เชียงราย - ที่ดินเชียงของพุ่งรับข่าวสะพานข้ามโขง 4 เชื่อม R3a หลังประชาพิจารณ์ครั้งสุดท้ายเสร็จ หอฯ-คสศ.ตั้งความหวังผลักดันทางรถไฟเด่นชัย-เชียงราย เชื่อม สป.จีน ต่อ แม้เป็นเส้นทางรถไฟในฝันมานานหลายปีก็ตาม เชื่อมั่นเป็นแนวทางลดต้นทุนการขนส่งยุคน้ำมันแพงมหาโหดได้
นายธีรยุทธ กระฎุมพร รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย ฝ่ายการค้าชายแดน, ประธานชมรมพ่อค้าเชียงของ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้นายชนะ นาคสุริยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และตนพร้อมด้วยนายสงวน ซ้อนกลิ่นสกุล รองเลขาธิการหอการค้าจังหวัดเชียงราย และหัวหน้าฝ่ายลอจิสติกส์ หอการค้าจังหวัดเชียงราย ได้ร่วมประชุมกับบริษัทที่ปรึกษาของกรมทางหลวง คือ บริษัทเอพซิลอน จำกัด ดูแลด้านบริหารโครงการและวิศวกรรมโครงสร้าง, บริษัทเทสโก้ จำกัด ดูแลด้านวิศวกรรมโครงสร้าง, บริษัท Nippon Koei จำกัด ดูแลด้านประสานงานระหว่างประเทศ, บริษัทธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด ดูแลด้านมวลชนสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)
ในการประชุม "การสำรวจและออกแบบรายละเอียด โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงตามแนวเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (ห้วยทราย-เชียงของ) (The GMS North-South Economic Corridor Intenational Bridge Project (Houayxay-Chiang Khong) ครั้งสุดท้าย ณ ห้องประชุมฝ้ายคำ โรงแรมริเวอร์ไซด์ อ.เชียงของ จ.เชียงราย โดยมีประชาชนในพื้นที่ร่วม 500 คนรับฟัง
ที่ประชุมได้เร่งพิจารณาถึงรูปแบบสะพานมิตรภาพไทย-ลาว อ.เชียงของ แขวงบ่อแก้ว ซึ่งมีการสรุปใช้สะพานคอนกรีตรูปกล่อง มี 4 ตอม่อ ความยาวช่วงเสา 110 เมตร สะพานกว้าง 14.70 เมตร ยาว 480 เมตร เป็นสะพานแบบสองช่องจราจร (ไป-กลับ) ขนาดความกว้างของช่องจราจรช่องละ 3.5 เมตรไหล่ทางข้างละ 2 เมตร และทางเท้าข้างละ 1.25 เมตร และมีการกันพื้นที่หลังด่าน (Control Border Office) ตั้งแต่สะพานฝั่งไทย จากถนนสาย 1020 ไปราว กม.ที่ 1 เพื่อให้เป็นพื้นที่ของหน่วยงานต่างๆ ทั้ง ศุลกากร,ตม.,ตรวจพืช ฯลฯ ราว 400 ไร่
การเวนคืนที่ดินจากประชาชนจุดสร้างแนวสะพาน มีที่ดินมีโฉนด ถูกเวนคืน 138 ไร่ ด้วยงบ 44.39 ล้านบาท ที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ราว 265 ไร่ กรมทางหลวงมีงบให้แก่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพียง 5.24 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้สำนักงาน ส.ป.ก.จะตกลงกับผู้ครอบครอง ส.ป.ก.คาดว่าจะมีผลกระทบด้านการเวนคืนราว 200 คน
นายธีรยุทธ กล่าวอีกว่า ตามขั้นตอนแล้วหลังจากนี้จะเป็นการนำเสนอต่อหน่วยงานสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมทางหลวง และนำเสนอต่อธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย Asian Development Bank (ADB) ซึ่งเป็นผู้ประสานงานและคาดว่าสะพานจะมีการตอกเสาเข็มได้ราวเดือน ก.ค.2552 มูลค่าก่อสร้างราว 1,488 ล้านบาท
นายธีรยุทธ กล่าวอีกว่า ข่าวการจะสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว อ.เชียงของ ทำให้มีนักลงทุนสนใจเข้ามาซื้อที่ดินมาก โดยราคาที่ดินบางแปลงบริเวณแนวสะพาน ขยับขึ้นจากไร่ละ 50,000 บาท เป็น 200,000-300,000 บาทขึ้นไป บางแปลงก็สูงกว่านั้น และพื้นที่ ต.สถาน ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ ติดถนนสายเชียงของ-เทิง บางแปลงพุ่งสูงไร่ละ 650,000 บาท เพราะอนาคตในจุดนี้ถูกวางไว้เป็นไซโลเก็บสินค้าเกษตร และนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นโครงการที่ต่อเนื่องจากสะพานด้วย
ทั้งนี้ ประชาชนในพื้นที่คาดหวังว่า เมื่อมีการเปิดใช้สะพานในราวปี 2554-2555 น่าจะส่งผลดีต่อภาคบริการในพื้นที่ เพราะน่าจะมีศูนย์กระจายสินค้า การใช้แรงงานในพื้นที่ ภาคบริการทั้งร้านอาหาร โรงแรม จะคึกคักขึ้น
ส่วนกรณีที่ประเทศจีนสนใจที่จะผลักดันให้มีทางรถไฟจากจีนตอนใต้ผ่านเส้นทาง R3a มาที่สะพานแห่งนี้เพื่อเชื่อมกับทางรถไฟสาย อ.เมือง จ.เชียงราย - อ.เด่นชัย จ.แพร่ นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานหอการค้า จ.เชียงราย, ประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ เคยมีการหารือกับ ปลัดกระทรวงคมนาคม นายช่างกรมทางหลวง และ เจ้าหน้าที่ สนข.ในการสัมมนา โครงการศึกษายุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคม เพื่อรองรับการขยายเส้นทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ที่โรงแรมสยามซิตี้ กทม. เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2551 ที่ผ่านมา สรุปว่าหากจะทำทางรถไฟ ก็ต้องสะพานใหม่อีกจุด
อย่างไรก็ตาม หอการค้าฯ - คสศ.ก็จะพยายามผลักดันต่อไป เนื่องจากราคาค่าน้ำมันดีเซลที่พุ่งเกินกว่า 42 บาทต่อลิตรจะทำให้รัฐบาลไทยให้ความสนใจเรื่องทางรถไฟสายนี้มากขึ้น ผู้ประกอบการก็จะต้องคำนวณค่าขนส่งที่ใช้พลังงานน้อยเพื่อความคุ้มทุน
โดยแนวทาง คือให้ทำรางรถไฟ ขนาด 1 เมตร จาก อ.เด่นชัย จ.แพร่ ผ่าน จ.พะเยา มา อ.เมืองเชียงราย จากนั้นจะปรับรางเป็นแบบจีน กว้างราว 1.4 เมตร เพื่อไปรับกับทางรถไฟจากจีนที่จะเข้าในประเทศ สปป.ลาว เชื่อมที่จุดข้ามแม่น้ำโขงอีกจุด ที่ อ.เชียงของ-แขวงบ่อแก้ว ทำให้ อ.เมืองเชียงราย เป็นฮับ (HUB) การขนส่งทางรถไฟในภูมิภาค