xs
xsm
sm
md
lg

“ชัยอนันต์” เสนอยาแรงแก้วิกฤต ประหาร “โคตรโกง”- ห้าม ส.ส.ถูกยุบพรรคลงสมัครอีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช
วงเสวนารัฐศาสตร์ จุฬาฯ “ดร.ชัยอนันต์” ชี้ วิกฤตการเมืองฝังรากลึก การเรียกร้องสมานฉันท์เป็นแค่คำสอน ไม่ใช่ทางแก้ เผย เป็นห่วงขบวนการหมิ่นสถาบันเป็นรูปแบบ และเปิดเผยมากขึ้น ไม่ใช่แค่คนบ้าๆ บอๆ หรือปากกล้าอีกต่อไป เสนอใช้ยาแรง “โทษประหารชีวิต” นักการเมืองโคตรโกง ห้ามอดีตสมาชิกพรรคถูกยุบลงสมัครเลือกตั้ง ชะลอเมกะโปรเจกต์ 3 ปี เน้นเศรษฐกิจพอเพียงแทน

วันนี้ (29 ต.ค.) คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิประชาการ และสถาบันนโยบายศึกษา ร่วมสัมมนาเชิงวิชาการเรื่อง “วิกฤต มุมมอง และทางออกของประเทศไทย”

ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช นายกราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า วิกฤตการณ์การเมืองไทยจะมีทางออก แต่วิกฤตจะอยู่นานมากกว่าปกติ เพราะที่ผ่านมามีเพียงวิธีการแก้ปัญหาแบบเก่าๆ จะให้เป็นแบบยาทันใจแบบเดิมเป็นไปได้ยาก ที่ผ่านมา การเมืองสมัยก่อนแก้ปัญหาได้ง่ายไม่หยั่งรากลึก มีผู้เกี่ยวข้องน้อย เช่น สมัยก่อนทหารชั้นผู้ใหญ่ไม่ถูกกันก็แค่คนสองคนและทำรัฐประหาร นักศึกษาเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญ มีการยิงกันจนทำให้มีการเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม วิกฤตในคราวนี้ต่างจากในอดีต ตรงที่ว่า ไม่มีตัวละครหน้าเดิมเข้ามาแทรกแซงการเมือง แต่กลับมีความยืดเยื้อและมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ไม่ใช่เฉพาะนักการเมืองระดับบน แต่กลับมีประชาชนมีคนระดับล่างที่ลงมาสนับสนุนแต่ละฝ่าย และที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่การเมืองมีการยกระดับไปที่สถาบันสูงสุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ กล่าวถึงมุมมองต่อวิกฤต ว่า อาจจะมองว่าเป็นปัญหาปกติในประชาธิปไตย แต่ถ้าเทียบดูวิกฤตระยะเวลาอาจสั้นหรือจะคลี่คลายไปได้เอง ขณะเดียวกัน ยังเห็นว่า คำถามเพื่อต้องการความสมานฉันท์นั้น เป็นเหมือนคำสอนมากกว่าที่จะเป็นการแก้ปัญหาทางการเมือง ดังนั้น จะสร้างสะพานเชื่อมส่วนที่แยกกันของสองฝ่ายอย่างไร มิเช่นนั้นเราจะมีการเมืองสองส่วนตลอดเวลา และเข้าไปอยู่ในสภา

ขณะที่ไม่ปรากฏมาก่อน คือ การกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีเคลื่อนไหวค่อนข้างมาก ทั้งรูปแบบเว็บไซต์ นิตยสาร วารสาร และทางวิทยุชุมชน ไม่ได้มีเพียงคนบ้าๆ บอๆ ที่ออกมาหมิ่น หรือคนปากกล้าอีกต่อไปแล้ว แต่มีลักษณะกระบวนการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ขณะเดียวกัน ยังมีวิกฤตการณ์ที่น่าเรียนรู้อีกมาก

เสนอยา แรงประหารนักการเมืองโคตรโกง 4-5 คน ห้ามสมาชิกพรรคถูกยุบลงเลือกตั้ง

ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ ชี้ถึงทางออกต่อวิกฤต ว่า ที่ผ่านมา เราไปมองถึงช่องทางของรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ตลอดเวลา ทั้งการสังกัด วิธีการได้มาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนจึงขอเสนอเรื่องคุณสมบัติผู้มีสิทธิรับเลือกตั้งว่าจะต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคที่ถูกศาลยุบมาก่อน การตัดสินทางการเมืองแบบนี้จะเหมาะสมแล้วกับการแก้ปัญหาแบบไทย

ทั้งนี้ เห็นว่า ควรจะหยุดโครงการเมกะโปรเจกต์ไว้ก่อน ถือว่ายังไม่จำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายขณะนี้ แต่ควรกลับใช้จ่ายช่วยเหลือคนที่ตกงาน ว่างงาน เป็นต้น เป็นการชะลอระบบการเติบโตและเป็นการตัดผู้ที่เข้ามาใช้อำนาจ และเพิ่มอัตราส่วนของเศรษฐกิจพอเพียง

“ถ้าเราชะลอระบบเศรษฐกิจลง ชะลองบประมาณ 3 ปีข้างหน้า ไม่มีงบซื้อที่ดิน สิ่งก่อสร้าง มีแต่งบเงินเดือน ค่าใช้สอย งบไม่ต้องขาดดุล และเสริมเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ต้องกลัวคนรวย เศรษฐีหยุดเอากำไรเพียง 3 ปี อีกอย่างก็ยึดทรัพย์ และประหารชีวิตนักการเมือง 4-5 คน ยึดทรัพย์นักการเมืองสักล้านล้านบาท เพื่อเอามาเป็นค่าใช้จ่าย เมื่ออาชญากรการเมืองถูกประหาร จะได้รู้หมู่รู้จ่า” ศ.ดร.ชัยอนันต์ กล่าว

ประเทศไทย ยังไม่เคยเจ็บปวดทางการเมือง

ด้านศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ชูโต ประธานมูลนิธิประชาการ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ กล่าวว่า การเมืองไทยยังไม่ได้รับความเจ็บปวด จะต้องผ่านความเจ็บปวดก่อน สังเกตได้จากประเทศอินโดนีเซีย ผู้นำกำลังเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ประเทศไทย ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรี ต้องเสียมาก จ่ายมาก เมื่อเปรียบกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศต่างๆ ขณะที่ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมกำลังเติบโต ซึ่งตนคิดว่ามนุษย์อยู่ได้ถ้าไม่มีการเมือง ยืนยันไม่ตาย

ทั้งนี้ คนไทยกล้าพูดกล้าคิด แต่ยังไว้ลาย เกรงใจไม่พูด แต่เดี๋ยวนี้ตรงข้าม พูดได้ตามใจ คือ ไทยแท้

ดังนั้น จะถอยหลังคงไม่ได้ จะต้องเผชิญกับมัน ประการแรกอย่าไปตื่นเต้น อดีตที่เอามาใช้กับปัจจุบันให้ระวังไว้บ้าง ง่ายๆ คือ กลุ่มที่เผชิญหน้ากันอยู่จะต้องหาวิธีแยกไม่ให้เผชิญหน้า ใครอยู่ในทำเนียบอย่าไปจับ อย่าไปให้สองกลุ่มมาตีกัน

“เงื่อนไขประชาธิปไตย ทางออก คือ คุยกันให้มากขึ้น สามารถไม่เห็นด้วย แต่ไม่ใช่เป็นศัตรู” ดร.สมศักดิ์ กล่าว

รัฐบาลควบคุมได้แต่ไม่ควบคุม

ดร.วิชัย ตันศิริ ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ที่ผ่านมา การปกครองไทยจะต้องมีธรรมาภิบาล แต่เมื่อไม่มีก็ทำให้เกิดความขัดแย้งที่ฝังตัวอยู่ในวิกฤตการณ์ หรือความชั่วร้ายในจังหวะที่ทุนนิยมขยายตัวในโลกาภิวัตน์มากขึ้น เช่นเมื่อก่อนไม่มีทุนขยายตัวผูกขาด จนมีแนวคิดรัฐสภาแปลกๆ ระบบการเมืองที่พรรคเดียวเป็นใหญ่ เป็นการทำลายระบบรัฐสภาเบื้องต้นทำให้เสียงท้วมท้น เพื่อให้มีฝ่ายค้านเพิ่มจนเกิดการทะลักนอกสภา เพราะการคัดค้านในสภาไม่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมชาติของระบบผิดพลาด หรือโง่เขลา หรือขาดแนวคิดที่ลึกซึ้ง ซึ่งตนเคยพยากรณ์กับนักศึกษาว่า 15 ปี จากปี 2535 จะเกิดปัญหาการเดินขบวนครั้งใหญ่ แต่ 5-6 ปีนี้ กลับเกิดเป็นมหากาพย์การเมือง ที่ต้องพยายามสั่งสมความคิดให้มากขึ้น แต่หากตกลงไม่ได้ก็ไม่อยากให้เกิดการนองเลือด

ดร.วิชัย เห็นว่า การเอาสถาบันมาเกี่ยวข้อง จะเป็นสัญญาณที่อันตราย แต่การเปิดฉากแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล เห็นว่า ไม่ฉลาด เพราะถ้ารัฐบาลทำให้ไฟเบาบางหรือไปถอนฟืนออกจากเตาไฟ แต่กลับไม่ทำ ยังคงเดินหน้า ตั้ง ส.ส.ร.3 ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ต้องฟังเสียงส่วนน้อยด้วย ต้องแสดงหลักการว่าควรจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่เข้าข้าง ต้องยึดหลักความจริงเป็นหลัก แต่เมื่อมีความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน ทั้งพันธมิตรฯและรัฐบาล ที่จะต้องการรักษาสันติภาพของพระราชา มีอย่างที่ไหนผู้นำจะให้คนตีกัน แต่ควรมีบทบาทเพื่อลดความรุนแรงแน่นอนเมื่อรัฐบาลควบคุมพันธมิตรฯ ไม่ได้ แต่สิ่งที่ควบคุมได้กลับไม่ควบคุม

“ขณะที่การสานเสวนา เมื่อฝ่ายหนึ่งโกหกจะไม่สามารถเจรจาหรือสานเสวนากันได้ ตามหลักศีลธรรมถือว่าชัดแจ้ง โดยเฉพาะกฎหมายที่จะตัดสินวิกฤต ไม่ใช่เรื่องที่ยัดเยียด แต่เป็นกลไกที่ปกครอง ตุลาการภิวัฒน์ เป็นหลักที่เข้าสู่กระบวนการลดทอนและแก้ปัญหาการเมือง เช่นเดียวกันกรณีทักษิณ รัฐบาลควรแสดงจุดยืน แยกแยะเรื่องส่วนตัวกับส่วนรวม ตรงนี้ถือว่านายกฯ จะเดินสู่กระบวนการขัดแย้งที่ควบคุมได้” ดร.วันชัย กล่าว

ดร.วิชัย เชื่อว่า เรื่องกฎหมาย และการเมืองใหม่ เป็นช่องทางของการสานเสวนากันได้ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องมีบทบาทที่สามารถยืดหยัด นำคนผิดเข้าสู่กระบวนการ และห้ามคนดูหมิ่น ถ้ารัฐบาลทำได้ จะลดความรุนแรง ความขัดแย้ง และหยุดการรัฐประหาร ทำให้พันธมิตรฯ ก็ต้องมาคิดว่า จะออกจากทำเนียบหรือไม่ ตรงนี้คือการเจรจา แต่หากผู้นำไม่ห้ามปรามก็จะกลายเป็นโศกนาฏกรรมของผู้นำ

พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ สนับสนุนแนวคิดของ อ.ชัยอนันต์ ว่า นักการเมืองที่ทำทุจริต ควรถูกประหารชีวิต หรือนักการเมืองที่ใช้หน้าที่อิทธิพล กระทบกระเทือนกับประชาชนโดยตรง ซึ่งตนอยากจะเห็นคนหนึ่งก่อนมากกว่า 4-5 คน เพราะเชื่อว่ากฎหมายยุติธรรม โดยจะอ้อนวอนกระบวนการยุติธรรมให้ทำเรื่องใหญ่ๆ ประหารชีวิตเป็นกุศลกับบ้านเมือง

ทั้งนี้ ยังสนับสนุนแนวคิดลดการชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศลง โดยเชื่อว่าจะสามารถลดปัญหาจากคนกลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้น หยุดการขยายตัวระบบทุนนิยมสักระยะหนึ่ง ซึ่งตนไม่เข้าใจรัฐบาลที่ขึ้นมา ต้องพยายามที่จะทำโครงการเมกะโปรเจกต์ อย่างไรก็ตาม คิดว่า รัฐบาลเพียงต้องการความพร้อมเพื่อให้ได้งบประมาณในการเลือกตั้งเท่านั้น กลายเป็นว่าทำเศรษฐกิจเพลินๆ มากกว่าเพียงพอ

“ดังนั้น เราเป็นชาวพุทธ ผมเสนอว่า เราลองมาถือศีลแปดทั้งประเทศ วันนั้นหากคนไทยถือศีลแปดจริงๆ เช่นเดียวกับทฤษฎีความพอเพียง เราไม่รู้ความหมายของสันโดษ เอามาใช้กับชีวิตจริง ไม่ใช่อดมื้อกินมื้อ ทำเท่าที่อัตภาพอำนวย คือ เรากลับไม่เข้าใจ ไม่ทำ แต่กลับทำตรงกันข้ามในอีกพวกหนึ่ง”

นักการเมืองสนองพรรคพวก ลืมพระบรมราชโองการ

พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ตนใช้วิธีไทยเดิม คือ จับสาระการโจมตีของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะประโยชน์ที่จะได้รับ ดังนั้น คนไทยที่ฉลาดต้องไม่รีบปรุงแต่ง เนื่องจากความฟุ้งซ่าน ต้องคุมสติ และทำประโยชน์ที่สนับสนุนได้ และซึ่งตรงนี้ตนก็เห็นด้วยกับทั้งสองฝ่าย ที่เอาประโยชน์มาชี้แจงให้ข้อมูลกับประชาชน

ขณะเดียวกัน เหตุการณ์รุนแรง ถ้าเกิดก็คงเกิด เราจะทำอะไรได้ก็จะทำ ถ้าทำอะไรไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะบ้าไปหลายคน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการ เนื่องจากกำลังถูกทำให้แคบ ดังนั้น ควรเปิดกว้างทั้งตาและใจ โดยดูด้วยสติอย่าใครมาชักจูงให้บ้าตาม เราจะสามารถได้ข้อยุติ แต่เรากลับลืมสูตรการปกครองของปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” แต่รัฐบาลกลับปกครองเพื่อประโยชน์สุขของพรรคพวก สุดท้ายประเทศไทยจะไปไม่รอด
กำลังโหลดความคิดเห็น