เชียงราย – การนิคมฯเริ่มขยับแผนตั้งนิคมฯเชียงของ ชายแดนไทย-ลาว รับการค้า ลงทุนไทย พม่า ลาว จีน ตามกรอบสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ นัดหารือศึกษาความเป็นไปได้ 17 มิ.ย. ขณะที่ทุนท้องถิ่นรับอนาคตไม่แน่ หลังเกิดวิกฤตพลังงาน หวั่นกลุ่มทุนเมินเข้าใช้พื้นที่ แถมราคาที่ดินพุ่งไม่หยุดหลังกระแสสะพานข้ามโขง 4 – นิคมฯบูม แนะบูรณาการโครงการคมนาคม หาช่องลดต้นทุนขนส่งช่วยหนุนอีกทาง
นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานหอการค้า จ.เชียงราย และประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ เปิดเผยว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้เชิญคณะกรรมการกำกับการศึกษาโครงการศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม อำเภอเชียงของ จ.เชียงราย ประชุมครั้งที่ 2/2551 ในวันที่ 17 มิถุนายน 2551 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม 205 กนอ.
ในส่วนของจังหวัดเชียงรายนั้น เคยมีการสำรวจความคิดเห็นและจัดวางผังเมืองไว้ว่าให้พื้นที่ ต.สถาน และ ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย พื้นที่ 16,000 ไร่ รองรับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม นอกจากนี้หากพื้นที่ไม่พอในอนาคต ก็ขยายไปสู่ อ.เทิง ได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม การจะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมได้หรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับการเชิญชวนนักลงทุนมาลงทุน อนาคตหากมีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย เชื่อมถนน สาย R3a ผ่าน แขวงบ่อแก้ว แขวงหลวงน้ำทา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว )ไปสู่จีนตอนใต้ ก็จะเป็นจุดดึงดูดนักลงทุนมาลงทุนในพื้นที่ได้ ซึ่งในส่วนของ หอการค้าจังหวัดเชียงราย พร้อมให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้
นายสงวน ซ้อนกลิ่นสกุล รองเลขาธิการหอการค้าจังหวัดเชียงราย และหัวหน้าฝ่ายลอจิสติกส์ หอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า การจะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ระยะเริ่มต้นอาจจะเป็นการใช้พื้นที่ 5,000 ไร่ไปก่อนน่าจะดี เพราะในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน และอนาคตต่อไปไม่มีใครทราบได้ว่าสถานการณ์การค้า การลงทุน และราคาน้ำมันจะเป็นอย่างไร แต่แนวโน้มราคาน้ำมันเชื้อเพลิงไม่น่าจะถูกลงแล้ว
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ มีเป้าหมายรองรับการผลิตสินค้า 9 ประเภท เช่น การแปรรูปผลผลิตการเกษตร,อัญมณี,อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ และที่ดินต่างๆในพื้นที่ถึงแม้ก่อนหน้าจะมีนายทุนมากว้านซื้อไปแล้วบ้าง แต่หากจะมีการสร้างนิคมจริงก็คงจะมีการเวนคืนในราคาที่เป็นธรรม
นายสงวน ยังกล่าวว่า การจะสร้างนิคมอุตสาหกรรม พื้นที่ อ.เชียงของ น่าจะเชื่อมโยงกับการจะสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งเมื่อ 13 มิถุนายน ได้มีการประชุมปัจฉิมนิเทศ รับฟังความคิดเห็น การสำรวจและออกแบบรายละเอียด โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงตามแนวเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (ห้วยทราย-เชียงของ)(The GMS North-South Economic Corridor Internstional Bridge Project (Houayxay-Chiang Khong) ณ ห้องประชุมฝ้ายคำ โรงแรมริเวอร์ไซด์ อำเภอเชียงของ จ.เชียงราย เป็นครั้งสุดท้าย
นอกจากนี้ ก็ยังมีประเด็นปัญหาคือการเวนคืนที่ดินแนวถนน ที่ออกมาจากสะพานว่าจะต้องเวนคืนในจุดที่เหมาะสมอย่างไร เพราะที่ดินของประชาชนมีหลายส่วนมีทั้งโฉนด – ส.ป.ก. และเป็นที่สาธารณะไม่มีเอกสารสิทธิ เจ้าของที่ดินบางรายทราบว่า อาจถูกเวนคืนทั้งแปลงก็เครียดเหมือนกัน เพราะต้องไปหาที่ทำกินใหม่
ยังมีในส่วนชาวบ้านขอให้กรมทางหลวงได้ช่วยก่อสร้างถนนเลียบเส้น 1020 ให้แก่ชาวบ้านใช้ต่างหากข้างละ 10 เมตร ยาว 5 กิโลเมตร(กม.)ตั้งแต่บริเวณพื้นที่หลังด่านออกมาจนถึงบริเวณ ต.สถาน อ.เชียงของ จุดที่มีการวางแผนจะเชิญชวนนักลงทุนมาสร้างนิคมอุตสาหกรรม พื้นที่ราว 16,000 ไร่ ลดปัญหาอุบัติเหตุ ความคับคั่งนั้น ในส่วนนี้จะต้องมีการหารือกันอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม หลังโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 – นิคมฯเชียงของ เป็นรูป เป็นร่างขึ้น ก็ทำให้ราคาที่ดินในบริเวณสะพานข้ามมาน้ำโขง อ.เชียงของ เริ่มขยับขึ้นต่อเนื่องจากไร่ละ 50,000 บาท เป็นกว่า 200,000 บาทต่อไร่ ในปัจจุบัน และบางแปลงก็อาจจะสูงกว่านี้
นายสงวน เชื่อว่า การจะตัดสินใจสร้างสะพานมิตรภาพ และเวนคืนที่ดินต้องเร่งทำเนื่องจากต่อไปราคาค่าก่อสร้างและที่ดินจะสูงขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นมาก ลิตร 40 กว่าบาท ส่งผลต่อการเดินทางและขนส่งมากที่สุด การจะใช้รถยนต์บรรทุกสินค้าจากจีนตอนใต้ เพื่อนำสินค้าที่เน่าเสียง่ายมาส่งประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน อาจจะต้องมีระบบการจัดการและวางแผนเรื่องการใช้พลังงานให้ดีที่สุด ซึ่งการเดินเรือในแม่น้ำโขงเพื่อลำเลียงสินค้าที่ไม่รีบเร่งก็จะเป็นช่องทางหนึ่งที่ยังใช้กัน
นอกจากนี้ โครงการรถไฟที่เชื่อมจาก อ.เด่นชัย จ.แพร่ ผ่าน จ.พะเยา และ อ.เมืองเชียงราย ไปเชื่อมกับ สปป.ลาว ที่ อ.เชียงของ ไปสู่จีนตอนใต้ น่าจะเริ่มโดดเด่นและน่าลงทุนมากขึ้น เพราะการขนส่งทางรถไฟ ราคาถูกที่สุด ซึ่งก่อนหน้านี้หอการค้าจังหวัดเชียงราย ได้มีการหารือกันและทราบว่าทางการจีน สนใจที่จะผลักดันเส้นทางรถไฟสายนี้เช่นกัน