xs
xsm
sm
md
lg

กบข.จับมือรัฐบาลบรูไนตั้งคันทรี่ฟันด์ลงทุนไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – กบข.จับมือรัฐบาลบรูไน พร้อมนักลงทุนสถาบัน 8 ราย จัดตั้ง “กองทุนไทยทวีทุน 2” มูลค่า 2,530 ล้านบาท เข้าถือหุ้นในบริษัททั้งในและนอกตลาด ที่มีศักยภาพดี และมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยรับผลตอบแทนปีละ15-20% ด้าน “วิสิฐ” ยืนยัน กบข.ไม่ปรับพอร์ตในครึ่งปีหลัง แต่ชี้ดอกเบี้ยจะเป็นตัวแปรที่สำคัญในการลงทุน พร้อมไม่หวั่นผลบังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝาก เหตุตรวจสอบความมั่นคงของแบงก์ก่อนฝากเงินอยู่เสมอ

นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า กบข.ได้จัดตั้งกองทุนไทยทวีทุน 2 มูลค่า 2,530 ล้านบาท โดยเป็นการร่วมมือกับหน่วยงานด้านการลงทุนของรัฐบาลบรูไน พร้อมกับผู้ลงทุนสถาบันในประเทศอีก 8 ราย เพื่อนำเงินที่มีไปลงทุนระยะยาวในบริษัทที่มีศักยภาพดีในการสร้างมูลค่าเพิ่ม จากการดำเนินธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมหลักที่มีบทบาทต่อการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศไทย ได้แก่ ภาคการบริการ การท่องเที่ยว การขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน และการเกษตร
ทั้งนี้ กองทุนดังกล่าว มีอายุประมาณ 10 ปี และอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด โดยใน 4 ปีแรกจะเป็นช่วงลงทุนซึ่งจะลงทุนในหุ้นหรือหุ้นกึ่งทุนของบริษัทจดทะเบียนและที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้คาดว่าจะได้รับผลตอบแทนจาการลงทุนเฉลี่ยที่ปีละประมาณ 15- 20%
ขณะที่ สัดส่วนการลงทุนผ่านกองทุนไทยทวีทุน 2 สามารถแบ่งออกได้เป็นสัดส่วนจาก กบข. เป็นจำนวนเงิน 800 ล้านบาท กองทุนบูรไน 800 ล้านบาท ธ.ออมสิน 300 ล้านบาท ธ.กรุงเทพ 250 ล้านบาท ธ.นครหลวงไทย 100 ล้านบาท ธ.เพื่อการส่งออกและนำเข้า 100 ล้านบาท บริษัทไทยประกันชีวิต 100 ล้านบาท ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 30 ล้านบาท บริษัท ประกันชีวิตนครหลวงไทย จำกัด 30 ล้านบาท และ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด 20 ล้านบาท
“เราจะมุ่งเน้นการลงทุนผ่านบริษัทจัดการที่มีการบริหารจัดการที่ดี และมีการพัฒนาจุดเด่นเฉพาะตัว ที่ให้ความได้เปรียบในเชิงธุรกิจ อาทิด่านองค์ความรู้หรือนวัตกรรม โดยบริษัทพร้อมลงทุนในกิจการทั้งในและต่างประเทศ เพราะในฐานะผู้ลงทุนระยะยาว กองทุนได้คาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนเมื่อบริษัทสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และไม่มีนโยบายที่จะครอบงำกิจการของบริษัท”นายวิสิฐ กล่าว
สำหรับนโยบายการลงทุนของ กองทุนไทยทวี2 จะเข้าร่วมทุนในบริษัท ที่ได้รับการคัดเลือกในสัดส่วน 10 – 15% ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มเข้าลงทุนได้ภายในต้นเดือนกันยายนนี้ โดยขณะนี้มีอยู่ประมาณ 2-3 บริษัทที่กองทุนให้ความสนใจ และมีหนึ่งบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯภายในปีนี้เช่นกัน ส่วนการลงทุนในบริษัทจดทะเบียนนั้น กองทุนจะเข้าร่วมลงทุนในแบบการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนเฉพาะเจาะจง ที่บริษัทนั้นเปิดขาย
ส่วนเหตุการณ์จัดตั้งกองทุนดังกล่าว เลขาธิการกบข. กล่าวว่า เรื่องนี้มาจากความสำเร็จในการจัดตั้งกองทุนไทยทวีทุน1 ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนระหว่าง กบข. และหน่วยงานด้านการลงทุนของรัฐบาล บรูไน มูลค่า 8,000 ล้านบาท และที่ผ่านมาสร้างผลตอบแทนได้ถึงประมาณ 15% ต่อปี ขณะที่กองทุนไทยทวีทุน 2 มีขนาดมูลค่าโครงการเพียง 2,530 ล้านบาทนั้น เนื่องจากต้องการให้มีจำนวนเงินที่เหมาะสมต่อการลงทุนในประเทศ
นายมาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี สำหรับตลาดหลักทรัพย์ไทย เพราะเริ่มมีพัฒนาการที่เหมือนกับต่างประเทศ ซึ่งจะมีกองทุนในลักษณะนี้เข้ามาลงทุนในบริษัทจดทะเบียน เพราะจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องและศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของบริษัทเหล่านั้นได้ดี
ส่วนต่อจากนี้ไป กรรมการผู้จัดการ บลจ.ไอเอ็นจี กล่าวว่า จะทยอยขออนุมัติเงินลงทุนในบริษัทต่างๆที่ผ่านการพิจารณาแล้ว และจะดำเนินการตามนโยบายของกองทุน ซึ่งกำหนดไว้ว่าเข้าลงทุนในบริษัทจดทะเบียนได้ไม่เกิน 25% โดยบริษัทที่กองทุนให้ความสนใจจะเป็นบริษัทขนาดกลาง มูลค่าประมาณ 1,000 – 3,000 ล้านบาท และขั้นแรกที่เข้าลงทุนอย่างต่ำจะประมาณ 10% ของทุนจดทะเบียน
ด้านนายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) กล่าวว่ารู้สึกดีใจมากที่ผู้ลงทุนสภาบันของไทยมาร่วมกันจัดตั้งวกองทุนในเวลานี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยต้องความร่วมมือ และความสามัคคีในการผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไป จากปัญหาและปัจจัยลบทั้งภายในและนอกประเทศ อีกทั้งเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และผู้ประกอบการไทย รวมถึงนักลงทุนต่างชาติ ขณะเดียวกันจากนโยบายการลงทุนที่ชัดเจนนี้ ทำให้คาดว่าในอนาคตจะมีบริษัทที่กองทุนเร่วมลงทุนนี้ เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับตลาดทุนไทยเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ เลขาธิการ กบข. กล่าวถึงครึ่งปีหลัง 2551ว่าตลาดหุ้นไทยมีโอกาสเคลื่อนไหวในลักษณะผันผวน ซึ่งปัจจัยทางการเมืองยังคงเป็นปัจจัยที่มีความเสี่ยงและมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของดัชนีฯ แต่กบข.ยังไม่มีนโยบายที่จะปรับสัดส่วนการลงทุนใหม่ยัง โดยยังคงนโยบายคือ ลงทุนในหุ้นในประเทศประมาณ 11% และต่างประเทศ 11% ส่วนที่เหลือลงทุนในตราสารหนี้ 63%
ขณะที่ การเริ่มมีผลบังคับใช้ของพ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก วานนี้ (11ส.ค.) กบข.ยืนยันว่าไม่มีนัยสำคัญต่อการปรับนโยบายการลงทุนของ กบข.แต่อย่างใด เนื่องจากจะมีการพิจารณาสถาบันการเงินต่างๆตลอดเวลาก่อนที่จะนำเงินไปฝากไว้อยู่แล้ว
"การลงทุนยังไม่มีนโยบายที่จะปรับสัดส่วนการลงทุน แต่อาจจะมีการเปลี่ยนกลุ่มในการลงทุนบ้าง ส่วนครึ่งปีหลังตลาดหุ้นก็คงจะผันผวน โดยดอกเบี้ยยังคงเป็นตัวแปรที่อาจจะมีผลต่อการลงทุน ซึ่งต้นปีที่ผ่านมาผู้จัดการกองทุนจะเน้นลงทุนในพันธบัตรที่มีระยะเวลานาน แต่พอมาปรับขึ้นดอกเบี้ยก็ต้องหันมาให้ความสนใจกับอายุพันธบัตรที่สั้นลง” นายวิสิฐกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น