xs
xsm
sm
md
lg

หาก...2 บลจ.รวมเป็นหนึ่ง เพิ่มศักยภาพ – เพิ่มมาร์เก็ตแชร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“จะควบรวมกันหรือไม่ คงเป็นเรื่องของแบงก์แม่ แต่ถ้าบอกว่ามีโอกาสไหม ก็มีอยู่ ส่วนตัวแล้วไม่ทราบรายละเอียด แต่มีได้ยินมาว่า มีการวางแนวทาง และต้องดูด้วยว่าแผนดังกล่าวจะดีไหม ควรทำไหม น่าจะเป็นแบบนั้น”

ธนาคาร ทหารไทย จำกัด (มหาชน) (TMB) ประกาศผลประกอบการประจำปี 2550 ขาดทุนสุทธิ 43,657 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดทุนต่อเนื่องจากผลประกอบการในปี 2549 ที่ขาดทุน 12,292 ล้านบาท หรือขาดทุนเพิ่มขึ้น 31,365 ล้านบาท โดยมีสาเหตุมาจากการตั้งสำรองหนี้สูญที่เพิ่มขึ้น การด้อยค่าของความนิยมที่เกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทย ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมทั้งการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นสำหรับทรัพย์สินรอการขาย และการตั้งสำรองสำหรับการด้อยค่าและประมาณการหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นกับแบงก์ทหารไทย...แต่หลังจากที่ได้พันธมิตรทางธุรกิจ“ไอเอ็นจี กรุ๊ป”มาร่วมลงทุน บางทีทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไป แม้ว่าอาจใช้เวลาในการปรับปรุงโครงสร้างทางธุรกิจยาวนานไปหน่อยก็ตาม

ทั้งนี้แม้ว่าการที่ไอเอ็นจี กรุ๊ป และธนาคารทหารไทยได้จับมือกันในการทำธุรกิจจะเป็นการเสริมฐานของทั้ง 2 บริษัท แต่ต้องไม่ลืมเช่นเดียวกันว่า ทั้ง 2 ฝ่าย ทำธุรกิจในลักษณะเดียวกัน ฉะนั้นย่อมหลีกเลี่ยงปัญหาการทับซ้อนทางธุรกิจของบริษัทลูกในเครือไม่ได้ และธุรกิจที่หลายฝ่ายมองว่าน่าจะมีปัญหาทับซ้อนเกิดขึ้นมากที่สุด คือ “ธรกิจบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน”ที่ต่างฝ่ายต่างมีบริษัทลูกที่ประกอบธุรกิจดังกล่าวเป็นของตัวเอง

ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2550 มีข่าวการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย จำกัด และ บลจ. ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด อย่างไม่ขาดสาย แต่ก็ได้รับการปฏิเสธจากผู้บริหารทั้ง 2 บริษัท เนื่องจากช่วงนั้นยังไม่มีความชัดเจนจากผู้บริหารระดับสูงเพราะเพิ่งจะมีการจัดการในส่วนการเข้ามาถือหุ้นในธนาคารเสร็จสิ้น

แน่นอน สิ่งที่ทุกคนในวงการอุตสาหกรรมกองทุนรวมต้องการรับรู้นั่นคือ หากเกิดการควบรวมกิจการระหว่าง 2 บลจ.ขึ้น ใครจะขึ้นเป็นผู้กุมบังเหียนบลจ.ใหม่นี้ ระหว่าง “โชติกา สวนานนท์” และ  “มาริษ ท่าราบ” แล้วหากคนหนึ่งคนได้เป็นผู้กุมบังเหียนแล้ว อีกคนที่เหลืออยู่จะดำรงอยู่ในตำแหน่งไหน....นี่เป็นกระแสความสงสัยของสื่อมวลชน และคนในวงการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สุดท้ายแล้วผู้ที่จะสามารถตอบเรื่องดังกล่าวได้ดีที่สุดจะต้องย้อนกลับถึงผู้บริหารระดับสูงของทั้ง 2 ฝ่ายนั่นเอง.........

แต่สิ่งที่น่าสังเกตุจากการตั้งสมมุติฐาน ที่ควรจับตา คือ มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (เอยูเอ็ม) ของบลจ.ใหม่ (ภายใต้เงื่อนไข ถ้าเกิดขึ้นจริง) จะมีมูลค่ารวมกันกว่า 254,000 ล้านบาท แม้อาจต้องตัดมูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ไทคอน (TFUND) ซึ่งที่ประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนได้มีมติโอนการบริหารจัดการจาก บลจ. ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) ไปเป็น บลจ.บัวหลวง จำกัด จำนวน 6,2545 ล้านบาทก็ตาม แต่ก็นับว่า บลจ.ใหม่นี้จะมีมูลค่าเอยูเอ็มใกล้เคียงหรือสูงกว่าเจ้าของมาร์เก็ตแชร์อันดับ 2 ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2551 ซึ่งหมายถึง บลจ.กสิกรไทย ที่มีเอยูเอ็มประมาณ 245,000 ล้านบาท และในอนาคตอาจขยับแซง หรือขึ้นไปใกล้เคียงกับเบอร์หนึ่งอย่าง บลจ.ไทยพาณิชย์ ที่มี 273,000 ล้านบาทได้....

ขณะเดียวกัน ด้วยศักยภาพของทีมงานทั้ง 2 บลจ.นี้ ต่างเป็นรู้กันในวงการกองทุนรวมอยู่แล้วมีศักยภาพและความโดดเด่นเฉพาะตัว และหากสามารถรวมทีมเป็นหนึ่งได้ย่อมมีแต่สร้างผลประโยชน์ หรือช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจให้สูงยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านกองทุนตลาดเงิน กองทุนตราสารทุน และ/หรือ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

ล่าสุด ธนาคารทหารไทย ได้ตกลงขายหุ้น บลจ. เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) (MFC) ออกไปทั้งหมดให้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ แอ๊ดคินซัน จำกัด (มหาชน) (ASL) แล้ว นั่นเหมือนกับสัญญาณที่บอกว่า ทางธนาคารเริ่มหันมาใส่ใจกับการบริหารธุรกิจในส่วนอุตสหากรรมกองทุนรวมเพิ่มขึ้น โดยเริ่มจากการลดความทับซ้อนในการถือหุ้น บลจ.เอ็มเอฟซี ออกไป เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของแบงก์พุ่งเป้ามารับรู้รายได้จากบลจ.ทหารไทย โดยตรง

อย่างไรก็ตาม เมื่อแบงก์ทหารไทย ร่วมทุนกับ ไอเอ็นจี กรุ๊ป แล้ว การมีบลจ.ไว้ในการดูแลถึง 2 บริษัทก็เหมือนกับมีการบริหารงานที่ซับซ้อนกัน ดังนั้นหลายฝ่าย (บุคคลภายนอก) 99.99% จึงเชื่อว่าการควบรวมกิจการของทั้ง 2 บลจ.เกิดขึ้นแน่ เพียงแต่รอคอยเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น

ในความจริง หลายฝ่ายได้ออกมาคาดการณ์ว่า ภายหลังจากธนาคารทหารไทย ได้ไอเอ็นจี กรุ๊ป มาเป็นพันธมิตรแล้ว ธุรกิจกองทุนรวมของ 2 บลจ.นี้จะต้องมีการควบรวมกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรม ขณะเดียวกัน ทหารไทย จะต้องใช้จุดแข็งของธุรกิจประกันภัยของไอเอ็นจีมาเป็นตัวชูโรงในการดำเนินธุรกิจนอนซ์แบงก์ จึงทำให้อาจเกิดความเป็นไปได้ที่แบงก์ทหารไทย จะตัดขายหุ้นในธุรกิจประกันภัยของตนเองที่ถืออยู่ในสัดส่วนเล็กน้อยออกไป และหันมามุ่งเน้นหรือช่วยบริการสินค้าของ ไอเอ็นจี เพิ่มขึ้น

ดังนั้น หากโครงสร้างในการดำเนินธุรกิจของแบงก์ทหารไทยเป็นอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ก็จะสมารถแบ่งออกได้เป็นธุรกรรมการเงิน (ฝาก-ถอน-ปล่อยสินเชื่อ) ซึ่งนับเป็นธุรกิจหลักของธนาคาร นอกจากนี้ยังมีธุรกิจโบรกเกอร์ (บริษัทหลักทรัพย์) ธุรกิจกองทุนรวม (บลจ.ใหม่) ธุรกิจประกัน (ไอเอ็นจี) มาช่วยเสริม ซึ่งธุรกิจเหล่านี้จะช่วยสร้างความครบวงจรในการดำเนินธุรกิจที่ดีแก่ TMB ได้ดียิ่งขึ้น
“การควบรวมระหว่าง บลจ.ทหารไทย กับบลจ.ไอเอ็นจี ซึ่งธนาคารทหารไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่นั้นน่าจะมีโอกาสเป็นไปได้ และคงต้องมีการรวบรวมข้อมูล พร้อมศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ และผลประโยชน์ ด้านดีและเสียของเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามส่วนตัวแล้วยังไม่ทราบเรื่องแต่อย่างใด ซึ่งเป็นเรื่องของแบงก์แม่ในการดำเนินการดังกล่าว โดยอาจจะต้องใช้เวลาพอสมควรเนื่องจาก อาจติดในส่วนของผู้ถือหุ้นอื่นๆ ด้วย” โชติกา สวนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทหารไทย กล่าวให้ความเห็นพร้อมเสริมว่า “จะควบรวมกันหรือไม่ คงเป็นเรื่องของแบงก์แม่ แต่ถ้าบอกว่ามีโอกาสไหม ก็มีอยู่ ส่วนตัวแล้วไม่ทราบรายละเอียด แต่มีได้ยินมาว่า มีการวางแนวทาง และต้องดูด้วยว่าแผนดังกล่าวจะดีไหม ควรทำไหม น่าจะเป็นแบบนั้น”

ส่วนความเห็นของ มาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บลจ. ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้กล่าวในช่วงเดือนพ.ย. 2550 ว่า หลังจากไอเอ็นจีกรุ๊ปเข้ามาร่วมทุนกับธนาคารทหารไทยน่าจะส่งผลดีต่อบลจ.ไอเอ็นจี และคาดว่าจะช่วยผลักดันให้เอยูเอ็มของบลจ.ในปี 2551 ขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่แผนความร่วมมือกับทางบลจ.ทหารไทยนั้นปัจจุบันยังไม่ได้มีการหาข้อสรุปกัน เนื่องมาจากเพิ่งจะมีการจัดการในส่วนของการเข้ามาซื้อหุ้นในธนาคารเสร็จสิ้น ยังอาจดูไม่ชัดเจนเท่าที่ควรนั้นคล้ายกับบทสัมภาษณ์ครั้งล่าสุดที่ว่า “ยังไม่มีความเห็นใดๆ เนื่องจากยังไม่สามารถพูดอะไรได้”

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบลจ.ไอเอ็นจี และธนาคารทหารไทย เริ่มมีความร่วมมือกันมากขึ้นหลังจากกลุ่มไอเอ็นจีเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยในวันที่ 12 มิถุนายน 2551 นับเป็นครั้งแรกของการเสนอขายกองทุนรวมทั่วไป ภายใต้การบริหารจัดการของบลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) ผ่านเครือข่ายสาขาของธนาคารทหารไทย และนอกจากกองทุนรวมแล้วยังมีผลิตภัณฑ์อื่นที่ครบวงจรนอกเหนือจากกองทุนรวมคือ การให้บริการด้าน กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีกด้วย แต่การที่ธนาคารทหารไทยทำการขายหน่วยลงทุนให้กับ บลจ.ไอเอ็นจีด้วยนั้น คงไม่เกี่ยวข้องกับการควบรวมแต่อย่างใด เพราะธนาคารต่างชาติเองยังขายหน่วยลงทุนให้กับทุกบลจ. เช่นกัน

ณ ที่นี้ต้องบอกว่า หากมีการควบรวมแล้ว ผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดนอกเหนือจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่แล้ว ลูกค้าหน่วยลงทุนของทั้ง 2 บลจ.ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่จะได้รับประโยชน์จากเรื่องดังกล่าวมากขึ้น โดยเฉพาะช่องทางในการใช้บริการ เพราะนอกเหนือจากตัวแทนจำหน่ายหน่วยลงทุนอื่นๆแล้ว แบงก์ทหารไทยก็มีสาขาแบงก์ประจำที่ต่างๆทั่วไปประเทศ อันนำไปสู่การเพิ่มช่องทางเข้าถึงลูกค้าที่มีมากขึ้น และไม่เพียงแต่ธุรกิจประกันชีวิตของไอเอ็นจี ที่ฝากความหวังไว้ในช่องทางดังกล่าวเพียงธุรกิจเดียวเท่านั้น เพราะธุรกิจกองทุนรวมของบลจ.ขนาดใหญ่ในไทย ล้วนเป็นบริษัทที่มีแบงก์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งสิ้น และบลจ.เหล่านี้ก็ได้รับอานิสงส์จากช่องทางสาขาแบงก์ในการขยายและเพิ่มจำนวนลูกค้า สินทรัพย์ภายใต้การบริหารทั้งสิ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น