xs
xsm
sm
md
lg

รัฐ/เอกชนลุ้นรถไฟเด่นชัย-ชร. คสศ.-10 หอฯเหนือนัดถกลอจิสติกส์ศุกร์นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แนวเส้นทางรถไฟที่จะเชื่อมต่อไปจนถึงชายแดนจ.เชียงราย
เชียงราย - รัฐ/เอกชนเมืองพ่อขุนฯ เร่งหาช่องดัน “เส้นทางรถไฟในฝันเด่นชัย-เชียงราย” ที่มีแนวคิดกันมาตั้งแต่ปี 2503 เสนอยกระดับเป็นหนึ่งใน “ยุทธศาสตร์จังหวัด” รองรับสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ พร้อมเสนอโปรเจกต์เฟส 2 เชื่อมทางรถไฟถึงท่าเรือเชียงแสน 2 และแม่สายต่อในอนาคต คสศ.-หอฯ 10 จังหวัดเหนือ นัดประชุมตามความคืบหน้า Logistic ไทย พม่า ลาว จีน พร้อมวางแผนพัฒนาผู้ประกอบการไทย-จัดผังท่องเที่ยวรับ “Visit GMS Year 2009-2010” ศุกร์นี้ (25 ก.ค.)

รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงราย แจ้งว่า นายวรชัย อุตตมชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในนามคณะอนุกรรมการพัฒนาเส้นทางรถไฟ เด่นชัย-เชียงราย ห้องประชุม 2 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย เมื่อเร็วๆนี้

ในที่ประชุม ได้หยิบยกมติที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบขนส่งทางราง และระบบขนส่งมวลชน ครั้งที่ 2/2551 เมื่อ 1 พ.ค.2551 ขึ้นมาหารือ เพื่อหาแนวทางผลักดันให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมต่อไป ซึ่งมติดังกล่าวได้เห็นชอบแนวทางการพัฒนาโครงการรถไฟขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งในภูมิภาค และเชื่อมโยงเส้นทางการค้ากับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาค โดยมอบหมายให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และกระทรวงคมนาคม พิจารณาแนวทาง การเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมพัฒนาระบบรถไฟขนาดรางมาตรฐานในเขตทางของ ร.ฟ.ท. 4 เส้นทาง

ประกอบด้วย 1.สายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-กาญจนบุรี เพื่อเตรียมเชื่อมกับชายฝั่งทะเลตะวันตก(หนองคาย-ขอนแก่น-นครราชสีมา-มาบกะเบา-บ้านภาชี-สุพรรณบุรี-กาญจนบุรี-ชายแดนสหภาพพม่า เพื่อเชื่อมโยงท่าเรือทวาย

2.สายเหนือ (เชียงของ-เชียงราย-เด่นชัย-บ้านภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา) โดยการเชื่อมโยงกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ควรพิจารณาเชื่อมโยงจากมณฑลหยุนหนัน (ยูนนาน) และเส้นทางจากเวียดนาม-มณฑลกว่างสี

3.สายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ชุมทางจิระ-อุบลราชธานี) เพื่อเตรียมเชื่อมต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

4.สายภาคตะวันออก (แก่งคอย-แหลมฉบัง) เพื่อเข้าสู่พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก

การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2551 ได้มีมติรับทราบและอนุมัติตามมติคณะกรรมการพัฒนาระบบขนส่งทางรางและระบบขนส่งมวลชนครั้งที่ 2/2551 รวมระยะทาง 2,344 กิโลเมตร(กม.) ประมาณการค่าก่อสร้างรวม 4 สาย ไว้ประมาณ 300,000 ล้านบาท จึงต้องว่าจ้างที่ปรึกษามาจัดทำรายงานและวิเคราะห์ผลการศึกษาอย่างละเอียด เนื่องจากเป็นนโยบายเร่งด่วนและสำคัญของรัฐบาล ในการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถการขนส่งทางราง ซึ่ง ร.ฟ.ท.ได้ตั้งงบประมาณเพื่อการศึกษานี้ไว้ และสามารถศึกษาได้ในงบประมาณปี 2552 จึงเห็นควรเสนอแปรญัตติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2552 เพิ่มเติม ต่อสำนักงบประมาณ เพื่อศึกษาดังกล่าวในวงเงิน 300,000,000 บาท

ในส่วนของจังหวัดเชียงราย เคยมีการศึกษาเส้นทางที่จะเชื่อมรถไฟจาก อ.เด่นชัย จ.แพร่ -พะเยา-เชียงราย ตั้งแต่ปี 2503 แต่ในอดีตรัฐบาลหลายชุดไม่ได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณา เนื่องจากคิดว่าไม่คุ้มทุน กระทั่งปี 2539-2541 ร.ฟ.ท. ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาสำรวจออกแบบรายละเอียดด้านวิศวกรรม และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่ โดย เส้นทางนี้มีระยะทางราว 246 กม.

ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาเส้นทางรถไฟ เด่นชัย-เชียงราย ครั้งนี้ เห็นควรว่า รัฐบาลควรเร่งสร้างทางรถไฟสายนี้ เนื่องจากทราบว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้ไปหารือกับจีนแล้ว ปรากฏ ว่า รัฐบาล - เอกชนจีนสนใจที่จะมีการทำเส้นทางรถไฟจากจีนตอนใต้ ผ่าน สปป.ลาว ด้วยรางมาตรฐานเข้ามาเชื่อม เนื่องจากการขนส่งทางรางในอนาคตจะประหยัดเชื้อเพลิงกว่าใช้รถยนต์ โดยน่าจะเป็นรถไฟที่แล่นเร็ว

สำหรับ จังหวัดเชียงราย เห็นว่า เมื่อมี เส้นทางรถไฟที่ผ่านจาก อ.เด่นชัย จ.แพร่ มา อ.เมืองเชียงราย แล้วน่าจะสร้างต่อในเฟส 2 เพื่อไปที่ อ.เชียงของ ชายแดนไทย-ลาว เพื่อรับกับถนน R3a และเส้นทางรถไฟจากจีนหากจะมีขึ้น และในที่ประชุมอยากให้นำเสนอว่าหากเป็นไปได้ควรทำทางแยกจาก บริเวณก่อนถึง อ.เชียงของ ไปจ่อที่ชายแดน อ.เชียงแสน เพื่อรับกับท่าเรือเชียงแสน 2 ที่กำลังจะก่อสร้างด้วย

อย่างไรก็ตาม หากอนาคตประเทศสหภาพพม่า มีความพร้อม ก็อาจจะมีการนำเสนอเส้นทางรถไฟจาก อ.เมือง ไป อ.แม่สาย อีกเส้นทาง ซึ่งเส้นทางรถไฟสายนี้เน้นการขนส่งสินค้า และได้ประโยชน์ทางอ้อมด้านการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง

นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานหอการค้า จ.เชียงราย และประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ กล่าวว่า ชาวเชียงรายต้องการให้มีรถไฟแล่นมาถึงจังหวัดเชียงรายมานานแล้ว และเป็นที่ทราบกันดีว่ามีการเรียกร้องกันมาตลอด หากรัฐบาลมีแนวทางว่าจะสร้างทางรถไฟ เนื่องจาก ต้นทุนค่าน้ำมันดีเซลที่แพงขึ้น และจีนให้การสนับสนุน ก็เป็นนิมิตหมายที่ดีว่าเส้นทางรถไฟสายนี้จะเกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ ต้องการให้จังหวัดเชียงราย กำหนดให้รถไฟ เป็นยุทธศาสตร์จังหวัด เพื่อให้การผลักดันมีน้ำหนัก และต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และในกลุ่มคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ และกลุ่มจังหวัดล้านนาตะวันออก ก็จะได้เข้ามาร่วมมือกันผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม เพราะทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ และจะติดตามอย่างใกล้ชิดตั้งแต่นี้ไปว่า รัฐบาลพิจารณาในการอนุมัติงบประมาณมาเพื่อศึกษาอย่างไรต่อไปด้วย

นายพัฒนา กล่าวอีกว่า และในวันที่ 25 กรกฎาคม 2551 คสศ.-หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ ก็มีกำหนดที่จะหารือกันที่จังหวัดพะเยา เพื่อติดตามความคืบหน้าการพัฒนาโครงข่ายคมนาคม และ logistics ภาคเหนือ ความคืบหน้าการพัฒนาด่านการค้าชายแดนในเขตภาคเหนือ ความคืบหน้าการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงราย และจังหวัดตาก

นอกจากนี้ ยังจะมีการหารือถึงแนวทางกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคเหนือ เพื่อรองรับโครงข่ายคมนาคมจากประเทศภาคีสมาชิกสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ และรองรับยุทธศาสตร์ใหม่ Economic Corridor Forum ศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของ 10 จังหวัดภาคเหนือ และการจัดทำแผนการตลาดเพื่อสนับสนุน Visit GMS Year 2009 – 2010 เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น