xs
xsm
sm
md
lg

จรรยาบรรณกับการลงทุน สำนึกง่ายๆที่อยากให้ทุกคนมี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิสิฐ ตันติสุนทร
ข่าวคราวที่เกิดขึ้นกับ วิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กรณีการเข้าไปซื้อหุ้นดักหน้ากองทุน (front running) รวมถึงขายหุ้นก่อนและช่วงเวลาเดียวกันกับกองทุน ดูจะเป็นเรื่องที่เกินกว่าหลายคนคาดไว้ เพราะเดิมที่ จุดประสงค์ของการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ รวมถึงการความพยายามของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในการตรวจสอบ (อย่างไม่ยอมลดละ) เพียงเพื่อหาคำตอบว่า การลงทุนที่ขาดทุนของ กบข. มีที่มาที่ไปอย่างไรเท่านั้นเอง

แต่ไปๆมาๆ เรื่องนี้ กลับสาวไปพบความไม่โปร่งใสของเลขาฯ กบข. ซะเอง ตามการกล่าวหาของ ป.ป.ท. ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ตรวจพบของคณะกรรมการเฉพาะกิจที่บอร์ด กบข. ตั้งขึ้นมาด้วย...แม้นายวิสิฐ จะออกมาปฏิเสธการกระทำดังกล่าว พร้อมกับให้เหตุผลว่าไม่ได้เจตนาผลประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่ใน กบข. จนสุดท้าย ต้องยื่นจดหมายลาออกจากเก้าอี้ เลขาธิการ เพื่อแสดงความรับผิดชอบ

ข่าวที่เกิดขึ้น เชื่อว่า ความเชื่อมั่นต่อ "จรรยาบรรณ" ของบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจากเจ้าเงินเงิน ให้ดูแลเงินให้ คงลั่นคลอนไปไม่น้อย ซึ่งไม่ใช่แค่ กบข. องค์กรเดียวเท่านั้น วงการตลาดทุนปัจจุบัน "ผู้จัดการกองทุน" ก็มีบทบาทดังกล่าวเช่นเดียวกัน

จากการสอบถามไปยังผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) รายหนึ่ง ได้รับคำตอบว่า ในวงการกองทุนรวมนั้น ในระดับตั้งแต่ผู้บริหารไปจนถึงผู้จัดการกองทุน จะไม่สามารถถือครองหลักทรัพย์ใดๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นไปตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เกี่ยวกับการถือครองหลักทรัพย์ของผู้บริหารกองทุนรวม ซึ่งนอกจากผู้บริหารและผู้จัดการกองทุนแล้ว กฎหมายดังกล่าวยังมีผลบังคับรวมไปถึงระดับนักวิเคราะห์ นักวิจัย ตัวแทนจำหน่าย (ดีลเลอร์) และบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับการซื้อขายกองทุนรวมทั้งหมดด้วย แต่กฎหมายเปิดทางให้ลงทุนผ่านกองทุนรวมได้ แต่ต้องรายงานให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบด้วย

...ฟังดูอาจจะยังไม่เห็นภาพ วันนี้ "ASTVผู้จัดการกองทุนรวม" จึงนำรายละเอียดมาให้ได้ติดตามกัน ซึ่งเป็นการกล่าวไว้ของ "วรวรณ ธาราภูมิ" นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (สมาคม บลจ.) หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลธุรกิจจัดการกองทุน ซึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์ กับ กบข. พบว่า มีนักลงทุนโทรศัพท์เข้ามาสอบถามข้อมูลมายังสมาคมบลจ. และบลจ. เป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่มั่นใจว่าอาจมีการใช้ข้อมูลภายในหาประโยชน์จากการลงทุนด้วยเช่นกัน

วรวรณ กล่าวว่า สมาคมบลจ.ได้มีการวางกรอบเพื่อป้อกกันพนักงาน ใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้น และได้มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง โดยหลักการซื้อขายหลักทรัพย์ของพนักงานตามระเบียบของสมาคมบลจ. ซึ่งได้มีการปรับปรุงเมี่อปี 2551 ที่ผ่านมา ได้มีการกำหนดกรอบดังนี้คือ

- ไม่ซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน (inside trading)

- ไม่ซื้อขายหลักทรัพย์ใดในลักษณะจงใจดักหน้ากองทุน (front running)

- ไม่จงใจซื้อขายหลักทรัพย์ในทิศทางตรงกันข้ามหรือสวนทางกับการซื้อขายหลักทรัพย์ของกองทุน (against portfolio)

- ไม่ซื้อหรือรับหลักทรัพย์ที่เสนอขายต่อประชาชนทั่วไปหรือที่เสนอขายแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งได้มาจากผลประโยชน์ทางหน้าที่การงาน

- ไม่ซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อเก็งกำไรระยะสั้น หรือด้วยความถี่จนเกินความเหมาะสม

- ไม่ใช้สินเชื่อเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์

- ไม่ซื้อขายหลักทรัพย์ในลักษณะที่เป็นการเอาเปรียบผู้ถือหน่วยลงทุน


ทั้งนี้ บลจ.ต่างๆ ต้องดำเนินการดังต่อไปนี้คือ

- กำหนดรายชื่อ Broker ที่อนุญาตให้พนักงานทำการซื้อขายหุ้น โดยพนักงาน ต้องได้รับอนุมัติก่อนจะไปเปิดบัญชี และพนักงานต้องลงนามอนุญาตให้ บลจ. ขอข้อมูลการซื้อขายหุ้นจาก Broker ได้

- กำหนดผู้มีอำนาจลงนามอนุมัติการซื้อขายหลักทรัพย์ของพนักงานให้ทำหน้าที่ตรวจสอบและให้ความเห็นว่าการซื้อขายหลักทรัพย์ ของพนักงานนั้นไม่ขัดต่อจรรยาบรรณการจัดการลงทุน กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และมาตรฐานการควบคุมการซื้อขายหลักทรัพย์ของพนักงาน ก่อนทำการอนุมัติธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์ทุกครั้ง

- กำหนดศูนย์กลางการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ เพื่อตรวจสอบการเรียงลำดับการส่งคำสั่งซื้อขาย ระหว่างกองทุนและพนักงาน

- กำหนดให้พนักงานที่ซื้อขายหลักทรัพย์ มีระยะเวลาการถือครองหลักทรัพย์ไม่น้อยกว่า 30 วัน

- กำหนดให้พนักงานรายงานการได้มาของหลักทรัพย์เป็นลายลักษณ์อักษรทุกครั้ง ในระยะเวลาอันสมควรทั้งนี้ ในรายงานดังกล่าวต้องกำหนดให้พนักงานชี้แจงเหตุผลหรือที่มาของการได้มาซึ่งหลักทรัพย์ดังกล่าวไว้ด้วย

- เปิดเผยการลงทุนของพนักงานและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ต่อผู้ดูแลการปฏิบัติงาน

- ฝ่ายกำกับและดูแลการปฏิบัติงานต้องตรวจสอบการลงทุนของพนักงานและบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยสม่ำเสมอ และรายงานการตรวจสอบต่อคณะกรรมการ อย่างน้อยปีละครั้ง


"ทางสมาคมบลจ.ได้มีปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่างๆ เป็นระเบียบวิธีปฏิบัติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้พนักงานของบลจ. ที่บริหารเงินให้กับผู้ถือหน่วย ไม่มีการใช้ข้อมูลภายในไปในทางหาประโยชน์ให้กับตนเอง" นายกสมาคม บลจ.กล่าวย้ำ

...อีกหน่วยงานหนึ่งที่กำกับดูแลการซื้อขายหุ้นโดยตรง คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวออกมา ก็มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ตามมาด้วยเช่นกัน

"จารุพรรณ อินทรรุ่ง" ผู้อำนวยการฝ่ายงานเลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. ระบุว่า ประเด็นการตรวจสอบการบริหารงานของ กบข.ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ยังไม่มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ ก.ล.ต. ซึ่ง กบข.มีสถานะเป็นนักลงทุนคนหนึ่งในตลาด หากนักลงทุน มีการกระทำความผิดกฎหมายหลักทรัพย์ เช่น การไปปั่นหุ้นสร้างราคา หรือมาทำให้ระบบการซื้อขายโดยรวมเสียหาย ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพตลาด ก.ล.ต.ก็จะเข้าไปดำเนินการ หรือหาก บริษัทหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ ที่เป็นนายหน้าซื้อขายหุ้น มีการกระทำที่เอาเปรียบลูกค้า เช่น ไปซื้อหรือขายหุ้นตัดหน้าลูกค้า ตรงนี้ก็จะเป็นความผิด เพราะมีข้อห้ามไม่ให้โบรกเกอร์ ซื้อหรือขายหุ้นตัดหน้าลูกค้า ซึ่งเป็นการเขียนไว้เพื่อปกป้องนักลงทุนและปรามโบรกเกอร์ไม่ให้กระทำการที่เอาเปรียบลูกค้า ซึ่งจะมีบทลงโทษ

ส่วนกรณีของ กบข.นั้น เท่าที่ติดตามข้อมูลที่เผยแพร่ออกมา หากจะมีการกระทำความผิดจริง ก็น่าจะเป็นการทำผิดกฎเกณฑ์หรือระเบียบหรือข้อห้ามภายในองค์กรของ กบข.เอง ที่มีการกำหนดเกณฑ์ในการซื้อขายหุ้นของพนักงานในองค์กร ไม่ใช่ เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมที่เป็นการเอาเปรียบนักลงทุนในตลาด หรือไม่ได้มีการใช้ข้อมูลอินไซเดอร์หรือข้อมูลภายในของตัวหุ้นมาซื้อขายเอาเปรียบนักลงทุนรายอื่นในตลาด

" ก.ล.ต.ไม่ได้กำกับดูแล กบข. แต่อยู่ภายใต้ ก.ล.ต.ในฐานะที่เป็นนักลงทุนรายหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้ามาทำให้ระบบโดยรวมเสียหายกระทบตลาด หรือเข้ามาปั่นหุ้นหรือสร้างราคา ก.ล.ต.จึงจะเข้าไปยุ่ง แต่กรณีนี้ หากมีการกระทำผิดจริงก็เป็นความผิดเรื่องหลักเกณฑ์การลงทุนภายในบ้านของเขาเอง ก.ล.ต.ไม่ได้เข้าไปยุ่ง และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีใครมาร้องเรียนเรื่องของ กบข.ที่กระทบกับกฎหมายหลักทรัพย์ที่ ก.ล.ต.ดูแลอยู่"

...ล่าสุด สำนักงาน ก.ล.ต. ตื่นตัว ออกมาย้ำ เพื่อทำความเข้าใจกับบรรดาบริษัทจัดการกองทุน โดยขอให้สมาคมบลจ. ซักซ้อมกับบริษัทสมาชิก ให้มีความเข้มงวดในการควบคุมดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท ผู้บริหารและพนักงานของบริษัทจัดการกองทุน (บลจ.)ให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนด โดยไม่ให้มีการเอาเปรียบกองทุนและผู้ลงทุน และต้องตรวจสอบอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้ผู้บริหารและพนักงานนำข้อมูลภายในไปใช้ประโยชน์ และป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารและพนักงาน เพื่อให้ผู้ลงทุนมีความเชื่อมั่นในการลงทุนในกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่ง ก.ล.ต. ก็จะมีการตรวจสอบบริษัทจัดการในเรื่องนี้อย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังไม่เคยตรวจพบการกระทำในลักษณะดังกล่าว

...สุดท้ายต้องย้ำเตือนว่า แม้ขณะนี้ จะยังไม่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นในกองการกองทุนรวม แต่การที่มีสำนึกถึง "จรรยาบรรณ" อยู่ตลอดเวลา ควรจะเป็นพื้นฐานที่ผู้บริหาร ผู้จัดการกองทุน รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องควรมี เพราะการที่ธุรกิจจะพัฒนาไปได้ ไม่ใช่นวัตกรรมใหม่ๆ เท่านั้น แต่การมีความซื่อสัตย์ โปร่งใส ก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน...

วรวรณ ธาราภูมิ
กำลังโหลดความคิดเห็น