xs
xsm
sm
md
lg

สศค.ชี้อนาคตแบงก์เล็กเหนื่อย ลูกค้าโยกเงินฝากหนี-บีบควบรวมกิจการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – สศค.ระบุหลังกฎหมายคุ้มครองเงินฝากมีผลบังคับใช้แบงก์เล็กเหนื่อยแน่ หลังศึกษาพบพฤติกรรมผู้ฝากเงินให้ความสำคัญกับขนาดสินทรัพย์ของธนาคาร ภาพลักษณ์และชื่อเสียงมาเป็นอันดับแรก ต้องมีการควบรวมกิจการ หาพันธมิตรหรือขายหุ้นให้ต่างชาติ เหตุโดยเกณฑ์ BASEL II และ IAS 39 ซ้ำเติม เชื่อพฤติกรรมการฝากเงินจะเปลี่ยนไปโดยจะหันมาฝากระยะสั้น 3 – 6 เดือนมากขึ้นเพื่อโยกเงินตามอัตราผลตอบแทนที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มกลยุทธ์และพัฒนาระบบการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า จากการศึกษาพฤติกรรมของผู้ฝากเงินในระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยพบว่าที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่จะมีภาพลักษณ์ที่ดีต่อผู้ฝากเงินมากกว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก ซึ่งแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยของธนาคารขนาดใหญ่จะจ่ายให้กับผู้ฝากเงินในอัตราที่ต่ำกว่าก็ตาม โดยหลังจากที่กฎหมายสถาบันคุ้มครองเงินฝากมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมแล้วระบบสถาบันการเงินจะเริ่มมีการตื่นตัวเพื่อรับมือต่อกฎหมายฉบับนี้แม้ว่าในปีแรกจะคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน แต่สถาบันการเงินก็ต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับการแข่งขันเพื่อแย่งชิงเงินฝากที่จะไหลออกจากที่หนึ่งไปยังที่หนึ่งแน่นอน ซึ่งจากการเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจะต้องหากลยุทธ์เพื่อชิงความได้เปรียบป้องกันเงินฝากไหลออกมาต่อสู้แน่นอน
“ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้เป็นต้นไปแบงก์เล็กก็จะต้องเหนื่อยมากขึ้นเพราะคนฝากเงินจะไม่ได้คำนึงถึงดอกเบี้ยที่สูงเพียงอย่างเดียวแต่จะคิดถึงความมั่นคงของแบงก์ที่เขาเอาเงินไปฝากด้วย ฝ่ายพัฒนากลยุทธ์และผลิตภัณฑ์ทางการตลาดของธนาคารขนาดเล็กจะต้องทำงานหนักขึ้นและผู้บริหารระดับสูงของธนาคารก็ต้องลดค่าใช้จ่ายของธนาคารลงเพราะต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นและต้องใช้พนักงานที่มีอยู่ไม่มากให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด” นายโชติชัยกล่าว

***ควบรวมหาพันธมิตร-ขายต่างชาติ
นายโชติชัยกล่าวว่า หลังจากที่กฎหมายบังคับใช้ 3-4 ปีจากนี้ ธนาคารขนาดเล็กที่ยกฐานะขึ้นมาจากบริษัทเงินทุน (บง.) และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (บค.) อาจมีการควบรวมกิจการกันเพื่อให้ขนาดของสินทรัพย์เพิ่มขึ้นและขณะเดียวกันก็จะทำให้สถานะของธนาคารดูมีความมั่นคงมากขึ้น อีกทางหนึ่งก็คือธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เข้าซื้อกิจการเพื่อขยายสินทรัพย์และให้สาขาครอบคลุมมากขึ้น และแนวโน้มสุดท้ายคือการขายหุ้นให้กับธนาคารต่างชาติที่ต้องการใบอนุญาตเปิดดำเนินการธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย
จากแนวโน้มที่เงินฝากจะไหลออกจากธนาคารขนาดใหญ่ไปยังธนาคารขนาดเล็กทำให้รูปแบบของผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีการพัฒนาไปหลากหลายมากขึ้นตามความต้องการของผู้ฝากเงินโดยจะเป็นรูปแบบของเงินฝากพ่วงกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของธนาคารหรือบริษัทในเครือโดยเฉพาะ บริษัทประกันภัย ประกันชีวิตและบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ที่ธนาคารบางแห่งมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินในส่วนนี้ไปบ้างแล้ว
“รูปแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จะออกมาในอนาคตจะเป็นรูปแบบยูนิตลิงก์ ที่เงินฝากให้ผลตอบแทนที่ผูกกับประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุหรือประกันสุขภาพ แม้คนฝากจะรู้สึกว่าได้ดอกเบี้ยต่ำแต่ก็มีการคุ้มครองชีวิตเกิดขึ้นด้วยจากการฝากเงิน หรืออาจเป็นสินค้าที่ลิงก์กับผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์ หน่วยลงทุนเป็นต้น และอาจมีเงินฝากรูปแบบอื่นๆ ที่ออกมาแข่งขันเพื่อชิงเงินฝากในระบบ” นายโชติชัยกล่าว

***แบงก์เล็กเจอศึก BASEL II – IAS 39
นอกจากธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กจะโดนแรงกดดันการแข่งขันจากกฎหมายสถาบันคุ้มครองเงินฝากแล้ว ธนาคารยังต้องปฏิบัติตามเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามสินทรัพย์เสี่ยง (BASEL II) และเกณฑ์มาตรฐานทางบัญชีระหว่างประเทศฉบับที่ 39 (IAS 39) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บังคับใช้เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บททางการเงินฉบับที่ 2 (MASTER PLAN 2) ที่จะทำให้การทำธุรกิจของธนาคารลำบากมากขึ้น
ซึ่งจากกฎหมายของสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่บีบให้ธนาคารขนาดเล็กต้องมีต้นทุนเงินฝากที่สูงกว่าแล้วการลงทุนของธนาคารขนาดเล็กในการปล่อยสินเชื่อก็ต้องคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงตามไปด้วย ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการปล่อยกู้เพิ่มมากขึ้น และต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้นการบันทึกลงบัญชีก็ต้องทำตามเกณฑ์ใหม่เมื่อโดยแรงกดดันทั้ง 3 ด้านเข้ามาพร้อมกันจึงเป็นห่วงสถานะของธนาคารขนาดเล็กว่าจะสามารถแข่งขันไหวหรือไม่
“เชื่อว่าหากแบงก์ขนาดเล็กโดนแรงกดดันจากเกณฑ์การแข่งขันต่างๆ มากมายขนาดนี้ ในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้อาจมีข่าวในเรื่องสถานะที่เริ่มไม่มั่นคล การปรับปรุงฟื้นฟูกิจการแบงก์ใหม่ๆ ที่เพิ่งเปลี่ยนสถานะขึ้นมา ซึ่งก็เชื่อว่ามีอยู่จำนวนหนึ่งที่จะสามารถปรับตัวได้และก็คงอยู่รอดสำหรับการแข่งขันในระบบธนาคารพาณิชย์ แต่อีกส่วนหนึ่งที่อาจปรับตัวไม่ได้ก็ต้องหาพันธมิตรหรือควบรวมกิจการไป” นายโชติชัยกล่าว

***พฤติกรรมฝากสั้นโยกหาผลตอบแทนสูง
นายโชติชัยกล่าวว่า สำหรับผลที่จะเกิดขึ้นกับพฤติกรรมของผู้ฝากเงินโดยเฉพาะผู้ฝากประเภทสถาบันขนาดใหญ่ที่มีกว่า 2 ล้านล้านบาท ทั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) กองทุนประกันสังคม รวมไปถึงกลุ่มมูลนิธิต่างๆ ทั้งสภากาชาติไทย และองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรที่มีเงินอีกกว่า 4 แสนล้านบาทจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ใหม่ซึ่งจะคำนึงถึงรูปแบบที่เป็นการลงทุนโดยเปรียบเทียบผลตอบแทนกับความเสี่ยงมากขึ้น
“ผู้ฝากทั้งรายย่อยและสถาบันทั้งหลายจะมีแนวโน้มเปลี่ยนพฤติกรรมการฝากเงินออกไปจากเดิม โดยจากที่เคยฝากระยะยาว 24 – 48 เดือน จะหันมาฝากระยะสั้น 3 เดือนหรืออย่างมาก 6 เดือน มากกว่า เพราะสถาบันการเงินจะออกแคมเปญชิงเงินฝากออกมาเรื่อยๆ หากนำเงินทั้งก้อนไปล็อกกับเงินฝากระยะยาวแล้วก็จะทำให้เสียเปรียบหากสถาบันการเงินอื่นออกเงินฝากที่มีผลตอบแทนที่จูงใจมากกว่า” นายโชติชัยกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น