xs
xsm
sm
md
lg

หญิงอ้อติดคุก กรณีศึกษาการทำงานของ ‘กรรม’!และคนอย่าง‘ประสงค์ – เรืองไกร’

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ไม่ทราบว่าท่านได้อ่านคำพิพากษาของศาลอาญาในคดีสำคัญเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 “โดยละเอียด” หรือยัง?

ถ้ายังละก็ -- ผมขอเสนออย่างแรงกล้าให้หาอ่านกันให้ได้ !

นอกจากความยุติธรรมของศาลสถิตยุติธรรม การทำงานของ ป.ป.ช. ชุดปี 2543 – 2544 การทำงานของ คตส. และการทำงานของภาคส่วนอื่นๆ ในกระบวนการยุติธรรมแล้ว ผมขอให้ท่านรำลึกถึงคนไทยอีก 2 คนที่ทำหน้าที่ตามวิชาชีพและตามฐานภาพของ “พลเมือง” ได้อย่างดีเยี่ยมอีก 2 คน

คนหนึ่ง – คุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ รวมถึงทีมงานข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ยุคปี 2543 – 2544

คนหนึ่ง – คุณเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหาในปัจจุบัน


ในคำพิพากษาไม่มีอะไรเกี่ยวข้องพาดพิงถึงคนทั้งสองหรอก แต่ถ้าไม่มีคนทั้งสอง อย่าว่าแต่คำพิพากษาเลย อาจจะไม่มีคดีนี้เกิดขึ้นเลยก็ได้ เพราะทุกประการเตรียมการมาเป็นอย่างนี้ตาม “ปกติธุรกิจ” ของคนมีเงินหมื่นล้านแสนล้าน และแม้เรื่องจะผิดพลาดผิดแผนไป มันก็ถูกเป่าให้จบไปแล้วตาม “ปกติธุรกิจ” ของผู้เกี่ยวข้องคนสำคัญของเรื่องนี้ที่มีตำแหน่งเป็นถึงนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย

จู่ ๆ อภิมหาเศรษฐีที่มีมือกฎหมายและโดยเฉพาะอย่างยิ่งมือกฎหมายภาษีอากรชั้นดีพลีกายพลีใจทำงานให้เป็นกระตั่กไม่ “พลาด” อย่างนี้หรอกครับ

มันมีที่มาที่ไป!

เรื่องที่เป็นต้นเหตุให้เกิดคดีคือการโอนหุ้นจากคุณหญิงอ้อ – ที่ใช้คนอื่นถือแทน – ให้กับพี่ชายเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 ยอดหุ้นทั้งหมดมีมูลค่า 738 ล้านบาท โดยอำพรางว่าเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ได้รับการยกเว้นภาษีอากร เสียเพียงค่าธรรมเนียมให้โบรกเกอร์

ถ้าจะต้องเสียภาษีอากรจริงๆ พี่ชายคุณหญิงจะต้องจ่ายประมาณ 273 ล้านบาท

แต่เมื่อทำเป็นการซื้อขายในตลาดฯ แล้วเสียค่าธรรมเนียมเพียงประมาณ 7 ล้านบาทเท่านั้น!

โปรดดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนะครับว่ามันตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 ก่อนหน้าคุณทักษิณจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลายปี

ระหว่างปี 2540 – 2543 หรือ 2544 แทบไม่มีใครรู้หรอกว่ามีเรื่องนี้เกิดขึ้น ไม่มีใครคิดไปตรวจสอบอะไร จนกระทั่งเกิดการเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลของบัญชีทรัพย์สินหนี้สินที่คุณทักษิณฯ ยื่นต่อ ป.ป.ช.ต่างกรรมต่างวาระกันโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจที่มีคุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์กุมบังเหียนอยู่ในขณะนั้นเป็นผู้จุดประเด็น แรกเริ่มที่ทำข่าวก็คงไม่ได้มุ่งจับผิดอะไร แต่เพราะสนใจตรงที่เป็นอภิมหาเศรษฐีแสนล้านที่เข้ามาเล่นการเมืองในลักษณะมีโอกาสจะเป็นนายกรัฐมนตรี

ตรวจไปตรวจมากลายเป็นว่าหุ้นในกิจการคุณทักษิณฯ อยู่ในมือคนที่ไม่มีฐานะบังควร
ประเภทเป็นคนรับใช้และคนขับรถของตัวเอง

ที่สุดก็เกิดเป็นคดี “ซุกหุ้น” ที่ ป.ป.ช. รับไว้พิจารณา และมีมติเห็นว่าผิด ส่งเรื่องขึ้นไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ

ในกระบวนการให้ปากคำต่อทั้ง ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ คุณหญิงอ้อ และพี่ชาย ต้องรับรองแข็งขันว่าคุณทักษิณฯ ไม่ได้ซุกหุ้น ไม่ได้ปกปิดอะไรทั้งสิ้น แต่เพราะไม่รู้ หุ้นต่างๆ ในชื่อแปลกๆ นั้นเป็นหุ้นของตนที่ไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ให้ผู้อื่นถือแทน แล้วมีการโอนไปมา

พูดง่ายๆ ว่าคุณหญิงอ้อ และพี่ชาย ให้การ “มัดตัวเอง” เพื่อปกป้องคุณทักษิณฯ !

พอเรื่องมันแดงขึ้นมา ว่าที่ทำทีทำท่าว่าพี่ชายคุณหญิงอ้อซื้อหุ้นจากการซื้อขายในตลาดจากคนทั่วไปที่ก่อนหน้านี้ไม่มีใครรู้ว่าเป็นคนรับใช้ที่ถือหุ้นแทนคุณหญิงอ้อนั้น แท้จริงแล้วเป็นเรื่อง “อำพราง” แท้จริงแล้วเป็นเรื่องโอนให้กันระหว่างน้องสาวกับพี่ชาย ก็เลยเกิดคำถามขึ้นมาว่าจู่ๆ รับทรัพย์สินไป 738 ล้านบาทแล้วทำไมไม่ยื่นแบบเสียภาษี

ข้อเท็จจริงว่าเป็นเรื่อง “อำพราง” เกิดขึ้นในชั้นสอบสวนและพิจารณาคดี

แม้ที่สุดศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินให้คุณทักษิณฯ ไม่ผิด ไม่ต้องรับโทษเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปีในช่วงกลางปี 2544 ก็หาทำให้ข้อเท็จจริงที่รับกันว่า “อำพราง” นั้นเปลี่ยนแปลงไปได้

กรมสรรพากรก็จำเป็นต้อง “ตามน้ำ” เรียกคุณหญิงอ้อกับพี่ชายมาสอบ

แต่ก็จบไปด้วยการบอกว่าเป็นการให้โดยเสน่หา “อุปการะโดยธรรมจรรยา” ได้รับยกเว้นไม่ต้องประเมินภาษีตามประมวลรัษฎากร

มันไม่น่าจะเป็นประเด็นขึ้นมาใหม่ ถ้าไม่มีผู้ชายไทยคนหนึ่งชื่อเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ

คุณเรืองไกรฯ เป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษ เคยทำงานอยู่ใน สตง. นานถึง 5 ปี จากนั้นมาเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีอยู่ข้างนอกทั้งตัวเองและภรรยา เป็นผู้ยกประเด็นขึ้นมาโดยเอากรณีที่ตนเองโดนประเมินภาษีจากการรับหุ้นที่โอนมาจากบิดา ว่าถ้าเป็นอย่างนี้แสดงว่ากรมสรรพากร double standard เสียแล้ว แม้ต่อมากรมสรรพากรจะลุกลี้ลุกลนคืนภาษีให้ คุณเรืองไกรฯ ก็กัดไม่ปล่อย

คงจะจำกันได้นะครับว่าเรื่องนี้น่ะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2549 ช่วงการก่อตัวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ช่วงที่เครือข่ายคุณทักษิณฯ ไล่บี้คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกาอย่างหนัก เพราะคุณหญิงท่านไม่เออออห่อหมกด้วยในหลายประเด็น โดยประเด็นหนึ่งในนี้น่าจะรวมกรณี “ที่ดินรัชดาฯ” ไว้ด้วย

พอเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เกิด คตส.คดีนี้ก็เลยเป็นหนึ่งในคดีสำคัญ!

ข้าราชการกรมสรรพากร และกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการประเมินภาษี ต้องออกจากราชการไปดูเหมือนจะ 5 – 6 คน

สำนวนคดีทำได้ไม่ยาก เพราะข้อเท็จจริงที่ว่า “อำพราง” นั้นรับกันในชั้น ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญช่วงปี 2543 – 2544 แล้ว

เหลือแต่ข้อกฎหมายบางประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัย

โดยเฉพาะประเด็นการยกทรัพย์สินให้โดย “อุปการะโดยธรรมจรรยา” เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ

ซึ่งก็ไม่ยาก เพราะคุณหญิงอ้อและพี่ชายเคยให้การไว้ “แตกต่างกัน” ในชั้น ป.ป.ช. – ศาลรัฐธรรมนูญ กับในชั้นแก้ต่างกับกรมสรรพากร

ถ้าไม่เพราะปกป้องคุณทักษิณฯ คุณหญิงอ้อกับพี่ชายก็คงไม่ต้องตกอยู่ในชะตากรรมเช่นวันนี้

แต่ถ้าไม่มีสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่ตามวิชาชีพอย่างสมศักดิ์ศรี ถ้าไม่มี “พลเมือง” ที่ไม่ละเว้นหน้าที่ที่ต้องทำของตัวเอง รวมทั้งถ้าไม่มีการชุมนุมกดดันคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คนทั้งสองก็คงไม่ต้องตกอยู่ในชะตากรรมปัจจุบัน

แม้ “กรรม” จะใช้เวลาเดินทางหลายปีถึงได้มีคำพิพากษาศาลชั้นต้น

แต่ “กรรม” ก็พิสูจน์ว่าเมื่อใครคนใดก็ตามทำอะไรลงไปแล้ว...ต้องได้รับผลแน่นอน....

ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว!

กำลังโหลดความคิดเห็น