xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมคิด-ชวนคุย กับ ก.ล.ต.:การกำกับดูแลการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในไทย (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตอนที่แล้วได้กล่าวถึงการกำกับดูแลการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ในส่วนของการอนุญาตให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถประกอบธุรกิจได้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งผู้ให้บริการสัญญาซื้อขายล่วงหน้ารวมถึงตัวตลาดอนุพันธ์เอง ในวันนี้จะมาเล่าถึงการกำกับดูแลในส่วนอื่น ๆ ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง

ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเมื่อได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ให้ประกอบธุรกิจแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์การประกอบธุรกิจตามที่ ก.ล.ต. กำหนดด้วย ซึ่งถือเป็นการกำกับดูแลอีกประเภทหนึ่งเพื่อให้การประกอบธุรกิจมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยได้มาตรฐานสากล โดยเกณฑ์ที่กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจโดยเฉพาะตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (โบรกเกอร์) ต้องปฏิบัติตาม เช่น กำหนดให้แยกทรัพย์สินของลูกค้าออกจากทรัพย์สินของบริษัทเพื่อความชัดเจน (เวลาที่บริษัทมีปัญหา ทรัพย์สินของลูกค้าจะได้ไม่ถูกกระทบ) การจัดระบบงานและการควบคุมการปฏิบัติงานของโบรกเกอร์เพื่อบริหารความเสี่ยงและป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ การปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเท่าเทียมกันในเรื่องของการซื้อขาย ไม่เอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การกำหนดให้โบรกเกอร์ต้องทำความรู้จักกับลูกค้า (Know your Client – KYC) โดยมีข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลฐานะการเงิน วัตถุประสงค์การลงทุน หรือความรู้ในเรื่องสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้า เพื่อที่โบรกเกอร์จะได้พิจารณาเรื่องความพร้อมของลูกค้า การกำหนดวงเงินซื้อขาย และให้คำแนะนำในการลงทุนแก่ลูกค้าได้อย่างเหมาะสม เป็นต้น

ในส่วนของตัวตลาด TFEX สำนักหักบัญชี (TCH) หรือสมาคมกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจ (หากมีการจัดตั้งขึ้น) ก็จะถูกกำกับดูแลโดย ก.ล.ต. เช่นกัน แต่บทบาทอีกด้านหนึ่งขององค์กรเหล่านี้ก็ถือว่าเป็น "องค์กรกำกับดูแลตนเอง (Self-Regulatory Organization-SRO)" ซึ่งต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลสมาชิกของตนเองด้วย เช่น สมาชิกของ TFEX ได้แก่โบรกเกอร์ เป็นต้น เนื่องจากอยู่ใกล้ชิดกับสมาชิกซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจในตลาด จึงทำให้สามารถกำกับดูแลสมาชิกได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที โดย SRO จะเป็นผู้ออกกฎระเบียบต่าง ๆ มาบังคับใช้และดูแลให้สมาชิกปฏิบัติตาม เช่น กรณี TFEX มีการออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติงานด้านการซื้อขาย การกำหนดมูลค่าหลักประกัน เป็นต้น ซึ่ง ก.ล.ต. ต้องเข้ามาพิจารณากฎระเบียบเหล่านี้โดยละเอียดเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนที่จะถูกนำมาใช้งาน ซึ่งองค์กร SRO เหล่านี้สามารถช่วยแบ่งเบาภาระของทางการในการกำกับดูแลได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ดี เพื่อให้มั่นใจได้ว่า องค์กร SRO มีการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นธรรม ถูกต้องเหมาะสม ก.ล.ต. ก็จะเข้าไปตรวจสอบติดตามการทำงานขององค์กร SRO เหล่านี้เป็นระยะ

นอกจากการกำกับดูแลในเรื่องของการออกกฎเกณฑ์ให้ปฏิบัติตามเพื่อให้การประกอบธุรกิจเป็นไปอย่างมีมาตรฐานแล้ว ก.ล.ต. ยังเข้าไปกำกับดูแลในเรื่องของการซื้อขายในตลาด หรือที่เรียกว่า " การกระทำอันไม่เป็นธรรม" ด้วย เช่น การสร้างราคาในตลาดจากคนบางกลุ่มเพื่อหวังทำกำไร หรือการปั่นราคาสัญญา ซึ่งอาจเกิดจากการหลอกผู้ลงทุนว่าข้อมูลเป็นจริงทั้งที่เป็นเรื่องเท็จ ทำให้ผู้ลงทุนหลงเชื่อเข้าไปลงทุนโดยใช้ข้อมูลนั้น รวมถึงยังมีเรื่องของการใช้ข้อมูลภายในเพื่อการซื้อขาย ซึ่งเป็นกรณีที่กรรมการ หรือพนักงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในธุรกิจ เช่น TFEX TCH หรือหน่วยงานกำกับดูแล นำข้อมูลที่ยังไม่ได้เปิดเผยมาหาผลประโยชน์ให้ตนเอง ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบต่อผู้อื่น เหล่านี้ในกฎหมายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้กำหนดห้ามเอาไว้ หากฝ่าฝืนต้องได้รับโทษทางอาญาด้วย เนื่องจากหากปล่อยปละไป จะเป็นการบั่นทอนความมั่นใจในการลงทุนของผู้ลงทุน

ส่วนในเรื่องของการกำหนดโทษจะมี 2 รูปแบบ คือ บทกำหนดโทษทางอาญา เช่น การจำคุกหรือการปรับ จะนำมาใช้กรณีที่การกระทำผิดมีผลกระทบต่อลูกค้า ประชาชนทั่วไป และมาตรการทางปกครอง (Administrative Proceeding) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดีกว่าการกำหนดโทษทางอาญา โดยเป็นมาตรการที่ ก.ล.ต. นำมาใช้ลงโทษกับทั้งผู้ประกอบธุรกิจและองค์กรที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ประกอบไปด้วย การภาคทัณฑ์ ตำหนิต่อสาธารณชน การปรับ จำกัดการประกอบธุรกิจ สั่งพักใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต มาตรการเหล่านี้ถือว่าเหมาะที่จะนำมาใช้กรณีที่ไม่ต้องการให้ความเสียหายลุกลามไปอย่างรวดเร็ว หรือต้องการแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของผู้ประกอบธุรกิจ

เนื่องจากการพิจารณาความผิดไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการทางศาล แต่มาจากผู้กำกับดูแลซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ เป็นอย่างดี และใช้เวลาในการพิจารณาความผิดได้รวดเร็วกว่า แม้ทางการได้เข้ามากำกับดูแลการซื้อขายให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยแล้วส่วนหนึ่ง แต่เนื่องจากสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นเรื่องใหม่ในตลาดทุนไทย มีความซับซ้อนจากหุ้นที่คุ้นเคยกัน ต้องอาศัยพื้นฐานความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวค่อนข้างมาก ดังนั้น โบรกเกอร์จึงกำหนดให้ลูกค้าที่จะเปิดบัญชีซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต้องผ่านการอบรมความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเสียก่อน ซึ่งผู้ลงทุนเองก็ไม่ควรพลาดการเข้าอบรมดังกล่าว และควรหมั่นหาความรู้ใส่ตัวอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการติดตามข่าวสารทางหน้าหนังสือพิมพ์ หรือเข้าร่วมสัมมนาซึ่งตลาด TFEX มักจะจัดขึ้นบ่อย ๆ อันจะนำไปสู่การเป็นผู้ลงทุนที่มีคุณภาพต่อไป และอย่าลืมเลือกใช้บริการกับผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตโดยดูชื่อได้จาก www.sec.or.th > ศูนย์ข้อมูล > บุคคลที่ได้รับอนุญาตหรือได้รับการขึ้นทะเบียน

วันที่ 2 สิงหาคม นี้ ก.ล.ต. ร่วมกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคม บล. และสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย จัดสัมมนาในโครงการ "smart investor (ภูมิคุ้มกันเพื่อผู้ลงทุนที่ชาญฉลาด)" ที่อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำรองที่นั่งได้ที่ 02-229-2707

ในยุคภาวะเงินเฟ้อเช่นนี้... ทำอย่างไรเพื่อเพิ่มพูนผลตอบแทนให้เงินออมที่มีอยู่งอกเงยขึ้น พบกับคำตอบใน Inside ก.ล.ต. พุธที่ 30 ก.ค. 2551 นี้ เวลา 15.30-16.00 น. ทาง ททบ.5 และ Money Channel (True Visions 80)
กำลังโหลดความคิดเห็น