xs
xsm
sm
md
lg

สภาพัฒน์ : “วิสัยทัศน์ประเทศไทย...สู่ปี 2570”

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด

ในช่วงระยะเวลา 6-7 ปีที่ผ่านมา บทบาทของ “สภาพัฒน์” ที่เรามักเรียกกันสั้นๆ ชื่อเต็มคือ “สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ได้ถูกลดบทบาทลงอย่างมาก เนื่องด้วย “ภาคการเมือง” โดยเฉพาะ “ภาคแกนนำ” ที่ประกอบไปด้วยองคาพยพของ “กลุ่มนายทุน-กลุ่มนักธุรกิจ” ที่เข้ามากุม “อำนาจรัฐ” เรียกว่า “เบ็ดเสร็จเด็ดขาด” ในการกำหนดนโยบายทิศทางและแผนงานในการบริหารประเทศชาติ

ความสำคัญของ “สภาพัฒน์” จึงถูกลดบทบาทไปเยอะ หรือจะกล่าวให้รุนแรงมากไปกว่านั้น ก็ต้องบอกว่า “แทบไม่มีบทบาทใดๆ เลย!” ในการกำหนดทิศทางนโยบายในการบริหารประเทศชาติ ภาคการเมืองโดยเฉพาะองค์คณะของ “นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี” มีบทบาทสูงสุดในการ “คิด-กำหนด-ปฏิบัติ” นโยบายในการบริหารประเทศชาติ

หลายๆ ครั้ง ตั้งแต่ช่วง 2544-2549 ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้จัดสัมมนากลุ่มย่อยบ่อยครั้งกับกลุ่มนักวิชาการและสื่อสารมวลชน เพื่อระดมความคิดที่จะทำให้บทบาทของสภาพัฒน์ให้กลับสู่สถานะเดิม พร้อมทั้งต้องการ “เสียงสะท้อน” ของบรรดากลุ่มต่างๆ ที่มี “มุมมอง-มุมเข้าใจ” กับสภาพัฒน์เช่นไร

ถามว่า การระดมความคิดเห็นต่างๆ นั้น เพื่อนำไปปรับปรุงบทบาทและการปฏิบัติหน้าที่ของสภาพัฒน์นั้นใช่หรือไม่ คำตอบคือ “น่าจะเป็นเช่นนั้น!” แต่ก็ต้องถามต่อว่า “สามารถนำไปใช้ได้หรือไม่!” คำตอบคือ “ยากที่จะเป็นไปได้!” พูดง่ายๆ ก็หมายความว่า สภาพัฒน์ถูก “กำหนด-กด” ให้เป็นเพียงหน่วยงานภาคราชการเท่านั้น ที่เป็นเพียงกลไกปฏิบัติภารกิจทำนอง “เช้าชามเย็นชาม” ดังความปรารถนาของผู้ทรงอำนาจในยุคนั้น ที่นิยม “คิดนอกกรอบ” จนเลยเถิดไปถึง “ทำงานนอกกรอบ!”

ว่ากันตามความเป็นจริง “วิธีคิด-วิธีทำงาน” ของ “ยุคธุรกิจ-นายทุนการเมือง” เฟื่องฟูนั้น ต้องขอบอกว่า “เชื่อมั่น-มั่นใจตนเอง” ว่า “ประเสริฐสุด” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผู้นำ” และ “คณะที่ปรึกษาแกนนำ” เพียงไม่กี่คน ที่มองคนไทยและประเทศไทยเป็น “บริษัท” ที่ต้องมีเฉพาะ “การลงทุน” และ “ถอนทุน” จนอาจจะเลยเถิดคิดไปว่า “ประเทศชาติเป็นของข้าฯ และพวกข้าฯ” เพราะฉะนั้น “การชายตา” มองที่ “ภาคราชการ” เป็นเพียง “กลไก-ฟันเฟื่อง-หุ่นยนต์” ที่สามารถ “บงการ” จนถึงขนาด “เล่นแร่แปรธาตุ” อะไรก็ได้ดังใจปรารถนา

ในอดีตนั้น “สภาพัฒน์” ทั้งได้รับการยกย่องและรับเกียรติ ประกอบกับความไว้วางใจว่าเป็น “คลังสมอง” หรือ “Think Tank” ของรัฐบาลและประเทศชาติในการมีบทบาทสำคัญที่จะระดมความคิดจากหลากหลายภาคส่วนและสถาบันทางด้านนักวิชาการ สื่อสารมวลชน และองค์กรภาคเอกชนต่างๆ ที่จะกำหนดนโยบาย ตลอดจนแผนงานเพื่อทิศทางของการพัฒนาประเทศไทย และที่สำคัญคือ ได้รับการนำไปปฏิบัติอย่างมากที่สุด ทั้งๆ ที่อาจจะไม่ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็เป็น “กรอบแผน” ที่สำคัญที่รัฐบาลเชื่อฟัง ไว้วางใจ และนำไปปฏิบัติ

เราคงได้ยินมาโดยตลอดถึงคำว่า “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ฯ” ซึ่งแผนแต่ละฉบับนั้นจะมีอายุช่วงทุกๆ 5 ปี จนปัจจุบันนี้ได้คืบหน้ามาถึงฉบับที่ 10 โดยที่แต่ละฉบับนั้นได้ถูกกำหนดและนำมาปฏิบัติอย่างจริงจังแทบทุกรัฐบาล จนมาถึงยุคช่วงปี 2544-2549 นั้น “แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ” มักไม่ค่อยได้รับการยอมรับและกล่าวขวัญถึงจากรัฐบาลในขณะนั้น ที่มีแต่ “ความอีโก้ (Ego)” และแน่นอนที่สุด “ความเชื่อมั่นตนเองสูง (Over Confidence)” จนสามารถเรียกได้ว่า “อหังการ!”

จนในที่สุด ตลอดระยะเวลาช่วง 5-6 ปีนั้น “สภาพัฒน์” แทบไม่มีบทบาทใดๆ ทั้งสิ้น จนกลายเป็น “นกฮูกจิ๋ว” ที่มีแต่ความคิดความอ่าน พร้อมแผนงานต่างๆ ที่ระดมเรียนรู้ ศึกษามา แต่มิได้ถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เปรียบเสมือนนกฮูกที่ได้แต่ร้อง “ฮูก...ฮูก” และ “เบิ่งตากว้างมองเท่านั้น!”

ในแต่ละแผนของสภาพัฒน์นั้นจะถูกกำหนดแบ่งเป็นช่วงๆ ช่วงละ 5 ปี โดยกำหนดช่วงต้นทศวรรษจากปี 2540-2545 ต่อเนื่องจาก 2545-2550 เป็นกรอบระยะเวลาเช่นนี้หลายสิบปี

บทบาทสภาพัฒน์นั้น เริ่มมีบทบาทอย่างแท้จริงในยุคสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และทอดยาวเรื่อยมาจนถึงยุคของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนแม้กระทั่งในยุคของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ กับยุคของอดีตนายกรัฐมนตรี บรรหาร ศิลปอาชา และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์ กับยุคของคุณชวน หลีกภัย บทบาทสภาพัฒน์ก็ยังคงมีอยู่มากพอสมควรไม่มากก็น้อย แต่ไม่ถึงกับถูกลดบทบาทเกือบต่ำสุดถึงศูนย์ในช่วงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

ช่วงตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา จนถึงช่วงก่อนปี 2544 ใครที่รับราชการที่สภาพัฒน์จะมีแต่เกียรติยศ ศักดิ์ศรี และความภาคภูมิใจอย่างมากจากสังคมไทย เนื่องด้วย บรรดาข้าราชการที่ทำงานอยู่สภาพัฒน์นั้นต้องมีองค์ประกอบสำคัญ คือ “ความรู้” และแน่นอนที่สุด “วิสัยทัศน์” ในการกำหนดแผนที่จะพัฒนาประเทศชาติทุกๆ 5 ปี และที่สำคัญที่สุด ได้รับการยอมรับและนำไปปฏิบัติเสียส่วนใหญ่จากรัฐบาล

บุคลากรที่ทำงานอยู่ในสภาพัฒน์มักเป็นผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก จากสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล อาจารย์โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ “คุณซูม” สมชาย กรุสวนสมบัติ แห่งไทยรัฐ เคยเป็นอดีตข้าราชการสภาพัฒน์ และท่านสุดท้ายที่ “แสงแดด” นิยมชมชอบในความเก่ง ความรู้ และปฏิภาณไหวพริบเป็นเลิศ คือ “ดร.กบ” อำพน กิตติอำพน เพิ่งจะเริ่มฉายแสงแวววับช่วง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

นอกเหนือจาก “ความรู้” ที่เหล่าบรรดาข้าราชการสภาพัฒน์มีมากอยู่แล้ว แต่ที่สำคัญไปมากกว่านั้น คือ “คุณธรรม-จริยธรรม” ที่ข้าราชการสภาพัฒน์ยึดถือยึดเหนี่ยวมาโดยตลอด จนเราสามารถกล่าวอย่างเต็มปากเต็มคำว่า “เป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลมากที่สุดแห่งหนึ่ง!”

เป็นประจำทุกปีที่ “สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” จัดให้มีการประชุมประจำปี ด้วยการเชิญบุคคลที่มีความรู้และประสบการณ์มาบรรยาย ตลอดจนนักวิชาการและสื่อสารมวลชน องค์กรภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมฟังและสัมมนาทางวิชาการตลอดทั้งวัน โดยปีนี้ “แสงแดด” ก็ได้รับเชิญ เป็นปกติทุกปี

การประชุมและสัมมนาในปี 2551 นี้ จัดขึ้นที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยช่วงเช้าเป็นการกล่าวเปิดประชุมและปาฐกถาพิเศษ พร้อมทั้งมีการนำเสนอและอภิปรายจากบรรดาผู้รู้และผู้มากด้วยประสบการณ์ และช่วงบ่ายจัดให้มีการสัมมนากลุ่มย่อยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ดังนี้

กลุ่มที่ 1 “การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้พึ่งตนเองและแข่งขันได้ในสังคมโลก” กลุ่มที่ 2 “การปรับโครงสร้างทางสังคมให้เข้มแข็งและยั่งยืน” กลุ่มที่ 3 “การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” และกลุ่มที่ 4 “การบริหารจัดการที่ดีสู่ความเป็นธรรมของการพัฒนาประเทศ”

จะสังเกตได้ว่า “แนวคิด” หลักๆ ของการสัมมนาทั้ง 4 กลุ่มนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “การเตรียมตัว-เตรียมพร้อม” และ“ปรับโครงสร้าง-ระบบเศรษฐกิจ” ที่ต้องยอมรับว่า เรากำลังจะตามไม่ทันกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมโลก ที่นับวันจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็หมายความว่า “สถานการณ์โลก” นับวันจะทวีคูณความรวดเร็วและลึกลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ “สงครามยุคใหม่ : สงครามเศรษฐกิจ”

แนวคิดและหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระกระแสรับสั่งมายาวนานหลายปีแล้ว ส่อนัยชัดเจนว่า พระองค์ท่านทรงตระหนักถึง “สภาวการณ์โลกยุคใหม่” ที่มีแต่การแข่งขันและที่สำคัญ “การเอารัดเอาเปรียบ”ชนิดที่เรียกว่า “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” มิได้คำนึงถึง “ระบบคุณธรรม-จริยธรรม”แต่ประการใด จึงได้มอบหลักปรัชญานี้แก่คนไทยมาหลายปีแล้ว!

“การพึ่งพาตนเอง” เพื่อปรับให้อยู่ได้กับ“กระแสโลกาภิวัตน์” ด้วยการตั้งมั่นยืนอยู่บนพื้นฐานทรัพยากรที่เรามีอยู่ และระมัดระวัง พร้อมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการใช้อย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลที่สุด ตลอดจน “ทรัพยากรมนุษย์” ที่เราต้องยอมรับว่า “คนไทย” ใน “สังคมยุคใหม่” นั้นมีทั้ง “บกพร่อง-อ่อนด้อย-ไร้สาระ!” อย่างมากในแทบทุกกรณี เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาระดับเดียวกัน

ในการประชุม 2551 ที่เพิ่งจบไปเมื่อวันศุกร์ที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยหัวข้อ “วิสัยทัศน์ประเทศไทย...สู่ปี 2570” ที่ทางสภาพัฒน์ได้จัดขึ้นนั้น เป็นหลักการและแนวคิดที่จะกำหนดทิศทางประเทศไทยดำเนินไปสู่ “ยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข” ใน 20 ปีข้างหน้า ด้วยกรอบสำคัญของการดำรงอยู่ได้ด้วยความพอดีพอเพียง พร้อมกับการปรับทั้งโครงสร้างกับระบบของสังคม เศรษฐกิจ การเมืองไทย ให้เพียงแค่ “ตามทัน-รู้ทัน” สังคมโลกเท่านั้น ไม่ต้องถึงขนาด “ล้ำหน้า!” ตลอดจนอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญที่สุด “คน” ต้องได้รับการพัฒนามากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ท้ายสุด การบริหารจัดการของทุกภาคส่วนของประเทศไทย ไม่ว่า ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน จำต้องตั้งมั่นอยู่บน “หลักธรรมาภิบาล” มิเช่นนั้น สังคมไทยก็จะ “จมปลัก!” อยู่กับ “ระบบทุนนิยม-อำนาจนิยม-อุปถัมภ์นิยม” และไม่สำคัญเท่ากับ “ทุจริตนิยม!” ที่ต้องถึงเวลาแล้วที่สังคมต้องช่วยกันขับไล่ “อัปเปหิ” ความชั่วร้ายสามานย์ ของ “การโกหกมดเท็จ-ทุจริตคดโกง” แถม “ลอยหน้า!” อยู่ในสังคมโลกอย่างขาดความละอายแก่ใจว่า “ข้าฯ ไม่ผิด!”

ก็ขอหวังว่านับต่อแต่นี้ไป “สภาพัฒน์” จะหวนกลับมามีบทบาทในการจรรโลงประเทศไทย สมตามความหวัง “วิสัยทัศน์สู่ 2570!”
กำลังโหลดความคิดเห็น