xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนญี่ปุ่นลุยยึดบริษัทไทย กินรวบธุรกิจนอนแบงก์ก่อนเก็บอสังหาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กองทุนญี่ปุ่น “Asia Partnership Fund Group”ลุยเก็บบริษัทไทยเข้าพอร์ต เดินหน้าขึ้นผู้นำ Non-Bankครบวงจร ล่าสุดควักกระเป๋า 1,357 ล้านบาท เทกโอเวอร์-เพิ่มทุน-เคลียร์หนี้-ขยายธุรกิจ “แอ๊ดวานซ์ อินชัวร์รันส์” พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น “เอพีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวร์รันส์”จับตลาดประกันวินาศภัย หลังจากก่อนหน้านี้มีทั้งธุรกิจโบรกเกอร์ บลจ. และลีสซิ่ง ส่วนเป้าหมายต่อไปเพิ่มอีก1 โรงแรมรับกระแสท่องเที่ยว ด้านซีอีโอระบุลงทุนแดนสยามแล้วไม่ต่ำกว่า 120 ล้านเหรียญ จากเม็ดเงินทั้งพอร์ต 1พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ชี้P/Eต่ำแค่8 เท่า ดีกว่าประเทศกลุ่มบริค

นายมิทซึจิ โคโนชิตะ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Asia Partnership Fund Group (APF Group) กองทุนส่วนบุคคลรายใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า APF Group ได้เดินหน้าแผนขึ้นสู่ธุรกิจ Non-Bank ครบวงจรอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้อนุมัติให้บริษัทในเครือ คือ บริษัท เอพีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย เข้าซื้อหุ้นสามัญของ บริษัท แอ๊ดวานซ์ อินชัวร์รันส์ จำกัด จำนวน 100% จากผู้ถือหุ้นเก่ากลุ่มดำเนินชาญวนิชย์ (กลุ่มเกษตรรุ่งเรือง) และได้ทำการเพิ่มทุนจดทะเบียนจากเดิม 320 ล้านบาท เป็น 477 ล้านบาท

โดยการเพิ่มทุนครั้งนี้ทำให้การดำรงเงินกองทุนบริษัทเป็นไปตามกฎหมายกำหนด พร้อมกันนี้ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น บริษัท เอพีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวร์รันส์ จำกัด หรือ APFII เพื่อดำเนินธุรกิจที่เน้นด้านประกันวินาศภัย ขณะเดียวกันทางกลุ่ม APF Group จะให้การสนับสนุนกับบริษัทด้วยเงินลงทุนในการขยายธุรกิจประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อให้ภายใน 2-3ปีนี้ บริษัทจะมีระบบการบริหารงานและการบริการที่เป็นมาตรฐานในระดับนานาชาติ

“เป็นเวลาร่วม 3ปีแล้วที่กองทุนได้เข้าลงทุนในบริษัทต่างๆในประเทศไทย ซึ่งได้ใช้งบลงทุนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 120 ล้านเหรียญสหรัฐ จากขนาดสินทรัพย์กองทุนที่มีอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตามทุกบริษัทที่เราลงทุนนั้น ล้วนสามารถสร้างผลตอบแทนกลับคืนมาสู่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้เป็นอย่างดี ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ในการลงทุนของกลุ่ม ที่ต้องการสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหน่วยมากที่สุด และมีความเสี่ยงในการลงทุนน้อยที่สุด”นายมิทซึจิ กล่าว

ขณะเดียวกัน ได้รับแจ้งจากประธานเจ้าหน้าที่บริหาร APF Group กรุ๊ปเพิ่มเติมว่า เพื่อให้เป้าหมายการเป็นNon-Bank ครบวงจรและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ขณะนี้ทางกลุ่มกำลังเจรจากับบริษัทประกันภัยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 1 แห่ง ซึ่งอยู่ในช่วงตรวจสอบข้อมูลทางการเงินก่อนเข้าร่วมธุรกิจ โดยการทำ Due Diligence แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าจะได้ข้อสรุปเมื่อใด พร้อมทั้งยืนยันว่า การเข้าลงทุนในครั้งนี้เป็นการลงทุนในระยะยาวไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี เนื่องจากเห็นศักยภาพของธุรกิจประกันภัยในประเทศไทยมีโอกาสเติบโตได้สูง อีกทั้งทางกลุ่มตั้งเป้ารับผลตอบแทนจากการลงทุนในประเทศไทยประมาณ 15-20%

**จ่อเซ้งธุรกิจการเงิน-อสังหาฯเพิ่ม**

นอกจากนี้ APF Group กำลังอยู่ระหว่างศึกษาเพื่อที่จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจประเภทธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประเภทโรงแรมใจกลางเมือง หรือหัวเมืองท่องเที่ยวที่มีปริมาณนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก เพราะเชื่อว่าจะได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากระตุ้นรายรับและผลตอบแทนให้กับบริษัท รวมถึงการเข้าร่วมทุนกับสถาบันทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร เนื่องจากมองเห็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจเหล่านี้

นายมึทซึจิ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ปัจจุบันกองทุนจากประเทศญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะหันไปลงทุนในกลุ่มประเทศBRIC (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน) แต่ส่วนตัวกลับมองว่าประเทศกลุ่มนี้ล้วนมีP/E ในระดับสูงถึง 30เท่าผิดกับการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่า โดยมีP/E อยู่ที่ 8 เท่า

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา APF Groupได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัท SHOWA RUBBER ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดโตเกียว จำนวน 15 ล้านหุ้น หรือ 35.79% มูลค่า 1.245 พันล้านเยน หรือ คิดเป็นเงินไทย 400 ล้านบาท โดยในการซื้อครั้งนี้ทางกลุ่มมีแผนจัดตั้งโรงงานเพิ่มเติมในประเทศไทย จากที่ปัจจุบันมีอยู่แล้วในญี่ปุ่น ขณะที่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้เข้าซื้อกิจการบริษัทพี.พี.คอรัล รีสอร์ท ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการซีโวล่า รีสอร์ท บนเกาะพีพี มูลค่า 630 ล้านบาท จากกลุ่มบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และกลุ่มน้ำตาลบ้านโป่ง

ส่วนเมื่อปี 2550 ในเดือนตุลาคมได้เข้าซื้อหุ้นบริษัท เว็ดจิ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)หรือ WEDGE HOLDINGS ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพื่อเข้ามาทำธุรกิจบันเทิงครบวงจร หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มได้เข้าไปซื้อกิจการของ บมจ. กรุ๊ปลีส (GL) จากกลุ่มนายขรรค์ชัย บุญปาน และ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) (US) จากกลุ่มว่องกุศลกิจ ตามลำดับ โดยปัจจุบันมีบริษัทภายใต้การบริหารที่อยู่ในไทยและต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 24 แห่ง

**ฝันอีก5ปีดันเข้าตลาดหุ้น**

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร APF Group กล่าวถึงสาเหตุการตัดสินใจเลือกซื้อกิจการของบริษัท แอ๊ดวานซ์ อินชัวร์รันส์ จำกัดว่า ที่นี่เป็นบริษัทที่ดีที่สุดหลังจากมีการเจรจากันหลายกลุ่ม และมีปัญหาน้อยที่สุด ซึ่งเราเข้าใจดีว่า ธุรกิจประกันภัยจะต้องมีเงินกองทุนเป็นเงินสำรองที่จำเป็น เพื่อเป็นหลักประกันในความมั่นคงของบริษัท ในการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน รวมทั้งบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และ ภายใต้การดำเนินงานของ เอพีเอฟ กรุ๊ป ขอให้ผู้ถือกรมธรรม์ทุกท่านและพันธมิตรทางการค้าทุกรายมั่นใจได้เลยว่า บริษัทดังกล่าวจะมีความเข้มแข็งทางการเงินและเงินสดเพียงพอที่จะดำเนินงานและรับผิดชอบต่อผู้ถือกรมธรรม์ได้

สำหรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจนั้น จะใช้ธุรกิจในกลุ่มของAPF ที่มีหลากหลาย ซึ่งจะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยเฉพาะเรื่องการบริหารหนี้สินและสินทรัพย์ (Asset Liability Management: ALM) เพื่อให้บริษัทสามารถสร้างความสมดุลระหว่างสินทรัพย์และหนี้สิน รวมทั้งกระจายความเสี่ยง (Diversification) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ บริษัทยังได้เชิญผู้บริหารมืออาชีพ ซึ่งเป็นที่ยอมรับของวงการธุรกิจประกันภัยคือ นายวรศักดิ์ เกรียงโกมล อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท ลิเบอร์ตี้ ประกันภัย จำกัด มานั่งเป็นกรรมการผู้จัดการ เนื่องจากการดำเนินธุรกิจของ APFII

"นอกจากคุณวรศักดิ์ จะมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับแล้ว ยังเป็นผู้บริหารที่มีแนวความคิดและวิสัยทัศน์ทางเดียวกันกับทางเอพีเอฟ กรุ๊ป เนื่องจากเราเป็นกองทุนเพื่อการลงทุนจึงทำธุรกิจแบบโปร่งใส ตรงไปตรงมา รวมไปถึงความคิดที่จะแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนให้ได้ภายใน 5 ปี และหากภาวะตลาดหุ้นไทยเอื้ออำนวย ก็จะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย"

**ระบบหมุนเวียนลูกค้าเอื้อธุรกิจ**

อย่างไรก็ตามเป็นที่เชื่อว่า ลูกค้ากลุ่มแรกของ APFII จะมาจากการต่อยอดธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ของบมจ.กรุ๊ปลีส ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน รวมถึงกลุ่มลูกค้าจากบล.ยูไนเต็ด ที่มีฐานนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ รวมถึงการเข้าทำกรมธรรม์วินาสภัยจากบริษัทในเครืออีก 23 บริษัท ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้และพอร์ตเงินทุนให้กับบริษัทได้เป็นอย่างดี

ขณะที่ การบริหารเงินที่ได้รับมาจากลูกค้านั้น เชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะเป็นหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)ยูไนเต็ด และ/หรือ บล.ยูไนเต็ด ในการนำเงินดังกล่าวไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนสูงสุดกลับคืนมาสู่บริษัทและลูกค้าอีกครั้ง

**เตรียมเพิ่มทุนอีกในไตรมาส4**

ด้านนายวรศักดิ์ เกรียงโกมล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอพีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวร์รันส์ จำกัด ว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างองค์กร โดยได้รับการสนันสนุนจากบริษัทในกลุ่มของ เอพีเอฟเข้ามาช่วยวางระบบ อีกทั้งยังอยู่ระหว่างการสร้างแบรนด์ให้ประชาชนได้รับรู้ รวมถึงการปรับปรุงเรื่องแบบกรมธรรม์บางชนิดที่ไม่ตอบโจทก์ลูกค้า ซึ่งหลักๆแล้วจะเน้นที่กลุ่ม Motor 50% และ Non Motor 50%

ที่ผ่านมา บริษัท แอ๊ดวานซ์ อินชัวร์รันส์ ประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่อง แต่ขณะนี้การเคลียร์เรื่องปัญหาเก่าๆใกล้แล้วเสร็จเมื่อมีผู้ถือหุ้นใหม่ที่มีความมั่นคงเข้ามาแล้ว โดย APFII กำลังทยอยเซ็นสัญญาปรับปรุงกรมธรรม์ และทยอยจ่ายค่าสินไหมให้กับกลุ่มลูกค้าเก่าที่มีปัญหา ซึ่งจะนำมาจากวงเงินลงทุนที่ทางกลุ่มอนุมัติให้ 1,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันบริษัทมีแผนที่จะเพิ่มทุนอีกครั้งในไตรมาส4นี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น รวมถึงการเข้าซื้อกรมธรรม์ที่มีคุณภาพจากพอร์ตของบริษัทประกันรายอื่นที่มีปัญหาด้านสภาพคล่องทางการเงินเข้ามาสะสมเพิ่มเติม

ด้านโครงสร้างการดำเนินงานของ APFII จะมีคณะกรรมการบริหารที่มีประสบการณ์ รวมทั้งจะแยกคณะกรรมการตรวจสอบออกมาส่วนหนึ่งเพื่อให้มีความอิสระต่อการตรวจสอบ ซึ่งจะมีคนของคณะกรรมการกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยเข้ามาดูแลด้วย ส่วนการลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มนั้นจะมีการจัดตั้งคณะกรรมด้านการลงทุนขึ้นมาชุดหนึ่งด้วยเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น