xs
xsm
sm
md
lg

รัฐ/เอกชนลุ้นรถไฟเด่นชัย-ชร./คสศ.-10 หอฯเหนือนัดถกต่อศุกร์นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - รัฐ/เอกชนเมืองพ่อขุนฯ เร่งหาช่องดัน “เส้นทางรถไฟในฝันเด่นชัย-เชียงราย” ที่มีแนวคิดกันมาตั้งแต่ปี 2503 เสนอยกระดับเป็นหนึ่งใน “ยุทธศาสตร์จังหวัด” รองรับสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ พร้อมเสนอโปรเจกต์เฟส 2 เชื่อมทางรถไฟถึงท่าเรือเชียงแสน 2 และแม่สายต่อในอนาคต คสศ.-หอฯ 10 จังหวัดเหนือ นัดประชุมตามความคืบหน้า Logistic ไทย พม่า ลาว จีน พร้อมวางแผนพัฒนาผู้ประกอบการไทย-จัดผังท่องเที่ยวรับ “Visit GMS Year 2009-2010” ศุกร์นี้ (25 ก.ค.)

รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงราย แจ้งว่า นายวรชัย อุตตมชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ร่วมกับนายถาวร เหรียญตระกูลชัย ขนส่งจังหวัดเชียงราย,นายภิญโญ จันทรมหา ผู้แทนผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย,นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานหอการค้า จ.เชียงราย และประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ,นายเจริญชัย แย้มแขไข ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.เชียงราย,นายอนุรัตน์ อินทร รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงราย,ผู้แทน ม.แม่ฟ้าหลวง,ผู้แทน ม.ราชภัฏเชียงราย ในฐานะคณะอนุกรรมการพัฒนาเส้นทางรถไฟ เด่นชัย-เชียงราย ได้ประชุมร่วมกัน ณ ห้องประชุม 2 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย เมื่อเร็วๆนี้

ในที่ประชุม ได้หยิบยกมติที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบขนส่งทางราง และระบบขนส่งมวลชน ครั้งที่ 2/2551 เมื่อ 1 พ.ค.2551 ขึ้นมาหารือ เพื่อหาแนวทางผลักดันให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมต่อไป ซึ่งมติดังกล่าวได้เห็นชอบแนวทางการพัฒนาโครงการรถไฟขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งในภูมิภาค และเชื่อมโยงเส้นทางการค้ากับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาค โดยมอบหมายให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกระทรวงคมนาคม พิจารณาแนวทาง การเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมพัฒนาระบบรถไฟขนาดรางมาตรฐานในเขตทางของ รฟท. 4 เส้นทาง

ประกอบด้วย 1.สายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-กาญจนบุรี เพื่อเตรียมเชื่อมกับชายฝั่งทะเลตะวันตก(หนองคาย-ขอนแก่น-นครราชสีมา-มาบกะเบา-บ้านภาชี-สุพรรณบุรี-กาญจนบุรี-ชายแดนสหภาพพม่า เพื่อเชื่อมโยงท่าเรือทวาย

2.สายเหนือ (เชียงของ-เชียงราย-เด่นชัย-บ้านภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา) โดยการเชื่อมโยงกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ควรพิจารณาเชื่อมโยงจากมณฑลหยุนหนัน (ยูนนาน) และเส้นทางจากเวียดนาม-มณฑลกว่างสี

3.สายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ชุมทางจิระ-อุบลราชธานี) เพื่อเตรียมเชื่อมต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

4.สายภาคตะวันออก (แก่งคอย-แหลมฉบัง) เพื่อเข้าสู่พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก

การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2551 ได้มีมติรับทราบและอนุมัติตามมติคณะกรรมการพัฒนาระบบขนส่งทางรางและระบบขนส่งมวลชนครั้งที่ 2/2551 รวมระยะทาง 2,344 กิโลเมตร(กม.) ประมาณการค่าก่อสร้างรวม 4 สาย ไว้ประมาณ 300,000 ล้านบาท จึงต้องว่าจ้างที่ปรึกษามาจัดทำรายงานและวิเคราะห์ผลการศึกษาอย่างละเอียด เนื่องจากเป็นนโยบายเร่งด่วนและสำคัญของรัฐบาล ในการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถการขนส่งทางราง ซึ่ง รฟท.ได้ตั้งงบประมาณเพื่อการศึกษานี้ไว้ และสามารถศึกษาได้ในงบประมาณปี 2552 จึงเห็นควรเสนอแปรญัตติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2552 เพิ่มเติม ต่อสำนักงบประมาณ เพื่อศึกษาดังกล่าวในวงเงิน 300,000,000 บาท

ในส่วนของจังหวัดเชียงราย เคยมีการศึกษาเส้นทางที่จะเชื่อมรถไฟจาก อ.เด่นชัย จ.แพร่ -จ.พะเยา-จ.เชียงราย ตั้งแต่ปี 2503 แต่เนื่องจากในอดีตรัฐบาลหลายชุดไม่ได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณา เนื่องจากคิดว่าไม่คุ้มทุน กระทั่งปี 2539-2541 การรถไฟฯ ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาสำรวจออกแบบรายละเอียดด้านวิศวกรรม และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมว่าเส้นทางนี้มีระยะราว 246 กม.

ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาเส้นทางรถไฟ เด่นชัย-เชียงราย เห็นควรว่า รัฐบาลควรเร่งสร้างทางรถไฟสายนี้ เนื่องจากทราบว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้ไปหารือกับจีนแล้ว ปรากฏ ว่า รัฐบาล - เอกชนจีนสนใจที่จะมีการทำเส้นทางรถไฟจากจีนตอนใต้ ผ่าน สปป.ลาว ด้วยรางมาตรฐานเข้ามาเชื่อม เนื่องจากการขนส่งทางรางในอนาคตจะประหยัดเชื้อเพลิงกว่าใช้รถยนต์ โดยน่าจะเป็นรถไฟที่แล่นเร็ว

สำหรับ จังหวัดเชียงราย เห็นว่า เส้นทางรถไฟที่ผ่านจาก อ.เด่นชัย จ.แพร่ มา อ.เมืองเชียงราย แล้วน่าจะสร้างต่อในเฟส 2 เพื่อไปที่ อ.เชียงของ ชายแดนไทย-ลาว เพื่อรับกับถนน R3a และเส้นทางรถไฟจากจีนหากจะมีขึ้น และในที่ประชุมอยากให้นำเสนอว่าหากเป็นไปได้ควรทำทางแยกจาก บริเวณก่อนถึง อ.เชียงของ ไปจ่อที่ชายแดน อ.เชียงแสน เพื่อรับกับท่าเรือเชียงแสน 2 ที่กำลังจะก่อสร้างด้วย

อย่างไรก็ตาม หากอนาคตประเทศสหภาพพม่า มีความพร้อม ก็อาจจะมีการนำเสนอเส้นทางรถไฟจาก อ.เมือง ไป อ.แม่สาย อีกเส้นทาง ซึ่งเส้นทางรถไฟสายนี้เน้นการขนส่งสินค้า และได้ประโยชน์ทางอ้อมด้านการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง

นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานหอการค้า จ.เชียงราย และประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ กล่าวว่า ชาวเชียงรายต้องการให้มีรถไฟแล่นมาถึงจังหวัดเชียงราย มานานแล้ว และเป็นที่ทราบกันดีว่ามีการเรียกร้องกันมาตลอด หากรัฐบาลมีแนวทางว่าจะสร้างทางรถไฟ เนื่องจาก ต้นทุนค่าน้ำมันดีเซลที่แพงขึ้น และประเทศจีนให้การสนับสนุน ก็เป็นนิมิตรหมายที่ดีว่าเส้นทางรถไฟสายนี้จะเกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ ต้องการให้จังหวัดเชียงราย กำหนดให้รถไฟ เป็นยุทธศาสตร์จังหวัด เพื่อให้การผลักดันมีน้ำหนัก และต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และในกลุ่มคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ และกลุ่มจังหวัดล้านนาตะวันออก ก็จะได้เข้ามาร่วมมือกันผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม เพราะทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ และจะติดตามอย่างใกล้ชิดตั้งแต่นี้ไปว่า รัฐบาลพิจารณาในการอนุติงบประมาณมาเพื่อศึกษาอย่างไรต่อไปด้วย

นายพัฒนา กล่าวอีกว่า และในวันที่ 25 ก.ค.51 นี้ คสศ.-หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ ก็มีกำหนดที่จะหารือกันที่จังหวัดพะเยา เพื่อติดตามความคืบหน้าการพัฒนาโครงข่ายคมนาคม และ logistics ภาคเหนือ ความคืบหน้าการพัฒนาด่านการค้าชายแดนในเขตภาคเหนือ ความคืบหน้าการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงราย และจังหวัดตาก

นอกจากนี้ยังจะมีการหารือถึงแนวทางกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคเหนือ เพื่อรองรับโครงข่ายคมนาคมจากประเทศภาคีสมาชิกสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ และรองรับยุทธศาสตร์ใหม่ Economic Corridor Forum
ศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของ 10 จังหวัดภาคเหนือ และการจัดทำแผนการตลาดเพื่อสนับสนุน Visit GMS Year 2009 – 2010 เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น