

นพ.ชูชัย กล่าวอีกว่า เมื่อได้ร่างกฎหมายดังกล่าวแล้วจะเปิดเวทีนโยบายสาธารณะอย่างกว้างขวางให้ทุกฝ่ายในสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการวางกรอบกติกาในการชุมนุมในสังคมไทย โดยไม่ปล่อยให้อยู่ในมือของนักเลือกตั้งดังที่ผ่านมา นอกจากนี้ ในการประชุมของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นจากมาตรา 308 รัฐธรรมนูญ 50 ในวันศุกร์ที่ 8 สิงหาคมนี้ ตนจะเสนอต่อ ศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ให้หยิบร่าง กม.จัดระเบียบชุมนุมที่สาธารณะ มาพิจารณาเพื่อให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และสาธารณชนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น