แกรมมี่ เดินหน้าลุยธุรกิจในต่างประเทศ เตรียมกอดคอบริษัทต่างชาติจากอเมริกา ลุยด้านมีเดียเต็มสูบ แย้มบุกจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นโปรเจกต์แรก เชื่อใน 5 ปี รายได้จากต่างประเทศชัดเจนขึ้น ล่าสุด ปรับโครงสร้างบริษัทครั้งใหญ่ ควบรวมจีเอ็มเอ็ม มีเดีย สู่ความชัดเจนในการเป็นผู้นำทางธุรกิจบันเทิงมากขึ้น เผยรายได้ไตรมาส 2 จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ 2,022 ล้านบาท ส่วน จีเอ็มเอ็ม มีเดีย 1,061 ล้านบาท
นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากที่แกรมมี่ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจในต่างประเทศมา 2-3 ปี บวกกับมีมีเดียคอนเทนต์อยู่ในมือหลากหลาย ล่าสุด กำลังเจรจาร่วมมือทำธุรกิจกับบริษัททางด้านมีเดียจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้เข้ามาทำธุรกิจ มีเดียในอาเซียนหลายๆ ประเทศ โดยเบื้องต้นจะเป็นลักษณะโปรเจกต์ บาย โปรเจกต์ แต่ถ้าไปได้ดีอาจจะมีการร่วมมือกันก่อตั้งบริษัท
“ลักษณะของการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ครั้งนี้ เพื่อทำธุรกิจในต่างประเทศที่มีรูปแบบความเป็นมีเดียคอนเทนต์มากยิ่งขึ้น จากปกติจะเป็นรูปแบบให้ศิลปินเข้าไปบุกตลาด และมีการทำเพลงเป็นภาษาในประเทศนั้นๆ จะเริ่มที่จีนเป็นประเทศแรก เพราะมีประชากรมาก จึงเป็นตลาดใหญ่ที่น่าสนใจ ซึ่งเดิมรายได้จากต่างประเทศที่ผ่านมาค่อนข้างน้อย แต่ในอีก 5 ปีหลังจากนี้ จะเห็นความชัดเจนของรายได้ในส่วนนี้มากขึ้น”
** ควบรวมจีเอ็มเอ็ม มีเดีย **
ล่าสุด บริษัทมีการควบรวม จีเอ็มเอ็ม มีเดีย มาเป็นส่วนหนึ่งของ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เพราะปัจจุบันเรากำลังเข้าสู่ยุคดิจิตอล ซึ่งมีเดียคอนเทนต์ต่างๆ กำลังเข้าถึงไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคได้อย่างง่ายดาย การรวมจีเอ็มเอ็ม มีเดียเข้ามา จะช่วยให้เกิดการบริหารจัดการที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ เดิมการดึง จีเอ็มเอ็ม มีเดีย เข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2545 เนื่องจากต้องการระดมทุนรองรับการเติบโตทางธุรกิจในการที่ต้องการประมูลสถานีวิทยุและโทรทัศน์ ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการคมนาคม 2543 แต่ปัจจุบัน กสช.ยังมิได้จัดตั้ง บวกกับต้นทุนในการทำธุรกิจมีเดียใช้ไม่มากนัก และมีทางเลือกที่จำได้หลายช่องทาง ดังนั้น จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จึงไม่มีความจำเป็นดำรงสถานะการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในการที่จะต้องระดมทุนอีกต่อไป
สำหรับการปรับโครงสร้างนี้ จะทำในลักษณะให้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เข้าไปซื้อหุ้นจากจีเอ็มเอ็ม มีเดีย ที่เหลือประมาณ 20% จากเดิมที่ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ถือหุ้นอยู่กว่า 75% ด้วยการแลกหุ้นในอัตรา 1:1 พร้อมนำเสนอแผนปรับโครงสร้างธุรกิจเข้าที่ประชุมผู้ถือหุ้นวิสามัญครั้งที่1/2551 ของทั้งสองบริษัท ในวันที่ 25 ก.ย.นี้ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นเห็นชอบแผนปรับโครงสร้างทางธุรกิจ และให้ถอนหุ้น จีเอ็มเอ็ม มีเดีย ออกจากตลาดหลักทรัพย์
ส่วนโครงสร้างการบริหารของ นางสาวบุษบา ดาวเรือง และ นางสายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา จะยังคงดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหาร ในส่วนที่เคยดูแลอยู่เช่นเดิม อย่างไรก็ตาม การควบรวมธุรกิจครั้งนี้ จะไม่มีการคัดพนักงานออกแต่อย่างไร
ทั้งนี้ หลังการปรับโครงสร้างบริษัทจะมีประโยชน์เชิงกลยุทธ์ 3 ด้าน คือ 1.เพื่อนำไปสู่การเป็นที่หนึ่งในธุรกิจบันเทิง ทั้งด้านสเกลการครอบคลุมขนาดใหญ่ขึ้น และความแข็งแกร่งในลักษณะ 1+1 ได้มากกว่า 2 2.เพื่อความคล่องตัวสูงสุดในการบริหารจัดการและการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งมีทั้งความเป็นธุรกิจคอนเท้นต์ละมีเดียในตัว เช่น ธุรกิจบรอดแคสติ้งและนิวมีเดีย ที่บริษัทฯสนใจจะลงทุนในระยะนี้ และ 3.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานและต้นทุน ให้ทั้งสองบริษัทได้ใช้ความแข้งแกร่งสนันบสนุนซึ่งกันและกัน
**รายได้ไตรมาส 2 กระฉูด**
อย่างไรก็ตาม สำหรับผลประกอบการไตรมาส 2 ที่ผ่านมา พบว่า จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่มีรายได้ 2,022 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน 15% โดยมีกำไร 207.1 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนถึง 52% สาเหตุการเติบโตมาจาก 1.ธุรกิจเพลง ที่มาจากการจำหน่ายสินค้าเพลงและค่าลิขสิทธิ์ รายได้จากการจัดคอนเสิร์ต และ 2.รายได้จากการบริหารศิลปินอยู่ที่ 880.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน 3.4% และ 3.ธุรกิจภาพยนตร์ มีรายได้รวม 75.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปีก่อน 76% เนื่องจากมีภาพยนตร์เข้าฉาย 2 เรื่อง คือ ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น และ สี่แพร่ง
สำหรับรายได้ของ จีเอ็มเอ็ม มีเดีย ในไตรมาสที่ 2 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันขอปีก่อน บริษัทมีรายได้ 1,061 ล้านบาท โตขึ้น 24% มีกำไร 126.9 ล้านบาท เติบโต 57% เช่นกัน มาจากรายได้จากธุรกิจโทรทัศน์กว่า 434.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% ขณะที่รายได้ธุรกิจวิทยุ อยู่ที่ 188.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% และรายได้ธุรกิจรับจ้างผลิต บริการรับจัดและบริหารกิจกรรม และการจัดหาอุปกรณ์อีก 250.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15%