xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตที่ “ธรรมมะจัดสรร”ของ “ชำนาญ เมธปรีชากุล”มือการตลาดเดอะมอลล์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แวดวงนักการตลาด โดยเฉพาะค้าปลีกย่อมรู้จักผู้ชายคนนี้ดี เขาผู้นี้มีชื่อว่า “ชำนาญ เมธปรีชากุล” หัวเรือใหญ่ทางด้านการตลาดของเดอะมอลล์กรุ๊ป ผู้เป็นคีย์แมนหลักในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ตลาดทั้งหมด

เป็นชำนาญผู้ซึ่งร่วมหัวจมท้ายกับเดอะมอลล์กรุ๊ปมานานร่วม 20 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้เขาก็เคยทำงานด้านการตลาดมาหลายแห่งเช่นที่ เบอร์ลี่ยุคเกอร์, บอร์เนียว, พีเจ้น, สยามวาลา ซึ่งแต่ละแห่งก็อยู่ไม่นานเท่าใด เฉลี่ย 2-3 ปี ทั้งๆที่เมื่อตอนเป็นเด็กไม่เคยคิดเลยว่าจะต้องมาทำงานด้านการตลาด โดยมีพื้นฐานจบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ จบปริญญาตรีด้านการตลาดที่เอแบค

“ช่วง 10 ปีแรกของชีวิตการทำงานผมเปลี่ยนที่ทำงานบ่อยมาก เพราะตอนนั้นไฟแรง อยากเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ๆตลอดเวลา แต่เมื่อมาทำที่เดอะมอลล์นี้ก็รู้สึกว่า ค้าปลีกมันสนุกไปอีกแบบหนึ่ง” เป็นคำกล่าวของ ชำนาญ เมธปรีชากุล

เขาย้อนอดีตให้ฟังว่า เมื่อวันมาสัมภาษณ์สมัครงานที่เดอะมอลล์ในนั้น ผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งที่เป็นผู้สัมภาษณ์ ได้ถามคำถามหนึ่งว่า “คุณชำนาญ จะอยู่ที่เดอะมอลล์กี่ปี คำตอบก็คือ อย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป เขาถามอย่างนี้ก็คงเป็นเพราะเห็นประวัติการทำงานของผมที่เปลี่ยนงานบ่อยนั่นเอง”

แต่ถึงวันนี้ ทำไปทำมาที่เดอะมอลล์ก็เกือบ 20 ปีแล้ว ไม่น่าเชื่อแต่ก็ต้องเชื่อ

ชำนาญสะท้อนภาพให้เห็นว่า เดอะมอลล์ในอดีตตอนนั้น ต้องการนักการตลาดที่แตกต่างกับที่อื่น ขณะที่โรบินสันจะโปรโมทคนใหม่เข้ามาบริหาร ส่วนห้างเซ็นทรัลก็มักจะเป็นคนในตระกูลจิราธิวัฒน์เป็นหลัก เพราะเป็นธุรกิจครอบครัว ส่วนเดอะมอลล์ต้องเป็นนักการตลาดจากที่อื่น ซึ่งเจ้านายเก่าของผมเคยทำงานที่เบอร์ลี่ยุคเกอร์ เขาชวนผมให้มาทำที่เดอะมอลล์นี่

ที่เดอะมอลล์ นักการตลาดที่เป็นที่รู้จักกันของค่ายนี้และบานในเวลานี้ก็ไปอยู่ที่อื่นแลก็มี เช่น พิชิต นิ่มกุล วิวัฒน์ อวศิริกุล ปรีชา ประกอบกิจ ไพบูลย์ กนกวัฒนาวรรณ (ซึ่งไพบูลย์เป็นรุ่นพี่ชำนาญที่เอแบค) และคนเหล่านี้ก็เป็นแม่แบบที่ชำนาญนำเอาจุดเด่นแต่ละคนมาผสมผสานกันเป็นแนวทางการทำงานให้กับตัวเอง

หลักการทำงานก็มีอยู่ว่า การบริหารจัดการต้องมีอะไรใหม่ๆมานำเสนอ มีบิ๊กไอเดียตลอดเวลา ทำอะไรก็ต้องทำให้สุดฝีมือ คิดให้แตกต่าง แต่ยอมรับว่า 20 ปีที่ผ่านมามันก็ซ้ำๆกันบ้าง แต่ว่ามองอีกมุมหนึ่งมันก็เหมือนกับมีฐานเดิมเอาไว้ เหมือนขนมเค้กมันก็มีรสชาติเดิมๆที่รู้จักกันเช่นวะนิลา รสชอกโกแลต เป็นต้น แต่ตรงหน้าเค้กหรือทอปปิ้ง เราสามารถแต่งมันได้ไม่มีซ้ำ เราต้องสร้างมูลค่าเพิ่มตรงหน้าเค้กให้ได้

แต่ไอเดียต่างๆของชำนาญมาจากไหน เขาบอกว่า เป็นเพราะตัวเองชอบคิด ชอบค้นคว้า ชอบดูหนัง ชอบอ่านหนังสือ มันเป็นการฝึกฝนตัวเองไปในตัว แล้วเราก็เอามาผสมผสานกับสิ่งต่างๆมาประยุกต์ใช้ หรือแม้แต่การเดินเที่ยวห้างสรรพสินค้าผมก็เดินเพื่อจะได้รับข้อมูลวัตถุดิบมากขึ้น

การทำงานของชำนาญเขายึดนโยบายว่า เราต้องมองลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Consumer Centric) ดูว่าเขาต้องการอะไร ยังไง แล้วเราก็ต้องตอบสนองเขาให้ได้ เราเป็นห้างสรรพสินค้ามีสินค้ามากมาย เราไม่รู้ว่าลูกค้าจะเลือกซื้ออะไร มันจึงเป็นเรื่องยากในการทำตลาด ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจคอนซูเมอร์โปรดักต์ ที่มีสินค้าชัดเจนว่าอะไร ก็ทำตลาดเพื่อขายสินค้านั้นอย่างชัดเจน แต่ว่าห้างมีสินค้ามากมายกว่าหลายเท่าตัว มันยากตรงนี้

ตอนแรกที่มาทำงานที่เดอะมอลล์ ชำนาญย้อนความหลังกว่า 20 ปี ให้ฟังว่า ช่วงที่ผมทำนั้นมีแต่เดอะมอลล์รามคำแหง แต่กำลงจะเปิดสาขาท่าพระ ซึ่งเรื่องของการตลาดด้านค้าปลีกนั้นถือเป็นเรื่องที่ไม่มีรูปแบบเอาเสียเลยในสมัยนั้น รู้สึกว่าถ้าจำไม่ผิดผมจะเป็นคนแรกเลยที่มานั่งตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาด มีลูกน้องทำด้านโปรโมชั่นบ้าง มีกิจกรรมพิเศษด้วย มีประชาสัมพันธ์ด้วย ก่อนที่จะเริ่มสร้างขึ้นมาจนเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์และการตลาดที่เป็นปึกแผ่นอย่างทุกวันนี้ ที่มีพนักงานมากกว่า 300 คน

ชีวิตที่ธรรมมะจัดสรร

ช่วง 20 ปีที่คลุกคลีกับเดอะมอลล์ ทำให้เขาช่ำชอง เชี่ยวชาญ และโชกโชน อย่างมาก กับการทำตลาดค้าปลีก แต่มีเพียงแค่เสี้ยวชีวิตหนึ่งที่เขาพลิกผันชีวิตตัวเองไปทำงานที่ บริษัท แอ๊ดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่

จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อมีบริษัทเฮดฮันเตอร์รายหนึ่ง (บริษัทที่ทำธุรกิจจัดหาผู้บริหารระดับสูงให้กับองค์กรต่างๆ) ติดต่อมาที่ชำนาญ และเสนอตำแห่งบริหารที่เอไอเอสให้ เขาเลยลองเปิดโอกาสให้กับตัวเองดู

คนสัมภาษณ์ชำนาญก็คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ บุญคลี ปลั่งศิริ ซึ่งถือเป็นผู้บริหารระดับสูงของเอไอเอส ในยุคนั้น หลังจากที่พูดคุยกันอยู่นานสองนาน สุดท้าย ชำนาญก็ตัดสินใจสวมหมวกเอไอเอส โดยเริ่มงานเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2549

จะบอกว่าเบื่อหรืออยากเปลี่ยนสายงานบ้างก็ไม่ชัดเจน เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่ ชำนาญบอกว่า เป็นเรื่องของ “ธรรมมะจัดสรร”

ความหมายของธรรมมะจัดสรร ก็คือ “การที่เรามีจุดหมายปลายทางอะไรอยู่แล้ว แต่ว่าบางครั้งอะไรที่เราคิด หรือทำ เราไม่สามารถเลือกได้ หรือบางครั้งอะไรที่เราไม่ได้คิดไม่ได้อยากทำมันก็เข้ามาหาเรา ดังนั้นไม่ว่าจะมีอะไรอยู่หรือให้เราทำ มาให้เราเลือก เราก็ต้องทำ ถ้าตัดสินใจดีๆก็จะได้ผลดีจากตรงนั้น เหมือนกับว่าธรรมมะได้กำหนดชีวิตเราเอาแล้ว ตรงนี้ผมเรียกว่า ธรรมะจัดสรร”

วันเริ่มงานที่เอไอเอสเป็นวันเดียวกับที่ บริษัท ชินคอร์ปของตระกูลชินวัตร ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในเอไอเอสได้ขายหุ้นให้กับ กลุ่มเทมาเส็คจากสิงคโปร์ พอดี และกลายเป็นเรื่องที่ถูกสังคมต่อต้านอย่างหนักในเวลาต่อมา และเมื่อชำนาญอยู่ในองค์กรเอไอเอสแล้ว เขาก็เลยเกิดอาการ อย่างที่บอกไม่ถูก

จะลาออกก็ใช่ที่ และไม่สมควรทำด้วย ในใจเขาคิดเช่นนั้น

แต่เขาสรุปได้อย่างดีและชัดเจนว่า “เมื่อหนีไม่เข้าท่า ก็ต้องกล้าอย่างมั่นใจ” พร้อมกับทำงานที่เอไอเอสต่อไป

อีกตัวอย่างหนึ่งที่เป็นธรรมมะจัดสรรที่เกิดก่อนหน้านี้ คือ

“ตอนนั้นผมเอนทรานซ์ติดเทคนิคการแพทย์ ที่จุฬาฯ แต่พี่ชายไม่ให้เรียน เขาบอกให้ไปเรียนเอแบค ซึ่งพี่ชายผมจบเอซีซี บอกว่าน่าเรียนเอแบคมากกว่า แต่ว่าผมไม่อยากไป ตอนนั้นเท่าที่ผมจำได้ น้องของเพื่อนพี่ชายของผมเขาอยากจะเรียนที่เอแบค พี่ชายผมก็เลยจะให้ผมไปสอบเป็นเพื่อนด้วย ซึ่งถ้าหากผมไปสอบที่เอแบคแล้วไม่ติดผมจะกลับมาเรียนที่เทคนิคการแพทย์ก็ไม่ได้แล้ว เพราะว่าวันรายงานตัวที่เทคนิคการแพทย์กับวันสอบเอแบคเป็นวันเดียวกัน แต่ปรากฏว่า ผลสอบออกมา น้องของเพื่อนพี่ชายผมสอบไม่ติดแต่ผมกลับสอบติด และถือเป็นเด็กเทพศิรินทร์เพียงคนเดียวในปีนั้นที่ไปเรียนที่เอแบค”

และที่เข้าทำนอง ธรรมะจัดสรร ก็คือว่า ที่เอแบค ทำให้ได้รู้จักหลายคนที่ต่อมาเป็นนักการตลาดที่ค่ายเดอะมอลล์หลายคน โดยเฉพาะคุณไพบูลย์ ( ไพบูลย์ กนกวัฒนาวรรณ) ตอนแรกเราไม่ได้ตั้งใจมาทางนั้น แต่เมื่อมาแล้ว กลับกลายเป็นเรื่องที่เป็นอนาคตของเราไปโดยที่เราไม่ได้เตรียมตัวแต่แรกคือ ทำงานด้านค้าปลีกด้านการตลาด และเราก็ยังต้องคลุกคลีกับคนที่จบเอแบคหลายคนทั้งที่เราไม่ได้ตั้งใจจะเรียนที่นี่ด้วย

สองอารมณ์ธุรกิจที่ต่างกัน

สองธุรกิจที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คือ ตลาดค้าปลีกกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ ชำนาญวิเคราะห์ความแตกต่างไว้อย่างน่าฟังว่า เดอะมอลล์เป็นธุรกิจค้าปลีก เปรียบเหมือนกับอารมณ์ที่เป็น อีโมชันนัล (Emotional) เหมือนกับวิชาศิลปะ ส่วนที่เอไอเอสเป็นธุรกิจบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เปรียบเหมือน ฟังชันนัล ถ้าเป็นวิชาก็เหมือนวิชาวิทย์ คณิฒศาสตร์ อะไรทำนองนั้น

“ปีแรกที่เอไอเอสเหนื่อยสุดๆเลย ไปต่างจังหวัดเช้ากลับเย็นแทบทุกวัน เพราะเป็นธุรกิจบริการที่ต้องมีเครือข่ายกว้างขวางทั่วประเทศ”

“ผมตั้งใจจะทำงานที่เอไอเอสอย่างน้อย 3 ปี แล้วค่อยมาวัดดูว่าได้หรือไม่ได้ แต่ทำไปปีแรกก็ถือว่าเวิร์คแล้ว (Work) ผมไม่ได้คิดเข้าข้างตัวเอง แต่เป็นเสียงสะท้อนมาจากคนอื่นที่พูดกัน หลายคนที่ไม่รู้ก็วิเคราะห์กันไปต่างๆนานาว่า ผมมีปัญหาที่เอไอเอสบ้าง ทำงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายบ้าง ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่เลย แต่บังเอิญที่เดอะมอลล์เขาขาดคนเสนอให้ผมกลับไปทำงาน ซึ่งมันเป็นความรู้สึกที่คุ้นเคยมากกว่า เรามีความผูกพันมากกับที่เดอะมอลล์ ในที่สุดผมก็ตัดสินใจกลับมาทำงานที่เดอะมอลล์อีกครั้ง”

ชีวิตวันนี้เขาก็ยังคงก้มหน้าก้มตา คิดมุขการตลาดใหม่ๆให้กับเดอะมอลล์ไม่หยุดนิ่ง พร้อมกับความตั้งใจว่า จะต้องสร้างคนรุ่นใหม่ๆขึ้นมา และเราต้องถ่ายทอดความรู้ทุกอย่างให้กับคนใหม่ๆ เพื่อที่เขาเหล่านั้นจะได้นำไปผสมผสานกับสิ่งที่เขามีอยู่และถนัด จะได้เป็นตัวแทนต่อไป

ทุกวันนี้ชำนาญมีความสุขดีกับภรรยาและชีวิตครอบครัวที่แสนอบอุ่น โดยมี ลูกชายฝาแฝดเป็นอนาคตของเขา ปัจจุบันทั้งคู่ศึกษาอยู่ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะวิศวกรรมศาสตร์ ปี 2

ในวัย 51 ปีวันนี้ ของชำนาญที่ต้องกลับมาสวมหมวกเดอะมอลล์อีกครั้ง

จึงเป็น “ธรรมะจัดสรร” นั่นเองที่จัดสรรชีวิตของ ชำนาญ ได้อย่างลงตัวและดูดี


กำลังโหลดความคิดเห็น