xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำจี 8 ง้อ ปท.กำลังพัฒนาช่วยแก้ "เงินเฟ้อ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้นำกลุ่มประเทศจี 8 ถ่ายรูปร่วมกันก่อนการประชุมจะเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการ
เอเจนซี - การประชุมระดับผู้นำของกลุ่ม 8 ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี 8) เริ่มต้นขึ้นแล้วที่ญี่ปุ่นเมื่อวานนี้ (7) โดยประเด็นสำคัญที่คาดว่าจะมีการหยิบยกมาหารือมากที่สุดประเด็นหนึ่ง น่าจะเป็นเรื่องราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง อย่างไรก็ดี ผู้นำจี 8 กำลังจะต้องบากหน้าร้องขอความช่วยเหลือจากพวกประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ ให้ลดความต้องการใช้น้ำมันลงมา เพราะมาตรการอื่นๆ ดูจะใช้ไม่ได้ผล

การประท้วงแสดงความไม่พอใจในราคาน้ำมันที่พุ่งสูงระบาดไปทั่วทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ บวกกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงลงสู่ระดับเดียวกับเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจชะงักงันผสมกับเงินเฟ้อรุนแรง (stagflation) ในช่วงทศวรรษ 1970 ทำให้ปัญหาภาวะเงินเฟ้อกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองอย่างรวดเร็ว และผู้นำของจี 8 ที่ประกอบด้วยอังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหรัฐฯและรัสเซีย ก็ต้องถือเรื่องนี้เป็นวาระสำคัญ ในการหารือซึ่งจัดขึ้นที่เกาะฮอกไกโดเป็นเวลา 3 วัน

สิ่งที่น่าปวดหัวยิ่งสำหรับธนาคารกลางของทั้งยุโรป ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ก็คือ ไม่สามารถจะทำอะไรได้มากนักเพื่อกดให้เงินเฟ้อในประเทศลดลงไป เพราะว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมันพุ่งขึ้นนั้น เนื่องมาจากอุปสงค์ความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นมากในประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วอย่างเช่น จีนและอินเดีย ในขณะที่อุปทานปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นไม่มากนัก

ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ก็ได้ขยับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 4.25% หลังมีรายงานออกมาว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยใน 15 ประเทศสมาชิกอีซีบีเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4% ในขณะที่อัตราเป้าหมายนั้นอยู่ที่ 2% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ฌอง-โคลด ทริเชต์ ประธานของอีซีบีออกมาส่งสัญญาณแล้วว่า หลังจากนี้ก็คงจะไม่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกสักพักหนึ่ง ในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ยังไม่อยากจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน ในขณะที่เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงที่อัตราเติบโตจะย่ำแย่ถดถอยได้

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้บรรดาผู้นำโลกกำลังมองหาหนทางอื่นที่จะบรรเทาภาวะเงินเฟ้อลงมา ทางเลือกหนึ่งก็คือพยายามลดความต้องการใช้สินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมัน ในบรรดาประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟู อย่างไรก็ตาม ทางเลือกนี้ก็มีความอ่อนไหวไม่น้อย เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้เองที่กำลังพยุงการเติบโตทางเศรษฐกิจรวมของโลกนี้อยู่

"ประเทศพัฒนาแล้วควรจะตีฆ้องร้องป่าวเพื่อให้ประเทศเหล่านี้ (ประเทศเศรษฐกิจรุ่งเรืองเฟื่องฟู อย่างเช่น จีน,อินเดีย) ลดการอุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศลง" แอนดรูว์ บุช นักยุทธศาสตร์ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศของบีเอ็มโอ แคปปิตอล มาร์เก็ตส์ ในชิคาโกกล่าว "เพราะหากจะกล่าวกันจริงๆ ประเทศกำลังพัฒนาก็กำลังได้รับผลกระทบจากการอุดหนุนดังกล่าวด้วย"

อย่างไรก็ตาม จีนซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ตอบโต้ด้วยการชี้ไปที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ดิ่งลงต่อเนื่อง ว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ทั่วโลกพุ่งขึ้น เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่าของจีนออกมาเรียกร้องให้สหรัฐฯ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์มีเสถียรภาพ

ทั้งนี้จีนเองก็มีการประกาศปรับขึ้นราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลไปเมื่อเดือนที่แล้ว แต่ราคาดังกล่าวก็ยังต่ำกว่าระดับโลกอยู่ดี

ปีเตอร์ มอริชิ ศาสตราจารย์ด้านบริหารธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ ซึ่งเป็นนักวิจารณ์ที่เรียกร้องให้สหรัฐฯ เดินนโยบายแข็งกร้าวต่อจีนมากกว่านี้ บอกว่า ราคาน้ำมันในจีนตอนนี้อยู่ที่ราว 3.10 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อแกลลอน น้อยกว่าราคาที่ผู้บริโภคในประเทศยุโรปจ่ายถึงครึ่งหนึ่ง ในขณะที่ถูกกว่าราคาสหรัฐฯ 4.1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อแกลลอนอยู่ราว 25%

เขาบอกว่า ภาคการส่งออกซึ่งมีขนาดมหึมาของจีนนำเอาดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าประเทศเป็นจำนวนหลายแสนล้านดอลลาร์ต่อปี ทำให้มีเม็ดเงินเพียงพอสำหรับการอุดหนุนส่วนต่างราคาน้ำมัน

"ผสานด้วยนโยบายแทรกแซงค่าเงิน ทำให้จีนสามารถซื้อดอลลาร์สหรัฐฯ มากพอที่จะอุดหนุนส่วนต่างราคาน้ำมันนำเข้าในอัตรา 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลได้ และยังคงใช้เงินดอลลาร์ไปเพียง 2 ใน 3 ของที่ซื้อเข้าไปอีกด้วย" มอริชิกล่าว

ในขณะเดียวกัน จากการที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของญี่ปุ่นผู้หนึ่งออกมากล่าวในวันพฤหัสบดี (3) ว่า จี 8 จะหารือกันถึงเรื่องบทบาทของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงที่ผลักให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างเช่นราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น เรื่องนี้ทำให้หลายฝ่ายมีคำถามว่า บรรดาผู้นำเหล่านี้จะใช้การประชุมนี้เพื่อฉุดดอลลาร์สหรัฐฯ ให้แข็งค่ากลับขึ้นมาหรือไม่

ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวพร้อมกับนายกรัฐมนตรียาสึโอะ ฟุคุดะของญี่ปุ่นเมื่อวันอาทิตย์ (6) ก่อนการประชุมจี 8 จะเริ่มขึ้นว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังไม่เติบโตเร็วมากเท่าที่เขาอยากเห็น และบอกอีกว่ารัฐบาลของเขาสนับสนุนนโยบายที่ทำให้เงินเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ของโลก และสหรัฐฯ ก็ยังเชื่อในนโยบายเงินดอลลาร์แข็งแกร่ง รวมทั้งเชื่อว่าความแข็งแกร่งที่เพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะต้องถูกสะท้อนออกมาในค่าเงินดอลลาร์
กำลังโหลดความคิดเห็น