xs
xsm
sm
md
lg

“อดีต ส.ว.” แฉ ที่ดินเกียกกาย ไม่ผ่านศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางมาลีรัตน์ แก้วก่า อดีตส.ว.สกลนคร
“อดีต ส.ว.สกลนคร” เปิดปูมโครงการสร้างรัฐสภาที่ยืดเยื้อยาวนานมากว่า 20 ปี เผย ที่ “เกียกกาย” ในยุควุฒิสภา ที่มี อุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธาน ไม่ผ่านการพิจารณากระทบทางสิ่งแวดล้อม เหตุเพราะมีชุมนุมอยู่หนาแน่นเกินไป และการจราจรติดขัด ขณะที่ “เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์” ติดอันดับหนึ่งเหมาะสมที่สุด แต่กลับถูก “แม้ว” เบรกกลางอากาศ

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นาง มาลีรัตน์ แก้วก่า ปราศรัย 

วันนี้ (20 ส.ค.) เมื่อเวลา 18.14 น.นางมาลีรัตน์ แก้วก่า อดีต ส.ว.สกลนคร กล่าวบนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวบนเวทีพันธมิตรฯ สะพานมัฆวานรังสรรค์ ถึงเรื่องสร้างที่รัฐสภาใหม่ ว่า มีแผนจะสร้างใหม่มาตั้งแต่ปี 2529 แต่ไม่เป็นรูปเป็นร่าง จนกระทั่งยุคที่ตนได้มาเป็น ส.ว.เมื่อปี 2543 ก็เจอปัญหาว่าห้องประชุมกรรมาธิการ เนื่องจากชุดนั้นเป็นชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้ง มี ส.ว.จาก 75 จังหวัด และที่กรุงเทพฯ ทำให้ที่ไม่เพียงพอ

นางมาลีรัตน์ กล่าวว่า ดังนั้น ในยุคนั้น นายสนิท วรปัญญา ประธานวุฒิสภาได้ตั้งคณะกรรมการจัดการที่ทำงานของวุฒิสภา โดยตนได้ร่วมเป็นกรรมการด้วย และบังเอิญกรรมการมีมติให้ไปใช้ที่ ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ ติดกับอาบอบนวด ซึ่งตนได้คัดค้าน และได้มี ส.ว.อีกหลายคนมาร่วมคัดค้านด้วย สุดท้ายก็ไม่ไปซื้อที่ ถ.เพชรบุรีฯ

นางมาลีรัตน์ กล่าวต่อว่า พอปีที่ นายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธานรัฐสภา ช่วงปี 2544-2548 ได้จ้างคณะสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติของมหาวิทยาลัยมหิดล มาทำการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยเลือกศึกษาได้ 5 ที่ คือ 1.ที่เกียกกาย 2.เวิ้งรถไฟจตุจักร 3.บางน้ำเปรี้ยว ฉะเชิงเทรา 4.กองคลังแสง กรมสรรพาวุธ ปากเกร็ด และ 5.เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

“ปรากฏว่า ที่เกียกกายได้ที่โหล่ ไม่ติดสักเรื่อง การจราจรติดขัด มีพื้นที่ชุมชนเยอะ มีตรอก มีโรงเรียนสองแห่ง มีวัดแห่ง ฉะนั้น ผลกระทบต่อชุมชนสูงติดอันดับ 5 อันดับสอง คือ รถไฟจตุจักร อันดับหนึ่ง คือ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และอันดับสาม คือ คลังแสงที่นนทบุรี” นางมาลีรัตน์ กล่าว

นางมาลีรัตน์ กล่าวว่า ดังนั้น นายอุทัย จึงได้บอกว่าเมื่อผลวิจัยบอกว่าเขื่อนป่าสักฯ มีผลกระทบน้อยที่สุด ไม่มีอะไรมากมายก็ให้ไปเอาตรงนั้น จึงได้ทำแบบจำลองออกมา 2-3 แบบ ตั้งโชว์ที่สภา แต่ไปไม่ถึงดวงดาว เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้ออกมาค้าน โดยไปตรวจเยี่ยมที่คลังแสง นนทบุรี และได้ไปลงนามตรวจเยี่ยมว่าขอบคุณที่คลังแสงจะให้ที่สร้างรัฐสภา และมีแบบจำลองที่คลังแสงอีกสองแบบ แล้วกลับมาประกาศไม่เอาที่เขื่อนป่าสักฯ ทำให้นายอุทัยเก็บตัวถอยออกจากพรรคไทยรักไทย และได้มาขึ้นเวทีกับเราเมื่อปี 2549

นางมาลีรัตน์ กล่าวต่อว่า ต่อมาเมื่อ นายโภคิน พลกุล เป็นประธานรัฐสภา สนองนโยบายนายกฯสมัยนั้นอย่างเอาจริงเอาจัง ตั้งกรรมการใหม่ พิจารณาจากสามที่ คือ 1.คลังแสง 2.บริษัท ไทยเมลอน อินดรัสตรี้ ซึ่งกรมบังคับคดีเป็นเจ้าของ และ นายโภคิน ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ อยากให้ไปตั้งที่นี่ จากนั้นกลางปี 2548 ก็มีโรคแทรกซ้อน ให้กระทรวงมหาดไทยร่างพ.ร.บ.นครสุวรรณภูมิ โดย นายวิชัย กฤษดาธานนท์ เจ้าของกลุ่มกฤษดามหานคร มาเสนอที่สภาจะให้ที่เปล่า 400ไร่ ตั้งสถาบันสุวรรณภูมิซิตี้ สร้างเมืองใหม่ 4,600 ไร่ ยกให้รัฐสภา 400ไร่ นายโภคินก็รีบเรง่ด่วนเอาเข้ามาเป็นอันดับสาม สุดท้ายใกล้จะปลายปีประกาศจะวางศิลาฤกษ์ที่สุวรรณภูมิซิตี้ ในวันที่ 5 ธ.ค.2548

“สุดท้ายก็โดนสื่อมวลชนแฉ ว่า 4,600 ไร่ ของกฤษดามหานคร ติดจำนอง จะขอให้รัฐสภาเซ็นค้ำประกันกับธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงเทพ ให้ และ นายโภคิน กับ นายวิชัย มีความสนิทชิดเชื้อกันมาก่อนสมัยอยู่พรรคความหวังใหม่ เรื่องก็เลยยังไม่จบ” นางมาลีรัตน์ กล่าว

นางมาลีรัตน์ กล่าวต่อว่า ต่อมา นายยงยุทธ ติยะไพรัช ซึ่งเป็น รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในยุคนั้น ได้เสนอที่ของไม้อัดไทย บางนา จำนวน 200 ไร่ ทำให้ที่ของนครสุวรรณภูมิตกไป จากนั้นมายุค คมช.นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานรัฐสภาเมื่อปีที่แล้ว (2550) เด็กนักเรียนโรงเรียนชลประทานสงเคราะห์ และนักเรียนชลประธานวิทยา มาร้องขอให้ช่วยว่าเขาจะเอาที่ดินโรงเรียนไปสร้างอาคารรัฐสภา ตอนนั้นหลวงพ่อปัญญา ท่านลุกขึ้นมาไล่ ว่าจะไปที่ไหนก็ไป แต่อย่ามาเอาที่นี่ ที่มีเป็นโรงเรียนของเด็ก มีชุมชนที่งดงาม

นางมาลีรัตน์ กล่าวด้วยว่า แล้ววันนี้ทำไมต้องไปเอาที่เกียกกาย ซึ่งมีรายงานระบุไว้แล้วว่าไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง อย่างไรก็ตาม ขอให้พี่น้องพันธมิตรฯ ร่วมให้กำลังใจลูกหลานที่ร.ร.โยธินบูรณะ ด้วย

ทั้งนี้ อดีต ส.ว.สกลนคร ได้อ่านกลอนทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า “มาจะกล่าวบทไปถึงสมัคร นายกฯหุ่นเชิดที่รักของทักษิณ 6 เดือนมาถูกก่นด่าเป็นอาจิน เป็นเศษดินไร้ค่าบารมี” พร้อมกับระบุว่า ที่เขาบอกว่าเป็นโลว์คอร์ส แต่วันนี้สิ่งที่ 200 ส.ส.พรรคพลังประชาชน ทำกับ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ใช่แค่โลว์คอสต์ แต่เป็นอันเดอร์คอสต์ คือ ราคาต่ำกว่าทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น