xs
xsm
sm
md
lg

เพราะขี้รดกางเกง จึงแกล้งล้มบนโคลน

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้ขึ้นเวทีปราศรัยเมื่อคืนวันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ถึงกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช ได้หลบนักข่าวไปเข้าห้องน้ำเป็นเวลานาน แล้วออกมาด่ากราดสื่อสารมวลชนด้วยถ้อยคำหยาบคายเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2551 นั้นเป็นการกลบเกลื่อนความผิดพลาดของตัวเองและไม่ยอมตอบคำถาม โดยได้ยกตัวอย่างอุปมาอุปมัยว่า:

“ปัญหาเหล่านี้ นายสมัคร ไม่ตอบ และตอบไม่ได้ จึงใช้วิธีกลบเกลื่อนเหมือนกับว่า ขี้แตกใส่กางเกงแล้วแกล้งหกล้มบนโคลน เพื่อไม่ให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองขี้แตกนั่นเอง”

การอธิบายยกตัวอย่างดังที่ว่านี้เป็นสิ่งที่เข้าใจง่าย และทำให้ประชาชนทั่วไปไม่ตกหลุมพรางในการเบี่ยงเบนประเด็นความสนใจเพื่อกลบเกลื่อนเรื่องสำคัญของบ้านเมือง

สื่อสารมวลชนและนักข่าวที่ติดตามนายกรัฐมนตรีก็ยังมีสติ และไม่หลงไปกับ บทละครที่กลบเกลื่อนหรือการหลีกเลี่ยงไม่ตอบคำถามที่นักข่าวจะต้องถาม ดังปรากฏเป็นคำชี้แจงของนักข่าวที่ติดตามนายกรัฐมนตรีความตอนหนึ่งว่า:

“ด้วยสถานการณ์ในวันดังกล่าว มีประเด็นสำคัญที่นายกรัฐมนตรี ต้องให้ความกระจ่างหลายประเด็น อาทิ เหตุผลเรื่องการปรับ ครม.ในตำแหน่งที่สำคัญ ซึ่งนายกฯ ได้ยืนยันก่อนหน้านั้น ว่า จะชี้แจงรายละเอียดด้วยตัวเอง ภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกอบกับมีกระแสข่าวนายกรัฐมนตรีได้เตรียมตัวเดินทางลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ปัญหาเขาพระวิหาร

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่สำคัญ อาทิ การออกมาเปิดเผยข้อมูล ว่า มีคนใกล้ชิดนายกรัฐมนตรีรับเช็คมูลค่า 10 ล้านบาท โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งทั้งหมดเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชน ซึ่งผู้สื่อข่าวได้พยายามสอบถามประเด็นเหล่านี้จากปากของนายกรัฐมนตรี ภายหลังจบรายการ “สนทนาประสาสมัคร” ที่สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ในวันที่ 3 ส.ค.แล้ว แต่ไม่ได้รับการชี้แจง”

การไม่ได้รับการชี้แจงคำถามในใจนักข่าวที่ตั้งใจจะทำหน้าที่ของตัวเองในการตั้งคำถามให้ “นายกรัฐมนตรี” ตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับปัญหาบ้านเมืองนั้น ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวและไร้มารยาทเหมือนกับที่นายสมัคร เคยตั้งคำถามกับนักข่าวว่า “เมื่อคืนคุณเสพถุนมาหรือยัง?”

นักข่าวเหล่านั้น พวกเขาเพียงทำหน้าที่ของตัวเองและต้อง “อดทนรอนายกรัฐมนตรี” ที่บอกกับนักข่าวว่านั่งเล่นกระดิกเท้าอยู่ในส้วมถึง 40 นาที ให้ออกมาเผชิญหน้ากับคำถามของบ้านเมืองในฐานะ “นายกรัฐมนตรี” ที่มีหน้าที่รับผิดและรับชอบต่อชาติบ้านเมือง ไม่ใช่ในฐานะตาลุงแก่ๆ ขี้บ่นหยาบคายและไร้มารยาท


นายสมัครควรจะทราบเอาไว้ด้วยว่า ไม่ได้มีใครมาบังคับให้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ได้มีใครมาบังคับให้มาเป็นบุคคลสาธารณะ ดังนั้น ถ้าไม่อยากให้มีนักข่าวติดตามเพื่อถามคำถามของบ้านเมือง ก็ควรรีบลาออกไปจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและไปเลี้ยงหลานอยู่กับบ้านเสียโดยเร็ว

เป็นที่น่าสังเกตว่า นายสมัคร สุนทรเวช หลีกเลี่ยงไม่ยอมตอบคำถามนักข่าว ดังจะเรียงจากล่าสุดย้อนขึ้นไป ดังนี้

(1) นักข่าวกำลังสนใจและอยากสัมภาษณ์เกี่ยวกับข้อกล่าวหาของ ส.ส.กลุ่มอีสานพัฒนา พรรคพลังประชาชน ว่ามีการจ่ายเงินให้คนสนิทนายสมัครจำนวน 10 ล้านบาท เพื่อซื้อตำแหน่งรัฐมนตรี จริงหรือไม่ และเป็นใคร?

(2) นักข่าวกำลังสนใจและอยากสัมภาษณ์เกี่ยวกับข้อกล่าวหาของ ส.ส. กลุ่มเดียวกันนี้ว่าสตรีวัย 38 ปีที่เป็นเจ้าของเต๊นท์รถมือสองซึ่งมีความสัมพันธ์พิเศษกับบิ๊กทำเนียบ และเป็นผู้ทำหน้าที่ฟอกเงินให้กับบิ๊กการเมืองนั้น จริงหรือไม่ เป็นใครกันแน่ เกี่ยวข้องกับนายสมัครอย่างไร?

(3) นายสมัครจะแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร? เพราะความรุนแรง
ขยายตัวลุกลามขึ้นมาถึงตัวเมืองสงขลาแล้ว

(4) นายสมัครจะแก้ไขปัญหาเขาพระวิหารอย่างไร ในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่ามติ ครม.และแถลงการณ์เป็นโมฆะจะแจ้งความเป็นโมฆะแก่สหประชาชาติและเขมรหรือไม่?

นายสมัครจะว่าอย่างไรที่เมียนายฮุนเซนนำคนนับพันรุกแผ่นดินไทยขึ้นไปบนปราสาทพระวิหาร และคณะรัฐมนตรีของไทยภายใต้การนำของนายสมัครกำลังจะยินยอมถอยทหารออกจากพื้นที่ของประเทศไทย และยอมรับให้กลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชา ใช่หรือไม่?

(5) ทำไมจึงต้องเอาคนที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าขาดคุณสมบัติมาเป็นรัฐมนตรี
ว่าการกระทรวงพาณิชย์?

(6) ทำไมจึงต้องเอาคนที่มีคดีติดตัวและมีปัญหาว่าขาดคุณสมบัติหรือไม่ มาเป็น
รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย?

(7) ทำไมจึงเอาพ่อค้านายทุนมาเป็นรัฐมนตรี?

(8) ทำไมจึงเอาคนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนที่เป็นประธานหรือที่ปรึกษาบริษัทเอกชนเข้ามานั่งประชุม ครม.โดยหลีกเลี่ยงไม่แจ้งทรัพย์สิน

(9) ทำไมยังให้รัฐมนตรี 3 คน ไม่หยุดทำหน้าที่แล้วยังปล่อยให้เข้าประชุมคณะรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้รับฟ้องในคดีหวยบนดินแล้วตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2551?

9 คำถามนี้เป็นแค่ตัวอย่างเฉพาะสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลานี้เท่านั้น ยังไม่ได้นับอีกหลายสิบคำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบก่อนหน้านี้ เช่น ข่าวความรุนแรงที่อันธพาลของรัฐบาลได้รุมทำร้ายและพยายามฆ่าประชาชนที่มาชุมนุมกับพันธมิตรฯ ในหลายจังหวัดโดยเฉพาะที่จังหวัดอุดรธานี, ความไม่คืบหน้าคดีดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ของนายจักรภพ เพ็ญแข, ข่าวการทุจริตโครงการขนาดยักษ์ของรัฐบาลหลายโครงการ, ข่าวการทุจริตการขึ้นราคาน้ำตาล, ฯลฯ

จะผ่านไปกี่วันนักข่าวและประชาชนจะต้องไม่หลงในเทคนิค “สร้างข่าวใหม่ไร้สาระ เพื่อกลบข่าวสำคัญของชาติ” เป็นอันขาด เพราะการเมืองที่เน่าเฟะ หน้าด้าน และไร้ยางอายเช่นนี้ สื่อสารมวลชน นักวิชาการ และภาคประชาชน ยิ่งต้องมีสติในการทำหน้าที่ของตัวเองอย่างแข็งขัน เพื่อหยุดยั้งความอุบาทว์ทางการเมืองให้ได้

เพราะนอกจากสื่อสารมวลชนจะถูกคุกคามในการทำหน้าที่ของตัวเองแล้ว แม้แต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ยังเป็นฝ่ายถูกคุกคามในทุกวิถีทางเช่นเดียวกัน

เพราะการมีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประท้วงและคัดค้านอย่างต่อเนื่องยาวนาน นอกจากจะทำให้ประชาชนหูตาสว่างในการตรวจสอบรัฐบาลไม่ให้ประพฤติชั่วแล้ว ยังทำให้ฝ่ายการเมืองถูกกดดันไม่ให้ไปลดอำนาจของสถาบันตุลาการที่กำลังเดินหน้าพิจารณาคดีทุจริตเลือกตั้ง และการทุจริตคอร์รัปชันอีกด้วย

รัฐธรรมนูญมาตรา 63 ที่รัฐบาลวางแผนเอาไว้ที่จะไปแก้ไขก็ดี หรือการร่างกฎหมายออกมาเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญในเรื่องการชุมนุมก็ดี กำลังจะกลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่จับมือกับฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของประชาชน

ห้ามชุมนุมบนผิวการจราจร, ห้ามถ่ายทอดสด, ห้ามใช้เครื่องขยายเสียง ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องอุบาทว์ในการออกกฎหมายการชุมนุม เป็นการถอยหลังจากความเป็นประเทศอารยะ และเป็นการประจานนักการเมืองไทยให้เป็นที่น่าอับอายขายหน้าไปทั่วโลก

เพราะนักการเมืองเหล่านี้หลายคนก็ยังเคยเคลื่อนมวลชนในนาม นปก. ใช้ผิวการจราจรไปคุกคามที่หน้าบ้านพักของประธานองคมนตรี ทำลายทรัพย์สินทางราชการ และทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ นักการเมืองเหล่านี้ก็ดูเห็นดีเห็นงามกันอย่างพร้อมเพรียง ไม่ใช่หรือ?

ถึงขนาดกลุ่ม นปก.ของรัฐบาล ส่งมอบชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญบนผิวจราจรหน้าทำเนียบรัฐบาล ก็ยังเห็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชาชน ยังไปปราศรัยบนท้องถนนกันอย่างแข็งขัน

นี่คือความเน่าเฟะของการเมืองไทยในตอนนี้ ที่หมดสภาพในการบริหารประเทศอย่างสิ้นเชิง ฝ่ายบริหารเต็มไปด้วยผู้ที่กระทำผิดต่อกฎหมาย, ฝ่ายนิติบัญญัติทำแต่หน้าที่ออกกฎหมายเพื่อตัวเองและพวกพ้องให้พ้นความผิดจากการตรวจสอบของฝ่ายตุลาการและภาคประชาชน และเวลาเจอสื่อสารมวลชนก็หลบเลี่ยงไม่ยอมตอบคำถาม

รัฐธรรมนูญที่กำลังจะแก้ไขก็ถูกจับได้อย่างชัดเจนว่าเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 190 ที่จะไปล้มล้างความผิดของตัวเองเรื่องการทำสนธิสัญญา, มาตรา 266 เพื่อที่จะทำให้ ส.ส.ไปแทรกแซงงบประมาณและการแต่งตั้งข้าราชการได้, มาตรา 237 เพื่อที่จะหนีการยุบพรรคจากการที่กรรมการบริหารพรรคไปทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง, มาตรา 309 เพื่อตัดตอนองค์กรอิสระที่ตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งหมดนี้ต่อให้ประชาชนจับได้ไล่ทัน นักการเมืองเหล่านี้ก็ยังหน้าด้าน เดินหน้าต่อไปโดยไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น

นี่คือการเมืองที่ทำมาหากินสร้างประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง คุกคามการตรวจสอบของตุลาการ ทำลายการตรวจสอบของประชาชน และปิดกั้นการตรวจสอบของสื่อสารมวลชน ทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ตัวเองถูกตรวจสอบหรือถูกลงโทษทั้งทางกฎหมายและทางสังคม

ในทางตรงกันข้ามก็พร้อมที่จะใช้กลไกและเครื่องมือทางอิทธิพลและกฎหมายทำลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยในทุกวิถีทางอย่างโหดเหี้ยมป่าเถื่อน โดยไม่สนใจว่าจะมีความถูกต้องชอบธรรมหรือไม่

สะท้อนให้เห็นว่าการเมืองในระบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ ไม่สามารถแสวงหา “จิตสำนึก” ของความเป็นมนุษย์ที่แยกแยะความผิดชอบชั่วดีได้ ทำได้ทุกอย่างแม้กระทั่งการยอมสูญเสียดินแดนของชาติ

ใครอยู่พรรคไหนก็ยกมือสนับสนุนนักการเมืองพรรคการเมืองนั้นอย่างไม่ลืมหูลืมตาและไม่มีความเกรงกลัวหรือความละอายต่อบาปแม้แต่น้อย

ที่สำคัญเลือกตั้งอีก พวกนี้ก็ซื้อเสียงและใช้อิทธิพล จนพวกเน่าเฟะเข้ามาครองบ้านครองเมืองทำชั่วต่อไป อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

จึงย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งแสดงว่า การเมืองในระบบที่เป็นอยู่นี้ ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และกำลังล่มสลายในระยะเวลาอันใกล้นี้อย่างแน่นอน

ประเทศนี้จึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมือง และจำเป็นต้องมีเหตุการณ์และกลุ่มบุคคลที่ต้องทำหน้าที่มาเปลี่ยนแปลงเพื่อปฏิรูปการเมือง และสังคมโดยมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและสนับสนุนในการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

กำลังโหลดความคิดเห็น