xs
xsm
sm
md
lg

อีลิทหน้ามืดดึงสถานทูตช่วยชงแก้มติครม.โอนสิทธิ์ไม่จำกัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - อีลิท การ์ด สิ้นคิด อ้อน บอร์ด ททท. แก้มติ ครม. ขอไฟเขียวสมาชิกโอนกรรมสิทธิ์ เปลี่ยนมือได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง อ้างใช้เป็นช่องทางเพิ่มรายได้เข้าองค์กร แถมยังจูงใจผู้ซื้อถือบัตรเป็นทรัพย์สินได้

แหล่งข่าวจาก บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด หรือ ทีพีซี ผู้บริหารโครงการ บัตรไทยแลนด์ อีลิท เปิดเผยว่า ในการชี้แจงต่อที่ประชุมคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(บอร์ด) เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา ทีพีซีได้นำเสนอ ปัญหาอุปสรรคของการทำงาน รวมถึงแผนการตลาดและวิธีจัดจำหน่าย บัตรสมาชิก ไทยแลนด์อีลิทการ์ด ต่อที่ประชุม พร้อมเสนอว่า ต้องการให้บอร์ดนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ขอยกเลิกและแก้ไข มติ ครม. ในเงื่อนไขการถ่ายโอนกรรมสิทธิ์บัตรอีลิทการ์ดให้แก่ทายาท ที่ระบุให้โอนได้เพียงครั้งเดียว เพื่อสมาชิกจะสามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้หลายครั้งไม่จำกัด
ทั้งนี้เพราะทีพีซีก็จะได้ค่าโอนกรรมสิทธิ์เป็นรายได้ของบริษัทอีกทางหนึ่ง และเป็นแรงจูงใจให้แก่ผู้ที่จะมาเป็นสมาชิกได้ว่า บัตรดังกล่าว ถือเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่า โดยบริษัทได้ระบุไว้ในเงื่อนไขแล้วว่า หากสมาชิกต้องการโอนกรรมสิทธิ์ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าโอนครั้งละ 30% ของราคาบัตรในขณะนั้น เช่น ปัจจุบัน ราคาบัตรสมาชิกอีลิทการ์ดอยู่ที่ใบละ 1.5 ล้านบาท ก็จะเสียค่าโอนประมาณเกือบ 5 แสนบาท เป็นต้น
นอกจากนั้นในแผนการหารายได้เพิ่ม ด้วยการออกบัตรสมาชิกสำหรับนักธุรกิจคนไทย ภายใต้โครงการ “ ดิ อินเวสเตอร์ คลับ” โดยผู้สนใจจะเสียค่าสมาชิกรายปีปีละ 1 แสนบาทด้วย ตั้งเป้าปีแรกจะมีนักธุรกิจชั้นนำของเมืองไทยเข้าร่วมโครงการราว 200 ใบ สร้างรายได้เข้าบริษัทได้ภายในปีนี้ประมาณ 90 ล้านบาท เตรียมเปิดตัวโครงการในเดือนสิงหาคมนี้
ทีพีซี ยังเสนอแนวทางเพิ่มช่องทางจำหน่าย โดยกำลังศึกษาความเป็นไปได้ ที่จะขอความร่วมมือจากไทยทีมและกระทรวงต่างประเทศ เพื่อจำหน่ายสมาชิกผ่านสถานทูตไทยในต่างประเทศ โดย ทีพีซี จะทำหน้าที่ด้านการตลาด เมื่อมีผู้สนใจก็ติดต่อซื้อได้ที่สถานฑูต หรือ สามารถติดต่อซื้อที่บริษัทได้โดยตรง จากปัจจุบัน อีลิทการ์ด จะจำหน่ายผ่านตัวแทนที่ได้รับการแต่งตั้งมาเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมบอร์ด ททท. เพียงรับฟัง แต่ไม่ออกความเห็นใดๆ แต่เบื้องต้น ได้ให้คณะกรรมการติดตามและประเมินผล ที่ บอร์ด ททท.เป็นผู้แต่งตั้ง เข้าไปร่วมทำงาน และช่วยเสนอแนะ ผ่าทางตันให้แก่ ทีพีซี นอกจากนั้นยังแนะนำว่า นอกจากทีพีซี ยังหารายได้เพิ่มแล้ว ต้องมีวิธีลดค่าใช้จ่ายองค์กรด้วย โดยใช้เท่าที่ความจำเป็น เพราะการที่องค์กรใดก็ตามจะมีรายได้เพิ่มนั้น ต้องมาจาก 2 ส่วน คือ สร้างรายได้เพิ่ม และ ลดรายจ่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น