xs
xsm
sm
md
lg

พื้นที่เขาพระวิหาร : “อย่าให้คนไทยช้ำใจรอบ 3 อีกเลย!”

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด

กรณี “ปราสาทพระวิหาร” ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องใหญ่โตภายในประเทศไทยเราติดต่อกันหลายสัปดาห์ไปเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การนิ่งเฉย” ของฝ่ายไทย ที่ปัจจุบันเราต้องมองข้ามปัจจัย “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ที่สงสัยกันอยู่ว่า “จริงหรือไม่!” โดยเราต้องคำนึงถึงผลกระทบกับเพื่อนบ้านเรา ซึ่งไม่แน่ใจนักว่าเราควรนับเขาเป็น “เพื่อนบ้าน” ได้หรือไม่ กับการโพนทะนาของรัฐบาลกัมพูชาต่อ “เวทีโลก”

แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือ การที่เราต้อง “แม่นยำ-ชัดเจน” ที่สุดกับพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร ว่า “ห้ามเสียดินแดนอีกเด็ดขาด!”

อย่างไรก็ดี ขอทบทวนประวัติความเป็นมาของ “กรณีพิพาท : เขาพระวิหาร” ที่ต้องเรียกว่า “คลาสสิก (Classic)” ที่ยืดเยื้อยาวนาน พูดกันไม่รู้จบมาหลายปี และเหตุการณ์ครั้งนี้ก็ยังไม่เชื่อว่าน่าจะจบโดยเร็ว อาจจะยาวนานถึง 50-100 ปี ก็เป็นได้!

ประเด็นที่มีการกล่าวขวัญถึงกันอย่างมากมายขณะนี้ เกิดจากรัฐบาลกัมพูชาได้เดินหน้าเสนอ “ปราสาทพระวิหาร” ให้ขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลก (World Heritage)” ต่อ “องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ” หรือมักเรียกกันเป็นภาษาอังกฤษว่า “ยูเนสโก(UNESCO)” ที่ได้จัดให้มีการประชุมกันช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ซึ่งจบสิ้นไปแล้วที่ประเทศแคนาดา ด้วย “การรับรอง” ให้ “ปราสาทพระวิหาร” ตกเป็นของกัมพูชา

ก่อนอื่นต้องขอ “ย้อนรอย” ประวัติศาสตร์ของ “เขาพระวิหาร” กันว่า ถอยหลังไปปี 2447 ถึง 2451 ฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศที่ยึดครองอาณานิคมกัมพูชาที่เรียกว่า “รัฐผู้อารักขากัมพูชา” ได้ทำสัญญากับไทยหลายฉบับ แต่สัญญาที่เป็นปัญหา คือ สัญญาลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2447 ที่ทำข้อสัญญาตกลงกันว่า “พรมแดนที่เป็นปัญหาให้ยึดถือเอาสันปันน้ำเป็นเกณฑ์การแบ่งเขตแดน และให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการปักปันเขตแดนเพื่อสำรวจบริเวณพื้นที่แถวนั้น”

ต่อมาปี 2450 ไทยเราได้ขอให้ฝรั่งเศสทำ “แผนที่พรมแดน” โดยให้ฝรั่งเศสจัดทำแผนที่ยื่นส่งกลับมาให้ฝ่ายไทย ทั้งนี้ฝรั่งเศสนั้นไม่ต้องกล่าวถึง “ความแสบสัน” โดยฝรั่งเศสได้ลากเส้นแผนที่พรมแดนเอาเขาพระวิหารซึ่งอยู่ในครอบครองของไทยไปอยู่ฝั่งเขตแดนกัมพูชาดินแดนที่ฝรั่งเศสอารักขาอยู่ด้วย และแน่นอนที่สุดที่ตั้งแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้ กัมพูชาก็ “ยึด-กอด” เอาแผนที่ฉบับนี้อ้างเป็นหลักฐานมีอำนาจเหนือเขาพระวิหาร

แต่เราก็ต่อสู้มาโดยตลอด โดยทำการโต้แย้งว่า แผนที่ฉบับดังกล่าวนั้น ไม่ใช่ของ“คณะกรรมการปักปันเขตแดน” จึงไม่มีผลผูกพันกับไทยและเส้นเขตแดนที่เขียน มิได้ถือเอาสันปันน้ำเป็นเกณฑ์

อย่างไรก็ตาม “ความคลุมเครือ”เกิดขึ้นจากที่ไทยเราก็ไม่ค่อยแสดงออกถึง “การคัดค้าน”อย่างโจ่งแจ้ง แต่เราก็ไม่เคยรับรองแผนที่ฉบับนั้นอย่างจริงๆ จังๆ เช่นเดียวกัน เรียกว่า ปล่อยให้ยืดเยื้อมาเรื่อยๆ แม้กระทั่งปี 2542 ที่มีการประชุมคณะกรรมการฯ ที่กรุงเทพฯ ก็ยังไม่มีผู้ใดคัดค้าน ส่วนกรมแผนที่ก็ยังชี้ให้เห็นว่า แผนที่ที่ใช้อยู่นั้น ชัดเจนว่า เขาพระวิหารตั้งอยู่ในเขตกัมพูชา ในการเจรจาที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อปี 2490 เราก็ไม่ได้ประท้วงอะไรทั้งสิ้น!

ดังนั้น “ความชอกช้ำระกำใจ!”ของชาวไทยถ้วนหน้าจึงเกิดขึ้น และน่าจะฝังใจมาตราบเท่าทุกวันนี้ ที่ “ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ” หรือมักเรียกกันว่า “ศาลโลก” ได้ตัดสิน“เห็นชอบกับแผนที่”ฉบับนั้นว่า“เขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา” เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505

“แสงแดด” ยังจำเหตุการณ์วันนั้นได้เลยว่า “เสียใจ” กันขนาดไหนของคนไทยทุกคน ถึงขนาดสบถถ้อยคำไม่สุภาพเลย ทั้งๆ ที่อายุเพียง 10 ขวบเท่านั้น จริงๆ แล้วคนไทยจำนวนมากต้องหลั่งน้ำตากับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญนั้น!

เอาล่ะ ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว เหตุการณ์ครั้งสำคัญนั้นผ่านไปแล้วถึง 46 ปี แต่คนไทยก็ยังไม่ลืม แต่เยาวชนคนรุ่นหลังอาจไม่รู้สึกก็เป็นได้ แต่เมื่อมาเกิดเหตุการณ์ “ย้อนรอย-ซ้ำรอยเดิม”อย่างที่เกิดขึ้นขณะนี้ ขอฟันธงได้เลยว่า นอกจากคนไทย “อกหัก” เมื่อ 46 ปีที่แล้ว และก็“อกหักซ้ำ!”เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมนี้ และดีไม่ดีเราอาจ“อกหักซ้ำซาก!”กับการเสียดินแดนอีก!

การที่กัมพูชาเสนอต่อยูเนสโกให้ “ปราสาทพระวิหาร” เป็น“มรดกโลก”นั้นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งเป็นประเด็นที่เราคงทำอะไรไม่ได้ ได้แต่ถูก“ซ้ำเติม-ย่ำยี” หัวใจอีกครั้ง แต่ประเด็นปัญหาหลักคือ “แผนที่ฉบับใหม่”ที่ทางการกัมพูชาร่างมานั้น แล้วเสนอเจรจากับรัฐบาลไทยว่า “ล่วงล้ำ”เข้ามาในพื้นที่ทับซ้อนของฝ่ายไทยหรือไม่“นี่ล่ะประเด็นใหญ่!”

ปัญหาที่ทับซ้อนมีอยู่ประมาณ 4.6 ตารางกิโลเมตร ว่าไปแล้วก็เป็นพื้นที่กว้างใหญ่พอประมาณ ซึ่งยังไม่สามารถสรุปและอธิบายอย่างชัดเจนได้ในขณะนี้ ทั้งๆ ที่ คุณนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ “เดิมพัน” ด้วยเก้าอี้เลยว่า ไม่มีการล่วงล้ำ และฝ่ายไทยไม่เสียเปรียบเด็ดขาด!

ว่ากันตามความเป็นจริงและความเป็นธรรม กับกรณีสำคัญนี้ เราต้องแยกสองเรื่องเดียวกัน! ออกจากกัน กล่าวคือ การที่รัฐบาลกัมพูชาร้องขอให้ยูเนสโกขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกนั่นเป็นเรื่องหนึ่ง ทางยูเนสโกไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ“แผนที่” ที่ล่วงล้ำหรือไม่อย่างไรระหว่างไทยกับกัมพูชา

ส่วนกรณีแผนที่บริเวณใกล้เคียงนั้น บังเอิญกัมพูชาต้องใช้แผนที่ที่จัดทำโดยฝรั่งเศส 1 : 200,000 ซึ่งแน่นอนล่วงล้ำเข้ามาในฝั่งไทย จึงเกิดกรณีพิพาทเกิดขึ้นที่ไม่มีใครมั่นใจ และแน่นอนว่า “สับสน!”ทั้งนี้กัมพูชากำลังทำแผนที่ฉบับใหม่ โดยยึดตามแผนที่ 1 : 500,000 ที่เป็นมติ ครม.ปี 2505 ที่ให้กัมพูชามีสิทธิเหนือปราสาทหินเขาพระวิหารบริเวณรอบข้างจำนวน 20 เมตร

จากกรณีดังกล่าว ตามแผนที่ฉบับใหม่ของกัมพูชาเสนอมา โดยยินยอมตามที่รัฐบาลไทยร้องขอคือ “ตัวปราสาทหินพระวิหารและพื้นที่ด้านข้าง 20 เมตร เป็นสิทธิของกัมพูชา”จนในที่สุด การประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ จึงมีมติยอมรับและเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้เป็น “มติครม.”เมื่อวันอังคารที่ 17 มิถุนายน 2551

ไม่ว่า ทั้งศาลปกครองจะสั่งให้มี “การคุ้มครองชั่วคราว” กรณีมติ ครม.ของการรับรอง “แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา”และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรค 2” ที่เป็น“สนธิสัญญา” มิใช่“แถลงการณ์ฯ”และที่สำคัญที่สุด ต้องผ่านกระบวนการทางรัฐสภาด้วย

อย่างไรก็ตาม กระบวนการขั้นตอนทั้งหมดนั้นเป็นอดีตไปแล้ว และก็ต้องดำเนินการต่อไปตามกระบวนการทางกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญ กับของฝ่ายรัฐสภา (ส.ส.ฝ่ายค้านและสมาชิกวุฒิสภา)

เนื่องด้วยขณะนี้ เราสมควรทำใจกันได้แล้วว่า“ปราสาทพระวิหาร”ได้ถูกประกาศ“รับรอง” ให้เป็น“มรดกโลก”ขึ้นกับประเทศกัมพูชาไปเรียบร้อยแล้วเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม จากผลมติของการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก 21 ประเทศ ที่แคนาดา พูดง่ายๆ คือ “สายไปแล้ว-จบไปแล้ว”ซึ่งทำให้คนไทย“ช้ำใจรอบสอง!”

ประเด็นสำคัญขณะนี้ที่เราต้อง “ระมัดระวัง” และ“เร่งรีบดำเนินการเร็ว” คือ“กัมพูชา”และ“ชี้แจง”ให้ทั้งคนไทยและชาวโลกให้รู้ว่า“อะไรเกิดขึ้นจริง!”มิฉะนั้นแล้ว ท่านผู้อ่านที่ติดตามข้อมูลข่าวสารการเคลื่อนไหวของรัฐบาลกัมพูชาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เรา“เสียรังวัด!”ไปเยอะ ในกรณีของการที่เราถูกกล่าวหาว่า “ไทยรังแกกัมพูชา!”

รัฐบาลกัมพูชา “ร้องแรกแหกกระเชอ-ตีฆ้องร้องป่าว”ไปทั่วทุกแห่งที่เป็นองค์กรสำคัญในเวทีโลก ไม่ว่าจะเป็น“เวทีอาเซียน” ที่มีการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่สิงคโปร์ จนเลยเถิดไปถึง “ยูเนสโก” อีกครั้งหนึ่ง และแสบสันสุดๆ คือ“คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ”และดูท่าว่าอาจจะเลยเถิดไปจนถึงศาลโลกด้วยซ้ำ!

ยังโชคดีที่ทุก“สนามเวทีโลก”ต่างโบกมือ“ปฏิเสธเชิงห้าม”ว่าปัญหา“กรณีพิพาทที่ดินทับซ้อน”นั้นให้ไปเจรจากันเองระดับ“ทวิภาคี”กล่าวคือสองต่อสองระหว่างไทย-กัมพูชา เพราะเป็นปัญหาชายแดนของเพื่อนบ้านกัน ไม่ให้นำ “เวทีพหุภาคี” เข้าร่วมพันตูด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น 3 ประเทศ จากสมาชิกถาวรแสดงท่าทีไม่พอใจและไม่เห็นด้วย คือ สหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย ส่วนอังกฤษวางเฉย แต่ฝรั่งเศสออกอาการ“เต้นแร้งเต้นกา!”

เราต้องยอมรับว่า ท่าทีของรัฐบาลกัมพูชานั้น “แสบสัน!” จริงๆ ด้วยการตีฆ้องร้องป่าวไปทั่วโลก ฟ้องว่า“ถูกไทยรังแก!”แต่วาระจริงๆ ที่ดำเนินการไปนั้น เพื่อ“หาเสียง!”กับการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งก็รู้ๆ กันอยู่แล้วว่า พรรคของสมเด็จฮุนเซน“นอนมาอยู่แล้ว!”

ทั้งนี้ การประชุมทวิภาคีระหว่างไทย-กัมพูชา ได้เริ่มสตาร์ทไปแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา น่าจะ “คืบหน้า” ในเชิงประนีประนอมเท่านั้น ส่วนคำตอบในลักษณะชัดเจนขาวดำ เราคงยังไม่ได้แน่นอน แต่ความตึงเครียดได้เริ่มลดน้อยถอยลง

การเจรจาคงต้องเจรจาต่อรองกันอีกหลายยก กว่าจะจบกันได้กรณี “พื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร – 2,500 กว่าไร่”คงจะยังไม่จบง่าย แต่ความตึงเครียดตามแนวตะเข็บชายแดนน่าจะดีขึ้น ความแข็งกร้าวลดน้อยลง ชาวไทยและชาวกัมพูชายังเดินทางทำมาค้าขายกันได้

ก็คงต้องขอฝาก “กลุ่มผู้เจรจา” ว่าอย่าให้ชาวไทย“ช้ำใจรอบสาม” อีกเลย!
กำลังโหลดความคิดเห็น