xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตฯ ทุ่ม 30ล้านหนุนโรงแป้งผลิตก๊าชชีวภาพจากน้ำเสีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กาฬสินธุ์ –ก.อุตสาหกรรมจับมือกับกองทุนอนุรักษ์พลังงานทุ่มงบ 30 ล้านบาท จัดทำโครงการนำร่อง 3 โรงงานแป้งมันภาคอีสาน ที่กาฬสินธุ์ ผลิตก๊าชชีวภาพจากน้ำเสียโรงงาน เพื่อใช้แทนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยระบบ UASB พร้อมจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รมช.อุตสาหกรรมเผยสามารถประหยัดพลังงานได้โรงงานละ 30 ล้านบาทต่อปี และลดปัญหาก๊าชมีเทนได้ปีละ 50,000 ตัน ปี 51พร้อมเดินหน้านำร่องอีก 7 โรงงาน

เมื่อเร็วๆนี้ นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เป็นประธานพิธีเปิดโครงการผลิตก๊าชชีวภาพ จากน้ำเสียโรงงานแป้งมันสำปะหลัง เพื่อผลิตพลังงานความร้อนทดแทนน้ำมันเตา และผลิตกระแสไฟฟ้าจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคของบริษัท บางนา แป้งมัน จำกัด โดยมีนายอดิศร นภาวรานนท์ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายพงษ์ศักดิ์ นาคประดา รองผวจ.กาฬสินธุ์ นายปรีชา เต็มพร้อม ประธานกรรมการบริษัท บางนาแป้งมันจำกัด และนายกสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย และประชาชนเข้าร่วมกว่า 500 คน ที่บริษัท บางนาแป้งมัน จำกัด ต.อุ่มเม่า อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์

นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากสภาวะปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมประสบปัญหาเรื่องของต้นทุนในการผลิต ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจึงมอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินการจัดทำโครงการผลิตก๊าชชีวภาพจากน้ำเสียอุตสาหกรรม เพื่อใช้แทนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยระบบ UASB ซึ่งเป็นโครงการนำร่องให้กับโรงงานแป้งมันสำปะหลัง

โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจากกองทุน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจำนวน 33,237,480 บาท ซึ่งเป็นเงินอุดหนุนแบบให้เปล่า โดยมีโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังเข้าร่วมโครงการจำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วยบริษัทแป้งมันร้อยเอ็ด จำกัด บริษัทวีพี สตาร์ซ (2000) จำกัด อยู่ที่ จ.นครราชสีมา และบริษัทบางนาแป้งมัน จำกัด อยู่ที่ จ.กาฬสินธุ์

นายปิยะบุตร กล่าวต่อว่า ผลการเดินเครื่องระบบผลิตก๊าชชีวภาพและบำบัดน้ำเสียของบริษัทแป้งมันร้อยเอ็ด จำกัด บริษัทวีพี สตาร์ซ (2000) จำกัด ที่ผ่านมาพบว่าระบบสามารถบำบัดน้ำเสียได้ 95.5 – 89 เปอร์เซ็นต์ ผลิตก๊าชชีวภาพได้สูงสุด 23,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีอัตราส่วนก๊าชมีเทน 66-67 เปอร์เซ็นต์ สามารถนำก๊าชไปใช้ได้สูงสุด 4.5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เทียบเท่าน้ำมันเตา 2.7 ล้านลิตร คิดเป็นเงินประหยัดได้ 37.8 ล้านบาทต่อปี ต่อโรงงาน

อย่างไรก็ตามขณะนี้โรงงานทั้ง 3 แห่งได้ดำเนินการก่อสร้างติดตั้งระบบเสร็จสมบูรณ์แล้ว และสามารถผลิตก๊าชชีวภาพทดแทนน้ำมันเตาได้ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยผลการประเมินหลังจากเดินระบบ 1 ปีที่ผ่านมาพบว่า สามารถประหยัดพลังงานได้เฉลี่ยปีละ 30 ล้านบาทต่อ 1 โรงงาน

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวนอกจากจะเกิดประโยชน์ในเรื่องของพลังงานทดแทน การแก้ปัญหาน้ำเสียและกลิ่นเหม็นแล้ว ยังเป็นการลดปัญหาก๊าชมีเทน ซึ่งเป็นก๊าชเรือนกระจกที่เกิดจากการสลายตัวของน้ำเสีย และทำให้โลกร้อนได้โรงงานละ 50,000 ตันต่อปีอีกด้วย

“ เทคโนโลยีระบบ UASB เป็นระบบบำบัดน้ำเสียด้วยจุลินทรีย์ชนิดไม่ใช้ออกซิเจนอิสระ ซึ่งกำลังเป็นที่ยอมรับจากโรงงานแป้งมันสำปะหลัง โดยกระทรวงฯจะมีการดำเนินการติดตั้งอีก 7 โรงงาน ภายในปี 2551 และจะดำเนินการขยายผลไปสู่โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังอีก 80 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งหากติดตั้งระบบดังกล่าวครบแล้ว ประเทศชาติจะเกิดการประหยัดพลังงานอีกปีละไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท “นายปิยะบุตร กล่าว

ด้านนายปรีชา เต็มพร้อม ประธานกรรมการบริษัท บางนาแป้งมัน จำกัด จ.กาฬสินธุ์และนายกสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย กล่าวว่า ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวปีนี้ถือว่าเป็นช่วงปีทองของเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลัง เพราะราคามันสำปะหลังปีนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 2.50 บาท จากเดิมปีที่ราคาแล้วอยู่ที่กิโลกรัมละ 1.50 บาท อย่างไรก็ตามขณะนี้การส่งออกแป้งมันของไทยอยู่ในอันดับต้นๆของโลก เนื่องจากแป้งมันของไทยถือว่ามีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น