xs
xsm
sm
md
lg

หนึ่งทางเลือกรับมือยุคของแพง รีไซเคิลของกินคนสู่อาหารสัตว์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เพราะราคาอาหารสัตว์และปุ๋ยแพงเหลือใจ อุตสาหกรรมรีไซเคิลอาหารเพื่อผลิตเป็นอาหารสำหรับสุกรและสัตว์ปีกของญี่ปุ่นจึงกลายเป็นที่ต้องการท่วมท้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
แต่ละปี ญี่ปุ่นมีขยะจากอาหารราว 20 ล้านตัน หรือ 5 เท่าของความช่วยเหลือด้านอาหารแก่ผู้ยากไร้ทั่วโลกในปี 2007 ในอดีตขยะเหล่านี้จะถูกนำไปฝังกลบซึ่งจะย่อยสลายและทำให้เกิดก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก
แต่กฎหมายที่ออกมาในปี 2001 ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมรีไซเคิลในการนำอาหารเหลือทิ้งมาแปลงสภาพเป็นอาหารสัตว์และปุ๋ย หรือส่งไปเข้าโรงงานที่ก๊าซมีเทนจากอาหารเน่าเสียจะถูกแปลงเป็นพลังงานสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม
แต่ไหนแต่ไรมาเกษตรกรมักรังเกียจอาหารสัตว์รีไซเคิล แต่มาระยะหลังต้องเปลี่ยนใจหันมายอมรับมากขึ้นเนื่องจากถูกกว่าอาหารสัตว์ปกติถึงครึ่งต่อครึ่ง
ฟาร์มสุกรแห่งหนึ่งในเขตอากิตะ ทางเหนือของญี่ปุ่น สามารถชดเชยค่าอาหารสัตว์ที่แพงขึ้นได้ 20% ในปีที่ผ่านมาด้วยการนำอาหารที่ผู้ผลิตอาหารท้องถิ่นทิ้งมารีไซเคิลเอง
ฮิโรยูกิ ยาโคอุ อดีตคนขับรถขยะ ที่เบื่อเต็มทีกับการขนอาหารเหลือทิ้งมากมายทุกวัน ตัดสินใจเริ่มต้นบริษัทรีไซเคิลอาหารขึ้นมาเองชื่อว่า อะกริ ไกอา ซิสเต็ม ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์รีไซเคิลรายใหญ่สุดของญี่ปุ่นในขณะนี้
ปัจจุบัน คนขับรถของบริษัทแห่งนี้ขนไรซ์บอล แซนด์วิช และนมทิ้งแล้วจากร้านเซเว่น-อิเลฟเว่นไปยังโรงงานที่อยู่ชานเมืองโตเกียว เพื่อแปรสภาพเป็นอาหารสุกรและไก่ทั้งแบบแห้งและเหลว
ญี่ปุ่นนั้นมีกฎหมายเข้มงวดห้ามนำอาหารสัตว์รีไซเคิลไปเลี้ยงแกะและปศุสัตว์ เพื่อป้องกันโรควัวบ้า
ทั้งนี้ ผู้รีไซเคิลอาหารมักนำของเหลือจากร้านสะดวกซื้อและภัตตาคารมาใช้ เนื่องจากมีกฎหมายเคร่งครัดห้ามนำอาหารที่ขายไม่ออกในแต่ละวันกลับมาขายใหม่ นอกจากนั้น บริษัทรีไซเคิลอาหารยังไม่นำอาหารเหลือทิ้งจากครัวเรือนมาใช้เนื่องจากขยะเหล่านี้มักไม่อยู่ในสภาพที่ดีนัก
ปัจจุบัน ญี่ปุ่นนำเข้าอาหารปศุสัตว์ถึง 75% ของดีมานด์ในประเทศ ถือเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดของโลก
แต่ด้วยราคาข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักของอาหารสัตว์ ที่แพงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้อาหารรีไซเคิลได้รับความนิยมมากขึ้น แม้ยังเป็นเพียง 1% ของอาหารสัตว์ในญี่ปุ่นทั้งหมดก็ตาม หรือประมาณ 150,000 ตันในปี 2006
ในญี่ปุ่น บริษัทอย่างผู้ผลิตอาหาร ห้างค้าปลีก และภัตตาคารเป็นที่มาของขยะจากอาหารราว 11 ล้านตันต่อปี และการทำลายขยะเหล่านี้บ่อยครั้งทำให้เกิดค่าใช้จ่ายจำนวนมาก
กฎหมายรีไซเคิลฉบับแก้ไขปรับปรุงเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว กำหนดให้บริษัทที่ทิ้งขยะจากอาหารปีละมากกว่า 100 ตันค่อยๆ เพิ่มเป้าหมายในการรีไซเคิล ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการให้ความร่วมมือกับบริษัทรีไซเคิลอาหาร
อุตสาหกรรมอาหาร ผู้ที่ทำให้เกิดขยะจากอาหารมากที่สุด รีไซเคิลของเหลือทิ้งกว่า 70% โดยครึ่งหนึ่งแปรสภาพเป็นอาหารสัตว์, ไม่ถึง 5% ผลิตเป็นก๊าซมีเทน ที่เหลือจึงนำไปทำปุ๋ย
ผู้ประกอบการบางรายเริ่มนำขยะเหล่านี้ไปผลิตมีเทนเพื่อประหยัดพลังงาน ควบคู่ไปกับลดค่าใช้จ่ายในการกำจัด
ขณะเดียวกัน รัฐบาลท้องถิ่นที่เผาขยะก่อนเพื่อลดปริมาณก่อนนำไปฝังกลบ กำลังพยายามผลิตพลังงานทางเลือกจากขยะ โดยขณะนี้ก๊าซมีเทนจากอาหารเหลือทิ้งถูกนำมาผลิตไฟฟ้าในบางพื้นที่ของญี่ปุ่น
เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักงานบริการรักษาความสะอาดของรัฐบาลนครโตเกียว และโตเกียว แก๊ซ โค ริเริ่มโรงงานนำร่องเพื่อผลิตก๊าซมีเทนและเอทานอลจากอาหารเหลือทิ้งจากโรงเรียน นับเป็นครั้งแรกในญี่ปุ่นที่มีการผลิตเชื้อเพลิงสองชนิดนี้ในเวลาเดียวกัน
ที่โรงงานยาโคอุ พนักงานคัดกรองอย่างละเอียดเพื่อแยกสิ่งที่กินไม่ได้ออก เช่น พลาสติก ไม้เสียบ ก่อนส่งต่อไปยังโรงงาน ซึ่งจะเปลี่ยนขยะเหล่านี้เป็นอาหารสัตว์แบบแห้งสองชนิดภายหลังกระบวนการทำความร้อนครั้งสุดท้าย โดยอาหารแบบแรกจะอุดมด้วยไขมันและโปรตีน อีกชนิดมีไขมันและโปรตีนน้อย แต่หนักคาร์โบไฮเดรต นอกจากนั้น ยังทำการผลิตอาหารสัตว์เหลวจากเครื่องดื่มพาสเจอไรซ์ เช่น นม และผัก
อย่างไรก็ตาม นักเคลื่อนไหวพิทักษ์สิทธิ์สัตว์และนักโภชนาการบางส่วนวิจารณ์ว่า บ่อยครั้งอาหารที่จะนำมารีไซเคิลเป็นอาหารหมดอายุแล้ว นอกจากนั้น อาหารจากฟาสต์ฟูดยังอาจขาดแคลนแร่ธาตุที่จำเป็นทั้งสำหรับคนและสัตว์
กำลังโหลดความคิดเห็น