xs
xsm
sm
md
lg

รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ : คาถาต่ออายุรัฐบาลหุ่น

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ท่านผู้อ่านหลายท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านที่ชอบอ่านหนังสือเก่าๆ ที่ผู้แต่งแฝงไว้ซึ่งปรัชญาให้คนอ่านได้คิดเป็นการประเทืองปัญญา คงจะเคยได้อ่านสุภาษิตที่ว่า รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ และในทันทีที่ได้อ่านก็คงจะนึกค้านอยู่ในที

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รับคำอธิบายขยายความก็จะเข้าใจได้ไม่ยาก และส่วนใหญ่ที่ได้รับคำอธิบายจะเห็นด้วยกับเนื้อหาแห่งสุภาษิตนี้

โดยนัยแห่งเนื้อหาของสุภาษิตบทนี้ได้มีการอธิบายขยายความเป็นประเด็นดังต่อไปนี้

1. รักยาวให้บั่น หมายถึงว่า เมื่อท่านมีความขัดแย้งกับมิตรสหายหรือแม้แต่เพื่อนบ้านที่เจอหน้าค่าตากันอยู่บ่อยๆ และมีแนวโน้มว่าความขัดแย้งจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นแตกหักจนทำให้มิตรกลายเป็นศัตรู หรือคนไม่เป็นมิตรแต่ไม่เป็นศัตรูจะกลายเป็นศัตรู สิ่งที่ท่านต้องทำก็คือ ยุติการโต้เถียงและนำเอาเหตุการณ์มาใคร่ครวญด้วยเหตุด้วยผล และหากพบว่าท่านเป็นคนผิดก็พร้อมที่จะขอโทษ และปรับความเข้าใจกัน ถ้าทำได้เช่นนี้ก็จะทำให้มิตรภาพที่เคยมียังคงมีอยู่ต่อไปอีกยาวนาน

2. รักสั้นให้ต่อ หมายถึง ความหมายตรงกันข้ามกับข้อ 1 คือแทนที่จะยุติการตอบโต้ก็เพิ่มความรุนแรงในการแสดงออกเพิ่มขึ้น ในที่สุดก็จะทำให้มิตรภาพที่เคยมีหักสะบั้นลง

สุภาษิตบทนี้ ถึงแม้ว่าจะเกิดขึ้นและมีอยู่ในสังคมไทยมานาน แต่ถ้ามองในแง่เนื้อหาแล้วถือได้ว่าเป็นคติสอนใจ และยับยั้งความขัดแย้งได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง แม้กระทั่งในปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้นำรัฐบาลไทยในขณะนี้ ทั้งนี้จะเห็นได้โดยการนำพฤติกรรมของบุคคลคือผู้นำรัฐบาล และพฤติกรรมขององค์กรคือพรรคพลังประชาชน อันเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลผสม 6 พรรคดังต่อไปนี้

1. นายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งมีสถานภาพในปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน และนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย แต่มีพฤติกรรมในการแสดงออกทางวาจาโผงผางตรงไปตรงมาถึงขั้นเรียกได้ว่า ก้าวร้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตอบโต้คนที่พูดถึงตนเองในทางลบ และน่าจะด้วยเหตุนี้เองที่นายสมัคร สุนทรเวช แม้เพียงดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลได้ไม่ถึงปีจึงมีศัตรูรอบด้าน ทั้งในทางการเมืองและทางสื่อ ก็ด้วยพฤติกรรมเข้าทำนองตรงกันข้ามกับคำว่า รักยาวให้บั่น แต่เป็นไปตามคำว่า รักสั้นให้ต่อ

2. พรรคพลังประชาชนเมื่อดูจากพฤติกรรมองค์กรโดยรวมแล้ว พูดได้ว่าได้รับมรดกตกทอดมาจากพรรคไทยรักไทย คือทั้งนโยบายทางการเมืองที่มุ่งเน้นประชานิยมโดยปราศจากการคำนึงถึงความเป็นจริง และความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เมื่อคำนึงถึงเงินที่ลงทุนที่รัฐเสียไปกับประโยชน์ในทางเศรษฐกิจที่ประเทศได้รับ จะเห็นได้จากมาตรการ 6 ข้อที่จะมีผลในวันที่ 1 ส.ค. รวมไปถึงการลดราคาน้ำมันที่มีผลมาแล้วตั้งแต่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา

แต่ที่พรรคพลังประชาชนมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายเรียกได้ว่าสวนทางกับสุภาษิตที่นำมาอ้างข้างต้น ก็คือ การที่สมาชิกของพรรคนี้ออกมาแสดงพฤติกรรมทางการเมืองด้วยการฟ้องร้องกล่าวโทษองค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช.และศาลปกครอง เพื่อให้มีการถอดถอนบุคลากรขององค์กรที่ว่านี้ เพียงเพราะองค์กรที่ว่านี้ได้ดำเนินการในส่วนที่ทั้ง 2 องค์กรรับผิดชอบ และทำให้พรรคนี้ตกเป็นผู้ต้องหาทั้งทางกฎหมาย และทางสังคม จนถึงขั้นที่เรียกได้ว่าพรรคนี้กำลังประสบปัญหาศรัทธาเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว

และในขณะเดียวกัน การดำเนินการขององค์กรอิสระในการชี้ความผิดของบุคลากรของพรรคนี้ ไม่ว่าจะเรื่องคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเรื่องปราสาทพระวิหาร และเรื่องการสอบสวนคดีทุจริต เป็นต้น ล้วนแล้วแต่ทำให้พรรคนี้ได้รับผลกระทบทางการเมืองทั้งสิ้น แต่แทนที่บุคลากรของพรรคจะยุติพฤติกรรมก้าวร้าว และมองหาเหตุผลเพื่อมาวิเคราะห์พฤติกรรมของตัวเองนำมาปรับปรุงแก้ไข ในทำนอง รักยาวให้บั่น กลับออกมาตอบโต้และหาทางรุกกลับในทำนองไม่ยอมแพ้ จึงเข้าข่าย รักสั้นให้ต่อ นั่นเอง

ด้วยเหตุ 2 ประการนี้ จะเห็นได้ว่าทั้งพฤติกรรมปัจเจกบุคคล เช่น นายสมัคร สุนทรเวช ที่สร้างศัตรูด้วยการพูด และพฤติกรรมขององค์กรโดยรวมอันเกิดจากพฤติกรรมของ ส.ส.ส่วนใหญ่ในพรรคพลังประชาชน ก็ทำให้ชะตากรรมทางการเมืองของพรรคพลังประชาชน และรัฐบาลภายใต้แกนนำของพรรคนี้มีศัตรูเพิ่มขึ้นทุกวัน และเชื่อว่าอีกไม่นานทั้งพรรคพลังประชาชน และรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคนี้ต้องมีอันจบลง ด้วยการกระทำที่สวนทางกับสุภาษิตที่ว่านี้แน่นอน

แต่เมื่อพูดถึงประเด็นที่ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช และสมาชิกของพรรคพลังประชาชนจะพบกับจุดจบทางการเมือง ท่านผู้อ่านบางท่านอาจมีคำถามว่า ถ้ารัฐบาลมีการปรับ ครม.ในปลายเดือน ก.ค.นี้ จะช่วยให้อยู่ได้นานหรือไม่?

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ในทัศนะผู้เขียนเห็นว่าจะต้องย้อนไปดูปัจจัยอันเป็นองค์ประกอบในการตอบปัญหานี้ 3 ประการดังต่อไปนี้

1. ในการปรับ ครม.ที่จะเกิดขึ้น นายสมัคร สุนทรเวช มีอิสระพอในการเลือกบุคลากรหรือไม่ และถ้ามีอิสระในการเลือกแล้ว จะมีคนดีมีฝีมือในแต่ละด้านมาให้เลือกหรือไม่

ถ้านายสมัคร สุนทรเวช ในฐานะนายกรัฐมนตรีมีอิสระในการเลือก มีโอกาสเลือก เนื่องจากมีคนดีมีฝีมือมาให้เลือก และคนที่ได้รับเลือกมีอิสระในการทำงานมากพอ ก็พูดได้ว่าโอกาสที่จะทำให้อายุทางการเมืองของรัฐบาลชุดนี้ยาวออกไปได้

2. ถึงแม้จะผ่านเงื่อนไขข้อที่ 1 คือ มีคนดีมาให้เลือก และคนดีมีอิสระในการทำงาน ก็ยังมีเงื่อนไขทางกฎหมายอันถือได้ว่าเป็นปัจจัยบังคับของรัฐบาลชุดนี้ว่าจะอยู่หรือไป เงื่อนไขที่ว่านี้ก็คือ คดียุบพรรคที่กำลังจะเกิดขึ้นแก่พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตยก่อน แล้วก็ตามมาด้วยพรรคพลังประชาชน รวมไปถึงพรรคเพื่อแผ่นดินด้วย ถ้าบังเอิญทุกพรรคที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถูกตัดสินยุบพรรคแม้เพียง 2 พรรค คือ พรรคชาติไทย และพรรคมัฌชิมาธิปไตย ก่อนก็ทำให้รัฐบาลชุดนี้จบลงได้เช่นกัน

3. นอกจากคดียุบพรรคอันเป็นปัจจัยบังคับให้รัฐบาลต้องจบลงตามข้อ 2 แล้ว การที่นายสมัคร สุนทรเวช ตกเป็นผู้ต้องหาคดีรถดับเพลิง คดีหมิ่นประมาท ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ คดีชิมไปบ่นไป รวมไปถึงคดีสินบน 125 ล้านบาท ที่อาจตามมาด้วยแล้ว ก็พอจะมองเห็นได้ว่าการปรับ ครม.ไม่ช่วยให้อายุของรัฐบาลนี้ยาวออกไปได้นานมากนัก

อีกประการหนึ่ง การที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช ได้ประสบปัญหาศรัทธาเสื่อม อันเนื่องมาจากถูกการเมืองภาคประชาชนที่นำโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรุกหนัก และมีแนวโน้มว่ากระบวนการรุกทางการเมืองกำลังจะลุกลามไปทั่วประเทศแล้วในขณะนี้ คงไม่ทำให้รัฐบาลชุดนี้อยู่ได้อย่างสงบสุข และประกอบกับพฤติกรรมทั้งในส่วนตัวของผู้นำ และพฤติกรรมองค์กรของพรรคพลังประชาชน คงพูดได้ว่าคงจะจบไม่นานนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น