xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ปกครองนักเรียนโยธินฯ ลั่นสมทบ "พันธมิตรฯ" ศุกร์นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ปกครองนักเรียนโยธินบูรณะเตรียมร่วมดาวกระจายกับพันธมิตรฯ วันศุกร์นี้ ด้านผู้อำนวยการส่งหนังสือแจง ศธ. ครูลงโทษนักเรียน เพราะโดดเรียน ไม่ใช่มาร่วมชุมนุมคัดค้านการนำพื้นที่ไปสร้างรัฐสภาใหม่ พร้อมสั่งตั้งกรรมการสอบแล้ว “อดีต ส.ว.สกลนคร” ปูดที่ตั้งสภาใหม่ไม่ผ่านการพิจารณากระทบทางสิ่งแวดล้อม เหตุเพราะมีชุมนุมอยู่หนาแน่นเกินไป และการจราจรติดขัด

นายมังกร กุลวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า วานนี้(20 ส.ค.) นายมานพ นพศิริกุล ผอ.โรงเรียนโยธินฯ ได้ทำหนังสือรายงานตีนักเรียนมาว่า การตีนักเรียนนั้น ไม่ใช่การตีเพราะนักเรียนออกไปชุมนุมเพื่อคัดค้านการนำพื้นที่โรงเรียนไปสร้างรัฐสภาใหม่ เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ตามที่เป็นข่าว โดยนายมานพ ชี้แจงว่า นักเรียนชั้น ม. 2 ทั้ง 8 คนที่ถูกครูทำโทษนั้นเป็นเพราะไม่เข้าห้องเรียนวิชาภาษาไทย จึงได้เรียกนักเรียนเพื่อมาสอบถามถึงสาเหตุที่ไม่เข้าเรียน โดยนักเรียนยอมรับว่าไม่ได้เข้าเรียนรายวิชานั้นจริง และไม่ได้เดินทางไปยังรัฐสภากับกลุ่มรุ่นพี่ ส่วนการลงโทษของครูสุวัฒนา ใช้วิธีการตีรัว ๆ หลอก ๆ ตีจริงไม่กี่ที ไม่ได้ตีรุนแรงถึง 18 ครั้งอย่างที่เป็นข่าว

ทั้งนี้ การลงโทษนักเรียนที่โดดเรียนถือเป็นข้อตกลงในระดับชั้น ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า หากโดดเรียนต้องถูกตี แต่เมื่อวันที่ 19  ส.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ปกครองไปแจ้งความที่ สน.เตาปูน อย่างไรก็ตาม นายมานพได้รายงานมาว่าขณะนี้ทางโรงเรียนได้ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองแล้วว่าการทำโทษครั้งนี้เพราะนักเรียนโดดเรียนไม่ใช่ นักเรียนไปชุมนุม อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางโรงเรียนได้ตั้งคณะกรรมการ 1 ชุด โดยมีเชิญผู้เกี่ยวข้อง เช่น รองผอ.สำนักงานเขตพื้นที่ กทม.เขต 1  ผอ.โรงเรียนโยธิน รองผอ.โรงเรียนโยธิน ผู้แทนจาก สพฐ. ตัวแทนเครือข่ายพ่อแม่ผู้ปกครอง เป็นต้น จำนวน 10 คน เพื่อดำเนินการสอบสวนเรื่องนี้เป็นการภายใน               

ด้าน นางจรวยพร ธรณินทร์ ปลัด ศธ. กล่าวว่า ก่อนหน้าปี 2542 ศธ.มีระเบียบลงโทษนักเรียน ที่อนุญาตให้ครูใช้ไม้เรียวตีนักเรียนได้  หลังจากปี 2542 มีระเบียบลงโทษนักเรียน ที่ออกสมัยนายสมศักดิ์ ห้ามลงโทษนักเรียนโดยการตี แต่ล่าสุด ศธ.ได้ปรับปรุงระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเรื่องการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 สมัย นายวิจิตร ศรีสอ้าน กำหนดบทลงโทษ 4 มาตรการคือ 1.ว่ากล่าวตักเตือน 2.ทำทัณฑ์บน 3.ตัดคะแนนความประพฤติ และ 4.ทำกิจกรรมเพื่อปรับพฤติกรรม แต่ไม่ได้มีข้อกำหนดเรื่องการห้ามใช้ไม้เรียวลงโทษนักเรียน นั่นหมายความว่าครูจะลงโทษนักเรียน ด้วยวิธีการต่างๆ  นอกเหนือจาก 4 มาตรการนี้ได้

ขณะที่ แกนนำนักเรียนโยธินบูรณะที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการย้ายโรงเรียนโยธินฯ  กล่าวว่า  เร็ว ๆ นี้นักเรียนโยธินฯ จะร่วมกันออกแถลงการณ์ เพื่อย้ำจุดยืนในการออกมาเคลื่อนไหวของนักเรียนว่า ไม่ต้องการเกี่ยวข้อง ฝักใฝ่กับการเมืองฝ่ายใดทั้งสิ้น

ส่วน นางกชวรรณ พิพัฒน์บัณฑิต ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนโยธินฯ กล่าวว่า ในวันศุกร์ที่ 22 ส.ค.ที่จะถึงนี้ ผู้ปกครองนักเรียนโยธินบูรณะจำนวนหนึ่งได้ตกลงกันว่าจะร่วมกับพันธมิตรฯ เดินขบวนตามยุทธศาสตร์ดาวกระจายไปที่โรงเรียนโยธินฯ ด้วย เพื่อเป็นกำลังใจให้นักเรียน และคัดค้านการก่อสร้างอาคารรัฐสภาหลังใหม่ที่ไม่ชอบธรรม

โดยในวันที่ 22 ส.ค.นี้ กลุ่มพันธมิตรฯ จะเดินทางไปที่โรงเรียนโยธินบูรณะ ซึ่งนักเรียนจำนวนหนึ่งได้เตรียมทำป้ายผ้า และมอบดอกไม้เพื่อแสดงความขอบคุณที่กลุ่มพันธมิตรฯ มาให้กำลังใจด้วย
         
วันเดียวกัน นางมาลีรัตน์ แก้วก่า อดีต ส.ว.สกลนคร กล่าวบนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถึงเรื่องสร้างที่รัฐสภาใหม่ว่า มีแผนจะสร้างใหม่มาตั้งแต่ปี 2529 แต่ไม่เป็นรูปเป็นร่าง จนกระทั่งยุคที่ตนได้มาเป็น ส.ว.เมื่อปี 2543 ก็เจอปัญหาว่าห้องประชุมกรรมาธิ-การ เนื่องจากชุดนั้นเป็นชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้ง มี ส.ว.จาก 75 จังหวัด และที่กรุงเทพฯ ทำให้ที่ไม่เพียงพอ

ดังนั้น ในยุคนั้น นายสนิท วรปัญญา ประธานวุฒิสภาได้ตั้งคณะกรรมการจัดการที่ทำงานของวุฒิสภา โดยตนได้ร่วมเป็นกรรมการด้วย และบังเอิญกรรมการมีมติให้ไปใช้ที่ ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ ติดกับอาบอบนวด ซึ่งตนได้คัดค้าน และได้มี ส.ว.อีกหลายคนมาร่วมคัดค้านด้วย สุดท้ายก็ไม่ไปซื้อที่ ถ.เพชรบุรีฯ

นางมาลีรัตน์ กล่าวต่อว่า พอปีที่ นายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธานรัฐสภา ช่วงปี 2544-2548 ได้จ้างคณะสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติของมหาวิทยาลัยมหิดล มาทำการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยเลือกศึกษาได้ 5 ที่ คือ 1.ที่เกียกกาย 2.เวิ้งรถไฟจตุจักร 3.บางน้ำเปรี้ยว ฉะเชิงเทรา 4.กองคลังแสง กรมสรรพาวุธ ปากเกร็ด และ 5.เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งผลปรากฏว่าที่เกียกกายได้ที่โหล่ ไม่ติดสักเรื่อง การจราจรติดขัด มีพื้นที่ชุมชนเยอะ มีตรอก มีโรงเรียนสองแห่ง มีวัดแห่ง ฉะนั้นผลกระทบต่อชุมชนสูง

จากนั้นนายอุทัย จึงได้ทำแบบจำลองออกมา 2-3 แบบ ตั้งโชว์ที่สภา แต่ไปไม่ถึงดวงดาว เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้ออกมาค้าน โดยไปตรวจเยี่ยมที่คลังแสง นนทบุรี และได้ไปลงนามตรวจเยี่ยมว่าขอบคุณที่คลังแสงจะให้ที่สร้างรัฐสภา และมีแบบจำลองที่คลังแสงอีกสองแบบ แล้วกลับมาประกาศไม่เอาที่เขื่อนป่าสักฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น