อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน
กรณี “สมัคร”นั่งเทียนเขียน รธน.มาตรา 63 ใหม่ และกรณี ส.ส.พปช.เสนอออกกฎหมายใหม่-ห้ามชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาตและให้ จนท.สลายการชุมนุมได้โดยไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง-อาญา ไม่สำคัญว่ามีการนัดหมายกันมาก่อนหรือไม่ หรือเกิดจาก “ใครรับลูกใคร”...สำคัญที่ว่า แนวคิดที่สอดรับกันเพื่อออก กม.เผด็จการ-กม.ติดหนวดดังกล่าว สะท้อน “ตัวตน”ของทั้ง หน.พรรคและลูกพรรคได้อย่างดีว่า เผด็จการพอกันเพียงใด และจะว่าไป การที่ ส.ส.พปช.อ้างว่า กม.ใหม่ดังกล่าว หยิบมาจากสมัย สนช. ก็น่าจะยิ่งตอกย้ำซ้ำอีกว่า ในเมื่อ พปช.ชี้หน้าว่ายุค คมช.-สนช.เป็นเผด็จการ แต่ถ้าเผด็จการอย่าง สนช.ยังตีตก กม.ดังกล่าว แต่ รบ.นี้กลับจะงัด กม.นั้นขึ้นมาใช้ให้ได้ อย่างนี้ถ้าไม่เรียกว่า “เผด็จการตัวจริง”แล้วจะให้เรียกว่าอะไร?
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายงานพิเศษ
หลังนายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหม เกิดอาการเลือดขึ้นหน้าที่ตนและ ครม.ทั้งคณะถูก ส.ว.ยื่นถอดถอนต่อ ป.ป.ช.เมื่อเร็วๆ นี้ เนื่องจากกระทำการขัด รธน.กรณีรับรองแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาฯ โดยไม่เสนอให้รัฐสภาเห็นชอบก่อน นายสมัครจึงไม่เพียงฟาดงวงฟาดงาใส่สถาบันศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลปกครองที่สั่งระงับแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาฯ หรือศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่า แถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าวขัด รธน.มาตรา 190 แต่เขายังลุกขึ้นมาสั่งลูกพรรคพลังประชาชนให้ออกมาเอาคืนด้วยการ “ฆ่า”ฝ่ายตรงข้ามด้วย!
เป็นที่น่าสังเกตว่า การเอาคืนของนายสมัครและพรรคพลังประชาชนต่อฝ่ายตรงข้าม ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ ส.ว.บางกลุ่มหรือ ส.ส.ฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น แต่ยังลามเลยไปถึงการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนตุลาการศาลปกครองที่สั่งระงับแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา รวมทั้งพยายามหาเหตุเพื่อกดดันให้ ป.ป.ช.ลาออก จะได้ไม่ต้องมาพิจารณาถอดถอนพวกตนออกจากตำแหน่ง ไม่เท่านั้น นายสมัครยังประกาศว่า ปัญหาและความวุ่นวายต่างๆ ที่เกิดขึ้น เกิดจาก รธน.ดังนั้นจะเดินหน้าแก้ รธน.ทันทีที่เปิดสภา(1 ส.ค.)
แต่เมื่อผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เรือนแสนออกมาคัดค้าน วิปรัฐบาลจึงได้ซื้อเวลาด้วยการเลื่อนการยื่นญัตติแก้ไข รธน.ออกไปเป็นวันที่ 18 ส.ค. ขณะที่นายสมัคร “จอมปูดข่าว-จอมกุข่าว”(เช่น กุข่าวว่าจะมีคนรอจับตนที่สนามบินหลังกลับจากต่างประเทศ ,กุข่าวว่าพันธมิตรฯ มีแผนยึดศาลากลางจังหวัดเพื่อให้ทหารออกมาปฏิวัติ) ก็ออกมากุข่าวใหม่ว่า เหตุที่พันธมิตรฯ ต่อต้านการแก้ รธน.เพราะกลัวจะมีการแก้มาตรา 63 ซึ่งจะทำให้พันธมิตรฯ ชุมนุมไม่ได้
ไม่เพียงประเด็นมาตรา 63 จะถูกนายสมัครขุดขึ้นมาใช้อย่างปัจจุบันทันด่วนเพื่อดิสเครดิตพันธมิตรฯ แต่ยังน่าสังเกตด้วยว่า เนื้อหาใหม่ของมาตราดังกล่าว นายสมัครน่าจะเขียนขึ้นเอง เพราะมีลักษณะแปลกประหลาดไม่เคยปรากฏใน รธน.ฉบับใดของประเทศไทยมาก่อน และยังสะท้อนชัดเจนถึงเจตนาของนายสมัครที่ต้องการใส่ร้ายการชุมนุมของพันธมิตรฯ เพราะมาตรา 63 เวอร์ชั่นของนายสมัครระบุว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ โดยไม่มีการสร้างข้อมูลเท็จเอามากล่าวหา ไม่ปลุกระดมประชาชนให้หลงผิด ไม่ใช้สื่อโฆษณาชวนเชื่อ ไม่บังคับและไม่จ้างวานกลุ่มบุคคลใดๆ ให้มาร่วมชุมนุม”
ขณะที่มาตรา 63 ใน รธน.2550 ซึ่งเหมือนกับ รธน.2540(มาตรา 44)ระบุไว้ดีอยู่แล้วว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจำกัดเสรีภาพจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก”
นอกจากนายสมัครจะพยายามสกัดกั้นการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ด้วยการเนรมิตมาตรา 63 ขึ้นใหม่แล้ว ส.ส.พรรคพลังประชาชนจำนวนหนึ่งนำโดยนายจุมพฎ บุญใหญ่ ส.ส.สกลนคร ยังได้เสนอกฎหมายใหม่เพื่อให้สภาพิจารณา ชื่อว่า “พ.ร.บ.จัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ”ซึ่งเนื้อหาของร่างกฎหมายดังกล่าว ที่มีอยู่ 20 มาตรา นอกจากจะสอดรับกับมาตรา 63 ของนายสมัครแล้ว ยังบ่งบอกถึงความเป็น “กฎหมายเผด็จการ”ที่ขัดต่อ รธน.และละเมิดสิทธิเสรีภาพในการจัดชุมนุมของประชาชนอย่างร้ายแรง!
เพราะกำหนดว่า ใครจะจัดชุมนุม ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการ(ถ้าใน กทม.คณะกรรมการฯ มีผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นประธาน ส่วนใน ตจว.มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน) พร้อมกำหนดให้คำตัดสินของคณะกรรมการฯ ถือเป็นที่สุด(ซึ่งเท่ากับดึงอำนาจศาลมาอยู่ที่คณะกรรมการ โดยที่ผู้ชุมนุมไม่สามารถอุทธรณ์ใดใดได้) ส่วนลักษณะการชุมนุม ห้ามชุมนุมบนถนน ,ห้ามตั้งเวทีปราศรัยกีดขวางการจราจร ,ห้ามใช้เครื่องขยายเสียง ,ห้ามถ่ายทอดการชุมนุม ,ห้ามเคลื่อนย้ายสถานที่ชุมนุม ฯลฯ หากใครจัดชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการฯ แม้การชุมนุมจะเป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ก็ต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือหากใครจัดชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต และเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ก็ต้องได้รับโทษอีกเช่นกัน จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฯลฯ นอกจากนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าว ยังติดดาบให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ใช้อำนาจสามารถสลายการชุมนุมได้ โดยไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา หากเป็นการกระทำโดยสุจริต...
ทั้งนี้ นอกจากนายสมัครและพรรคพลังประชาชนจะพยายามออกกฎหมายเพื่อห้ามชุมนุมแล้ว นายสมัครยังได้ผุดไอเดียจัดงานใหญ่ 5 งาน เช่น “งานวันแม่ถึงวันพ่อ”12 ส.ค.-5 ธ.ค.เป็นเวลา 116 วัน โดยอ้างว่า เพื่อให้เกิดความสามัคคีปรองดองในชาติที่กำลังแตกแยกกันอยู่ในขณะนี้ และเลือกที่จะใช้ลานพระบรมรูปทรงม้าเป็นสถานที่จัดงานด้วย ซึ่งหลายฝ่ายไม่เชื่อใจในเจตนาของนายสมัครเท่าใดนัก ว่าจริงใจที่จะให้เกิดความปรองดองแค่ไหน หรือเพียงต้องการกดดันให้กลุ่มพันธมิตรพ้นจากถนนราชดำเนิน-สะพานมัฆวานฯ ที่อยู่ใกล้ลานพระบรมรูปทรงม้าเท่านั้น!?!
ลองไปดูปฏิกิริยาจากฝ่ายต่างๆ ในสังคมว่าจะรู้สึกอย่างไรต่อแนวคิดของนายสมัครและพรรคพลังประชาชน ทั้งในแง่การออกกฎหมายใหม่ที่อ้างว่าแค่จัดระเบียบการชุมนุม รวมทั้งการจัดงานใหญ่เพื่อสร้างความปรองดองของคนในชาติ
นายนิติธร ล้ำเหลือ กรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ชี้ว่า นอกจากรัฐบาลจะไม่มีสิทธิออกกฎหมายที่จะจำกัดสิทธิในการชุมนุมแล้ว เนื้อหาของร่างกฎหมายดังกล่าวยังให้สิทธิขาดแก่รัฐและรัฐบาลในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้จัดชุมนุม แถมยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมได้โดยไม่ต้องรับผิด ซึ่งเท่ากับให้รัฐมี “กองกำลัง”ของตัวเองที่จะจัดการสลายการชุมนุมได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบใดใด
“การชุมนุมเนี่ย มันไม่สามารถที่จะไปออกกฎหมายมาเป็นการเฉพาะเพื่อจำกัดสิทธิในการชุมนุมได้ เพราะลำพังมาตรา 63 นั้นเนี่ย มันเป็นตัวกำหนดที่อนุญาตให้ประชาชนมารวมกลุ่มใช้สิทธิในการชุมนุมได้ ในเนื้อหามีเท่านั้นเอง ส่วนการใช้สิทธิอื่นๆ การสื่อสารอะไรพวกนี้มันก็เป็นสิทธิตาม รธน.ทั้งนั้น และเหล่านี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และในบางเรื่องนั้น รธน.ก็ไม่อนุญาตให้ออกกฎหมายเป็นการเฉพาะ เช่น สิทธิในการพิทักษ์ ปกป้อง รักษา รธน.ปกป้องสถาบันกษัตริย์ ปกป้องชาติ แต่ถ้ามาดูตามร่างกฎหมาย(ของพรรค พปช.)เนี่ย แม้จะบอกว่าจัดระเบียบการชุมนุม แต่มันก็ไปกระทบต่อสิทธิอื่นๆ ที่รับรองและคุ้มครองไว้ตามบทบัญญัติ รธน. ในขณะเดียวกันในกรณีที่มีข้อกำหนด เช่น คณะกรรมการที่จะพิจารณาเรื่องการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ชุมนุมเนี่ย ก็จะเป็นตัวแทนรัฐทั้งนั้น ไม่มีส่วนที่เป็นของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องและมีความเข้าใจมากกว่า เช่น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือกรมคุ้มครองสิทธิฯ หรือสภาทนายความที่เขามีด้านสิทธิมนุษยชน หรือองค์กรพัฒนาเอกชน ในพื้นที่ต่างๆ อันนี้ก็เท่ากับว่าระดับคณะกรรมการก็ไปอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลอยู่ดี และที่ผ่านมาก็ชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่รัฐหรือข้าราชการและฝ่ายบริหารเองเนี่ย ก็มักจะไม่เห็นด้วยกับการใช้สิทธิของประชาชนในการชุมนุมเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ”
“ส่วนลักษณะของการชุมนุมนั้น ลักษณะทางกายภาพเป็นเรื่องตามปกติที่ต้องใช้เครื่องขยายเสียง ที่อาจจะต้องไปใช้สิทธิบนพื้นถนนอะไรต่างๆ เพราะเขามุ่งตรงที่จะกดดันเรียกร้องให้ รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหา ฉะนั้นถ้ามันไม่มีมาตรการในการกดดันเลยเนี่ย การชุมนุมมันก็จะไม่มีทางเป็นผลได้เลย รัฐก็จะไม่ให้ความสำคัญ ไม่ให้ความสนใจกับเรื่องเหล่านี้เลย อันนี้ก็เป็นลักษณะเฉพาะของการชุมนุม ...ถึงที่สุดถ้าดูตาม(ร่างกฎหมายของพรรค พปช.)นี้ ก็เท่ากับรัฐบาลต่างหากจะเป็นผู้อนุญาตสุดท้าย ข้าราชการเองก็ต้องไปถามความเห็นรัฐบาลหรือดูอารมณ์รัฐบาลในขณะนั้นว่า เห็นด้วยกับการชุมนุมนี้มั้ย ถ้าไม่เห็นด้วย ก็ต้องดำเนินการไม่อนุญาตให้ชุมนุม เพราะมันก็จะมีผลต่อการเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน(ของข้าราชการ) ในขณะเดียวกัน การอนุญาตให้มีการสลายการชุมนุมโดยไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง-ทางอาญา กม.ฉบับนี้ก็ไม่ต่างกับกฎอัยการศึก ประกาศในภาวะฉุกเฉินหรือ พ.ร.บ.ความมั่นคง ถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่าน ก็เท่ากับว่า รัฐก็จะมีกองกำลังอีกกองกำลังหนึ่งต่างหากเลยเฉพาะ ที่ไม่ใช่ทหาร ไม่ใช่ตำรวจ เข้าไปสลายการชุมนุมได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบใดใดทั้งสิ้น”
นายนิติธร ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การชุมนุมที่ผ่านมา แม้ไม่มีกฎหมายเฉพาะ ก็ไม่เคยเกิดเหตุรุนแรง ส่วนเหตุรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นกรณี 14 ตุลาฯ ,6 ตุลาฯ หรือพฤษภา ’35 นั้น เหตุเกิดจากรัฐไม่ชอบการชุมนุมทั้งนั้น ดังนั้น แทนที่นายสมัครและพรรคพลังประชาชนจะออกกฎหมายมาห้ามการชุมนุม ควรออกกฎหมายกำหนดวิธีการว่าเจ้าหน้าที่รัฐควรปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมอย่างไรมากกว่า และว่า การแก้ไขปัญหาการชุมนุมนั้น ไม่ใช่เรื่องยาก แค่รัฐบาลรับฟังและนำสิ่งที่ผู้ชุมนุมนำเสนอไปแก้ไข ก็จบ
ด้าน อ.วิทยากร เชียงกูล คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ก็ไม่เห็นด้วยเช่นกันที่พรรคพลังประชาชนเสนอให้ออกกฎหมายควบคุมการชุมนุม เพราะการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทั่วโลกยอมรับ พร้อมเชื่อว่า ประชาชนคงไม่ยอมให้รัฐบาลออกกฎหมายดังกล่าวแน่ และว่า นายกฯ ไม่ควรแก้ปัญหาการชุมนุมของพันธมิตรฯ ด้วยการแก้ รธน.เพราะการชุมนุมของพันธมิตรฯ เป็นปัญหาของนายกฯ เอง ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ รธน.
“ผมว่าคนคงออกมาคัดค้าน(กฎหมายใหม่ของพรรค พปช.) เพราะนี่มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน รธน.ฉบับนี้เข้าใจว่าคล้ายกับ รธน.2540 นะ เรื่องสิทธิในการชุมนุมเนี่ย ประเทศไหนๆ เขาก็ให้กัน และความจริงมันก็มีจำกัดเหมือนกันนะ ว่าการชุมนุมจะต้องไม่รบกวนเสรีภาพของคนอื่นอะไรต่างๆ อย่างที่เคยมีคนพวกครูไปฟ้องร้องอะไรต่างๆ เขาก็ยังฟ้องร้องได้ เพราะฉะนั้นก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องมาเปลี่ยน(กฎหมายที่มีอยู่เดิม) คือปัญหาที่เขา(นายสมัคร)แก้ไขการชุมนุมของพันธมิตรฯ ไม่ได้ มันเป็นปัญหาของเขาเอง ไม่ใช่ปัญหาเรื่อง รธน. (ถาม-มองเนื้อหา พ.ร.บ.จัดระเบียบชุมนุมในที่สาธารณะยังไง ที่ต้องขออนุญาตก่อน?) มันก็คงพยายามสกัดกั้น(การชุมนุม)มากขึ้น พยายามหากลวิธีที่จะทำให้มันยากขึ้น (ถาม-มองว่ากรณีที่คุณสมัครจะจัดงานใหญ่ 5 งานเพื่อความปรองดองในประเทศฟังได้มั้ย?) ผมว่าเขาก็คงทำได้ เพราะเขามีอำนาจ แต่ความชอบธรรมเนี่ย คนก็สงสัย อยู่ๆ คุณจัดกระทันหัน และพยายามที่จะไปจัดที่ลานพระบรมรูปทรงม้าด้วย สถานที่จัดเยอะแยะ ทำไมคุณต้องไปจัดตรงนั้นอะไรอย่างนี้ มันก็แปลก และจัดตั้งเป็น 100 กว่าวัน มันก็ประหลาดๆ”
อ.วิทยากร ยังมองความพยายามของรัฐบาลที่จะแก้ รธน.ด้วยว่า จนถึงขณะนี้ยังพยายามแก้ รธน.เพื่อปกป้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งแม้จะพยายามหามาตราอื่นมาผสมโรงด้วยในการแก้ รธน.เช่น แก้วิธีเลือกตั้ง ส.ส.และที่มาของ ส.ว. แต่จริงๆ แล้ว ต้องการแก้แค่ 2 เรื่องมากกว่า คือเรื่องยุบพรรค(มาตรา 237)และการตัดสินคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ(มาตรา 309)
ขณะที่นายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา ก็ชี้ว่า เจตนาของพรรคพลังประชาชนที่เสนอให้ออกกฎหมายใหม่ในการจัดระเบียบการชุมนุมฯ นั้น ก็เพื่อขัดขวางการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายที่ขัดต่อ รธน.เพราะละเมิดหลักการของ รธน.ที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนชาวไทยไว้ในมาตรา 4 ,26 ,27 ,28 ,29 ดังนั้นหากกฎหมายดังกล่าวสามารถผ่านสภาได้เพราะรัฐบาลมีเสียงข้างมาก แต่เมื่อมาถึงชั้นวุฒิสภา ตนก็จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายดังกล่าวแน่นอน
“หลักการสำคัญมันมีอยู่ว่า การออกกฎหมายที่จะตัดสิทธิของประชาชนเนี่ย จะทำได้ต้องเป็นกฎหมายที่เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคง และทางเศรษฐกิจการเงินการคลัง ถ้าเป็นเรื่องการออกกฎหมายธรรมดาเนี่ย อย่างสมมติว่า เป้าหมายก็คือ ออกไม่ให้มีการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ผมถือว่าขัด รธน.นะ และขัดกับหลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองในการชุมนุมทางการเมือง เขาบอกว่าเขาชุมนุม คุณบอกเฮ้ย! ไม่ให้ ต่อไปนี้จะชุมนุมต้องมาขออนุญาตตำรวจก่อน แล้วเสรีภาพการชุมนุมมันจะอยู่ตรงไหนล่ะ (ถาม-นี่ยังไม่รวมกรณีที่ให้อำนาจ เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมโดยไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง-อาญา?) ไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่ต้องรับผิดทางอาญาทางแพ่ง ไปกันใหญ่เลย ก็คือกฎหมายเผด็จการน่ะ (ถาม-เชื่อมั้ยว่า ถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่านสภามาได้ พันธมิตรฯ ไปขอชุมนุม คงไม่ได้อยู่แล้ว?) ยังไงก็ตาม มันต้องมาที่วุฒิสภา ถ้าผมเห็นว่าไม่ชอบใช่มั้ย ผมก็ขอส่งตีความที่ศาลรัฐธรรมนูญว่าขัด รธน. ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าขัด รธน.มัน(กฎหมายดังกล่าว)ก็จะตกไปเลย”
นายวรินทร์ ยังมองกรณีที่นายสมัครจะจัดงานใหญ่ “วันแม่ถึงวันพ่อ”เพื่อให้เกิดความปรองดองในชาติด้วยว่า เจตนาของนายสมัครคงต้องการไล่พันธมิตรฯ ให้ออกไปจากถนนมากกว่า ซึ่งคงยาก เพราะพันธมิตรฯ คงอ่านเกมออก และว่า จริงๆ ถ้านายสมัครอยากให้เกิดความปรองดอง ก็แค่หยุดราวีฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เห็นด้วยกับตนก็เพียงพอแล้ว
ด้านนายบรรจง นะแส เลขาธิการคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ มองกรณีที่นายสมัครจะแก้ รธน.มาตรา 63 และพรรคพลังประชาชนเสนอออกกฎหมายจัดระเบียบการชุมนุมฯ ว่า เป็นความคิดที่ “เผด็จการ”และ “ถอยหลังลงคลอง”ซึ่งชาวบ้านคงไม่ยอมให้รัฐบาลออกกฎหมายดังกล่าวแน่ และว่า ยิ่งรัฐบาลพยายามปิดกั้นไม่ให้ประชาชนแสดงออกหรือเรียกร้องความเป็นธรรมด้วยการชุมนุม ก็จะยิ่งเป็นการเพิ่มแรงกดดันและความขัดแย้งให้มากขึ้น เพราะประชาชนจะไปแสดงออกด้วยวิธีที่รุนแรงแทน
“คือการชุมนุมเนี่ยมันเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่ง อย่างผมอยู่ทางใต้ใช่มั้ย การไปห้ามการชุมนุมหรือไม่ให้ประชาชนได้แสดงออก ถ้ามันมีแรงกดดันหรือมีความขัดแย้งเนี่ย มันจะไปออกทางอื่นนะ เช่น ทางใต้อาจจะออกมาในแง่ไม่พอใจเจ้าหน้าที่ก็ไปทำร้าย ไปวางระเบิด ไปเผาโรงเรียน ทำตรงนี้ใช่มั้ย ในระบอบประชาธิปไตย ถ้าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม แทนที่จะไปขัดขวางหรือออกกฎหมายขัดขวางเนี่ย รัฐน่าจะออก กม.ส่งเสริมการชุมนุมด้วยซ้ำ จัดเวทีให้ จัดเครื่องเสียงให้ มีฝ่ายกองเลขาฯ คอยตามประเด็นข้อมูลที่เป็นข้อเรียกร้องหรือเป็นความเดือดร้อนของประชาชน การที่นายกฯ สมัครคิดเรื่องนี้ ผมคิดว่าถอยหลังเข้าคลองนะ และเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยสร้างสรรค์เท่าไหร่ ผมไม่เชื่อว่าจะทำได้ ผมเชื่อว่าชาวบ้านไม่ยอม (ถาม-ดูเนื้อหาของ พ.ร.บ.จัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะยังไง ที่ต้องขออนุญาตก่อน ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกและปรับ และให้เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมได้โดยไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา?) ผมว่านี่มันเป็นแนวคิดเผด็จการ ถ้าเราพูดกันตรงไปตรงมา วันนี้(โทรทัศน์)ช่องเอ็นบีทีให้ ส.ส.ของพรรค พปช. คุณจตุพร พรหมพันธ์ กับรองโฆษกรัฐบาล(ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ)และคุณวีระ มุสิกพงศ์ ใช้สื่อในการเอาเปรียบฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ถ้าคุณแน่จริงก็ให้ฝ่ายพันธมิตรมีโอกาสได้ออกทีวีสาธารณะอย่างนั้นเหมือนกันสิ คือในขณะที่คุณพยายามออกกฎหมายห้ามไม่ให้ฝ่ายพันธมิตรได้แสดงออก แต่คุณกลับปล่อยให้(ส.ส.ตัวเอง)ใช้อำนาจรัฐใช้เครื่องมือของรัฐซึ่งเป็นของสาธารณะโดยรวมเนี่ย มาเคลื่อนไหว อย่างนี้ในความรู้สึกผม ไม่แฟร์”
ส่วนกรณีที่นายสมัครจะจัดงานใหญ่ “วันแม่ถึงวันพ่อ”โดยอ้างว่าเพื่อสร้างความปรองดองในชาตินั้น นายบรรจง มองว่า แนวคิดจัดงานดังกล่าวเป็นเทคนิคทางการเมืองของนายสมัครเพื่อความอยู่รอดของตัวเองและรัฐบาลมากกว่า เพราะขณะนี้นายสมัครถูกต้อนจนมุม ไม่รู้จะไปออกทางไหน จึงพยายามหาทางออกทุกทาง อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวแล้วเชื่อว่า สายเกินไปแล้วที่นายสมัครจะใช้เทคนิคทางการเมืองดังกล่าวเพื่อสกัดกั้นหรือสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เพราะขณะนี้ชาวบ้านทั่วประเทศตื่นแล้ว รู้ทันรัฐบาลแล้วว่าเป็นอย่างไร ไร้จริยธรรมแค่ไหน!!