xs
xsm
sm
md
lg

คตส.ฟัน “แม้ว” ปล่อยกู้พม่า หลักฐานชัดสั่งเอื้อชินฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รับขวัญ “ทักษิณ” กลับประเทศ คตส.มีมติเอกฉันท์ส่งอัยการสูงสุด ยื่นฟ้องศาลการเมืองกล่าวหาใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้ชินแซทฯ และธุรกิจครอบครัว ในการปล่อยกู้พม่า 4 พันล้าน แฉหลักฐานชัด “สุรเกียรติ์-อธิบดีกรมเอเซียตะวันออก” ร่วมกันค้านยังไม่ฟัง แถมยังพบหลักฐานเด็ดเช็คซื้อ-ขายหุ้น มีพิรุธ ยังไม่ได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ จนได้คุณหญิง แต่กลับใช้คำนำหน้าว่า “คุณหญิงพจมาน” ในเช็ค เชื่ออาจทำเช็คย้อนหลัง

ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สถานที่ทำงานของคณะกรรมาการตรวจสอบ การกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มีการประชุมนัดพิเศษของ คตส. เพื่อพิจารณากรณีที่ นาย สัก กอแสงเรือง ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนกรณี ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ปล่อยเงินกู้ให้กับรัฐบาลสหภาพพม่า จำนวน 4,000 ล้านบาท เสนอให้ คตส.พิจารณาส่งคดีให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งฟ้องต่อศาลต่อไป

นายสัก แถลงหลังการประชุมว่า คตส.มีมติเป็นเอกฉันท์สั่งฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่ออัยการสูงสุด เพื่อส่งสำนวนฟ้องต่อ ศาลฏีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการของ เอ็กซิมแบงก์ ได้กระทำการในการบริหาราชการแผ่นดิน ดำเนินนโยบายต่างประเทศ โดยเจรจาอย่างไม่เป็นทางการและให้คำมั่นกับ พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ นายกรัฐมนตรีพม่า สมัยนั้น และพลจัตวา เต็ง ซอ รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและโรงแรมและกระทรวงคมนาคมไปรษณีย์และโทรเลขของสหภาพม่าในสมัยนั้น ทั้งที่ไม่มีผลการประชุมสุดยอดผู้นำเกี่ยวกับหัวข้อดังกล่าว รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้รับทราบเรื่องมาก่อน

นายสัก กล่าวว่า จนกระทั่ง รัฐบาลสหภาพพม่ามีหนังสือขอเงินกู้โดยอ้างการ เจรจา ตกลงและให้คำมั่นจาก พ.ต.ท.ทักษิณ และพ.ต.ท.ทักษิณ ได้สั่งการเห็นชอบให้ เอ็กซิมแบงก์ เพิ่มวงเงินกู้จาก 3 พันล้านเป็น 4 พันล้านบาท สำหรับโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของสหาภาพพม่า ซึ่งเป็นเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าทุนและให้ขยายเวลาปลอดการชำระหนี้จาก 2 ปีเป็น 5 ปีเพื่อผลประโยชน์ของบริษัท ชินแซทเทิลไลท์ ฯและครอบครัวชินวัตร ซึ่งมีผลประโยชน์ในหุ้น จากค่าจ้างในการพัฒนาระบบโทรคมนาคมตามสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง เป็นเงิน 539 ล้านบาท เป็นเหตุให้ เอ็กซิมแบงก์ได้รับความเสียหายจากการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำกว่าทุน และไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งธนาคาร ที่กระทรวงการคลัง ต้องชดเชย ความเสียหาย ตลอดระยะโครงการ 12 ปี ซึ่งตลอดสัญญาเอ็กซิมแบงค์ เสียหาย 670 ล้านบาท ขณะนี้กระทรวงการคลังได้ชดเชยความเสียหายไปแล้ว 2 ปี เป็นเงิน 140 ล้านบาท

“การกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณ มีความผิดกฎหมายอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียสำหรับผลประโยชน์ตัวเอง หรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้นและฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิคดวามเสียหาย แก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 ,157 และพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2502 มาตรา 8 และมาตรา 13 ทั้งนี้ คตส.จะได้ส่งหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุด ภายใน 14 วัน”

นายสัก กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าการให้พม่ากู้ในครั้งนี้มีการอ้างถึง ปฏิญาญพุกามที่ต้องให้ความช่วยเหลือกับ 4 ประเทศในอาเซียนรวมถึงพม่าด้วย โดยปัจจัยหลักคือต้องการช่วยเหลือและสนับสนุนด้านโทรคมนาคมแต่ในปฏิญาณดังกล่าวไม่มีการช่วยเหลือในข้อนี้เลย ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เดินทางไปพม่าพร้อมกับลูกชาย(พานทองแท้ ชินวัตร)พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่บริษัท ชินแซทเทิลไลท์ 8 คนและเจ้าหน้าที่จากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร เซอร์วิส 2 คน(บริษัทในเครือชินคอรป์) โดยระหว่างนั้น เจ้าหน้าที่ได้มีการสาธิตการใช้ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่จีเอสเอ็ม ก่อนที่จะมีการประชุม และในที่สุดได้มีการนำเรื่องระบบพัฒนาโทรคมนาคมไว้ในปฏิญาญพุกามในการประชุม

“แต่ปรากฏว่าได้ถูก นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รมว.ต่างประเทศของไทย ในขณะนั้น และอธิบดีกรมเอเซียตะวันออก ไม่เห็นด้วยเนื่องจากเห็นว่า ครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณ มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นเจ้าของธุรกิจกิจการโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุด ของประเทศ จึงไม่เห็นด้วยที่จะมีการปล่อยเงินกู้ให้กับพม่าเพื่อพัฒนาธุรกิจ โทรคมนาคม เพราะจะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และถูกข้อครหาและไม่เป็นประโยชน์กับพม่าด้วย จากนั้นวันที่ 15 ก.พ.2547 พม่าได้มีหนังสือมายังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อขอเพิ่มวงเงินกู้จาก 3 พันล้านเป็น 5 พันล้านบาท และได้มีหนังสือสำทับอีกในวันที่ 26 ก.พ.2547 จากนั้นนายสุรเกียรติได้มีการรายงานให้พ.ต.ท.ทักษิณทราบว่า พม่าขอเพิ่มวงเงินกู้จนมีการนำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณได้ให้พบกันครึ่งทางโดยอนุมัติเพิ่มวงเงินกู้อีก 1 พันล้านบาท พร้อมกับลดส่วนต่างของดอกเบี้ย”

นายสัก กล่าวต่อว่า นอกจากนี้จากการตรวจสอบพบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ยังเป็นผู้ถือหุ้นหรือมีผลประโยชน์ในหุ้นชินฯ ที่ถืออยู่ในชื่อของ นายพานทองแท้ ชินวัตร น.ส.พิณทองทา ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และบริษัท แอมเพิลริช ดังนั้นในระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีได้บริหารสั่งการเกี่ยวกับการให้เงินกู้ 4 พันล้านบาทแก่พม่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังมีผลประโยชน์ในหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ ซึ่งถือหุ้นในบริษัทชินแซทฯ ถึง 51.48 ของหุ้นทั้งหมด

“การเพิ่มวงเงินกู้ดังกล่าวจึงเป็นการบริหาราชการแผ่นดินเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตัวเองและครอบครัว แม้พ.ต.ท.ทักษิณ จะแก้ข้อกล่าวหาว่าไม่มีหุ้นอยู่แล้ว ตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. 2544 รวมถึงยังอ้างคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า บุคคลทั้ง 4 ไม่ได้ถือหุ้นแทน ซึ่งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ เห็นว่า คำวินิจฉัยดังกล่าว พิจารณาเกี่ยวกับการถือครองหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในปี 40-41 แต่การไต่สวน พฤติการณ์การถือครองหุ้นของคณะอนุกรรมการฯ ได้ตรวจสอบตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา ซึ่งถือว่าตรวจสอบหลังคำวินิจฉัยดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพัน”

นายสัก กล่าวว่า จากการตรวจสอบยังพบว่า เมื่อปี 2542 ได้มีการจองซื้อหุ้น เพิ่มทุนของบริษัท ชินคอร์ปฯ ของบุคคลทั้ง 4 โดยใช้เงินจากบัญชีเงินฝากของ นางพจมาน มาซื้อเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขารัชโยธิน ลงวันที่ 16 มีนาคม 42 รวม 3 ฉบับ จำนวน 32 ล้านหุ้น เป็นเงิน493 ล้านบาท ในนามของ ผู้ถูกกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ และยังมีการชำระในนามของ นางพจมาน ชินวัตร 34.6 ล้านหุ้น เป็นจำนวนเงิน 519,750,000 บาท และในนาม นายบรรณพจน์ ดามาพงษ์ 6.8 แสนหุ้น เป็นเงิน 102 ล้านบาท โดยนายบรรณพจน์ได้อ้างหลักฐานเป็นตั๋วสัญญา ลงวันที่ 16 มีนาคม 2542 ว่าจะออกตั่วสัญญาคืนให้คุณหญิงพจมาน 102 ล้านบาท โดยไม่มีดอกเบี้ยเมื่อคุณหญิงพจมานทวงถาม

“แต่จากการตรวจสอบพบว่าในวันที่ 16 มีนาคม 2542 พบว่านางพจมานยังไม่ได้ใช้คำนำหน้าว่าคุณหญิงเพราะเพิ่งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จตุตถจุลจอมเกล้า ในวโรกาสพระราชพิธีฉัตรมงคล 2542 แสดงให้เห็นว่าในวันที่ 16 มีนาคม ที่มีการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนในนามนายบรรณพจน์ไม่ได้มีการทำตั๋วสัญญาใช้เงิน ลงวันที่ 16 มีนาคมไว้แต่อย่างใด แต่เป็นการจัดทำขึ้นมาภายหลัง เมื่อนางพจมาน ได้ใช้คำนำหน้านามว่าคุณหญิง ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าตั๋วสัญญาดังกล่าวทำถูกต้อง หรือไม่ เป็นการทำขึ้นย้อนหลังหรือไม่ เพราะถ้าทำเอกสารในวันที่ 16 มีนาคม 2542 ตั๋วสัญญาจะระบุให้จ่ายให้คุณหญิงพจมานไม่ได้ ต้องเป็นนางพจมาน”

นายสัก กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบยังพบว่าการขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ระหว่างพ.ต.ท.ทักษิณกับ คุณหญิงพจมาน กับบุตรทั้งสองและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่มีการชำระเงินซื้อขายกันจริง กระทั่งเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 ได้มีการขายหุ้น ชินคอร์ปทั้งหมดให้เทมาเส็ก เป็นเงินจำนวน 6.97 หมื่นล้าน ในขณะที่มีหลักฐานตั่วสัญญาใช้เงินลงวันที่ 16 มีนาคม 2542 และวันที่ 1 กันยายน 2543 รวม 5 ฉบับ ซึ่งเป็นค่าจองซื้อหุ้น และชำระค่าซื้อหุ้นจาก พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน เป็นเงินเพียง 1.1 พันล้านบาท ดังนั้น จำนวนเงินที่ขายได้จึงแตกต่างกันถึง 6.85 หมื่นล้านบาท

“จึงไม่น่าเชื่อว่านายบรรณพจน์ ได้จองซื้อหุ้นเป็นของตัวเองจริง และไม่น่าเชื่อว่าจะมีการโอนขายหุ้นกันจริง ระหว่างพ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน กับนายพานทองแท้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายบรรณพจน์”
กำลังโหลดความคิดเห็น