xs
xsm
sm
md
lg

ตลท.กระตุ้นบจ.ซื้อหุ้นคืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปิ๊งไอเดียหนุนบริษัทจดทะเบียนซื้อหุ้นคืน หลังตลาดหุ้นซบเซากดดันราคาหุ้นรูดต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน หวังเพิ่มฐานนักลงทุนระยะยาว-เพิ่มโอกาสบริษัทได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนประเภทอื่นหรือถือเงินสด เตรียมให้สมาคมบจ.ชี้แจงเกณฑ์ให้บจ.ทราบ ด้าน "ภัทรียา" เผย บจ.สนใจซื้อหุ้นคืนต้องมีกำไรสะสม ทำการซื้อในกระดานหลัก-เสนอซื้อแก่ประชาชนทั่วไป เท่านั้น
บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยนับตั้งแต่ต้นปี 2551 ดัชนีราคาหุ้นได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางปัจจัยลบเรื่องของปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) จนส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินสหรัฐฯ และบานปลายส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว จนปัจจุบันปัญหาซับไพรม์เริ่มปะทุขึ้นมาอีกรอบ
ขณะที่ปัญหาเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลก รวมถึงทิศทางของอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ล้วนแต่เป็นปัจจัยลบที่กระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก ส่วนตลาดหุ้นไทยเองนั้นยังคงมีปัจจัยลบเรื่องของสถานการณ์ความขัดย้างทางการเมืองที่ยังไม่สามารถคลี่คลายได้
จากปัจจัยลบต่างๆ ได้ส่งผลกดดันตลาดหุ้น โดยดัชนีปรับลดจากปลายปี 50 อยู่ที่ 858.10 จุด ลดลงมาอยู่ที่ 669.97 จุด (16 ก.ค.) ลดลงแล้วกว่า 188.13 จุด หรือคิดเป็น 21.92% ขณะที่มูลค่าตามราคาตลาดรวมลดจาก 6.64 ล้านล้านบาท เหลือ 5.29 ล้านล้านบาท หรือลดไปแล้วกว่า 1.35 ล้านล้านบาท คิดเป็น 20.33% โดยนักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิตั้งแต่ต้นปีรวมทั้งสิ้นแล้วกว่า 78,438.41 ล้านบาท
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในระยะสั้นๆ ไม่สามารถประเมินทิศทางและแนวโน้มตลาดหุ้นได้ เพราะปัจจัยลบที่มีผลต่อตลาดหุ้นเกิดจากทั้งปัจจัยในประเทศและต่างประเทศ ทำให้คาดเดาสถานการณ์ได้ลำบาก
ปัจจุบันราคาหุ้นหลายบริษัทได้ปรับตัวลดลงต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องการที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนระยะยาวให้มากขึ้น จึงมีแนวคิดสนับให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งจัดทำโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน ซึ่งได้มีการหารือกับสมาคมบริษัทจดทะเบียน (สมาคมบจ.) ในเบื้องต้นแล้ว
สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนนั้น เป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทจดทะเบียนลงทุนในหุ้นของบริษัทเอง และเป็นการเพิ่มช่องทางในการลงทุนของบริษัทจดทะเบียนอีกทางหนึ่งที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดี เพราะบริษัทจดทะเบียนจะทราบทิศทางการดำเนินงาน และการเติบโตของผลการดำเนินงานและคาดผลตอบแทนที่ดี
"การอนุญาตให้ บจ.นำเงินไปลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทเอง จะดีกว่าการอนุญาตให้บจ.นำเงินไปลงทุนในหุ้นบริษัทอื่นๆ หรือนำไปลงทุนรูปแบบอื่นที่มีความเสี่ยง เพราะผู้บริหารจะทราบทิศทางการดำเนินงานและแนวโน้มของบริษัทเอง รวมทั้งยังดีกว่าการถือเงินสดไว้เฉยๆ ซึ่งโครงการซื้อหุ้นคืนนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ อนุญาตให้ดำเนินการมานานแล้ว แต่บจ. อาจจะลืมไปว่าสามารถทำโครงการนี้ได้ จึงได้มีการเสนอเรื่องให้บจ.ทราบและให้บจ.ที่สนใจมีการทำโครงการดังกล่าว"
นางภัทรียา กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงที่ผ่านมามีบริษัทจดทะเบียนบางแห่งเข้ามาหารือเกี่ยวกับโครงการซื้อหุ้นคืนกับทางตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังจากที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน เพราะบริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดี รวมถึงสภาพคล่องและคุณสมบัติตามที่เกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดให้สามารถดำเนินการเพื่อซื้อหุ้นคืนได้
"ตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่าจะใช้เวลาในอีก 1-2 วันนี้ เพื่อสรุปหลักเกณฑ์ของโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารการเงิน ก่อนที่จะชี้แจงให้กับสมาคมบจ.และบจ. ได้รับทราบ หลังจากกนั้นสมาคมบจ. จะเชิญผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนมาทำความเข้าใจถึงหลักเกณฑ์และรายละเอียดการซื้อหุ้นคืน ทั้งเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินงาน การกำหนดระยะเวลาซื้อคืน ราคา สภาพคล่อง และปัจจัยอื่นๆ"
สำหรับหลักเกณฑ์โครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงินของบริษัทจดทะเบียน คือ บริษัทจะต้องมีกำไรสะสม ซึ่งจำนวนหุ้นที่จะซื้อคืนต้องไม่เกินกำไรสะสม และบริษัทต้องมีสภาพคล่องส่วนเกิน โดยพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ภายใน 6 เดือนข้างหน้าว่าถ้านำเงินมาซื้อหุ้นคืนแล้วจะไม่กระทบกับการชำระหนี้ของบริษัท รวมถึงไม่ทำให้ปริมาณหุ้นหมุนเวียนต่ำกว่า 15% โดยบริษัทสามารถซื้อคืนได้ไม่เกิน 10% ซึ่งบริษัทสามารถซื้อคืนได้ในกระดานหลัก โดยมีระยะเวลาการซื้อคืนไม่เกิน 6 เดือน หรือเป็นการเสนอซื้อทั่วไป (GO) ไม่น้อยกว่า 10 วัน แต่ไม่เกิน 20 วัน ซึ่งการซื้อคืนทำได้โดยการซื้อคืนในกระดานหลัก หรือการซื้อคืนต่อประชาชนทั่วไป (PO) เท่านั้น เพื่อที่จะไม่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่นักลงทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
นอกจากนี้ ขั้นตอนในการจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนนั้น สามารถทำได้ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยบริษัทสามารถทำการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ หรือเสนอขายต่อประชาชน (PO) ซึ่งต้องขออนุญาตต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และในกรณีที่จำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนไม่หมด บริษัทต้องแจ้งลดทุนตัดหุ้นที่ซื้อคืนไม่หมดและจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนต่อกระทรงพาณิชย์ ภายใน 14 วัน และเปิดเผยการจดทะเบียนลดทุนต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งนี้ บริษัทสามารถเริ่มโครงการซื้อหุ้นคืนใหม่ได้เมื่อหมด 1 ปี นับตั้งแต่การซื้อหุ้นคืนครั้งหลังสุดสิ้นสุด
อย่างไรก็ดี ในปีนี้มีบริษัทจดทะเบียน 4 บริษัท ซึ่งคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้ซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน คือ บริษัทระยองเพียวริฟายเออร์ จำกัด (มหาชน) หรือ RPC บริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EPCO บริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ CFRESH และบริษัท ที.เค.เอส. เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ TKS
กำลังโหลดความคิดเห็น