xs
xsm
sm
md
lg

สตช.ยุคโกวิททำคดีมิชอบศาลตัดสินให้สั่งจ่ายสินไหนทดแทน2.5แสน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(22 ส.ค.)ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา ในคดีที่ นายประทีป ปิติสันต์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ,พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร.,พล.ต.อ.ชาญวุฒิ วัชรพุกก์ ผช.ผบ.ตร. ,พล.ต.ท.วิโรจน์ จันทรังษี ผบช.น.,พล.ต.ต.อำนาวย นิ่มมะโน ผบก.น.2 และพ.ต.อ.วราวุธ ทวีชัยการ ผกก.สน.พหลโยธิน ตำแหน่งขณะฟ้องเมื่อปี 50 เป็นจำเลยที่ 1 – 6 เรื่องละเมิดเรียกค่าเสียหายทุนทรัพย์ 5 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี
ตามคำฟ้องระบุว่าเมื่อวันที่ 14 ม.ค.48 โจทก์ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ขอให้ดำเนินคดีกับ นายชัยเจริญ ดุษฎีพร อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ในขณะนั้นในข้อหาหมิ่นประมาท จากกรณีนายชัยเจริญ ทำหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ระบุว่าโจทก์มักจะสร้างความหวั่นไหวแก่องค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดีโดยการที่โจทก์ทำหนังสือร้องเรียน กล่าวหาองค์คณะซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่น่าจะถูกสอบสวนมากกว่าจะสอบสวนผู้ที่โจทก์ ร้องเรียน ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จและใส่ความโจทก์ต่อเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมให้เข้าใจว่าโจทก์เป็นข้าราชการตุลาการชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่ดีที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง
โดยพนักงานสอบสวนได้รับแจ้งความร้องทุกข์ไว้ โดย พล.ต.ต.อำนวย จำเลยที่ 5 มีคำสั่งให้ พ.ต.อ.วราวุธ จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนลงรายงานประจำวันรับคดีไว้เป็นหลักฐานในเบื้องต้นเพราะเห็นว่าเป็นคดีสำคัญเกี่ยวกับข้าราชการตุลาการชั้นผู้ใหญ่ แต่จำเลยที่ 6 กลับไม่ลงรายงานไว้เป็นหลักฐานและไม่เรียกนายชัยเจริญ ผู้ต้องหามาแจ้งข้อกล่าวหารวมทั้งไม่พิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหาเมื่อมาปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนและเพิกเฉยไม่ดำเนินการทำความเห็นสั่งคดีให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่ สตช.จำเลยที่หนึ่งกำหนดเป็นระเบียบราชการเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2532 ซึ่งการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้นทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงเพราะไม่ได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินคดีอันเป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ ซึ่งโจทก์ทำหนังสือลงวันที่ 26 ต.ค.48 ร้องเรียนไปยังจำเลยที่ 2,4และ5 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาเพื่อให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 5 แสนบาท ต่อมา วันที่ 22 ธ.ค.48 โจทก์ทำหนังสือถึงจำเลย 2,4 ขอทราบผล รวมทั้งเรื่องการทำความเห็นสั่งคดีที่โจทก์แจ้งความร้องทุกข์ไว้
ต่อมา เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.48 จำเลยที่ 5 แจ้งให้โจทก์ทราบผลความเห็นสั่งคดีว่าคณะพนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งไม่ฟ้องนายชัยเจริญ ผู้ต้องหาเนื่องจากพยานหลักฐานไม่พอฟ้องโดย พ.ต.อ.พัลลภ สุวรรณบัตร รอง ผบก.น.2 ปฏิบัติหน้าที่แทน ผบก.น.2 ก็ได้พิจารณาสำนวนแล้วมีความเห็นพ้องด้วยว่า คณะทำงานสอบสวนได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อสองฝ่ายไปแล้วจึงมีความเห็นควรยุติเรื่องซึ่งได้ส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นดังกล่าวไปยัง กองบัญชาการตำรวจนครบาล
แต่จำเลยที่ 5 ไม่ได้ออกใบรับคำขอให้โจทก์รับไว้เป็นหลักฐานให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 11 ซึ่งการที่จำเลยที่ 5 มีความเห็นควรยุติเรื่องไม่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงนั้นขัดแย้งกับคำสั่งของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 3 ปฏิบัติราชการแทนจำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือลงวันที่ 14 ก.พ.49 แจ้งให้โจทก์ทราบผลเรื่องขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและชดใช้ค่าสินไหมว่า จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ได้มีคำสั่งให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดประกอบด้วย รอง ผบก.น.2,รอง ผกก.อก.บก.น.2,สว.สส.สน.พหลโยธิน ซึ่งโจทก์ก็ได้ทำหนังสือลงวันที่ 21 ก.พ.49 ถึงจำเลยที่ 3 ขอให้เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวเพราะเห็นว่าเป็นผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดกับจำเลยที่ 4 - 6 ขณะที่จำเลยที่ 3 กลับให้คณะกรรมการดังกล่าวสอบข้อเท็จจริงต่อไปเพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ได้เรียกโจทก์เข้าไปสอบปากคำในฐานะผู้ร้องเรียนให้ถูกต้องตามระเบียบราชการว่าด้วยการสอบสวน
รวมทั้งการสอบข้อเท็จจริงยังมีลักษณะเป็นการช่วยเหลือผู้กระทำผิดซึ่งเป็นพวกเดียวกันโดยระบุว่าการกระทำของจำเลยที่ 6 เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่เป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ ซึ่งโจทก์เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินคดีอันเป็นการจงใจรวมกันทำละเมิดต่อโจทก์จึงขอให้จำเลยที่ 1 - 6 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 5 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันฟ้อง
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์จำเลยแล้ว เห็นว่าจำเลยที่ 6 เป็นพนักงานสอบสวนระดับผู้กำกับการต้องรู้ดีว่าข้อความที่นายชัยเจริญ กล่าวถึงโจทก์และโจทก์เข้าแจ้งความร้องทุกข์เป็นปัญหาว่าจะเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ หรือไม่การที่จำเลยที่ 6 มาด่วนใช้ดุลยพินิจวินิจฉัยทำความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องนายชัยเจริญ จึงไม่ถูกต้องสมเหตุสมผลตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ควรจะเป็น การใช้ดุลยพินิจทำความเห็นสั่งคดีของจำเลยที่ 6 ย่อมเป็นการมิชอบ
ซึ่งแม้การทำความเห็นเป็นการใช้ดุลยพินิจของพนักงานสอบสวนตามที่ กฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามที่จำเลย ทั้ง 6 ให้การไว้ แต่การใช้ดุลยพินิจนั้นต้องอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และให้ถูกต้องสมเหตุสมผลการกระทำของจำเลยที่ 6 จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินคดีเพราะนอกจากจะมีความล่าช้าในการสอบสวน โดยไม่มีความจำเป็นแล้วโจทก์ยังอาจเสียสิทธิในการนำคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล ถือได้ว่าเป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 6 ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ และคดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยเรื่องที่โจทก์กล่าวหาในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 6 ไม่ลงรายงานประจำวันรับคดีไว้เป็นหลักฐาน ไม่เรียกผู้ต้องหามาแจ้งข้อกล่าวหาและไม่พิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหาเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบที่เป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์อีกหรือไม่เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
ส่วนจำเลยที่ 2-5 ศาลเห็นว่าขณะเกิดเหตุมีตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 6 ดังนั้นจึงถือได้ว่าการกระทำของจำเลยที่มีความเห็นพ้องด้วยกับจำเลยที่ 6 ในการทำความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา เป็นการร่วมกันกับจำเลยที่ 6 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 6 ด้วย
คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าสมควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เพียงใด ศาลเห็นว่าแม้จำเลยที่ 6 จะทำความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาโดยจำเลยที่ 2 - 5 เห็นพ้องด้วยแต่เมื่อจำเลยที่ 6 เสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นดังกล่าวไปที่พนักงานอัยการ พนักงานอัยการกลับได้สั่งฟ้องนายชัยเจริญ เป็นจำเลยต่อศาลแขวงพระนครเหนือ จึงเห็นว่าเมื่อมีการนำคดีเข้าสู่กระบวนพิจารณาของศาลเพื่อให้วินิจฉัยว่านายชัยเจริญ กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ถือได้ว่าความเสียหายของโจทก์ได้รับการบรรเทาไปบ้างแล้วจึงเหลือเพียงความเสียหายจากความล่าช้าในการสอบสวนโดยไม่มีความจำเป็นเท่านั้น
ศาลจึงเห็นสมควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เป็นเงิน 250,000 บาท แต่เนื่องจากการกระทำของจำเลยที่ 2 - 6 เป็นการกระทำซึ่งสังกัดจำเลยที่ 1ที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 2- 6 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยตรง แต่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์แทนจำเลยที่ 2 -6 จึงพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยเป็นเงิน 250,000 บา พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันฟ้องคดี 15 มิ.ย.49 และให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์รวมทั้งค่าทนายความ 5,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2-6 ให้ยกฟ้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น