xs
xsm
sm
md
lg

“หมัก” ติดหนวดเขียนเอง รธน. จัดงานใหญ่หวังสลาย พธม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - "หมัก" กาง ม.63 ที่จะแก้ไขโชว์ หวังขู่พันธมิตรฯ เพิ่มข้อความห้ามใช้สื่อ ปราศรัยปลุกระดม บังคับจ้างวานให้มาร่วมชุมนุม โฆษกรัฐบาลยันดันแก้ไขแน่ วิปรัฐบาลหักหน้า "หมัก" ปัดไม่เคยมีแนวคิดแก้ ม.63 “ชูศักดิ์” ดันออก กม.ควบคุมการชุมนุม ขณะที่ 26 ส.ส.พลังประชาชน เสนอร่าง กม.สกัดม็อบให้สภาพิจารณา “ชัย” รับลูกบรรจุเข้าสู่วาระวันพุธนี้ เผยมีเนื้อหาห้ามชุมนุมบนถนน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการฯ ที่มี ผบช.น.เป็นประธาน และให้ตำรวจสลายการชุมนุมได้โดยไม่ต้องรับผิดทั้งแพ่ง-อาญา พันธมิตรฯ ซัด กม.ล้าสมัยอายชาวโลก แถมขัดรัฐธรรมนูญ ม.62 “สนธิ” ชี้ชัด สมัครหน้าไหว้หลังหลอก แฉจัดงานใหญ่หวังสลายพันธมิตร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (4 ส.ค.) นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายความร่วมมือ ในการลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคอกชน (PPP Committee) ครั้งที่ 1/2551 ที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยก่อนเริ่มประชุมจู่ๆ นายสมัคร ได้งัดเอกสารขึ้นมาก่อนจะกล่าวว่า "นี่คือรัฐธรรมนูญ มาตราที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกลัว"

"หมัก" ดันแก้ ม.63 ห้ามม็อบใช้สื่อ

จากนั้นนายสมัคร ได้สั่งให้ พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นำเอกสารที่ปริ้นท์ด้วยกระดาษ A 4 ไปแจกให้กับนักข่าวและช่างภาพที่ขึ้นไปบันทึกภาพการประชุมพร้อมอ่านให้ฟังว่า "รัฐธรรมนูญมาตรา 63 ที่พันธมิตรฯ กลัวจะแก้เป็น ดังนี้ บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ โดยไม่มีการสร้างข้อมูลเท็จเอามากล่าวหา ไม่ปลุกระดมประชาชนให้หลงผิด ไม่ใช้สื่อโฆษณาชวนเชื่อ ไม่บังคับและไม่จ้างวานกลุ่มบุคคลใดๆให้มาร่วมชุมนุม"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ส.ค. นายสมัคร ได้กล่าวในรายการ "สนทนาประสาสมัคร" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ NBT และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ของกรมประชาสัมพันธ์ ตอนหนึ่งว่าที่พันธมิตรฯคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะกลัวรัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 63

สำหรับมาตรา 63 ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ระบุว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจำกัดสิทธิเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก”

ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า ข้อความใน มาตรา 63 ที่นายสมัคร เขียนออกมาแจก สื่อมวลชนนั้นเป็นเนื้อหาที่ไม่เคยปรากฏเป็นข่าวมาก่อนไม่ว่าจะเป็นการให้สัมภาษณ์ของวิปรัฐบาล หรือ ส.ส.พรรคพลังประชาชน ดังนั้นนายสมัคร ทราบได้อย่างไรว่าวิปรัฐบาลจะเสนอแก้ไขด้วยถ้อยคำดังกล่าว หรือว่านายสมัคร ตั้งใจจะเขียนขึ้นมาเองและจะเสนอให้ ส.ส.พรรคพลังประชาชน ผลักดันให้แก้ไข มาตรา 63 ด้วยข้อความดังกล่าวจริง

แก้ ม.63 สกัดพันธมิตรฯ

พล.ต.ท. วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่า ในระหว่าง การประชุมคณะกรรมการนโยบายความร่วมมือ ในการลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน นายสมัคร ได้หยิบยกมาตรา 63 ขึ้นมาพูดต่อที่ประชุมด้วยว่า ปัจจุบันมาตรา 63 ระบุว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ทำให้พันธมิตรฯไม่เกิดปัญหา

“พรรคพลังประชาชนจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรานี้แน่ โดยจะเพิ่มเติมข้อความไปว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ โดยไม่มีการสร้างข้อมูลเท็จเอามากล่าวหา ไม่ปลุกระดมประชาชนให้หลงผิด ไม่ใช้สื่อโฆษณาชวนเชื่อ ไม่บังคับและไม่จ้างวานกลุ่มบุคคลใดๆ ให้มาร่วมชุมนุม”

พล.ต.ท. วิเชียรโชติ อ้างว่า ทุกวันนี้ที่พันธมิตรฯชุมนุมได้ ก็เพราะมีการปั้นข้อมูล ใส่ร้าย ป้ายสี บิดเบือนข้อเท็จจริง ทำให้คนเสียหาย กลุ่มพันธมิตรฯ เขาไม่กลัวที่จะแก้มาตรา 190 หรือมาตรา 237 แต่ที่เขากลัวจริง ๆ คือมาตรา 63 เพราะหากมีการแก้ไขแบบนี้แล้ว พันธมิตรฯจะชุมนุมไม่ได้อีก ประชาชนและประเทศชาติก็จะสงบสุข และแม้ว่าจะมีคนมาร่วมชุมนุม แต่เขาจะทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะถือว่าละเมิดรัฐธรรมนูญ

“ชูศักดิ์” ชู กม.ห้ามชุมนุม

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและแก้ไขรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) กล่าวถึงกรณีที่นายสมัคร ระบุถึงเนื้อหา มาตรา 63 ที่จะยื่นแก้ไขต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า คณะกรรมาธิการฯ ยังไม่ได้ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆเลย และการแก้ไขก็ไม่เกี่ยวข้องกับมาตราดังกล่าวเลย ตนเข้าใจว่า ซึ่งมาตรา 63 ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ปัญหาบ้านเมือง ในตอนนี้ต้องมีกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะ หมายความว่า ต้องมีข้อกฎหมายจำกัดเรื่องการชุมนุม ฉะนั้นจึงมีการยกร่างและข้อบัญญัติการชุมนุมในที่สาธารณะว่าเป็นเช่นใด การชุมนุมในที่สาธารณะควรมีข้อจำกัดเช่นใด กฎหมายนี้จะบัญญัติไว้

ส่วนที่นายสมัคร ได้แจกข้อความมาตรา 63 ให้กับสื่อมวลชนแล้วนั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ และยังไม่เห็นรายละเอียด ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้พยายาม ยื่นเอกสารที่นายสมัครแจกให้นายชูศักดิ์ดู แต่นายชูศักดิ์ ปฏิเสธที่จะอ่านเอกสารดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การชุมนุมนั้นควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือ ในพ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ นายชูศักดิ์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติการชุมนุม ในที่สาธารณะว่าจะกระทำได้เพื่อประโยชน์ของประชาชนในการใช้เส้นทางสาธารณะ โดยทั่วไปเรียกว่ากฎหมายการชุมนุมในที่สาธารณะ หากชุมนุมแล้วปิดกั้นการจราจรของประชาชน มันก็ต้องมีกฎหมายออกมา

วิปรัฐบาลยันไม่เคยถกแก้ ม.63

นายสามารถ แก้วมีชัย ประธาน วิปรัฐบาล กล่าวยืนยันว่าวิปรัฐบาล ไม่เคยหยิบยก มาตรา 63 ขึ้นมาหารือเลย เพราะมาตรานี้ล้อมาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 และวรรคสองของมาตรา 63 ก็ทำให้สามารถใช้กฎหมายที่มีอยู่ดำเนินการ ได้แล้ว นอกจากนี้ การแก้ไขมาตรานี้อาจทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันได้ จึงต้องใช้หลักรัฐศาสตร์มากกว่านิติศาสตร์เพียงอย่างเดียว

นายสามารถ กล่าวว่า ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญและประกาศว่า หากรัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อใด จะดำเนินการขั้นแตกหักนั้น ทุกคนในวิปรัฐบาลเห็นว่า เมื่อมาตรา 291 ให้สิทธิแก้ไขได้ และเรายอมรับว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหา เราก็มีหน้าที่ต้องแก้ให้ดีขึ้น ฉะนั้นต้องพยายามทำความเข้าใจให้ชัดเจนในประเด็นที่จะแก้ต่อสาธารณะ ประเด็นไหนที่ไม่ใช่ข้อขัดแย้งก็แก้ไขก่อน ประเด็นไหนมีปัญหา ก็รอไว้ก่อนให้สังคมได้วิจารณ์ จึงค่อยแก้ไข จะไม่ยื่นแก้ไขทีเดียวทุกมาตรา

ทั้งนี้เชื่อว่าหากสามารถทำความเข้าใจกันได้กลุ่มพันธมิตรฯ คงไม่มีอคติ ต่อการแก้ไข ยืนยันได้ว่าไม่ได้แก้เพื่อประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะ

“หมัก” แก้ รธน.เพื่อรักษาตัวเอง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคประชาธิปไตย กล่าวถึงการที่นายสมัคร ระบุว่าพันธมิตรฯกลัวการแก้ไขมาตรา 63 นั้น ความจริงการเคลื่อนไหวคัดค้านไม่ได้กลัวการแก้ไข มาตรา 63 ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายคัดค้านก็ไม่เคยพูดถึงมาตรา 63 เลย และไม่ได้กลัวด้วยซ้ำที่จะแก้ไขมาตรานี้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คงเป็นความปรารถนาของนายสมัครที่ต้องการแก้ไข มาตรา 63 มากกว่า จึงได้จุดประเด็นนี้ขึ้นมา ซึ่งนี้ถือเป็นการบ่งบอกว่า การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นนั้น คงไม่ใช่ และในที่สุดจะเป็นการแก้ไข เพื่อรักษาอำนาจของตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงหลักการสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วย เพราะหากแก้ไขมาตรานี้ เชื่อว่าจะกระทบกับภาพลักษณ์ของประเทศอย่างแน่นอน และมาตรานี้ ก็เขียนเอาไว้ไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2540

พปช.เสนอ กม.ห้ามชุมนุมบนถนน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นายจุมพฏ บุญใหญ่ ส.ส.สกลนคร พรรคพลังประชาชน พร้อม ส.ส.พรรคพลังประชาชน รวม 26 คน ได้เสนอร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ.... ซึ่งนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ ได้บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมในวันพุธที่ 6 ส.ค.นี้เรียบร้อยแล้ว

กลุ่ม ส.ส.ดังกล่าวได้เสนอหลักการและเหตุผลของการเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 63 ได้รับรองสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน โดยสงบและปราศจากอาวุธ ดังนั้นเพื่อให้การชุมนุมเป็นไปตามสิทธิและเพื่อการป้องกันการใช้สิทธิดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายกับสาธารณชนทั่วไป จึงต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อจัดระเบียบการชุมนุม จึงจำเป็นต้องตราพ.ร.บ.นี้

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมี 20 มาตรา โดยมีหลายมาตราริดลอนสิทธิ เสรีภาพการประชุมของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับการที่นายสมัคร กล่าวถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 เพื่อจำกัดสิทธิการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ อาทิ มาตรา 5 ระบุว่า ห้ามไม่ให้การชุมนุมบนพื้นผิวจราจร ตั้งเวทีปราศรัยกีดขวางการจราจร ห้ามถ่ายทอดการชุมนุม เว้นแต่ได้การอนุญาตจากคณะกรรมการตามมาตรา 8

โดยมาตรา 8 ระบุว่าคณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในพื้นที่กทม. ประกอบด้วย ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธาน เป็นต้น ขณะที่คณะกรรมการพิจารณา คำขออนุญาตชุมนุมในต่างจังหวัด จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน

ตำรวจสลายม็อบไม่ผิด

มาตรา 9 ระบุว่า คณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจการพิจารณาการชุมนุม มาตรา 10 มีเนื้อหาว่าการเคลื่อนย้ายไปชุมนุมจังหวัดอื่น จะต้องได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการ

มาตรา 13 กรณีอันก่อให้เกิดความไม่เรียบร้อย สามารถประกาศยุติการชุมนุม มาตรา14 ระบุว่า ประธานกรรมการมีอำนาจสั่งยุติการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะในกรณี ไม่มีผู้จัดการชุมนุมดูแลการชุมนุม การชุมก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้อื่น หรือมีเหตุก่อให้เกิดความไม่เรียบร้อย

มาตรา15 หากมีการยุติการชุมนุมแล้ว แต่ผู้ชุมนุมยังฝ่าฝืนประธานกรรมการ มีอำนาจให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย สามารถสลายการชุมนุมได้ มาตรา16 เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา มาตรา17 ผู้จัดการชุมนุมละเมิด มาตรา5 มีความผิดจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากละเมิด มาตรา 13 มีความผิดจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ฝ่าฝืนจำคุก 3 ปีปรับ 1 แสน

มาตรา18 ผู้ใดฝ่าฝืนจัดชุมนุมโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการคำขออนุญาตชุมนุม แม้การชุมนุมจะเรียบร้อย แต่มีโทษจำคุกไม่เกิน 6เดือน หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ต้องระวังจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 1แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 19 ผู้จัดชุมนุมไม่ควบคุมดูแลการชุมนุมปล่อยปละละเลยเป็นเหตุให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมทำความผิดทางแพ่งและอาญา ผู้จัดการชุมนุมจะมีความผิดจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน1หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

พปช.มั่นใจใช้ได้ใน 30 วัน

นายจุมพฎ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เสนอเข้าสู่สภาตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค. และถูกบรรจุให้พิจารณาเป็นฉบับที่ 6 แต่หาก ส.ส.ในสภาเห็นว่าเป็นกฎหมายที่สำคัญอาจจะเลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อนได้ โดยขั้นตอนแล้วจะใช้เวลา 1 วันในพิจารณารับหลักการ หลังจากนั้นจะตั้งกรรมาธิการแปรญัตติ ถ้าผ่านวาระที่ 1 ได้ก็ไม่มีปัญหา เพราะวาระที่ 2 เป็นแค่การปรับถ้อยคำ และเมื่อผ่านวาระที่ 3 เรียบร้อย จะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งอีก 30 วันหลังจากนั้นจะบังคับใช้ได้

นายจุมพฏ ยืนยันว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่กฎหมายใหม่ แต่ลอกมาจาก กฎหมายของ สนช.ที่เคยเสนอไว้แต่ไม่สามารถพิจารณาได้เพราะองค์ประชุมไม่ครบ ทางกลุ่มเห็นว่ามีประโยชน์ต่อสาธารณะจึงหยิบขึ้นมาพิจารณาใหม่ ซึ่งเจตนารมณ์ ของกฎหมายนี้ไม่ได้ห้ามไม่ให้มีการชุมนุม แต่การชุมนุมต้องไม่สร้างความเดือดร้อน ให้กับคนอื่น พันธมิตรฯ อ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 ว่าชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ว่าแต่อ้างแค่วรรคเดียวโดยไม่ยอม กล่าวถึงวรรคสองที่รัฐธรรมนูญไม่ให้การชุมนุม กระทบกับสาธารณะ และการใช้ไม้เบสบอล นั้นแม้จะไม่ใช่อาวุธโดยสภาพ แต่ถ้าสามารถนำมาใช้เป็นอาวุธ ก็ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ

“หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาออกมาใช้บังคับ การชุมนุมบนท้องถนนจะไม่มีเลย ที่ผ่านมาภาคประชาชนมักจะใช้สิทธิกันตามอำเภอใจจนสร้างความเดือดร้อน ให้กับประชาชน ต่อไปหากจะชุมนุมต้องขออนุญาตต่อกรรมการว่าจะชุมนุมกี่วัน วันไหนถึงวันไหน เรียกร้องประเด็นอะไร จะชุมนุมสถานที่ใด ทุกอย่างต้องชัดเจน จะชุมนุมบนถนนหลวงไม่ได้”

พันธมิตรฯ ซัด กม.ล้าหลัง

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า เห็นชัดเจนว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ขัดต่อมาตรา 63 โดยมีเป้าหมาย เพื่อต้องการทำลายการชุมนุมแบบสงบและสันติให้ไม่สามารถชุมนุมต่อไปได้ โดยจะต้องมีการขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐก่อนซึ่งไม่สามารถเป็นไปในทางปฏิบัติได้ เพราะคงไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดอนุญาตให้ประชาชนชุมนุมอยู่แล้ว ที่สำคัญหากร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเมื่อใด รับรองว่ารัฐสภาไทยจะเป็นที่อับอายทั่วโลกที่มีกฎหมายว่าหากมีการชุมนุมต้องมีการขออนุญาตซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกทำแบบนี้ เพราะการชุมนุมไม่สามารถห้ามกันได้ เนื่องจากหากประชาชนไม่เดือดร้อนเขาก็คงจะไม่มาชุมนุม การชุมนุมจึงเป็นดัชนีการชี้วัดการทำงาน ของรัฐบาล ถ้ารัฐบาลทำงานดีการชุมนุมก็จะมีน้อย แต่ถ้ารัฐบาลทำงานล้มเหลวการชุมนุมก็จะมีมาก

“รัฐบาลชุดนี้มองว่าการชุมนุมเป็นภัยต่อรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด ดังนั้น ขอย้ำอีกว่าถ้ากฎหมายฉบับนี้เข้าสภาเมื่อใดจะเป็นที่อับอายไปทั่วโลกที่ส.ส.ไทย เสนอกฎหมายที่ล้าหลังแบบนี้ มากไปว่านั้นผมคิดว่าการเสนอกฎหมายนี้เพื่อสกัดกั้นการชุมนุมของพันธมิตรฯ ที่พรรคพลังประชาชนทำมาทุกวิถีทาง โดยครั้งนี้จะใช้กลไกในสภาใช้เสียงข้างมากลากไปเพื่อหวังการสลายการชุมนุมของพันธมิตรฯ การ เสนอกฎหมายฉบับนี้จึงเป็นเพียงความต้องการสลายการชุมนุมพันธมิตรฯ เท่านั้น”

นายสุริยะใส กล่าวว่า ขณะนี้กำลังให้ทนายความรวบรวมเอกสารข้อเท็จจริง เพื่อเตรียมการยื่นต่อ ป.ป.ช.เพื่อเรียกร้องให้ระงับการจ่ายเงินเดือนให้แก่ 3 รัฐมนตรีได้แก่ นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม หลังจากที่ศาลฎีกาได้รับฟ้องคดีหวยบนดิน แต่ทั้ง 3 ยังไม่ยุติการทำหน้าที่ ซึ่งทางพันธมิตรเห็นว่า เป็นการจงใจใช้อำนาจโดยมิชอบละเว้นการทำหน้าที่ตามมาตรา 157 ตามประมวลกฎหมายอาญา

นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงกรณีที่สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ได้มีรายการที่เป็นกระบอกเสียงโจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง หลังจากที่หลายวันก่อนหน้านั้น นายกรัฐมนตรีจะใช้ช่องดังกล่าวมาจัดรายการตอบโต้พันธมิตร ซึ่งในวันรุ่งขึ้นอธิบดีก็ตอบรับทันที โดยจัดให้มี 3 แกนนำ นปก.เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งเข้าข่ายละเมิดมาตรา 64 ตามรัฐธรรมนูญ ที่ว่าด้วยการห้ามใช้อำนาจทางการเมืองเข้าแทรกแซงสื่อ อย่างไรก็ตามตัวแทนพันธมิตรในฐานะประชาชนและผู้บริโภค จะเข้ายื่นเรื่องดังกล่าวต่อ ป.ป.ช.เพราะเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ส่วนกรณีการจัดงานเฉลิมฉลองในวันที่ 12 สิงหาคม และงาน 116 วัน จากวันแม่ถึงวันพ่อ ของรัฐบาล นายสุริยะใส กล่าวว่า ทางพันธมิตรฯจะจัดงานในวันที่ 12 สิงหาคมเช่นกัน โดยรูปแบบยังไม่ได้ข้อยุติ ส่วนตนเองจะประสานกับทางกรุงเทพมหานครเพื่ออำนวยความสะดวก ส่วนจะยกเลิกการชุมนุมหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ

ปชป.จี้ถอนออกจากสภา

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ตนไม่รู้สึกแปลกใจ เพราะท่าทีนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่ากลุ่มพันธมิตรฯ กลัวการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 63 นั้น สอดรับกับท่าทีของส.ส.พรรคพลังประชาชน 26 คน นำโดยนายจุมพฏ ที่เสนอร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งถือว่าร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายอันตราย เนื่องจาก เนื้อหากำหนดว่าหากจะมีการชุมนุมต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการ ที่ประกอบด้วย ผบช.น เป็นประธาน ส่วนในต่างจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน ดังนั้น จึงถือเป็นการลิดรอนสิทธิ เสรีภาพ เกินกว่ารัฐธรรมนูญกำหนดไว้

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่ยุติการชุมนุมได้ หากมีการฝ่าฝืน ก็สามารถสลายการชุมนุมได้โดยไม่ต้องรับผิดทางกฎหมายแพ่งและอาญา จึงเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะนำไปสู่ความรุนแรง ตนจึงเรียกร้องให้ถอนร่างดังกล่าวออก ก่อนที่ปัญหาความรุนแรงจะบานปลาย ซึ่งหากรัฐบาลไม่ทบทวน พรรคประชาธิปัตย์จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ต้องรอขั้นตอนให้กฎหมายแล้วเสร็จก่อนมีผลบังคับใช้จึงจะสามารถยื่นเรื่องได้

“สนธิ” ชี้ “หมัก” จอมลวงโลก

นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า มีนักการเมืองคนหนึ่งตายไปแล้ววิญญาณไปสู่หน้าประตูที่จะลงนรกหรือสวรรค์ คนที่คุมหน้าประตู มีนาฬิกาอยู่ มากมาย ก็มีคำถามว่า นาฬิกาที่อยู่ข้างหลังนั้นแปลว่าอะไร เขาบอกนาฬิกาจับโกหก เรือนแรกเข็มนาทีไม่ได้เดินอยู่กับที่ ถามว่าเป็นของใคร บอกเป็นของพระพุทธเจ้า เรือนต่อมาเข็มนาฬิกาก็ไม่เดิน ถามว่าเป็นของใคร ของพี่จำลองไม่เคยโกหก เรือนที่สามมีเข็มค่อยๆเดิน แสดงว่าเรือนนี้โกหก ของใคร เป็นของจอร์จ บุช มีเรือนหนึ่งเข็มเดินเรื่อยๆ เขามองไปเรื่อย เห็นข้างบนมีเหมือนพัดลม เรือนนั้นเข็มมันหมุนเร็วจนเหมือนพัดลมนั้นของใคร เป็นของสมัคร สุนทรเวช

ส่วนกรณีที่นายสมัคร กล่าวว่า จะจัดงานใหญ่วันแม่ถึงวันพ่อนั้น นายสนธิกล่าวว่า การจัดงานของนายสมัครมีจุดประสงค์เพื่อมาสลายการชุมนุมของพันธมิตรมากกว่า ขอถามว่าคุณใช้งบประมาณมาจากไหน จู่ๆบอกจะจัดขึ้นมา งานใหญ่อย่างนี้มันต้องเตรียมการนาน เห็นชัดๆว่าจัดขึ้นมาทำไม

“คำพูดที่ว่า สุนัขจิ้งจอกหอกหัก เป็นคำพูดที่ถูกต้อง ยิ่งกว่าสุนัขจิ้งจอก เราอย่าไปหลงกลนายสมัครเรื่องเข้าห้องน้ำ ที่สวนจตุจักร มีคำโบราณบอกว่า ขี้แตกแล้วกลัวคนจะเห็น ก็เลยแกล้งทำตัวหกล้มบนโคลน วันนั้นนายสมัครเล่นละคร เพราะไม่อยากตอบคำถามกับนักข่าวหลายเรื่อง เช่น นักข่าวถามและสัมภาษณ์นายสมัคร 1.เรื่องข้อหาของกลุ่มอีสานพัฒนา ว่าจ่าย 10 ล้านบาทให้คนใกล้ชิดนายสมัครได้เป็นรมต.

2.มีสตรีอายุ 38 ปี เจ้าของเต้นท์มือสอง มีความใกล้ชิดกับคนในทำเนียบ คนนั้นเป็นใครเกี่ยวกับนายสมัครตรงไหน 3.ไม่อยากให้นักข่าวถามเรื่องความรุนแรงภาคใต้ 4.ไม่อยากให้นักข่าวถามว่า ได้มีการแก้ไขเรื่องเขาพระวิหารอย่างไร เมื่อศาลตัดสิน มติครม.เป็นโมฆะ 5.นายสมัคร กลัวนักข่าวถาม ทำไมให้เมียฮุนเซ็นทำพิธีที่เขาพระวิหาร นักข่าวอยากถามว่าทำไมเอาคนที่ขาดคุณสมบัติตามรธน.มาเป็นรมต.อีก 6.ทำไมเอา3 คนที่ศาลรับฟ้องมีคดีติดตัว มีปัญหาขาดคุณสมบัติเป็นรมต.ทำไมยังทำต่อไป ทำไมเอาวีระพงษ์ ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนมาเป็นประธานที่ปรึกษาและเข้าประชุม ครม.ด้วย

“นี่คือขี้ติดตูดนายสมัครที่ขี้แตกออกมา ถึงแกล้งหกล้มบนโคลน เพื่อไม่ให้พวกเราสังเกตว่ามันขี้แตก ที่เป็นปัญหาต่างๆที่เอ่ยให้ฟัง ไม่ยอมตอบ หลีกเลี่ยงหมดเลยเพราะนายสมัครจะตอบไม่ได้แน่นอน แต่ละข้อมันแทงเข้าไปในหัวใจ โดยเฉพาะข้อกรณีศาล รธน. บอกมติครม.โมฆะแล้วท่านทำอะไรต่อมติที่ออกมา”

นี่คือเกม ผู้สื่อข่าวอย่าไปหลงเชื่อเด็ดขาด เรามีนายกรัฐมนตรีไม่ใช่โกหกอย่างเดียว หน้าไหว้หลังหลอกจริงๆ ต้องรู้ว่าเขาพยายามสลายการชุมนุมเราตลอดเวลาด้วยทุกวิถีทาง คุณไม่ต้องห่วง พวกเราเตรียมพร้อมถวายความจงรักภักดีแด่สมเด็จพระราชินีฯอยู่แล้ว

“พิภพ” ย้ำตั้ง “โกร่ง” ขัดธรรมาภิบาล

เมื่อเวลา 21.00 น. นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า การแต่งตั้งนายวีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธานที่ปรึกษาของนายก นั้น เป็นการขัดแย้งต่อการดำเนินนโยบายตามมาตรา 84 ที่เป็นการขัดธรรมาภิบาลซึ่งจะส่งผลให้ประเทศชาติเสียหายเพราะทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้นเรื่องนี้จะมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น