xs
xsm
sm
md
lg

ยูไนเต็ดลั่นสิ้นปีAUMแตะพันล้าน เล็งขยายไพรเวตฟันด์ก่อนลุยกองทุนรวมปี52

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.ยูไนเต็ดลั่นกวาด AUM ไพรเวตฟันด์สิ้นปี พันล้านบาท เผยดำเนินงานแค่ 1 เดือนสามารถหาลูกค้าได้ 5 รายกว่า 100 ล้านบาท ระบุเตรียมใช้จุดเด่นด้านความสัมพันธ์ที่ดีกับกองทุนญี่ปุ่น และบล.ยูไนเต็ดขยายฐานลูกค้าไทย-ต่างประเทศเพิ่ม ก่อนหันสู้ศึกลุยตลาดกองทุนรวมปีหน้า ขณะที่กองทุน APF พันธมิตรใหญ่เตรียมลุยธุรกิจยางครบวงจร ซื้อหุ้นบริษัทโชวะในญี่ปุ่น พร้อมตั้งเป้าขยายฐานการผลิตในไทย เป้าต่อไปฮุบธุรกิจประกันภัย

นายวีระเจตน์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ยูไนเต็ดจำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้เริ่มจัดตั้งขึ้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ยูไนเต็ด ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ กองทุนรวม Asia Partnership Fund Group (APF) ของประเทศญี่ปุ่นถือหุ้นในบลจ.นี้ 51% และส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มของ บลจ. ยูไนเต็ด 49%

ทั้งนี้ บริษัทได้เริ่มดำเนินงานและมีลูกค้าเข้ามาในช่วงเดือนมิถุนายน 2551 โดยปัจจุบันมีลูกค้าจำนวน 5 บัญชี แบ่งเป็น ลูกค้าบุคคล และบริษัท ซึ่งขณะนี้มียอดสินทรัพย์รวมภายใต้การบริหารอยู่ที่ 100 ล้านบาท

สำหรับแนวทางการบริหารงานของบริษัทในปีนี้ บริษัทได้ตั้งเป้าเพิ่มสินทรัพย์รวมภายใต้การบริหาร (เอยูเอ็ม) ณ สิ้นปี 2551 ไว้ประมาณ 800-1,000 ล้านบาท โดยบริษัทจะทำการขยายฐานลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากฐานลูกค้าเดิมของ บล.ยูไนเต็ด และฐานลูกค้าของกองทุน APF ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นไปพร้อมกัน แต่ในระยะแรกจะเน้นให้เป็นลูกค้าในประเทศก่อน 80% ส่วนที่เหลืออีก 20%จะเป็นลูกค้าชาวต่างชาติ ก่อนที่จะมีการปรับสัดส่วนอีกครั้งในอนาคต

“เราเพิ่งเริ่มทำแต่ตั้งเป้าไว้ว่าสิ้นปีจะได้เอยูเอ็มประมาณ 800-1,000 ล้านบาท ซึ่งเราจะขยายฐานลูกค้าไปทั้งคนไทย และต่างชาติ ซึ่งเราจะมีความสัมพันธ์กับทาง APF ในการที่จะช่วยหาลูกค้าญี่ปุ่น”นายวีระเจตน์กล่าว

นายวีระเจตน์ กล่าวอีกว่า การรับบริหารพอร์ตกองทุนร่วมขณะนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นกองที่เน้นลงทุนในตราสารทุน ซึ่งผู้จัดการกองทุนของบริษัทจะคอยแนะนำด้านนโยบายแก่นักลงทุน และมีบางกองทุนที่ลูกค้าจะแสดงความต้องการมาให้บริษัทเป็นผู้จัดตั้งกองทุนให้ โดยการลงทุนในตราสารทุนเริ่มแรกจะเป็นการลงทุนในประเทศเท่านั้น ส่วนในอนาคตอาจมีการขยายการลงทุนหุ้นในต่างประเทศได้

“นโยบายส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนบอกไว้ แต่เราจะแนะนำหรือเสนอต่อเขา ยิ่งในช่วงที่ตลาดผันผวนเราจะแนะนำนักลงทุนทันทีว่าควรที่จะทำอย่างไรบ้าง”นายวีระเจตน์กล่าว

นายวีระเจตน์ กล่าวอีกว่า นอกจากกองทุนส่วนบุคคลแล้ว บริษัทยังตั้งเป้าที่จะออกกองทุนรวม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีกด้วย ซึ่งในส่วนของกองทุนรวมขณะนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินการขอไลน์เซนจาก คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในปีหน้านี้ สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทยังอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ และคาดว่าจะมีข้อสรุปออกมาภายใน 1 ปีหลังจากนี้

ด้าน นายมิทซึจิ โคโนชิตะ ประธานกรรมการ และธานเจ้าหน้าที่บริหาร Asia Partnership Fund Group(APF) กล่าวว่า นอกจากกองทุนAPF จะมีความสนใจลงทุนในธุรกิจด้านการเงิน สื่อ และธุรกิจนอนแบงก์ในประเทศไทยแล้ว ขณะนี้กองทุนยังได้เข้าซื้อหุ้นสามัญของ บริษัทโชวะ รับเบอร์ ซึ่งจดเบียนอยู่ในประเทศญี่ปุ่นจำนวน 41,938,429 ล้านหุ้น คิดเป็นเงิน 400 ล้านบาทอีกด้วย

สำหรับการลงทุนของบริษัทในครั้งนี้ เนื่องจากมองเห็นศักยภาพของบริษัทโชวะ และการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรม ด้านยางพาราที่น่าจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยหากได้รับการจัดการ และบริหารอย่างถูกต้องหลากหลายแล้วเชื่อว่าจะสร้างผลกำไรได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ หลังจากที่กองทุนได้เข้าไปลงทุนในบริษัทโชวะแล้ว แนวทางที่จะต้องดูแลต่อไปคือการเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้น โดยจากเดิมที่จะมีโรงงานในประเทศญี่ปุ่น 2 แห่ง แต่ในอนาคตได้ทำการศึกษาและคาดว่าจะหันมาตั้งโรงงานเพิ่มเติมในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้ทำการสั่งซื้อวัตถุดิบบางส่วนอยู่แล้ว

“บริษัทโชวะถือว่าเป็นบริษัทที่มีสินทรัพย์ และสถานะดี โดยที่ผ่านมามีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์อย่างดี แต่มีปัญหาด้านประสบการณ์การลงทุน ทำให้ต้องขาดทุนจากส่วนนี้ประมาณ 20 ล้านบาทในช่วงที่ผ่านมา แต่หากกองทุนเขาไปมีส่วนร่วมในการถือหุ้นและบริหาร ด้านการลงทุน และพัฒนาความหลากหลายของผลิตภัณฑ์แล้วเชื่อว่าทุกอย่างจะอยู่ในแนวทางที่ดีได้”นายมิทซึจิกล่าว

นายมิทซึจิ กล่าวอีกว่า นอกจากการลงทุนดังกล่าวข้างต้นแล้วทางกองทุนยังมีเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการประกันวินาศภัยในประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการแต่คาดว่าภายในเดือนหน้าจะมีคำตอบที่ชัดเจน หรือสามารถจัดงานแถลงข่าวได้
กำลังโหลดความคิดเห็น