xs
xsm
sm
md
lg

คลังดักคอธปท.สกัดขึ้นดอกเบี้ย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – รมช.คลังเบรค กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย สอนแบงก์ชาติยอมรับความเห็นที่แตกต่างหวั่นคนมีความรู้หมดกำลังใจทำงานเพื่อชาติโวทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลทำงานมากว่า 30-40 ปีเข้าใจการแก้ปัญหาเงินเฟ้อดี ด้านที่ปรึกษาเศรษฐกิจนายกจี้ธปท.แจงหากขึ้นดอกเบี้ยมีจุดประสงค์อะไร ทำไมต้องขึ้น และขึ้นเพื่ออะไร สภาพัฒน์ ปรับจีดีพีตลอดทั้งปี เพิ่มขึ้น 5.7% ชี้ครึ่งปีหลังจะชะลอตัวกว่าครึ่งปีระบุเป็นเพราะคาดจีดีพีไว้ต่ำตั้งแต่ต้นปี จากความกลัวเงินเฟ้อพุ่ง เพ้อ!! 6 มาตรการ 6 เดือน รบ.หมัก ออกมาช่วยและราคาน้ำมันลดลง ตัวเลขเงินเฟ้อไม่สูงตามคาด

นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ยืนยันแนวคิดเรื่องดอกเบี้ย โดยเห็นว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 27 ส.ค.นี้ ไม่ควรปรับขึ้นดอกเบี้ยและวอนสังคมรวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยอมรับความเห็นที่แตกต่าง โดยต้องมององค์รวมเศรษฐกิจ ไม่เช่นนั้นจะไม่มีใครกล้าเข้ามาทำงานให้ประเทศชาติอีก

ซึ่งในการบริหารจัดการเศรษฐกิจนั้น ต้องใช้ทั้งความรู้และทฤษฎีที่ถูกต้องพอสมควรและจากการทำงานมา 30 ปี ขณะที่นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีทำงานมา 40 ปี เห็นตรงกันว่าภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ ไม่ใช่ผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อ แต่เป็นเรื่องสินค้าแพง จากที่ผู้ประกอบการต้องปรับขึ้นราคา ขณะที่ปัจจุบันเงินในระบบก็ไม่ได้มีอยู่มาก หากขึ้นดอกเบี้ย จะยิ่งส่งผลกระทบหนักขึ้น โดยผู้ประกอบการจะมีภาระเพิ่มขึ้น ก็อาจลดต้นทุนด้วยการลดกำลังผลิตและปลดคนงาน ขณะที่ประชาชนจะมีต้นทุนเรื่องการผ่อนชำระสูงขึ้น ทั้งบ้าน รถยนต์และอื่น ๆ ยิ่งเป็นการซ้ำเติมทำให้มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันต้องจ่ายเรื่องอาหารขนส่ง และค่าครองชีพอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว

“ผมมองว่า ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ย และเงินเฟ้อ อยู่ในระดับสูง สินค้ามีราคาแพง จึงไม่เอื้อให้ปรับขึ้นดอกเบี้ย เพราะจะกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยในเวลานี้ ดอกเบี้ยกับเงินเฟ้อของประเทศไทยนั้น อยู่ในระดับที่สูงแล้ว จึงควรเร่งการเจริญเติบโตมากกว่า เพราะระบบเศรษฐกิจของประเทศยังเล็ก นอกจากนี้ ธปท. ควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ เพราะนโยบายการเงินที่ผิดพลาดในอดีตได้สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจประเทศไทย”

ทั้งนี้ภาวะปัจจุบันไม่ใช่เรื่องการเลือกข้าง แต่ต้องดูเรื่องระบบเศรษฐกิจให้ลึกซึ้ง ไม่เช่นนั้นคนที่มีความรู้ ก็จะหมดกำลังใจไม่กล้าเข้าทำงาน ที่ผ่านมาไม่ใช่ว่าสถาบันอิสระ จะทำงานถูกต้องเสนอไป เช่น กรณีวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 40 การออกมาตรการกันสำรอง 30% เมื่อเดือน ธ.ค. 49 ที่ทำให้เกิดความเสียหายถึง 800,000 ล้านบาท

โกร่งจี้แบงก์ชาติแจงเหตุผลขึ้นดอกเบี้ย

ด้านนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิ ด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการที่ กนง.มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกนั้น ในความเห็นส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วย แต่คงไม่สามารถให้ความเห็นอื่นได้นอกเหนือจากนี้ได้ เนื่องจากขณะนี้เขาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อาจทำให้เข้าใจผิดว่ารัฐบาลไปกดดันทาง ธปท.ไม่ให้มีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายทางการเงิน

“การที่จะประกาศขึ้นดอกเบี้ยอยากให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาชี้แจงรายละเอียดด้วยว่า การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีกนั้นมีจุดประสงค์อะไร ทำไมต้องขึ้น และขึ้นเพื่ออะไร” นายวีรพงษ์กล่าว

สศช.ปรับเพิ่มจีดีพีทั้งปี 5.7%

นายอำพน กิติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) แถลงถึงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ของไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ว่า มีการขยายตัว 5.3% ชะลอตัวลงจาก 6.1% ในไตรมาสแรก จากอุปสงค์ภายในประเทศ เมื่อรวมครึ่งปีเศรษฐกิจขยายตัว 5.7% สูงกว่าที่คาดไว้จากการส่งออกที่เป็นแรงสนับสนุนสำคัญ แต่อุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแอ โดยที่การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ณ ราคาแท้จริงหดตัว และการใช้จ่ายภาคเอกชนชะลอตัว ทำให้ประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจทั้งปีจากเดิม ที่คาดไว้ 4.5-5.5% เพิ่มขึ้นเป็น 5.2-5.7% โดยชะลอตัวลงในครึ่งหลังของปี

“การที่ สศช.ได้ประมาณจีดีพีแต่เดิมว่าทั้งปีอยูในระดับต่ำ และมาปรับให้สูงขึ้นเป็นเพราะช่วงต้นปีคาดไว้ว่าเงินเฟ้อตลอดทั้งปีจะอยู่ในระดับสูง แต่ผลจากที่รัฐบาลได้ออก6 มาตรการ 6เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคน เชื่อว่าจะทำให้เงินเฟ้อในไตรมาส 3 จะเพิ่มขึ้นไม่ถึง 2 หลัก โดยคาดเงินเฟ้อทั้งปีที่ 6.5-7%”นายอำพนกล่าว

เลขาธิการสภาพัฒน์ เห็นว่า จาการที่ราคาน้ำมันในตลาดโกลเริ่มลดต่ำลงทำให้สบายใจขึ้น คาดว่าทั้งปีราคาจะเฉลี่ย 110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ประชาชนใช้น้ำมันลดลง 16.1% และใช้เอ็นจีวีเพิ่มขึ้น 220.2 % โดยเฉพาะส่งออกปีนี้เป็นแรงผลักดันจีดีพีอย่างมาก โดย 7 เดือนที่ผ่านมาการส่งออกขยายตัวถึง 27.4% เมื่อรวมปัจจัยทั้งหมดแล้ว จีดีพีจะสูงกว่าที่สภาพัฒน์ฯคาดการไว้เดิมที่ระดับต่ำจะขยายตัว 4.5%แน่ และคิดว่าจะไม่ต่ำกว่า 5.2% อาจจะสูงกว่า 5.7%ก็ได้

เร่งรัดเบิกจ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี

ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ถือว่า ยังมีเสถียรภาพ แต่แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากและดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล โดยไตรมาส 2 เงินเฟ้อทั่วไป 7.2% และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 308 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากที่เกินดุล 3,068 ล้านเหรียญสหรัฐฯในไตรมาสแรก ซึ่งเป็นผลจากที่ราคาน้ำมันนำเข้าสูงขึ้นมาก และคนไทยมีรายจ่ายด้านการท่องเที่ยวต่างประเทศสูงขึ้น และเป็นช่วงส่งกลับกำไรและผลตอบแทนของการลงทุนจากต่างประเทศ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลง 4.3% การใช้จ่ายภาครัฐ ลดลง 2.4% และการลงทุนภาครัฐลดลง 5.2%

ขณะที่ครึ่งหลังของปี รัฐบาลต้องเร่งดำเนินนโยบายใน 4 มาตรการเพื่อกำกับดูแลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามเป้าหมาย คือ การเร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐบาลให้เกิดขึ้นโดยเร็วหรือต้องเร่งรัดทุก 2 อาทิตย์ และให้เริ่มตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 52 (ต.ค.-ธ.ค.) เป็นต้นไป รวมถึงการเบิกจ่ายงบเอสเอ็มแอลให้ถึงมือชาวบ้านโดยเร็ว ,เร่งรัดดูแลราคาสินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิดเพราะผลผลิตกำลังจะออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก โดยให้กำหนดนโยบายเรื่องพลังงานทดแทนให้ชัดเจนจะได้วางแผนการใช้ผลผลิตให้ถูกต้อง และเตรียมรับมือปริมาณข้าวที่กำลังจะออกสู่ตลาด, เร่งติดตามผลของการใช้ 6 มาตรการ 6 เดือน ว่ามีผลมากน้อยเพียงใด ที่สำคัญที่สศช.ถือเป็นหัวใจหลักที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องคือการสร้างมาตรการเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น