xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ชักศึกเข้าบ้าน

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

มีบทความของฌอน เฟิร์น (Sean Fern) เกี่ยวกับกรณีพิพาทดินแดนระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีที่แย่งกันแสดงอธิปไตยเหนือหมู่เกาะทาเกะชิมา (Takeshima) ซึ่งญี่ปุ่นเรียก ขณะที่เกาหลีใต้เรียกว่า ทอกโด (Tokdo) ซึ่งฌอนมองว่า กรณีพิพาทแย่งเกาะในทะเลเป็นเรื่องสามัญของประเทศที่มีพรมแดนเป็นเขตทะเล ซึ่งมีความยุ่งยากซับซ้อน ทั้งความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ และเชิงเรขาคณิตในการคำนวณเส้นแบ่งเขตในทะเล รวมทั้งล่องน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจที่เกิดจากการได้ครอบครองเกาะในบริเวณที่ติดชายฝั่งแล้ววัดระยะไกลออกไปอีก 200 ไมล์ทะเล

นอกจากนี้ญี่ปุ่นแล้วยังมีปัญหาเรื่องอธิปไตยเหนือเกาะคูริลและพื้นที่ในทะเลกับรัสเซีย และมีปัญหากับจีนว่าด้วยเรื่องของเกาะเซนคาคุ ซึ่งเกาะที่เป็นปัญหาทั้งหมดของญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้กับจีนกับรัสเซียนั้น ดูเป็นเกาะเล็กๆ เหมือนโขดหิน แต่ผลอันเกิดจากความสูญเสียมีมากมายนัก เช่น พื้นที่ทางทะเล และศักดิ์ศรีของความเป็นเจ้าของ

ความเป็นเจ้าของแตกต่างกับชาตินิยมซึ่งชัดเจนตรงที่ว่าความเป็นเจ้าของเป็นการแสดงสิทธิในการครอบครองสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องใช้ลัทธิชาตินิยมมาครอบงำเสมือนว่าของในบ้านเราเนื้อที่รอบบ้านเราใครจะมาหยิบฉวยไปเราคงไม่ยอม โดยไม่จำเป็นต้องแสดงอะไรมากไปกว่าความเป็นเจ้าของของนั้นๆ ที่เป็นข้อเท็จจริงและมีหลักฐานทั้งนิตินัย และพฤตินัยเหมือนกับพื้นที่บนปราสาทพระวิหาร ที่ศาลโลกมิได้พิพากษาให้เป็นของเขมรก็ยังเป็นของไทย ตามนัยทางพฤติกรรม (De Facto) ความเป็นเจ้าของคนสุดท้ายและเป็นพื้นที่ที่ฝรั่งเศสยอมรับ

เมื่อฝรั่งเศสทำสนธิสัญญาปักปันเขตแดน ค.ศ. 1904 เฉพาะเจาะจงเอาแต่ตัวปราสาทก็จบเพียงแค่นั้น ส่วนดินแดนทับซ้อนนั้นเป็นเรื่องที่ศาลโลกมิได้แตะต้องเพราะเขมรเองก็ฟ้องเอาแต่องค์ปราสาท ซึ่งปรากฏในสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1904 และไทยยังคงสภาพอธิปไตยเหนือดินแดนรอบองค์ปราสาทที่ไม่อยู่ในคำฟ้องของเขมร ตามนัยแห่งความเป็นเจ้าของ และตามหลักการปักปันดินแดนสากลคือ แนวสันเขาปันน้ำที่บ่งชัดในคำให้การของไทย พ.ศ. 2505

เรื่องประวัติศาสตร์การครอบครองดินแดนนั้น ตามหลักการง่ายๆ ในการครอบครองอาณาจักรที่ได้มาจากการยึดครองด้วยกองทัพ การแลกเปลี่ยน การซื้อขาย หรือการถูกพิพากษา ถือว่าการครอบครองครั้งสุดท้ายเป็นอันสิ้นสุดและเป็นที่ยอมรับทั้งทางนิตินัยและพฤตินัย มิฉะนั้นแล้วโลกคงจะวุ่นวายเพราะอังกฤษเคยเป็นของโรมัน เป็นของพวกนอร์แมนหรือฝรั่งเศสโบราณครั้งกษัตริย์วิลเลียมผู้พิชิต ค.ศ. 1066 หรือสเปนเคยเป็นของของแขกอาหรับมัวร์หรือพวกเบอร์เบอร์ (Berber) ซึ่งตามประวัติศาสตร์แล้วจะมาไล่เอาว่าใครเคยเป็นเจ้าของแผ่นดินตรงไหนกันบ้าง โลกคงจะสับสนพิลึกหรืออาจจะโหดเหมือนกับดินแดนโคโซโวแถบแหลมบอลข่าน ซึ่งถูกครอบครองและได้รับอิทธิพลจากหลายเชื้อชาติ ศาสนา จนนักฆ่าอย่าง สโลโบแดน มิโลเชวิด (Milosevic) ประกาศต่อหน้าชาวเซิร์บให้ฉลอง 600 ปีสงครามโคโซโว ทำให้ชาวเซิร์บเหิมเกริมสำแดงความเป็นชาตินิยมเริ่มฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อื่นนับแสนคนในศตวรรษนี้เอง

เหตุหนึ่งที่สมเด็จนโรดมสีหนุทรงเอาเรื่องปราสาทพระวิหารเป็นประเด็น ก็เพราะว่าพระเจ้ามุนีวงศ์ทรงพิโรธที่กองทัพไทยรบชนะกองทัพฝรั่งเศส ในกรณีพิพาทดินแดน พ.ศ. 2484 และเขมรภายใต้ปกครองฝรั่งเศส ต้องสูญเสียดินแดนเสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ และนครจำปาศักดิ์คืนให้ไทย แต่ต่อมาญี่ปุ่นไกล่เกลี่ยและยึดครองอินโดจีนในสงครามมหาเอเชียบูรพา ไทยจึงคืนดินแดนเขมรในส่วนนั้นไป

เหตุการณ์นั้นทำให้เขมรรู้สึกเสียหน้าครั้นสมเด็จนโรดมสีหนุขึ้นครองราชย์ และใช้ไทยเป็นฐานในการเรียกร้องเอกราชก็ตาม แต่ก็ยื่นฟ้องไทยต่อศาลโลกเอาปราสาทพระวิหารคืน ซึ่งศาลโลกก็ตัดสิน 9:3 ให้เขมรได้เฉพาะตัวปราสาทตามที่กำหนดไว้บนแผนที่ปี 1904 ขณะนั้นทั้งไทยและเขมรเป็นเหยื่อของสงครามเย็น ปราสาทพระวิหารจึงเป็นส่วนของการต่อรองกันระหว่างเขมร โลกตะวันตก และค่ายคอมมิวนิสต์ว่า ถ้าช่วยเขมรแล้วจะได้อะไร ขณะที่ไทยกำลังตกอยู่ในห้วงของการปฏิวัติ 16 กันยายน 2500 บ้านเมืองไม่ปกติจึงยึดยุทธศาสตร์อยู่ห่างๆ ลัทธิคอมมิวนิสต์จึงไม่ได้ดิ้นร่นต่อรองตรงข้ามกับเขมรซึ่งเล่นกับไฟการเมืองสงครามเย็นจนเกิดสงครามกลางเมือง และนโยบายของสมเด็จนโรดมสีหนุมีส่วนทำชาติสู่หายนะจากเขมรแดงที่ฆ่าพวกเดียวกันเอง 3 ล้านคน ที่เรียกว่าทุ่งสังหารโดยนายพล พต ระหว่าง พ.ศ. 2518-2523

เรื่องกรณีพิพาทดินแดนไทย-เขมรก็เป็นปกติเช่นเดียวกับชาติอื่นๆ เพราะในโลกปัจจุบันมี 85 คดีระหว่างประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่เกิดข้อพิพาทเรื่องสิทธิและอธิปไตยเหนือดินแดน ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าไปค้นได้ในเว็บไซต์ www/didyouknow.cd/story/disputes.htm

ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีเรื่องของไทยกับเขมรหรือพื้นที่อื่นๆ กับประเทศรอบบ้านในเว็บไซต์นี้ เพราะก่อนหน้ารัฐบาลนี้ชายแดนทุกด้านสามารถควบคุมได้ทั้งทางรัฐศาสตร์ และการทหารเนื่องจากคณะกรรมการชายแดนร่วมระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านโดยรอบ และมีคณะอนุกรรมการชายแดนย่อยที่มีแม่ทัพภาคแต่ละภาครับผิดชอบร่วมกัน ผู้ว่าราชการจังหวัด และเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศ และสภามั่นคงแห่งชาติเจรจากับเพื่อนบ้านตามหลักความจริงด้วยสันติวิธีบ้าง ขึงขังบ้างตามแต่กรณี

จนมาถึงคณะรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช โดยนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ลงนามร่วมกับเขมรเพื่อให้เขมรเสนอปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียวในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2551 แต่ต่อมาในวันที่ 28 มิถุนายน 2551 ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ กต. และครม.ยุติการดำเนินการตามมติ ครม.ที่รับรองการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-เขมร สนับสนุนให้เขมรจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และให้เพิกถอนการกระทำของ นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.กต. ทำให้สาธารณชนพบว่า รัฐบาลกระทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ฉบับ 2550 กำหนดให้เรื่องปัญหาว่าด้วยผลประโยชน์ดินแดน และการค้าของประเทศชาติทั้งมวล สภาและประชาชนต้องรับรู้ และมีสิทธิออกความเห็นทั้งสามารถมีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ

เมื่อเกิดเรื่องราวเช่นนี้ สื่อมวลชน นักวิชาการรัฐศาสตร์และกฎหมายต่างประเทศ และอดีตผู้นำรวมทั้งนักการทูตต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างรุนแรง ต่อเนื่องผนวกกับเกิดความตึงเครียดบริเวณชายแดน เพราะทั้งไทยและเขมรเสริมกำลังทหารประชิดชายแดนด้านเขาพระวิหาร ชาวไทยเริ่มที่จะเรียกร้องให้ชาวเขมรที่ล้ำแดนให้ถอยออกไปจากดินแดนทับซ้อนบริเวณรอบปราสาท ซึ่งยังคงไม่มีข้อยุติว่าเป็นของใคร เพราะศาลโลกละเว้นที่จะพิพากษาเพราะพื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่ของไทยซึ่งหากพิพากษาตามนั้นก็จะขัดกับคำพิพากษาที่ตัดสินให้องค์ปราสาทเป็นของเขมร

จากกรณีรวบรัดตกลงกับเขมรอันเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงเกินอภัยของรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เพราะเขมรใช้ประเด็นพื้นที่ทับซ้อน การเสริมกำลังทหารของไทยที่เพิ่มตามกองทัพเขมร และความอ่อนแอของรัฐบาลนี้ในเรื่องการเมืองภายในที่รอบตัวมีแต่คดีคอร์รัปชัน และหมกเม็ดหรือหลบเลี่ยงรัฐธรรมนูญ ส่งเรื่องฟ้องสหประชาชาติกล่าวหาว่าไทยกำลังคุกคามเขมร และเป็นภัยต่อสันติภาพในภูมิภาคอาเซียน

สงครามการเมืองระหว่างประเทศเริ่มขึ้นแล้ว และจะทวีความรุนแรงมากในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ เมื่อสหประชาชาติจะทำการเปิดประชุมฉุกเฉินตามคำกล่าวอ้างของเขมร แต่นายดอน ปรมัติวินัย เอกอัครราชทูตไทยประจำสหประชาชาติ ยังไม่ได้รายงานให้กระทรวงการต่างประเทศทราบว่ามีเรื่องเช่นนี้ แต่ก็ไม่มีอะไรที่คนไทยต้องวิตกเพราะในโลกนี้มีคดีเช่นนี้ 85 คดี รวมทั้งประเทศนี้เป็นคณะมนตรีความมั่นคงถาวร 5 ชาติได้แก่ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย อังกฤษ และสหรัฐฯ ต่างมีปัญหากรณีพิพาทชายแดนทั้งสิ้น อังกฤษกับอาเจนตินาก็เคยรบกันกรณีหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ส่วนสมาชิกไม่ถาวร 9 ประเทศมีปัญหาชายแดน 2 ประเทศคือ อินโดจีนกับเวียดนาม แต่อีก 7 ประเทศไม่มีปัญหาชายแดนคือ ลิเบีย เบลเยียม อิตาลี โครเอเชีย แอฟริกาใต้ คอสตาริกา และบูร์กินาฟาโซ สำหรับเบลเยียมนั้นกำลังประสบปัญหาภายในประเทศกรณีคนพูดเบลเยี่ยมกำลังแบ่งแยกกับคนพูดฝรั่งเศสอาจนำไปสู่การแยกประเทศได้

ดังนั้น คนไทยควรจะต้องจดจำว่า กลยุทธ์ทางการเมืองระหว่างชาติเป็นเรื่องที่สังคมต้องรับรู้ในยุคโลกาภิวัตน์เพราะในโลกมีปัญหากรณีพิพาทเขตแดนที่มีดีกรีความเข้มข้นสูงกว่ากรณีปราสาทพระวิหาร ซึ่งศาลโลกตัดสินไปแล้วก็ยุติ ณ จุดนั้น แต่ต้องพึงระวังพื้นที่ที่กำลังจะถูกแย่งไปเพราะนักการเมืองเห็นแก่ได้ เพราะทั้งโลกก็ระอุไปด้วยข้อพิพาทเขตแดนทุกที่ดีกรีความรุนแรงตั้งแต่สงครามการทูต (Diplomatic War) จนสงครามร้อน (Hostility War) ทั่วโลก

เขมรอย่าได้ใช้วิธี Diplomatic War กับไทยเลยเพราะคงไม่ได้ผลนัก โดยเฉพาะในส่วนของสมาชิกอาเซียนเองก็กล้ำกลืนกับข้อพิพาทชายแดนกันทั้งนั้น มาคุยกันอย่างสันติและยืนอยู่บนตรรกะแห่งข้อเท็จจริงตามหลักสากลที่ควรยึดถือ เพราะเขมรเองก็ได้รับชัยชนะทางนิตินัยมาแล้ว อย่าเอาชนะทางพฤติกรรมอีกเลยมิฉะนั้นแล้วไทยคงต้องรักษาสมบัติของตัวเองที่ครอบครองกรรมสิทธิ์ครั้งสุดท้ายหลังจากที่ฝรั่งเศสให้เอกราชเขมรแล้วจึงเป็นของไทยโดยชอบธรรม

และนี่คือการที่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ชักศึกเข้าบ้านอย่างแท้จริง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกเพื่อจะได้มีการเลือกตั้งใหม่ มิฉะนั้นแล้วความตึงเครียดจะรุนแรงมากขึ้น สามารถพัฒนาไปในทิศทางไร้ไมตรีต่อกันจนเข้าทางนักยุทธศาสตร์ซาตานของกลุ่มที่หวังการปะทะกันทางทหารเป็นการสร้างสถานการณ์ลบบทบาทการเมืองภายในที่กำลังถึงจุดสุดทางขบวนการนิติกรรมของพ.ต.ท.ทักษิณ และภรรยาในหลายคดี
กำลังโหลดความคิดเห็น