xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ถือหุ้นฟ้อง12บิ๊กบินไทย ฐานละเว้นทำบริษัทเสียหายหมื่นล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน-ผู้ถือหุ้นฟ้องศาลอาญา เอาผิดบิ๊กการบินไทยกราวรูดทั้ง “ชัยสวัสดิ์-อภินันทน์”และพวก รวม 12 คน ข้อหา ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำบริษัทเสียหาย ต้องจ่ายเงินโดยไม่จำเป็นมากกว่าหมื่นล้านบาท โดยศาลนัดไต่สวน 20 ต.ค. ปมซื้อ A 330 -300 / 8 ลำ ขัดมติครม. และซื้อ เครื่องยนต์ของ  Roll- Royce ในราคาแพง

แหล่งข่าวจากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 ส.ค.2551 ที่ผ่านมา ที่ศาลอาญา  ผู้ถือหุ้นบริษัทการบินไทย ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายชัยสวัสดิ์ กิตติพรไพบูลย์ ปลัดกระทรวงคมนาคมในฐานะประธานคณะกรรมการบริษัทการบินไทยเป็นจำเลยที่ 1 และพวกรวม 12 คน โดยอีก 11 คน ประกอบด้วย  เรืออากาศโท อภินันทน์ สุมนะเศรณี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เป็นจำเลยที่ 2  นางงามนิตย์ สมบัติพิบูลย์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการเงินและการบัญชี และรักษาการบัญชีบริหารและงบประมาณ จำเลยที่ 3 นายธงชัย สิงห์กุล ผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายบัญชีการเงิน จำเลยที่ 4 นายพิเชษฐ์ เรียงวัฒนสุข ผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายการเงินองค์กร จำเลยที่ 5  นายธีรทัต พรพิบูลย์ ผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายวางแผน จำเลยที่ 6  พล.อ.อ. ณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักเลขานุการบริษัท จำเลยที่ 7 นายธรรมศักดิ์ ชุติวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายช่าง (ระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่) เป็นจำเลยที่ 8  และนายชัยพฤกษ์ ทิพย์จันทร์ เป็นจำเลยที่ 9

เรืออากาศโทอภิชัย แสงศศิ  ผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายสนับสนุนการปฎิบัติการ จำเลยที่ 10 เรืออากาศเอก ประวิตร ชินวัตร รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายปฏิบัติการ  จำเลยที่ 11 และ นายพรชัย เสรีพงศ์ ผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายบริหารทั่วไป จำเลยที่ 12 ในข้อหา พนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยศาลนัดไต่สวนวันที่ 20 ต.ค. 2551

ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นระบุว่า จำเลยทั้ง 12 คน เป็นผู้บริหารบริษัทการบินไทย แต่กลับร่วมกันกระทำความผิดหลายครั้ง ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายและต้องจ่ายเงินโดยไม่จำเป็นมากกว่าหมื่นล้านบาท เช่น 1. พยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงต่อบอร์ดเพื่อสั่งจ่ายเงินค่างวดล่วงหน้าให้แก่บริษัท แอร์บัส กว่า 4,000 ล้านบาท ในการจัดหาเครื่องบิน A330-300 จำนวน 8 ลำ ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานของฝ่ายบริหารที่ไม่โปร่งใสและสร้างความเสียหายต่อบริษัทอย่างร้ายแรงเนื่องจาก  คณะรัฐมนตรีมีมติไม่ให้บริษัทจัดซื้อเครื่องบินดังกล่าวแต่ให้ดำเนินการเช่าดำเนินงาน ซึ่งการฝืนจ่ายเงินออกไปยังกระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัท

2. บิดเบือนข้อเท็จจริงต่อบอร์ด ในการซื้อเครื่องยนต์เพื่อนำมาติดตั้งกับเครื่องบินของ A330-300  เพื่อให้เห็นว่า ราคาเครื่องยนต์ของ Roll Royce (RR)ดีที่สุด และเป็นการเร่งจัดหาเครื่องยนต์ทั้งที่ประเด็นการจัดหาเครื่องบิน A330-300   ยังไม่ตรงกับมติครม. ซึ่งการเลือกเครื่องยนต์ของ  Roll- Royce ทำให้บริษัทต้องจ่ายเงินแพงขึ้นอีกกว่า 200 ล้านบาท 3. การบิดเบือนข้อเท็จจริงเสนอบอร์ด ในการคัดเลือกเครื่องยนต์ของ Roll Royce เพื่อติดตั้งในเครื่องบิน A 380-800 ทั้งที่ เครื่องยนต์ของ Roll Royce แพงกว่าบริษัทอื่นกว่า 10 ล้านบาท

4. บิดเบือนข้อเท็จจริงต่อบอร์ดเพื่อให้พิจารณาคัดเลือกโครงการซ่อมเครื่องยนต์แบบเบ็ดเสร็จ Total Care ของ Roll- Royce เพื่อซ่อมบำรุง A340-500/600 ว่าดีควบคุมค่าซ่อมได้ 10 ปี แต่บิดเบือนข้อเท็จจริงที่ Roll- Royce ได้เก็บเงินตามโครงการดังกล่าวตั้งแต่เริ่มเข้าประจำการปี 2548 มากกว่า 900 ล้านบาทแล้ว และเครื่องบิน A 340-500 เมื่อเข้าประจำการมีการรับประกันจาก Roll- Royce อยู่แล้วประมาณ 5000 EFH โดยหากเสียในระหว่างนี้ Roll- Royce จัดการซ่อมให้ แต่บิดเบือนว่าเป็นค่าเข้าโครงการ ทำให้บอร์ดอนุมัติให้เข้าโครงการ ทำให้นอกจากบริษัทจ่ายย้อนหลังกว่า 900 ล้านบาทแล้ว ยังต้องจ่ายค่าซ่อมบำรุง Total Care ต่อ EFH ในอัตราที่ปรับเปลี่ยนสูงขึ้นทุกปีอีกด้วย

5. บอร์ดและฝ่ายบริหาร ร่วมกันเพิกเฉย กรณีที่มีการจ่ายค่าเช่าที่พักลูกเรือต่างประเทศปีละ 1 ล้านยูโร ทั้งที่จริงแล้ว มีการพักของลูกเรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายจริงเพียง 8แสนยูโร ทำให้บริษัทต้องจ่ายเงินโยไม่จำเป็นปีละ 10 ล้านบาท โดยผู้ถือหุ้นเห็นว่า การบริหารงานของประธานบอร์ดและฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้องไม่โปร่งใส มีการเอื้อประโยชน์ให้พรรคพวก ทั้งที่สามารถดำเนินการอื่นให้บริษัทได้รับประโยชน์ได้ แต่ไม่ดำเนินการ ในขณะที่สถานะการเงินของบริษัท กำลังจะมีปัญหา
กำลังโหลดความคิดเห็น