xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีศักร” เตือนไทยอย่าโง่ซ้ำสามยกพื้นที่ให้อีก 6 ปท.บริหารร่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ศรีศักร” สับ คกก.มรดกโลก ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร “ไม่ชอบธรรม” ขัดอุดมคติการเป็นมรดกโลก ผิดเจตนารมณ์สร้าง “สันติภาพ” เปิดทางให้ทุนข้ามชาติเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ เตือนไทยอย่าโง่ซ้ำสาม ให้ 6 ประเทศเข้ามาบริหารพื้นที่ร่วม เท่ากับยกดินแดนให้ต่างชาติ

รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทย กล่าวในการเสวนาความมั่นคง โดยกองทุนสนับสนุนการวิจัย เรื่อง “เขาพระวิหาร : วิกฤตและโอกาส” ว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชา อันมีสาเหตุมาจากเรื่องมรดกโลก แต่โอกาสของไทยก็คือการที่กัมพูชาได้ยอมรับแผนที่เรื่องเขตแดนที่ไทยเสนอ ทั้งนี้ การตัดสินของคณะกรรมการมรดกโลกขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา เป็นการตัดสินที่ขัดต่อ 3 องค์ประกอบอุดมคติของมรดกโลก เป็นการตัดสินที่ไม่ชอบธรรม และไม่ได้เป็นเครื่องมือสร้างสันติภาพตามเจตนารมณ์ที่แท้จริง แต่กลับทำให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวทางเศรษฐกิจ ซ่อนเร้นให้กลุ่มข้ามชาติเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์

“ไทยจะต้องทันโลก ต้องไม่ตกหลุมพรางยอมเข้าไปบริหารจัดการร่วมกับอีก 6 ประเทศ เพราะจะทำให้เขาพระวิหารได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยสมบูรณ์ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการโง่ซ้ำสาม น่าเสียใจที่คณะกรรมการมรดกโลกของไทยพูดแต่เพียงแนวคิด แต่ไม่เคยเปิดเผย แผนแม่บทของกัมพูชาเรื่องปราสาทพระวิหาร คือ ขั้นแรกจะขึ้นทะเบียนตัวปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกก่อน จากนั้นจะให้ประเทศต่างๆ มาบริหารจัดการร่วมกัน ซึ่งหากเรายอมไปร่วมอีก เท่ากับเป็นการยกดินแดนในเขตไทย และดินแดนทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรให้มรดกโลกบริหารจัดการ และมรดกโลกก็จะยกพื้นที่ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของกัมพูชา หากเจตนารมณ์คือให้สองประเทศดูแล ต้องเริ่มตั้งแต่แรก แต่การตัดสินเมื่อวันที่ 8 ก.ค.2551 ให้ปราสาทกับกัมพูชาก็ชัดเจนแล้ว

นี่คืออำนาจอธิปไตยของบ้านเมือง ไม่เกี่ยวกับมรดกโลก ซึ่งเป็นเครื่องมือบางอย่างของพวกข้ามชาติ ที่ทำให้เราเกิดอาการคลั่งชาติทั้งไทยและกัมพูชา มรดกโลกคือต้นเหตุ เป็นความไม่ชอบธรรมที่เอาเฉพาะตัวปราสาท เป็นเกณฑ์ที่ไม่สมบูรณ์ และกำลังจะโยนเผือกร้อนให้ไทย หลอกลวงไทยเป็นครั้งที่สาม ดังนั้น ผู้แทนไทยอย่าทำความโง่ซ้ำสาม ผมใช้คำแรง ๆ อยากให้ทุกคนในชาติต้องเข้าใจและมีสติ”
รศ.ศรีศักร กล่าว

รศ.ศรีศักร ยังเสนอให้ประเทศไทยกลับมาทบทวนเรื่องการจัดการมรดกโลกที่ถูกต้องตามแบบไทย โดยเอื้อเฟื้อต่อคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง คำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของคนที่อยู่อย่างสงบสุขในแนวชายแดนตามประวัติศาสตร์ที่มีมายาวนาน และระวังไม่ให้กลุ่มธุรกิจข้ามชาติแฝงเรื่องวิชาการเข้ามาทำประโยชน์ในพื้นที่สำคัญของไทย ซึ่งรวมไปถึงอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และพระนครศรีอยุธยาด้วย





กำลังโหลดความคิดเห็น