xs
xsm
sm
md
lg

ASPปรับแผนปี52รุกเพิ่มรายได้พอร์ต หนีตลาดหุ้นซบฉุดค่าคอมมิชชันทรุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บล.เอเชียพลัส เผยแผนการดำเนินธุรกิจปี 52 หันพึ่งรายได้การลงทุนพอร์ต-ที่ปรึกษาทางการเงินปรับโครงสร้างหนี้ เหตุภาวะตลาดหุ้นซบส่งผลมูลค่าซื้อขายลดลงฉุดรายได้ค่าคอมมิชชั่น จากภาวะตลาดไม่ดีนั้นลดปล่อยมาร์จิ้นเหลือ 525 ล้านบาท จากเดิม 1.1 พันล้านบาท ได้รับความเสียหายเพียง 1.5 ล้านบาท ยันฐานะการเงินแกร่ง หวังแชร์ปีหน้าใกล้เคียงปีนี้ที่ 5%

นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชียพลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP เปิดเผยถึงแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2552 ว่า บริษัทคาดว่าจะมีรายได้หลักจากธุรกิจการลงทุน (พอร์ตลงทุน) เนื่องจากรายได้ธุรกิจการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (ค่าคอมมิชชัน) จะผันผวนตามภาวะตลาดหลักทรัพย์ฯ และคาดการณ์แนวโน้มตลาดหุ้นจะไม่ดี ซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนชะลอการซื้อขายหุ้น และทำให้รายได้ค่าคอมมิชชั่นของบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงตามมูลค่าการซื้อขายของตลาดรวม

ปัจจุบันบริษัทมีพอร์ตการลงทุนในหุ้นคงเหลือ 100 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้ที่มี 600-700 ล้านบาท สืบเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาภาวะตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงแรง ทำให้บริษัทต้องมีการขายหุ้นในพอร์ตออกมาทำให้บริษัทมีผลขาดทุนในไตรมาส 3/51 มูลค่า 33 ล้านบาท ทั้งพอร์ตการลงทุนระยะสั้นและระยะยาวเพื่อเตรียมการลงทุนในหุ้นใหม่ ซึ่งบริษัทคาดว่าจะมีการลงทุนในหุ้นประมาณ 50 บริษัท

สำหรับการลงทุนนั้นจะเลือกลงทุนเป็นรายบริษัท ทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง-เล็กที่ไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย มีราคาหุ้นที่ต่ำมูลค่าพื้นฐาน และมีการจ่ายเงินปันผลสูง โดยจะเริ่มหาจังหวะในการลงทุนตั้งแต่ช่วงนี้จนถึงกลางปี 2552 เพื่อพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ซึ่งผลประกอบการของบริษัทดีกว่าตลาดหลักทรัพย์O

นอกจากนี้ จากการที่ภาวะตลาดหุ้นไม่ดีและภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้านั้น ทำให้บริษัทจะมีการงานด้านวาณิชธนกิจทางปรึกษา (IB) ในการปรับโครงสร้างหนี้มากขึ้นจากปัจจุบันที่มี 4-6 บริษัท เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวจะมีปัญหาในเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งปัจจุบันได้มีบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางเริ่มเข้ามาติดต่อกับบริษัท ซึ่งปัจจุบัน มีงานได้เนินการอยู่ แบ่งเป็น การนำหุ้นใหม่เข้าจดทะเบียน (ไอพีโอ) 8-12 บริษัท ซึ่งครึ่งปีแรกปีหน้าเชื่อว่าจะมีเข้าจดทะเบียนน้อยจากภาวะตลาดไม่ดี การควบรวมกิจการ 4-5 รายการ การออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่ (PP/PO) ประมาณ 2-3 รายการ

“ปี 2552 รายได้ของบริษัทยังคงมาจากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ วาณิชธนกิจ การลงทุน การบริหารกองทุน และจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ซึ่งรายได้ด้านนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และวาณิชธนกิจคงเป็นไปตามกลไกตลาด แต่รายได้ที่จะชี้ถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นของบริษัทน่าจะมาจากรายได้ด้านการลงทุน เพราะธุรกิจหลักคงมีรายได้ตามภาวะอุตสาหกรรม แต่ที่แตกต่างคือ การลงทุน หากมีโอกาสก็จะส่งผลดีแต่ถ้าไม่มีคงไม่เสียหาย”นายก้องเกียรติกล่าว

นายก้องเกียรติ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทได้มีการลดการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (มาร์จิ้น ณ เดือนตุลาคม เหลือ 525 ล้านบาท จากเดือนมิถุนายน ที่มี 1,100 ล้านบาท ซึ่งภาวะตลาดไม่ดีนั้นทำให้บริษัทได้รับความเสียหายจากการปล่อยมาร์จิ้นเพียง 1.5 ล้านบาทเท่านั้น บริษัทถือว่ามีฐานการเงินที่แข็งแกร่งมีกระแสเงินสดประมาณ 3,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทจะพยายามรักษาส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) ปีหน้า ใกล้เคียงกับปีหนี้ที่อยู่ที่ระดับประมาณ 5% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปีนี้ แต่บริษัทไม่ได้เน้นในเรื่องดังกล่าว เพราะบริษัทคงต้องปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
กำลังโหลดความคิดเห็น