xs
xsm
sm
md
lg

โลกที่ยากจะเย็นลง

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะมองไปทางไหน ก็จะเห็นการพูดถึงปัญหาโลกร้อนไม่จุดใดก็จุดหนึ่ง เหมือนกับว่าถ้าใครตกข่าวนี้ก็เท่ากับตกกระแส และอาจกลายเป็นคนล้าหลังไปในทันทีเอาได้ง่ายๆ

การพูดถึงปัญหาโลกร้อนที่ว่านี้พูดกันในหลายรูปหลายแบบ แต่ที่ขาดแทบไม่ได้และดูจะเป็นการพูดที่เสียงดังกว่าใครเพื่อนก็คือ การรณรงค์แก้ปัญหาโลกร้อน และด้วยการพูดผ่านรูปแบบนี้เองที่ทำให้ผมสังเกตเห็นบ่อยครั้งว่า เป็นการพูดที่เลอะเทอะ คือเป็นการพูดโดยที่ผมไม่แน่ใจด้วยซ้ำไปว่า คนที่พูดนั้นเข้าใจปัญหาโลกร้อนมากแค่ไหน

และที่ผมไม่แน่ใจเลยก็คือว่า การรณรงค์เรื่องปัญหาโลกร้อนที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทยเวลานี้นั้น เป็นเพราะได้รับผลสะเทือนจากการ คุณอัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่รณรงค์เรื่องนี้จนได้รับรางวัลโนเบลเป็นที่เอิกเกริก เพราะผมไม่แน่ใจว่า คนที่ออกมารณรงค์นั้นได้ดูหนังเรื่อง “An Inconvenient Truth” ที่เขาเป็นตัวเดินเรื่องเสมือน “พระเอก” หรือไม่ หรือถ้าหากดูแล้ว ได้มีการตรวจสอบการตั้งคำถามต่อหนังเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน ก่อนที่จะ “เชื่อ” ทุกจุดของหนังไปหมด

ที่ผมออกอาการสงสัยการรณรงค์เกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนที่เป็นไปแทบทั่วทุกสารทิศของเมืองไทยในตอนนี้ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับการรณรงค์นะครับ แต่เป็นเพราะผมเมื่อผมเห็นการรณรงค์ในหลายกรณีมีรูปแบบที่ผมเห็นแล้วก็ให้รู้สึกวิตกกังวลว่า การรณรงค์นั้นจะยิ่งทำให้โลกร้อนเพิ่มขึ้นไปอีก

รู้สึกจนอยากตะโกนออกมาดังๆ ว่า ช่วยหยุดรณรงค์หน่อยเถิด ผมไม่อยากให้โลกร้อนมากไปกว่านี้

เพื่อให้เห็นว่าผมไม่ได้พูดพล่อยๆ ผมอยากจะยกตัวอย่างสักเรื่องสองเรื่องให้เห็นพอหอมปากหอมคอ

อย่างเช่นในคืนวันหนึ่ง ผมเปิดโทรทัศน์ไปพบกับรายการแสดงคอนเสิร์ตของค่ายเพลงใหญ่ค่ายหนึ่งเข้า และตอนที่เจอนั้นก็ให้บังเอิญว่าเป็นเพลงลูกทุ่งที่ผมชอบพอดี ผมจึงนั่งดูและฟังไปจนจบเพลง จากนั้นพิธีกรหน้าคุ้นๆ ก็ออกมาประกาศคั่นรายการตามปกติดังคอนเสิร์ตทั่วไป ฟังๆ ไปสักครู่ผมถึงได้รู้ว่าคอนเสิร์ตนี้เป็นฟรีคอนเสิร์ตรณรงค์เรื่องโลกร้อน

เท่านั้นแหละครับ ผมก็มีอันงงเป็นไก่ตาแตก

เพราะเมื่อดูจากรูปแบบของการจัดคอนเสิร์ตแล้ว ผมไม่เห็นว่าจะมีส่วนไหนที่ทำให้เห็นว่า คอนเสิร์ตนี้จะได้มีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาโลกร้อน เช่น ผมไม่เห็นว่าคอนเสิร์ตนี้จะให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องโลกร้อนแก่คนดูสักแอะเดียว นอกจากพูดซ้ำๆ ซากๆ ว่า คอนเสิร์ตนี้จัดขึ้นเพื่อรณรงค์แก้ปัญหาโลกร้อน ทั้งๆ ที่ถ้าหากจะให้ความรู้แบบง่ายๆ เป็นระยะๆ แก่คนดู (ซึ่งส่วนใหญ่คือชาวบ้านธรรมดาที่เป็นคนหาเช้ากินค่ำที่อาจไม่มีเวลาหรือปัญญาไปดูคอนเสิร์ตราคาแพง ดูได้แต่ฟรีคอนเสิร์ต) ก็น่าจะทำได้

นอกจากจะไม่ให้ความรู้แล้ว ตัวนักร้องที่ออกมาร้องเพลงแต่ละคนนั้น พอถึงช่วงสนทนาทักทายกับคนดู ก็พูดไม่ต่างกับพิธีกรสักกี่มากน้อย แต่ที่ขาดไม่ได้ก็คือ บางรายไม่ลืมที่จะบอกคนดูให้ช่วยซื้อเทปหรือซีดีเพลงของตนที่กำลังวางแผงอยู่ในขณะนี้

ที่เหลือนอกนั้นก็คือ การที่คอนเสิร์ตนี้ถูกออกแบบให้เหมือนคอนเสิร์ตทั่วๆ ไปอย่างที่เขาจัดๆ กันนั่นแหละครับ นั่นคือ บนเวทีจะถูกประดับประดาไปด้วยแสงสีอันตระการตา มีแผ่นสติ๊กเกอร์ ฟิล์ม หรือโฟม อย่างใดอย่างหนึ่งที่ถูกตัดเป็นตัวอักษรประดิษฐ์เพื่อสื่อสารว่านี่คือคอนเสิร์ตอะไร เครื่องเสียงที่ดู (จากจอทีวี) แล้วก็คงกระหึ่มก้องไปทั้งงานและนอกงานออกไป เป็นต้น

ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องสูญเสียพลังงานและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น อย่างไฟที่ใช้นั้น ผมมั่นใจล้านเปอร์เซ็นต์ว่าต้องแพงกว่าค่าไฟต่อเดือนที่ผมใช้อย่างแน่นอน หรืออย่างวัสดุที่ใช้ประดับหลังเวทีนั้น เขาคงไม่เก็บไปใช้ต่อหรอกครับ นอกจากทิ้งเป็น “ขยะ”

แล้วอย่างนี้มันจะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้ยังไงหว่า...? ช่วยทำให้โลกร้อนขึ้นไม่ว่า...!

นอกจากการรณรงค์ในลักษณะที่ว่าแล้ว ในลักษณะอื่นผมก็ไม่แน่ใจเช่นกันว่าจะเป็นไปในทำนองเดียวกับที่ผมยกตัวอย่างมาเช่นกัน อย่างที่ผมเห็นบ่อยมากก็เช่น การจัดริ้วขบวนอันสวยงามแล้วเดินพาเหรดรณรงค์ไปทั่วเมือง ซึ่งถ้าสังเกตรูปแบบริ้วขบวนแล้วจะเห็นได้ว่า วัสดุที่นำมาตกแต่งริ้วขบวนนั้นคงใช้สำหรับงานนี้งานเดียวแล้วก็ทิ้งเป็น “ขยะ” ไปเหมือนกัน

และที่ผมเห็นว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิงก็คือการรณรงค์ของรัฐ เพราะเป็นการรณรงค์ที่มีเงื่อนปัจจัยหลายซับหลายซ้อนมากกว่าที่จะเกิดขึ้นด้วยสำนึกในปัญหาโลกร้อน ที่เห็นชัดๆ ก็คือ เป็นการรณรงค์ที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานปัญหาพลังงาน ไม่ใช่ปัญหาโลกร้อน แต่บางครั้งก็นำโลกร้อนมาอ้างในการรณรงค์

พูดกลับก็คือ ถ้าน้ำมันยังอยู่ที่ลิตรละไม่ถึง 10 บาทดังแต่ก่อน เราก็คงไม่มีทางเห็นรัฐพูดถึงเรื่องโลกร้อนเป็นแน่

เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงตอนที่ คุณทักษิณ ยังเป็นนายกฯ แล้วออกมารณรงค์เรื่องการใช้พลังงาน (ตอนนั้นปัญหาโลกร้อนยังไม่ “ร้อน” เหมือนวันนี้) โดย คุณทักษิณ ได้ออกรายการสดในคืนวันหนึ่งเพื่อรณรงค์ให้ทุกคนประหยัดไฟด้วยการช่วยกันปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็นต้องใช้พร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากประชาชนด้วยดี จากนั้น คุณทักษิณ ก็ชี้ให้เห็นตัวเลขว่า ที่ต่างช่วยกันปิดไฟไป 5 นาทีเมื่อกี้นี้นั้นช่วยลดการใช้ไฟคิดเป็นมูลค่าเท่าไร

ครับ...เห็นตัวเลขแล้วก็ทำให้มีความหวังนะครับ...แต่ทั้งก่อนและหลัง คุณทักษิณ จะรณรงค์นั้น ผมได้บอกใครต่อใครหลายคนว่า คอยดูเถิด การปิดไฟเพียง 5 นาทีที่ว่านั้นจะเป็นไปแค่คืนเดียว ยิ่งในกรุงเทพฯ แล้วยิ่งชัวร์ป๊าด แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะผมจำได้ว่า คืนที่ คุณทักษิณ ออกมารณรงค์นั้น มีตึกไหนในกรุงเทพฯ บ้างที่ปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็นต้องใช้เป็นเวลา 5 นาที แต่หลังจากนั้นในคืนต่อๆ มาผมก็เห็นตึกที่ว่าสว่างไสวเรื่อยมาโดยไม่เคยถูกปิดอีกเลย

มันไม่เกี่ยวอะไรกับปัญหาโลกร้อนหรอกครับ แต่เกี่ยวกับปัญหาพลังงานโดยตรง ดังนั้น เวลาที่รัฐพูดถึงเรื่องโลกร้อน จึงไม่ได้พูดบนพื้นฐานปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นต้นตอปัญหาโลกร้อน แต่พูดบนพื้นฐานปัญหาพลังงานที่ไปกระทบภาคการผลิตต่างๆ และก็มุ่งแก้ปัญหาจากผลกระทบนี้มากกว่าที่จะแก้ปัญหาโลกร้อน

ด้วยเหตุนั้น จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นว่า พอมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน คุณสมัคร สุนทรเวช ผู้เป็นนายกฯ จึงได้กระเหี้ยนกระหือรือ (คำนี้ผมใช้เฉพาะ คุณสมัคร นะครับ เพราะ คุณสมัคร ไม่ถือเป็นคำหยาบ) ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นให้ได้ และล่าสุดก็คือ การตั้งท่าจะสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงแบบเงียบๆ

และก็เพราะรัฐไม่ได้มีพื้นฐานการแก้ปัญหาโลกร้อนโดยตรงเช่นนั้น เราจึงพบว่า แม้แต่เรื่องที่รัฐสามารถรณรงค์ได้ไม่ยากรัฐก็ไม่ทำ อย่างเช่นเรื่องการรณรงค์ให้ลดการใช้ถุงพลาสติกนั้น หากรัฐรณรงค์อย่างที่เมืองจีนก็คงทำได้ คือให้ประชาชนเตรียมถุงพลาสติกหรือผ้ามาใส่ข้าวของที่ซื้อจากห้าง โดยถ้าใครต้องการถุงจากห้าง ห้างก็มีบริการ แต่จะคิดเงินค่าถุงนั้นจากลูกค้า (แม้ราคาจะไม่แพงนักก็ตาม)

ว่ากันว่า การรณรงค์นี้ได้รับความร่วมมือจากประชาชนด้วยดี แม้จะยังเทียบไม่ได้กับปัญหามลพิษหรือสิ่งแวดล้อมที่กำลังหนักหน่วงรุนแรงก็ตาม (หนักกว่าเมืองไทยหลายเท่า) แต่ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีไม่น้อย เพราะถ้าเทียบในแง่อัตราส่วนแล้ว เชื่อว่าคนไทยคงใช้ถุงพลาสติกในปริมาณที่ไม่ต่างกับคนจีน

จากลักษณะการรณรงค์ที่ว่า จะว่าเมืองไทยไม่มีหนังสือที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนหรือปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ใช่ที่ เพราะผมเห็นหนังสือประเภทนี้เกลื่อนเมืองไปหมด ผมจึงมองเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากความมักง่าย ความไม่ใส่ใจ และการมีวาระซ่อนเร้นทางผลประโยชน์ของผู้รณรงค์ ที่ถึงแม้จะไม่ใช่ทุกกลุ่มไปหมดก็จริง แต่กลุ่มที่เป็นแบบนี้กลับมีพลังมากกว่ากลุ่มรณรงค์อย่างรู้เรื่องและเข้าใจปัญหาจริงๆ

ตราบเท่าที่ยังเป็นอยู่อย่างนี้ โลกก็ยากที่จะเย็นลง ยกเว้นเสียแต่จะหยุดรณรงค์เท่านั้น ที่อาจทำให้โลกเย็นลง
กำลังโหลดความคิดเห็น