xs
xsm
sm
md
lg

ผบ.ทบ.สั่งตรึงกำลังชายแดนเขมร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถานการณ์เขาพระวิหารยังตึงเครียด "แม่ทัพภาค 2" สั่งกำลังพลเตรียมพร้อมรับสถานการณ์หลังทราบข่าวทหารกัมพูชาเพิ่มกำลังจำนวนมากเข้าประชิดชายแดน ส่วน 3 คนไทยที่ถูกฝ่ายกัมพูชาจับตัวยังไม่ได้ออกมาจากเขาพระวิหาร ด้านผบ.ทบ.สั่งเคลื่อนกำลังตรึงชายแดน นักวิชาการฉะบัวแก้วบิดเบือนข้อมูลส่งถึงราชเลขาธิการ

ความคืบหน้ากรณีชาวไทยกลุ่มธรรมยาตรา กอบกู้รักษาแผ่นดินไทย กรณีเขาพระวิหาร-มณฑลบูรพา 3 คน คือ นายวิชาญ ทับซ้อน, นางชนิกานต์ เก่งนอก และพระคำพอง ฐิติธรรมโม ถูกฝ่ายกัมพูชาควบคุมตัวไปขณะปีนประตูเหล็กทางเข้าเขาวิหารเข้าไปนั่งปฏิบัติธรรมประท้วงขับไล่ชุมชนชาวกัมพูชา ที่สร้างบ้านเรือนร้านค้าอยู่ที่บริเวณเชิงเขาพระวิหาร อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ตั้งแต่เช้าวันที่ 15 ก.ค.ต่อมานายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วย พล.ต.กนก เนตระคเวสนะ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี (ผบ.กกล.สุรนารี) ได้เข้าไปเจรจากับฝ่ายกัมพูชา และมีรายงานว่าฝ่ายกัมพูชาได้ปล่อยตัว 3 คนไทยออกมาแล้วนั้น

ล่าสุดเมื่อเช้าวานนี้ (16 ก.ค.51) เวลา 08.00 น.ผู้สื่อข่าวรายงานจากอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ว่า จนกระทั่งบัดนี้ชาวไทยทั้ง 3 คนยังไม่ได้ออกมาจากเขาพระวิหารแต่อย่างใด โดยมีรายงานข่าวระบุว่าทั้งหมดยังคงอยู่ที่วัดกัมพูชา บริเวณปราสาทโคปุระชั้นที่ 1 ปราสาทเขาพระวิหาร ตั้งอยู่ทิศตะวันตกของตัวปราสาท ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทพร้อมกับ พล.ต.กนก เนตระคเวสนะ ผบ.กกล.สุรนารี และกำลังทหารพรานอีกจำนวนหนึ่ง โดยตลอดคืนที่ผ่านมา (15 ก.ค.) พบว่ามีการเสริมกำลังทหารพรานอีกประมาณ 100 นายเข้าตรึงกำลังรอบเขาพระวิหารตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา จากเดิมที่มีกำลังตำรวจ ทหารอยู่แล้วประมาณ 200-300 นายส่งผลให้ที่บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ยังคงมีกำลังทหารพรานและตำรวจจำนวนหลายร้อยนายตรึงกำลังอยู่ และยังไม่มีวี่แววว่า คนไทยทั้ง 3 คน และคณะของ ผบ.กกล.สุรนารี จะออกมาจากบริเวณเชิงเขาพระวิหารแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวว่า ได้มีกำลังทหารพรานจำนวนประมาณ 150 นายพร้อมอาวุธครบมือเข้าไปตึงกำลังอยู่ร่วมกับทหารกัมพูชาที่บริเวณตลาดร้านค้าที่ชาวกัมพูชาเข้ามาอาศัยอยู่บริเวณเชิงบันไดทางขึ้นตัวประสาทพระวิหาร ซึ่งเป็นที่พื้นที่พิพาท

ขณะที่นักท่องเที่ยวและกลุ่มสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งถูกสกัดอยู่ที่บริเวณด่านเก็บค่าธรรมเนียม ขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร อ.กันทรลักษ์ เนื่องจากมีคำสั่งจากฝ่ายทหารห้ามทุกคนที่ไม่เกี่ยวข้องขึ้นไปที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ซึ่งเป็นเส้นทางผ่านเข้าสู่บริเวณเขาพระวิหาร ที่กำลังมีปัญหาอยู่ในขณะนี้อย่างเด็ดขาด

นายสมาน ศรีงาม แกนนำกลุ่มธรรมยาตรา กล่าวว่า จากการที่ตนได้โทรศัพท์ประสานงานกับกลุ่มธรรมยาตราฯ 3 คนที่ถูกฝ่ายกัมพูชาจับตัวไปแล้วล่าสุดทราบว่า ขณะนี้ทุกคนยังคงปลอดภัยและได้มีพระวิจิตร ญาณโสภโณ เข้าไปอยู่ร่วมกับกับกลุ่มที่ถูกจับกุมด้วย โดยขณะนี้ทุกคนยังอยู่ที่วัดกัมพูชาด้านตะวันตกเขาพระวิหาร ซึ่งทราบข่าวว่าเมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา ทหารกัมพูชาได้ปล่อยตัวสมาชิกของพวกตนออกมาแล้ว โดยมาอยู่ในความคุ้มครองของทหารพรานของไทย ที่บริเวณพลาญหินทางเข้าประตูเหล็กขึ้นประสาทพระวิหาร และ ต่อมา พล.ต.กนก เนตระคเวสนะ ผบ.กกล.สุรนารี ได้นำคณะเดินย้อนกลับเข้าไปพื้นที่พิพาทเขตปราสาทพระวิหาร จากนั้นได้พากันไปที่วัดกัมพูชา บริเวณปราสาทโคปุระชั้นที่ 1 ปราสาทเขาพระวิหาร ตลอดคืนที่ผ่านมาจนกระทั่งบัดนี้ โดยทุกคนแจ้งว่าขณะนี้ปลอดภัย แต่ยังไม่ทราบว่าจะได้กลับออกมาช่วงเวลาใด

มทภ.2 สั่งกำลังพลเตรียมพร้อม!

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้าเวลา 07.00 น.วันเดียวกันกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา พล.ท.สุจิตร สิทธิประภา แม่ทัพภาคที่ 2 (มทภ.2) ได้เรียกประชุมนายทหารระดับผู้บังคับการกองกำลังพลในสังกัด โดยได้มีการสั่งการในที่ประชุมให้กำลังพลในสังกัดเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะบริเวณแนวชายแดน บริเวณมอดินแดง ด้านเขาพระวิหาร อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ หลังได้รับรายงานจากหน่วยข่าวกรองว่า กองกำลังทหารกัมพูชามีการเพิ่มกำลังตามแนวชายแดนด้านนี้จำนวนมาก

จากนั้นเวลา 09.30 น.แม่ทัพภาคที่ 2 ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ทหารพรานวิลัย อารมย์ รอง ผบ.ร้อยชุดปฏิบัติการกองร้อยทหารพรานรที่ 2301 ฐานปฏิบัติการน้ำตกภูละออ กรมทหารพรานที่ 23 เหยียบกับระเบิดในขณะลาดตระเวนตามแนวชายแดนเขาพระวิหาร ได้รับบาดเจ็บสาหัสขาขาด ขณะนี้อาการปลอดภัยแล้ว และเข้ารักษาอยู่ในโรงพยาบาลค่ายสรรสิทธิประสงค์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

ส่วนที่มีรายงานว่า กองกำลังทหารฝ่ายกัมพูชาเพิ่มกำลังพลจำนวนมากเข้ามาประชิดชายแดน และลาดตระเวนตามแนวชายแดนฝ่ายไทยได้มีการสั่งทหารเข้าตึงกำลังเพิ่มหรือไม่อย่างไรนั้น พล.ท.สุจิตร กล่าวว่า การปฏิบัติภาระหน้าที่ทหารของเราเรื่องการป้องกันชายแดนดูแลพื้นที่ชายแดนเราต้องมีการดำเนินการเป็นไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งระยะนี้กำลังพลของเราที่มีอยู่มีเพียงพอกับการดูแลอยู่ยังไม่มีปัญหาอื่นใด

เมื่อถามว่า ต่อไปหากมีคนไทยข้ามไปยังเขาพระวิหารอีกเช่นเดียวกับกรณี 3 คนไทยที่ถูกฝ่ายกัมพูชาควบคุมตัวไปจะดำเนินการอย่างไร พล.ท.สุจิตร กล่าวว่า ในเรื่องพื้นที่ตรงนี้ต่างคนต่างก็มีความเข้าใจว่าเป็นพื้นที่ของตัวเอง เราก็ต้องมีการดูแลและพูดจากันว่าเราก็มีสิทธิ์ เขาก็มีสิทธิ์ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาและยังตกลงกันไม่ได้และเป็นพื้นที่ที่ยังไม่ชัดเจน ในส่วนของทหารเราดำเนินการตามภาระหน้าที่ของทหารดูแลพื้นที่ในการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามขั้นตอน โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติอยู่แล้วว่า ขั้นตอนใดเป็นการปฏิบัติระดับพื้นที่ ขั้นตอนใดยกระดับขึ้นไปเป็นระดับของหน่วยเหนือ และระดับของรัฐบาล

ส่วนคนไทยทั้ง 3 คนขณะนี้ทางกองกำลังสุรนารีควบคุมตัวไว้สอบสวนคงไม่มีปัญหาอะไร และคงจะรายงานให้ทราบต่อไป

นักรบ ปชช.ขอนแก่นร่วมสมทบ

ด้านความเคลื่อนไหวภาคประชาชนวานนี้ พบว่าชาวขอนแก่นกว่า 50 คน ได้เคลื่อนทัพนักรบประชาชนโดยเหมารถบัสขนาดใหญ่ 1 คัน และขับรถส่วนตัวไปอีกส่วนหนึ่งเดินทางไปยัง จ.ศรีสะเกษ เพื่อประกาศในฐานะประชาชนคนไทยที่จะไม่ยอมเสียดินแดนไทยแม้แต่ตารางนิ้วเดียว เพราะรัฐบาลชุดขายชาตินี้ โดยออกเดินทางเมื่อคืนที่ผ่านมาเพื่อไปร่วมกับนายวีระ สมความคิด ในเวลา 10.00 น.วันนี้ (17 ก.ค.) ที่ชายแดนไทย-กัมพูชา อ.กันทรลักษณ์ เพื่อร่วมชุมนุมทวงคืนเขาพระวิหาร

ผบ.ทบ.ชี้แก้ไขด้วยกลไกรัฐ

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. กล่าว ถึงปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ทับซ้อน โดยเฉพาะชาวกัมพูชาที่เข้าไปอยู่อาจจะทำให้ไทยเสียพื้นที่ว่า มันผิดตั้งแต่เริ่มสมมติฐานว่ามีความขัดแย้งกัน ซึ่งจะมองอย่างนั้นมันไม่ได้ เพราะพื้นที่ซับท้อนมีอยู่จริงจำเป็นจะต้องแก้ไขด้วยกลไกของรัฐ ต้องให้รัฐต่อรัฐแก้ไข ถ้าใช้กระบวนการอื่นก็จะเกิดความขัดแย้ง และพูดกันไม่รู้เรื่อง ตนอยากให้ใช้กลไกของรัฐดำเนินการแก้ไขมากกว่า เมื่อถามว่า ทหารจะไปดำเนินการอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งระดับชาวบ้านในพื้นที่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ทำอยู่แล้ว โดยร่วมมือกับข้าราชการในพื้นที่ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ตำรวจ พยายามสร้างความเข้าใจว่าประชาชนคนไทยด้วยกัน พยายามที่จะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งตามแนวชายแดน

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีเสียงเรียกร้องให้ทหารผลักดันชาวกัมพูชาออกนอกพื้นที่ทับซ้อน พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นกลไกนั้น น่าจะเป็นการเจรจาและพูดจากันระหว่างประเทศ ถ้าจะใช้กำลังทหารจะส่งผลกระทบมาก เพราะต่างคนต่างอาจจะมีอะไรเกิดขึ้น จะสร้างความเสียหาย ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีอยู่นานแล้ว แต่ไม่ได้มีการพูดจากันเป็นเรื่องเป็นราว เพราะการปักปันเขตแดนยังไม่ถึงบริเวณจุดนี้ ส่วนการที่คนไทยบุกไปในพื้นที่ทับซ้อนจะเกิดปัญหาบานปลายในอนาคตหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ไม่น่าจะมีเหตุการณ์บานปลายในลักษณะนี้ และไม่น่าจะมีปัญหารุนแรงกว่านี้

เมื่อถามว่า แสดงว่าตอนนี้ทหารเข้าไปควบคุมดูแลพื้นที่ และต้องสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนด้วย พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้เราดำเนินการอยู่ เมื่อถามว่า มีข่าวว่า กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะไปเด็นขบวนเรียกร้องเพื่อทวงสิทธิในพื้นที่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า จะแสดงความคิดเห็นอย่างไรก็ได้ แต่ก็จะต้องอยู่ในขอบเขตที่จะไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือ ขัดแย้งกัน และทำให้เกิดเหตุการณ์ขยายบานปลายออกไป แต่เรื่องนี้ก็คงพูดคุยกัน

สั่งเคลื่อนกำลังตรึงชายแดนเขมร

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ค.นี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ลงนามในคำสั่งให้มีการเคลื่อนกำลังตรึงไว้ชายแดน โดยเฉพาะกำลังจากกองพลรบพิเศษที่ 1 จว.ลพบุรี กรมทหารปืนใหญ่ และกองพลทหารราบที่ 3 โดยให้พล.ท.สุจิตร สิทธิประภา แม่ทัพภาคที่ 2 เป็นผู้บัญชาการพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งนี้ กำลังทหารที่เคลื่อนที่เข้าไปประชิดชายแดนขณะนี้กำลังรวบรวมกำลังในพื้นที่รวมพล หากมีสถานการณ์รุนแรงก็สามารถใช้กำลังทหารได้ทันที อย่างไรก็ตาม การเสริมกำลังทหารครั้งนี้ เนื่องจากทางการกัมพูชาได้มีการเสริมกำลังในฝั่งกัมพูชาก่อน และเพื่อเป็นการถ่วงดุลกำลัง และเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ จึงสั่งให้กำลังเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว แต่สองฝ่ายยืนยันในเจตนาที่ไม่ต้องการให้กำลังของสองประเทศ เกิดการปะทะกันแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามในช่วงเย็นของวันเดียวกัน พล.อ.อนุพงษ์ ได้มีคำสั่งด่วนอีกครั้ง ให้กองกำลังที่จะมาสนับสนุนในพื้นที่พิพาทชายแดนกัมพูชาด้านเขาพระวิหาร ให้เตรียมพร้อมในที่ตั้ง รอคำสั่งผู้บังคับบัญชาอีกครั้ง

ฉะบัวแก้วบิดเบือนข้อมูล

วานนี้ (16 ก.ค.) ที่ชั้น 9 สถาบันไทยคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.)กลุ่มนักวิชาการในนามกลุ่มประชาชนชาวไทย ผู้เป็นตัวแทนประเทศไทย ประกอบด้วย ม.ล. วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิจัยเชี่ยวชาญระดับ 9 สถาบันไทยคดีศึกษา มธ. นายเทพมนตรี ลิปพยอม นักวิชาการประวัติศาสตร์ และอดีตคณะกรรมการพัฒนานครประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา ดร.สมปอง สุจริตกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทยในฐานะผู้ช่วยอดีตรมว.ต่างประเทศในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ น.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ ร่วมกันแถลงข่าว “วาระแห่งชาติ ปราสาทเขาพระวิหาร”

นายเทพมนตรี กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศได้กระทำผิดร้ายแรง โดยทำเอกสารส่งถึงราชเลขาธิการ ลงนามโดยนายกฤต ไกรจิตติ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งหนังสือดังกล่าวลงวันที่ 20 มิถุนายน 2551 ซึ่งในวันดังกล่าวคณะกรรมการมรดกโลกยังไม่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่เอกสารที่กระทรวงต่างประเทศส่งถึงราชเลขาธิการนั้น กลับมีแผนพัฒนาพื้นที่ร่วมมรดกโลก ค.ศ.2010 รายงานขึ้นไปด้วย และมีแผนผังที่ระบุว่าทางการกัมพูชาจะพัฒนาพื้นที่ในส่วนของไทย พร้อมเสนอต้นร่างทะเบียนมรดกโลก ซึ่งระบุถึงละติจูด ลองติจูด กำหนดเขตพื้นที่ของไทยและกัมพูชาในบริเวณปราสาทพระวิหาร

ตรงนี้ แสดงให้เห็นว่า กระทรวงการต่างประเทศรู้ได้อย่างไรว่า ปราสาทพระวิหารจะได้เป็นมรดกโลกถึงนำแผนผังนี้ไปทูลเกล้าฯ เบื้องสูง แสดงว่ากระทรวงการต่างประเทศรู้เรื่องตั้งแต่ต้นแล้วแต่มาจัดฉากหลอกลวงคนไทย

นอกจากนี้เอกสารที่ส่งถึงราชเลขาธิการยังมีจุดน่าสังเกตคือ กระทรวงการต่างประเทศได้ระบุชัดเจนว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะได้เดินทางไปหารือกับฝ่ายกัมพูชาที่กรุงปารีส โดยมียูเนสโกร่วมอยู่ด้วย เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2551 เพื่อหาข้อยุติเรื่องปราสาทพระวิหาร ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้จัดทำร่างคำแถลงการณ์ร่วม โดยวงเล็บไว้ชัดเจนว่า Joint communiqu? แสดงว่านายกฤตรู้อยู่แล้วว่าข้อตกลงที่นายนภดลไปลงนามร่วมกับกัมพูชานั้นเป็นแถลงการณ์ร่วม แต่กลับมาบอกว่าไม่ใช่

นายเทพมนตรี กล่าวต่อไปอีกว่า เนื้อหาในเอกสารส่งถึงราชเลขาธิการ ระบุว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 พ.ค.2551 ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการต่อร่างแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว แสดงว่าคณะรัฐมนตรีทั้งคณะได้รับทราบเรื่องดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.แล้ว แต่ไม่มีใครออกมาเปิดเผย เอกสารดังกล่าวยังระบุต่อไปว่าสถานะล่าสุดนั้น ฝ่ายกัมพูชาได้ส่งแผนที่ประกอบคำขอจดทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหารเฉพาะตัวปราสาทมาให้ฝ่ายไทย แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่ามีขอบเขตของปราสาทพระวิหารบริเวณช่องบันไดหักล้ำเข้ามาในพื้นที่ที่ไทยอ้างสิทธิ์ ประมาณ 38.215 ตารางวา ฝ่ายไทยจึงได้แก้ไขกลับไปและต่อมาทางกัมพูชาได้แก้ไข และส่งแผนที่ฉบับแก้ไขแล้วให้แก่ฝ่ายไทย กระทรวงการต่างประเทศจึงได้เสนอร่างคำแถลงการณ์ร่วมและแผนที่ต่อสภาความมั่นคง เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2551 และนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551

“แต่ข้อบังคับของคณะกรรมการมรดกโลกระบุไว้ว่า เอกสารที่เป็นข้อตกลงของรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่าย จะต้องส่งคณะกรรมการมรดกโลกก่อนการพิจารณาขึ้นทะเบียน 6 สัปดาห์ ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่าเอกสารที่ยื่นต่อคณะกรรมการมรดกโลกนั้น เป็นเอกสารที่ลงนามเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2551 ไม่ใช่แถลงการณ์ร่วมที่ผ่านที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2551 ซึ่ง มติ ครม.เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.เป็นเพียงการจัดฉาก เป็นเรื่องตลกที่ไทยมี รมว.ต่างประเทศที่ป๊อกแป๊ก เสนอเรื่องไปหลอกลวงสำนักราชเลขาธิการ”นายเทพมนตรีกล่าว

นายเทพมนตรี กล่าวอีกว่า ข้อมูลที่น่าสนใจอีกเรื่องคือการที่นายนพดลไปลงนามหารือที่ปารีสในวันที่ 23 พ.ค.2551 เรื่องนี้มีการวางแผนให้กัมพูชาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกไว้ก่อนที่จะมีการตัดสินจริงเสียอีก เพราะนายนพดลได้พบกับผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศที่วางแผนจัดตั้งองค์กร ANTV ที่ประกอบด้วยนักวิชาการจากประเทศสหรัฐอเมริกา เบลเยียม ฝรั่งเศส และอินเดีย เพื่อจะดึงไทย จีนและญี่ปุ่น มาร่วมวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ทับซ้อน เป็นการวางหมากไว้ก่อนที่คณะกรรมการมรดกโลกจะประกาศขึ้นทะเบียนเปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกและให้มี 7 ประเทศดังกล่าว ร่วมเป็นคณะบริหารจัดการร่วม เป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกับเอกสารการหารือของกระทรวงการต่างประเทศกับกัมพูชา รวมถึงหนังสือที่ส่งถึงสำนักราชเลขาธิการ ที่สะท้อนให้เห็นว่า มีการวางแผน และเพ็ดทูลเบื้องสูง

“กลุ่มนักวิชาการ อยากขอให้รัฐบาลเปิดเวทีไต่สวนสาธารณะสำหรับพิจารณาเรื่องนี้ โดยเฉพาะซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องชายแดน เนื่องจากทางกลุ่มนักวิชาการอยากให้เคลียร์ เรื่องการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ตั้งแต่ ปี 2505 จนถึงปัจจุบันว่ามีเรื่องอะไรเกิดขึ้นบ้าง เพื่อให้มีความชัดเจนต่อสาธารณชน อีกทั้งตนได้พบแผนที่ปักปันเขตแดนที่จัดทำโดยประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.2450 ซึ่งแผนที่ดังกล่าว ฝรั่งเศสไม่ได้ใช้ในการต่อสู้ที่ศาลโลกคดีปราสาทพระวิหาร และแผนที่ฉบับนี้ชัดเจนว่ายึดสันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดน ก็ต้องดูว่าเมื่อเรามีหลักฐานใหม่เช่นนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง”

ย้ำไทยสงวนสิทธิค้านศาลโลก

ด้าน นายสมปอง กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมาธิการกิจการชายแดนไทย สภาผู้แทนราษฎร โดยนายกฤต และ พล.ท.แดน มีชูอรรถ เจ้ากรมแผนที่ทหาร เข้าชี้แจงกรณีที่รัฐบาลสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยอ้างถึงหนังสือจาก พ.อ.ถนัด คอมันตร์ รมว.ต่างประเทศ สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ที่ส่งถึงนายอู ถั่น รักษาการเลขาธิการสหประชาชาติ พ.ศ.2505 โดยหนังสือนี้บิดเบือนข้อเท็จจริงที่นายกฤตนำมาแถลงให้สาธารณชนรับรู้ ตนทราบเรื่องนี้ดี เพราะเป็นผู้ร่างหนังสือฉบับดังกล่าวเสนอให้กับ พ.อ.ถนัดเอง

ดังนั้น จึงขอวิงวอนให้ประชาชนพิจารณาจากข้อเท็จจริง และขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่าบิดเบือนข้อมูล เนื่องจากมีบุคคลบางคนพยามยามหยิบยกหนังสือของ พ.อ.ถนัด ที่ส่งถึงเลขาธิการยูเอ็นในปี 2505 มาพูดเพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งไม่ได้พูดถึงเนื้อความในหนังสือที่ระบุว่า ข้าพเจ้าขอแจ้งให้ท่านทราบด้วยว่า การตัดสินใจปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีปราสาทพระวิหารนั้น รัฐบาลไทยปรารถนาจะตั้งข้อสงวนอย่างชัดเจน เพื่อสงวนไว้ซึ่งสิทธิที่ประเทศไทยมีหรือพึงมีในอนาคตในการเรียกคืนปราสาทพระวิหาร โดยใช้วิถีทางที่ชอบด้วยกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือในอนาคต และขอยืนยันการคัดค้านคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งวินิจฉัยให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ข้าพเจ้าจึงขอเรียนมาเพื่อทราบ พร้อมทั้งขอให้ท่านส่งเวียนหนังสือฉบับนี้ไปยังประเทศสมาชิกของสหประชาชาติทุกประเทศ

“การที่รัฐบาลมาบอกว่าไทยได้ยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชาไปแล้วนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะในสมัยนั้นไทยได้สละการคุ้มครองเหนืออธิปไตยให้กัมพูชาตามคำพิพากษาของศาลโลก โดยในวันที่ 3 ก.ค. พ.ศ.2505 คณะรัฐมนตรีมีมติให้สร้างรั้วลวดหนามกั้นบริเวณปราสาทพระวิหารเท่านั้น แต่ทำไมขณะนี้รัฐบาลไทยจึงไม่ย้อนกลับไปดูความเห็นแย้งในการตัดสินของศาลโลกที่จะเป็นช่องทางในการเรียกคืนปราสาทพระวิหาร โดยในขณะนั้นการต่อสู้ในศาลโลก มีผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศรายงานผลการจัดทำแผนที่ปราสาทพระวิหารต่อศาลโลกพบว่า พื้นที่ที่อยู่ในสันปันน้ำบริเวณหน้าผาเป็นเส้นเขตแดนของไทย อย่างไรก็ตาม ศาลโลกจะไม่เข้ามายุ่งเรื่องปัญหาดินแดนที่ไทยและกัมพูชาควรเจรจาร่วมกัน แต่การที่นายกฤตนำหนังสือของ พ.อ.ถนัด ไปชี้แจงว่าไทยได้สละอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารไปแล้ว ทั้งหมดนี้เป็นการสำคัญผิด ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมคนไทยด้วยกันเองจึงพยายามนำข้อมูลมาบิดเบือน หลอกลวงประชาชน และทำไมต้องชี้แจงข้อมูลที่เข้าข้างกัมพูชาทุกอย่างด้วย” นายสมปอง กล่าว

นายสมปอง กล่าวอีกว่า ตนเสนอว่าไทยควรประกาศจุดยืนคัดค้านมติของคณะกรรมการมรดกโลกที่ให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเพียงฝ่ายเดียว ดังนี้

1. ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนพื้นที่ ซึ่งยังมีข้อพิพาทที่ยังมิได้ระงับ แม้ว่าคำพิพากษาของศาลโลกถึงที่สุด ไทยก็ไม่เห็นด้วยได้คัดค้านและตั้งข้อสงวนไว้โดยไม่มีกำหนด 2.ปราสาทพระวิหารเฉพาะตัวปราสาทไม่เข้าหลักเกณฑ์หรือสอดคล้องกับข้อหนึ่งข้อใดในหลักการ 6 ข้อของคณะกรรมการมรดกโลก รวมทั้งขาดความสมบูรณ์ในข้อที่ 1 ซึ่งนำไปประกอบการพิจารณา 3.ไม่สมควรสร้างกรณียกเว้น ทั้งๆ ที่ยังมีข้อพิพาทและขาดบูรณภาพ

4.ไทยสั่งระงับแถลงการณ์ร่วม ซึ่งเป็นโมฆะ เนื่องจากผู้ลงนามไม่มีอำนาจหน้าที่ในการลงนาม โดยมิได้รับอนุมัติจากสภาฯและประชามติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ 5.คณะกรรมการมรดกโลกไม่อาจบังคับไทยให้ปฏิบัติตามมติได้ เว้นแต่จะพิจารณาแก้ไขให้มีการขึ้นทะเบียนร่วมกันทั้งสองประเทศ ให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งจะไม่เสียหายต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดและอาจกระทำสำเร็จได้ด้วยดี

นิด้าออกแถลงการณ์ 3 ข้อ

วานนี้ (16 ก.ค.) ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มีการสัมมนาเรื่อง “ปราสาทพระวิหาร วาระแห่งชาติ” โดย กลุ่มนักวิชาการได้ออกแถลงการณ์ 3 ข้อคือ 1.ไม่ยอมรับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา ละเราไม่ยอมรับการขึ้นทะเบียนร่วมในแนวทางใดๆ ก็ตามที่ไม่คำนึงถึงมิติด้านเขตแดน 2.เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกแถลงการณ์ร่วมโดยเด็ดขาดและโดยเร็วที่สุด หากรัฐบาลไม่ยอมเลิกเราในฐานะภาคประชาชนจะไม่ยินยอมให้ความร่วมมือกับกัมพูชาในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกและจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อคัดค้าน3.เราเรียกร้องให้วุฒิสภาสอบสวน ICOMOS และคณะกรรมการมรดกโลกของไทย ในกรณีการผลประโยชน์ทับซ้อน และไม่ปกป้องผลประโยชน์ของชาติ

ทั้งนี้ นักวิชาการของนิด้าได้รวมตัวกันในนาม “คณะกรรมการติดตามประเด็นวาระแห่งชาติ เรื่องปราสาทพระวิหาร” ซึ่งประกอบไปด้วย1.รศ.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน รองอธิการบดีฝ่ายวางแผน 2.ผศ.ดร.สมพจน์ กรรณนุช ผู้ช่วยอธิการบดี (ปฏิบัติงานด้านกิจการนักศึกษา) 3.รศ.ดร.พานิตชนัต ศิริพานิช ประธานสภาคณาจารย์ 4.รศ.ดร.ราเชนทร์ ชินทยารังสรรค์ คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ 5.รศ.ดร.นิสดารก์ เวชยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักฝึกอบรม 6.ผศ.ดร.กัลยาณี คูณมี อาจารย์ประจำ คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 7.ผศ.ดร.ณัฐฐา วินิจนัยภาค ที่ปรึกษาด้านงานนิด้าสัมพันธ์
กำลังโหลดความคิดเห็น