xs
xsm
sm
md
lg

ระเบียบการเมืองและวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

สังคมการเมืองเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลคนหนึ่งหรือกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งมีอำนาจเด็ดขาดในการจัดระเบียบการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ โดยจัดตั้งเป็นสถาบัน ซึ่งคนส่วนใหญ่ยินยอมที่จะอยู่ภายใต้สังคมการเมืองดังกล่าว เนื่องจากความเกรงกลัวต่ออำนาจของบุคคลคนนั้นหรือกลุ่มนั้น หรือเนื่องจากเป็นประเพณีปฏิบัติที่ทำกันมา หรือเนื่องจากความมีเหตุมีผลและถูกต้องตามกฎหมายอันเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป

ในส่วนของระเบียบการเมืองที่ประชาชนจำใจต้องยอมรับเพราะกลัวจะมีผลในทางลบกระทบต่อตน เช่น ถ้ากระด้างกระเดื่องก็จะถูกลงโทษด้วยการจำคุกหรือรุนแรงกว่านั้น ถือได้ว่าเป็นภาวะจำยอม แต่ก็ยังมีระเบียบการเมืองนั้นอยู่ ตัวอย่างเช่น ระเบียบการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศพม่าขณะนี้ ส่วนระเบียบการเมืองที่มาตามประเพณีนั้นก็คือระบบการเมืองการปกครอง หรือสังคมการเมืองที่ดำรงสืบเนื่องกันมา และประชาชนส่วนใหญ่ที่อยู่ในสังคมการเมืองนั้นยอมรับระเบียบการเมืองดังกล่าว ตัวอย่างเช่น การปกครองสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ซึ่งมีการจัดระเบียบเป็นการปกครองที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลัก ตามมาด้วยระบบศักดินา ระบบไพร่ แ ละอุดมการณ์ทางการเมืองซึ่งมีศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ เป็นฐาน อยุธยาเป็นสังคมการเมืองที่อยู่ถึง 417 ปีก่อนที่จะถูกพม่าทำลาย

ในส่วนที่เกี่ยวกับระเบียบการเมืองหรือสังคมการเมืองที่สอดคล้องกับกฎหมายและความมีเหตุมีผลก็มีตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาซึ่งมีการเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดคือประธานาธิบดี และมีการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติ รวมทั้งในฝ่ายตุลาการซึ่งมีส่วนโยงใยกับประชาชนทางอ้อม เช่น ตุลาการศาลสูงสุดของอเมริกาต้องผ่านการอนุมัติโดยวุฒิสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนอีกโสตหนึ่ง

ในยุคปัจจุบันซึ่งเป็นยุคที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นหลัก การจัดระเบียบการเมืองหรือการสร้างสังคมการเมืองแบบประชาธิปไตยนั้น จะประกอบด้วยส่วนที่เป็นรัฐธรรมนูญ สถาบันการเมือง เช่น พรรคการเมือง กระบวนการทางการเมืองคือการเลือกตั้ง จนมีสภานิติบัญญัติ และมีการตั้งฝ่ายบริหารซึ่งได้แก่คณะรัฐมนตรี ส่วนตุลาการนั้นอาจจะไม่เห็นเด่นชัดนักเพราะโดยปกติตุลาการมักจะเป็นสถาบันพิเศษเนื่องจากเป็นวิชาชีพเฉพาะ

แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า การสถาปนาสถาบันการเมืองแบบประชาธิปไตยซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาการเมืองเพื่อตอบสนองต่อความตื่นตัวทางการเมืองโดยประชาชนเรียกร้องสิทธิในการมีส่วนร่วมอาจจะไม่สัมฤทธิผล ทั้งนี้เนื่องจากการสถาปนาสถาบันทางการเมืองนั้นจำเป็นต้องมีฐานอันมั่นคง โดยมีฐานที่สำคัญสามส่วน อันได้แก่ วัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย ซึ่งจะต้องมีการเน้นถึงหลักเสรีภาพและการเสมอภาค รวมตลอดทั้งการมีค่านิยมและปทัสถานที่สอดคล้องกับระบบ เช่น การมีใจนักกีฬา รู้แพ้รู้ชนะ การใช้เสียงข้างมากในการหาข้อยุติในข้อขัดแย้ง การเคารพสิทธิเสียงข้างน้อย การอดทนอดกลั้นต่อการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง การเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทั่วๆ ไป การต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง และการเคารพสิทธิของคนอื่น ฯลฯ เมื่อใดก็ตามที่พื้นฐานดังกล่าวนี้ขาดหายไป การสถาปนาสถาบันประชาธิปไตย รวมทั้งกระบวนการประชาธิปไตยก็จะอยู่บนฐานที่ขาดความมั่นคงไม่สามารถดำเนินต่อไปได้

ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยจะดำเนินไปได้นั้น ยังจะต้องให้ความสำคัญกับหลักนิติธรรม (the rule of law) เพราะนั่นคือหลักประกันความยุติธรรมในสังคม เริ่มตั้งแต่กระบวนการออกกฎหมาย การบังคับกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมตามหลักสากล เมื่อใดก็ตามที่มีการละเมิดต่อหลักนิติธรรม ความชอบธรรมและความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย และระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยก็จะถูกกระทบอย่างหนัก

นอกจากที่กล่าวมายังมีส่วนของจริยธรรม ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะต้องมีศีลธรรมและจริยธรรม มีมารยาททางการเมือง มีความเป็นผู้ดีทางการเมือง เมื่อใดก็ตามที่ผู้ปฏิบัติการทางการเมืองฉ้อราษฎร์บังหลวง ลุแก่อำนาจ ละเมิดกฎหมาย รวมตลอดทั้งไม่ใช้เหตุใช้ผลในการเจรจาพาที ไม่ใช้ความรู้ทางวิชาการและการคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมในการวางนโยบาย หรือการใช้ทรัพยากรของชาติ ความน่าเชื่อถือและความชอบธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็จะขาดหายไป

สังคมใดก็ตามที่คนส่วนใหญ่หมดศรัทธาในระบบ ทั้งการเข้าสู่ตำแหน่งอำนาจและการใช้อำนาจ คลางแคลงใจในความศักดิ์สิทธิ์และความน่าเชื่อถือของกฎหมาย ระบบนั้นก็จะถึงจุดอันตราย และสิ่งที่เห็นได้ชัดคือ คนในสังคมดังกล่าวนั้นจะไม่ฟังเหตุฟังผล จะไม่เคารพกติกา จะมีความพยายามเอาชนะคะคานทั้งในวาทกรรมและการกระทำ สภาพดังกล่าวนั้นสะท้อนถึงระเบียบการเมืองที่เปราะบาง และผืนใยแห่งเศรษฐกิจสังคมที่ขาดวิ่น พร้อมที่จะแตกเป็นเสี่ยงๆ เมื่อใดก็ตามที่คนประจันหน้ากันด้วยอารมณ์ ไม่เคารพนับถือซึ่งกันและกัน แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายอย่างเห็นเด่นชัดจนหมดทางที่จะออมชอมกันได้ นั่นคือจุดวิกฤตที่สำคัญที่สุดของระเบียบทางการเมือง หรือการคงอยู่ของสังคมการเมืองนั้น

ในสภาวะดังกล่าวนี้แนวโน้มของการที่จะใช้กำลังเข้าต่อสู้กันจะมีสูง และมักจะลงเอยด้วยการเสียชีวิตและเลือดเนื้อจนบ้านเมืองมีลักษณะเป็นอนาธิปไตย ซึ่งจะต้องอาศัยตัวบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเข้ามาแก้ไขสถานการณ์ จัดระเบียบการเมืองขึ้นใหม่ เพื่อให้สังคมการเมืองนั้นสามารถดำเนินต่อไปได้โดยอยู่ร่วมกันโดยสันติ เคารพกติกาโดยทุกฝ่าย สภาพสังคมที่วิกฤตดังกล่าวมานี้เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์นับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าในยุโรปหรือเอเชีย หรือที่อื่น ประเด็นสำคัญก็คือ ได้มีการเรียนรู้บทเรียนจากประวัติศาสตร์มากน้อยเพียงใด
กำลังโหลดความคิดเห็น